ธนบัตรเที่ยวไทย ภาคสอง

nidhi

ธนบัตรเที่ยวไทย ภาค ๒  การเดินทางของคุณธนบัตร ๑๐๐ บาท
ก่อนที่จะเดินทางไปกับ ๑๐๐ บาท  คุณธนบัตร ขอทำความรู้จักกันก่อนพอเป็นสังเขป  ว่าคุณธนบัตร๑๐๐ บาทสมัยปัจจุบันนั้นแตกต่างจากช้างแดง(ธนบัตร๑๐๐ บาทแบบเดิม)สมัยก่อนอยู่มาก  เพราะวิวัฒนาการได้เจริญก้าวหน้าไป  เราสามารถพิมพ์ธนบัตรได้เองแล้ว  ไม่ต้องไปจ้างโธมัสเดอลาลูร์ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษให้พิมพ์เหมือนแต่ก่อน  ธนบัตร ๑๐๐ บาทในปัจจุบันยาวประมาณ ๑๕เซนติเมตร กว้างหรือสูงประมาณ ๗.๒เซนติเมตร ด้านหน้าพิมพ์ภาพพระบรมฉายาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับมีแถบเงินป้องกันการปลอมแปลงซึ่งพิมพ์ภาพตราพระราชลัญจกรและตัวเลชอารบิก 100 ตัวจิ๋วเต็มพื้นที่แถบสีเงินดังกล่าวด้วยวิธีการพิเศษ  พาดตรงลงมาจากขอบบนสุดซ้ายมือห่างจากขอบธนบัตรประมาณ ๑เซนติเมตร  คาดลงมาถึงขอบล่างสุด  กับมีข้อความหลักต่างๆที่จำเป็นเหมือนธนบัตร ๕๐๐ บาท เช่น คำว่า รัฐบาลไทย และ ธนบัตรเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เป็นต้น   ส่วนธนบัตรด้านหลังจะเป็นภาพเขียนแสดงการที่ทรงประกาศเลิกทาสพร้อมพระบรมฉายาทิสลักษณ์ของพระปิยมหาราช(รัชกาลที่ ๕) กับพระบรมราชโองการของพระองค์มีใจความว่า
 “ประเพณีทาสที่มีอยู่ในพระราชอาณาจักรสยาม
	ถึงเป็นวิธีทาสทำสารกรมธรรม์ขายตัวด้วยใจสมัตร
	มิใช่ทาสเชลยที่เป็นการกดขี่อย่างร้ายแรงก็จริง
	แต่ก็เป็นเครื่องกีดขวางตวามเจริญประโยชน์และสุขสำราญของมหาชนอยู่อย่างหนึ่ง
	ซึ่งจำเป็นจะต้องเลิกถอนอย่าให้มีประเพณีทาสภายในพระราชอาณาจักรนี้
	กรุงสยามจึงจะมีความเจริญสมบูรณ์เท่าทันประเทศอื่น”
ช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่ประเทศไทยกำลังจัดเตรียมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศซึ่งจะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐  ที่กำลังจะมาถึง  ฉะนั้นจึงก่อให้เกิดการสะพัดของเงินตราและทุนมหาศาลทั้งในระบบและนอกระบบ  เพราะในทันทีที่มีการประกาศว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ  พรรคการเมืองและองค์กรต่างๆก็ต้องเร่งจัดเตรียมการเพื่อรับสถานการณ์ต่างๆที่อาจเกิดขึ้น  เริ่มตั้งแต่การเตรียมการโ ฆษณาหาเสียง  การลงพื้นที่เลือกตั้งของสมาชิกพรรคการเมือง  องค์กรที่ดูแลกำกับการเลือกตั้ง ฯลฯ   ภาคเอกชนก็ถูกกระตุ้นให้มีส่วนร่วมในการเตรียมการเลือกตั้งครั้งใหญ่นี้ด้วย  เศรษฐกิจภาครวมของประเทศจึงปรากฏการขยายตัวอย่างใหญ่ในช่วงระยะเวลาอันสั้น  นอกจากนี้คณะรัฐมนตรียังมีมติเห็นชอบให้ประกาศวันจันทร์ที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๐ เป็นวันหยุดกรณีพิเศษนี้ด้วย  เมื่อประกอบกับตรงกับเทศกาลวันคริสต์มาสซึ่งเป็นวันสำคัญของคริสตศาสนิกชนด้วยแล้ว  สีสันแห่งวันเลือกตั้งครั้งนี้จึงยิ่งทวีคูณนับเอนกอนันต์ ซึ่งเราคงได้พบเห็นด้วยตนเองต่อไปในอนาคตอันใกล้
ศูนย์กลางของการก่อเกิดการเดินทางของคุณธนบัตร ๑๐๐ บาท จึงนับได้ว่าเริ่มขึ้นที่กรุงเทพมหานครโดยแท้  ฉะนั้นการเดินทางท่องเที่ยวไปในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศไทยจึงขอเริ่มต้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานครเป็นแห่งแรก
เมื่อพูดถึงกรุงเทพฯหรือเมืองบางกอกแล้ว  สิ่งแรกที่เรามักจะติดถึงก็คือ  พระบรมมหาราชวังซึ่งเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาทุกรัชกาลกับวัดพระแก้วหรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  ถ้าเป็นสมัยก่อนก็ต้องคิดถึง ๒ ว  คือ ว.วัง กับ ว.วัด  เพราะวังเป็นที่อยู่ของกษัตริย์  ส่วนวัดก็เป็นโรงเรียนแห่งแรกของประชาชน  เพราะสมัยก่อนยังไม่มีโรงเรียน  การศึกษาเล่าเรียนจึงต้องไปศึกษากับพระตามวัดต่างๆโดยมอบตัวเป็นศิษย์วัด รับใช้พระสงฆ์  การเรียนสมัยก่อนก็ใช้กระดานชนวนและดินสอหิน  ไม่มีกระดาษสมุดดินสอต่างๆใช้เช่นอย่างปัจจุบัน   แต่ปัจจุบันวิวัฒนาการได้เปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของคนกรุงเทพฯไปจากเดิมมากมาย  แต่กระนั้นก็ยังมีสถาบันและสถานที่ซึ่งยังคงรักษาเอกลักษณ์ความเป็นไทยของคนกรุงเทพฯไว้อยู่อีกมิใช่น้อย  อาทิ เรายังมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันสูงสุดของชาติไทย  ยังมีขนบธรรมเนียมประเพณีซึ่งให้อิสระในการนับถือศาสนา ตลอดจนมีลักษณะพิเศษของการหลอมรวมตัวอยู่ด้วยกันได้โดยสงบสุขของคนไทยที่มีศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงได้โดยไม่เกิดสงครามกลางเมืองอย่างประเทศเพื่อนบ้านของเราบางประเทศ  นี่จะเป็นเพราะพระกฤษฎาภิหารของพระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าหรือพระสยามเทวาธิราชหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดที่ดลบันดาลให้เป็นเข่นนี้  เรามิอาจรู้ได้  แต่ที่แน่นอนอย่างหนึ่งก็คือ  เรามีประชาชนคนไทยที่มีนิสัยโอบอ้อมอารีและมีลักษณะประนีประนอมเป็นพื้นฐานของจิตใจมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก  วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยแต่โบราณไม่เฉพาะแต่เพียงคนกรุงเทพฯเท่านั้นที่ใช้ชีวิตเรียบง่ายและพอเพียงอย่างเป็นสุจ  แต่ยังรวมถึงเมืองอื่นๆด้วย  เรามีสวนผลไม้และสวนไม้ดอกไม้ประดับที่ใหญ่โตมหาศาล  มีเรือกสวนไร่นาที่อุดมด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร  อย่างที่เรียกว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว   แต่แล้วยุคสมัยก็เปลี่ยนไป  กลายเป็น ในน้ำมี...ในนามีดอกเบี้ย  ชึวิตความเป็นอยู่ของคนไทยจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงไป
กรุงเทพฯ หรือ เมืองบางกอก  กำเนิดจึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ ๖ เมษายน เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ  ปีขาล  พ.ศ.๒๓๒๕  โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี  ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชวังทางคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาฟากตะวันออกในบริเวณที่อยู่อาศัยของพระยาราชเศรษฐีและชาวจีนซึ่งโยกย้ายไปอยู่ที่สำเพ็ง  โดยตั้งพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๐ ค่ำ  ย่ำรุ่งแล้ว ๕๔ นาที(วันที่ ๒๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๒๕)  พระราชวังแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๓๘  จึงได้จัดให้มีพิธีบรมราชาภิเษกรวมทั้งงานฉลองพระนคร  โยพระราชทานนามพระนครใหม่ว่า กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิตย์ สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์   ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงทรงเปลี่ยนตำว่า  “บวรรัตนโกสินทร์”  เป็นคำว่า “อมรรัตนโกสินทร์” แล้วต่อมาเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๓๕๑๕  จึงได้รวมจังหวัดธนบุรีเข้าไว้ด้วยกันแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น กรุงเทพมหานคร
ฉะนั้น ชื่อเดิมของกรุงเทพมหานครจึงได้รับการบรรจุเป็นตำขวัญประจำจังหวัดกรุงเทพมหานครเพื่อคงความเป็นกรุงเทพฯให้ชัดเจนยิ่งขึ้นตลอดไป
กรุงเทพมหานครมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดต่างๆคือ 
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดนนทบุรี
ทิศใต้  ติดต่อกับจังหวัดสมุทรปราการ
ทิศตะวันออก  ติดต่อกับจังหวัดฉะเชิงเทรา
ทิศตะวันตก  ติดต่อกับจังหวัดนครปฐม
สถานที่น่าสนใจในกรุงเทพมหานคร  
ดังได้กล่าวแล้วว่าสถาบันหลักชองเมืองไทยก็คือ พระมหากษัตริย์  ซึ่งสถานที่อยู่ก็คือ พระบรมมหาราชวัง  ฉะนั้นสถานที่น่าสนใจอันดับแรกของกรุงเทพฯก็คือ พระบรมมหาราชวัง  ที่ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงประทับอยู่ที่นั่นแล้ว   แต่ก็ยังคงไว้เป็นสัญลักษณ์สำคัญชองประเทศไทย  โดยประกอบด้วย ๓  ส่วน คือ
พระมหาปราสาท  พระราชมณเฑียรสถาน  และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม(วัดพระแก้ว)
พระบรมมหาราชวัง มีเนื้อที่ ๑๓๒ ไร่  ในอดีตพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์  มีแบบแผนการก่อสร้างคล้ายคลึงกับพระบรมมหาราชวังในสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ มีวัดพระแก้วอยู่ในบริเวณวังเช่นเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีวัดพระศรีสรรเพชญ์ในบริเวณวัง
หมู่พระที่นั่งสำคัญในพระบรมมหาราชวัง ได้แก่ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท(พระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาท)เป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระอัครมเหสีและพระบรมวงศานุวงศ์  พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท  พระที่นั่งพิมานรัตยา  พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท  พระที่นั่งราชกรัณยสภา  พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์  พระที่นั่งบรมราชสถิตย์มโหฬาร  พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน และพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นต้น
ส่วนวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  เราคนไทยรู้จักกันทั่วในนามของวัดพระแก้ว  เพราะเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต นอกจากนี้ยังมีภาพผนังเรื่องรามเกียรติ์เรียงรายรอบกำแพงชั้นในด้วย  โดยพุทธศาสนิกชนสามารถเข้าไปฟังเทศนาธรรมทุกวันธรรมสวนะ(วันพระ)  และทั้งในพระบรมมหาราชวังกับวัดพระแก้วนั้น คนไทยทุกคนสามารถเข้าไปชมได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ  เพียงแต่ต้องแต่งกายให้สุภาพตามที่ทางราชการกำหนดเท่านั้น  
ต่างจากการชมวังและพระที่นั่งอนันตสมาคมในส่วนของพระที่นั่งวิมานเมฆ ซึ่งต้องเสียค่าเข้าชมเป็นพิเศษ  แต่ก็ได้รับยกเว้นบุคคลบางจำพวก  เช่นนักเรียน นักศึกษา นักบวช ฯลฯ  ถึงกระนั้นก็ยังได้รับการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการเข้าชมสำหรับคนไทย  ซึ่งถูกกว่าชาวต่างประเทศมาก  ผู้มีโอกาสจึงควรเข้าชมพระที่นั่งองค์นี้ด้วย เพราะจะได้รับชมหมู่พระที่นั่งต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระที่นั่งวิมานเมฆ ซึ่งสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง กับได้เข้าไปชมภาพเจียนในโดมหลังคาพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเคยใช้เป็นที่ทำการรัฐสภา   สำหรับรัฐสภาก็ได้สร้างอาคารหลังใหม่ใช้ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปัจจุบันอยู่ใกล้เตียงบริเวณนั้น  โดยมีพระบรามราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๗ ) อยู่ด้านหน้าอาคารรัฐสภา  และภายในบริเวณยังเป็นที่ประดิษฐานศาลพระสยามเทวาธิราชอยู่บริเวณด้านข้างของพระบรมราชานุสาวรีย์ด้วย
เมื่อชมวังและชมสภาแล้ว  ก็สามารถแวะสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๕) ซึ่งชาวไทยและชาวต่างชาติรู้จักกันดีในนามพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งมีลักษณะพิเศษยิ่งก็คือ พระบรมรูปทรงม้าดังกล่าว ถูกจัดสร้างตั้งแต่พระปิยมหาราชยังทรงดำรงพระชนม์ขีพอยู่  โดยมีบันทึกว่ารัชกาลที่ ๕ ได้ทรงเป็นแบบให้ปั้นรูปหล่อทรงม้าด้วยพระองค์เองแล้วยังได้ทรงเสด็จเปิดพระบรมรูปนี้ด้วยพระองค์เองอีกด้วย  เงินที่สร้างพระบรมรูปทรงม้าเป็นเงินที่ประชาชนขาวไทยเรี่ยไรสมทบทุนจ้างนาช่างชาวฝรั่งเศสแห่งบริษัท ซุสเซอร์เฟร์สฟองเดอร์  หล่อพระบรมรูปทรงม้ามาจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส  และเมื่อมีเงินเหลืออยู่อีก รัชกาลที่ ๖ จึงทรงโปรดเกล้าฯให้นำไปสร้างมหาวิทยาลัยมีนามว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ใกล้เตียงลานพระบรมรูปทรงม้า  ได้แก่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ที่ชาวต่างประเทศเรียกว่า Marble Temple  เพราะมีพระอุโบสถก่อสร้างด้วยหินอ่อนที่ดีที่สุดจากประเทศอิตาลีทั้งหลังโดยก่อสร้างขึ้นตามศิลปะสถาปัตยกรรมไทยโบราณที่มีความวิจิตรงดงามเป็นระเบียบ โดยฝีพระหัตถ์การออกแบบของสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์  ในรัชสมัยพระปิยมหาราช  บริเวณเดียวกันยังเป็นที่ตั้งสวนสัตว์ดุสิต หรือเขาดินวนา สถานที่ท่องเที่ยวขวัญใจเด็กๆสมัยก่อนและสมัยนี้  
เมื่อพ้นจากลานพระบรมรูปทรงม้ามาตามถนนราชดำเนินนอก ก็จะผ่านที่ตั้งกองทัพบก กองทัพภาคที่ ๑  กระทรวงศึกษาธิการ  กระทรวงคมนาคม  ที่ตั้งสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และที่ทำการกระทรวงต่างๆหลายแห่ง  จนถึงเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ  ก็จะเป็นที่ตั้งกรมโยธาธิการเดิมซึ่งปัจจุบันเป็นพิพิธภัณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๗)  ป้อมมหากาฬ  วัดสระเกศ(วัดสะแก)ซึ่งเป็นที่ตั้งเจดีย์ภูเขาทองตำนานสถานท่องเที่ยวลือชื่อในอดีต  ฝั่งตรงข้ามป้อมมหากาฬ จะเป็นลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๓  โดยบริเวณนี้แต่เดิมเป็นที่ตั้งโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย  ถัดไปทางด้านหลังของลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์จะเป็นวัดราชนัดดารามซึ่งเป็นที่ตั้งโลหะปราสาทที่เป็นธรรมเจดีย์ปราสาทประกอบด้วยเจดีย์ล้อมรอบ ๓๗ องค์  สัญลักษณ์แทนโพธิปักขียธรรม ๓๗ ประการ  และนับเป็นโลหะปราสาทแห่งที่ ๓ ของโลกและเป็นโลหะปราสาทเพียงแห่งเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ เพราะโลหะปราสาทที่ประเทศอินเดียและศรีลังกาได้ปรักหักพังไปหมดแล้ว  บนยอดโลหะปราสาทวัดราชนัดดารามยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีรนิกธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เคารพบูชา
นอกจากนี้ที่วัดดังกล่าวยังเป็นสนามพระที่เลื่องชื่อในอดีตอีกด้วย
ถัดจากวัดราชนัดดาราม  จะเป็นวัดเทพธิดารามซึงสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์เคยผนวชเป็นพระภิกษุจำพรรษาอยู่ที่กุฏิสุนทรภู่(บ้านกวี)  ฝั่งตรงข้ามเป็นร้านน้ำอบไทยเลื่องชื่อในอดีต  และถ้าเดินต่อไปอีกก็จะเป็นเสาชิงช้าและศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร  วัดสุทัศน์เทพวราราม  โบสถ์พราหมณ์  ศาลเจ้าพ่อเสือถนนตะนาว  อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย  วัดบวรนิเวศวิหาร  วกไปที่ศาลพระหลักเมือง วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์)  ท่าช้างวังหลวง มหาวิทยาลัยศิลปากร ท่าพระวังหน้า  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ที่มีพระบรมรูปกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาทวัหน้า  พิพธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร   วิทยาลัยนาฏศิลป์    หอศิลป์พีระศรี  วัดชนะสงคราม  ฯลฯ
ย้อนกลับไปทางฝั่งธนบุรี  ก็จะมีวัดอรุณราชวราราม(วัดแจ้ง)  อู่เรือพระราชพิธี  กับถ้ามองย้อนมาทางฝั่งพระนครก็จะเห็นพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่ประดิษฐานอยู่ ณ เชิงสะพานปฐมบรมราชานุสาวรีย์(สะพานพุทธ)ซึ่งอนู่ใกล้เคียงปากคลองตลาด ตลาดดอกไม้ที่ย่งใหญ่ไม่เคยหลับของกรุงเทพมหานคร  
กรุงเทพมหานครยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมายหลายแห่ง อาทิ อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช  อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  วัดราชบูรณะ(วัดเลียบ)  วัดอินทรวิหาร  พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยที่คำหนักวังบางขุนพรหม  พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย  พิพิธภัณฑ์ทรัพยากรธรณี(พิพิธภัณฑ์แร่และหิน)  วังสวนผักกาด  อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  พิพิธภัณฑ์ตราไปรษรียากร  บ้านจิม ทอมป์สัน  พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย  บ้านตุ๊กตาบางกอกดอลล์และตุ๊กตานานาชาติ  บ้านคำเที่ยง  สถานศึกษาและปฏิบัติธรรมองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก  พิพิธภัณฑ์เภสัชกรรมไทย  ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา(ท้องฟ้าจำลอง)  พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ  พิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับ  พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๖) ที่สวนลุม(ยังมีพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ที่สวนดุสิตธานีในวังพญาไทติดกับโรงพยาบาลพระมงกุฎด้วย  ซึ่ง ณ สวนดุสิตธานีแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของชมรมรักวัง  และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรกที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครกับเป็นที่ประดิษฐานศาลท่านท้าวหิรัญพนาสูรที่มีประวัติอันยิ่งใหญ่เกี่ยวข้องตำนานชองรัชกาลที่ ๖ ตรั้งยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระยุพราชด้วย  นอกจากนี้ก็ยังมีสวนงูสภากาชาดไทย  บ้าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับตำนานเจ้าสามสีหมาตัวโปรด  พิพิธภัณฑ์หินแปลก  วัดไตรมิตรวิทยารามกับพระทองคำ  หอเกียรติภูมิรถไฟกับตำนานม้าเหล็กเมืองไทย  พิพิธภัณฑ์เด็ก  อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ  อนุสรณ์สถานแห่งชาติ  พิพิธภัณฑ์ปราสาท  พิพิธภัณฑ์พุทธศิลปะ  สวนหลวง ร.๙  ตลาดน้ำตลิ่งชัน  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  บ้านพิพิธภัณฑ์  พิพิธภัณฑ์สุนทร  ตลาดน้ำวัดไทร  หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี  หอสมุดดำรงราชานุภาพ  โรงละครแห่งชาติ  โรงละครเฉลิมกรุงรอยัลเธียเตอร์  นาฏยศาลาหุ่นละครเล็กโจหลุยส์เธียเตอร์ของครูสาคร ศิลปินแห่งชาติผู้เพิ่งล่วงลับไป  ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  สยามนิรมิต  ซาฟารีเวิลด์  สยามโอเชี่ยนเวิล๋ด  สวนสยาม เป็นต้น
กรุงเทพมหานครจึงเป็นเมืองแห่งตำนานที่ยังมีชีวิตโรจน์รุ่งมากว่า ๒๒๕ ปี  มีตลาดสินค้าแบกะดินวางขายริมถนนจนไปถึงสินค้าที่ขึ้นไปขายบนตลาดนัดติดแอร์ตามห้างสรรพสินค้าและบนยอดตึกระฟ้าหลายแห่ง  เป็นเมืองที่มีความขัดแย้งแตกต่างมารวมกันอยู่มากที่สุด จนที่สุดถึงรวยที่สุดในโลก  มีผู้คนที่นับถือศาสนาต่างๆกันมากที่สุด  แต่ก็รวมอยู่ด้วยกันได้อย่างปรองดองสมานฉันท์ที่สุดเพราะมีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระราชหฤทัยห่วงใยพสกนิกรของพระองค์อย่างมากที่สุดนั่นเอง
กรุงเทพมหานครยังมีย่านไชน่าทาวน์ที่เลื่องชื่อลือลั่นไปทั่วโลก คือที่ย่านถนนสำเพ็ง  เยาวราชและเจริญกรุง  มีตลาดค้าขายสินค้าตลอด ๒๔ ชั่วโมงที่เป็นจุดเริ่มต้นร้านสะดวกซื้อที่มีเกลื่อนเมืองและขยายไปถึงในต่างประเทศอย่างเจียไต๋ซึ่งเดิมขายเมล็ดพันธ์ผักกาดและลูกไก่จนได้ดิบได้ดีขยายเป็น ซีพีออลล์ในปัจจุบัน   
การจราจรในกรุงเทพมหานครก็มีหลายเส้นทางทั้งทางบก ทางน้ำ  และยังเป็นศุนย์รวมการเดินทางทางอากาศที่ใหญ่ที่สุดของทวีปเอเซียด้วย   แต่กระนั้นกรุงเทพมหานครก็ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามหลงเหลืออยู่อีกมาก  ร่องรอยความเจริญในอดีตและการเดินทางไปในปัจจุบันตลอดต่อไปถึงในอนาคตของมหานครแห่งนี้จะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น  เป็นหน้าที่ของคนกรุงเทพฯและคนไทยทุกคนต้องช่วยกันดูแล
บทต่อไปคุณธนบัตร ๑๐๐ บาทจะพาไปเที่ยวเมืองนนทบุรี				
comments powered by Disqus
  nidhi

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน