หลักเกณฑ์ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

nidhi

ผมได้รับฟังการแถลงของหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดินครั้งแรก รู้สึกว่าน่ารับฟัง แม้จะระลึกได้ช้าไปหน่อย แต่พอได้ฟังการแถลงของสมาชิกพรรคเพื่อแผ่นดินบางคน ที่ออกมาแถลงว่าไม่ได้รับรู้เกี่ยวกับเรื่องที่หัวหน้าพรรคได้แถลงไป ก็ บังเกิดความรู้สึกว่านี่น่าจะเป็นการออกมาปกป้องตำแหน่งทางการเมืองที่ สมาชิกพรรคบางคนอาจต้องสูญเสียไปเพราะการแถลงของหัวหน้าพรรคซึ่งมิได้รับ เลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย อดรู้สึกตำหนิสมาชิกพรรคที่ออกมาแถลงโต้แย้งการแถลงไม่ร่วมรัฐบาลของหัวหน้าพรรคไม่ได้ว่า ทำไมพรรคเพื่อแผ่นดินจึงปล่อยให้เกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นมาได้ ทำไมไม่ตกลงกันเป็นการภายในก่อนจะแถลง
และแล้วก็เป็นที่มาของคำกล่าวอ้างบางส่วนว่าเกี่ยวเนื่องกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่
ผมจึงขอหยิบยก มาตรา ๒๙๑ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งบัญญัติไว้ในหมวด ๑๕ ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ดังต่อไปนี้เพื่อประกอบการวินิจฉัยของท่านผู้อ่านทั้งหลาย
มาตรา ๒๙๑ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้
(๑) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐจะเสนอมิได้
(๒) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม และให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ
(๓) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
(๔) การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมด้วย
การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ
(๕) เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป
(๖) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
(๗) เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๕๐ และมาตรา ๑๕๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
กล่าวโดยสรุป เราทั้งหลายไม่ควรจะไปหลงประเด็นว่าควรแก้ไขหรือไม่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะหากปรากฏข้อเท็จจริงว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก็ต้องพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
นั่นก็คือ ต้องพิจารณาให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๙๑ ซึ่งบัญญัติไว้แล้วในหมวด ๑๕ ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งบัญญัติหลักเกณฑ์และวิธีการไว้โดยกระจ่างชัดแล้วว่า
(๑) ญัตติขอแก้ไขมาจากไหน และญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะเสนอมิได้
(๒) ต้องให้รัฐสภาพิจารณาเป็น ๓ วาระ
(๓) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ต้องใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย...
(๔) การพิจารณาในวาระที่ ๒ ขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน...
(๕) เมื่อพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ต้องรอไว้ ๑๕ วัน...
(๖) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ ๓ ขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย....
(๗) เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ...
จะเห็นได้ว่า หลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ได้บัญญัติไว้โดยค่อนข้างรอบคอบเหมาะสมสมัย ไม่ให้กระทำการใดโดยปราศจากการควบคุมดูแล และไม่ให้ผู้มีอำนาจซึ่งก็คือรัฐสภาได้กระทำการโดยรวบรัดตัดตอนไม่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนโดยรอบคอบรอบด้านก่อน
นอกเหนือจากนี้ก็คือ เมื่อกระทำการใดๆไปในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแล้ว
ปรากฏว่ามีข้อส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ก็อาจดำเนินการขอถอดถอนจากตำแหน่ง และหรือดำเนินคดีอาญาต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น หรือผู้กระทำผิดนั้นๆตามกฎหมายได้ต่อไปอีก
หน้าที่ของเราทุกคนที่อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ จึงสมควรทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญให้สอดคล้องต้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในขณะนี้ต่อไปอย่างสุขุมคัมภีรภาพ				
comments powered by Disqus
  nidhi

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน