จากดอกคูณถึงแดนจำปา : ส่องการพัฒนาแบบก้าวกระโดด

ประภัสสุทธ


            ท่ามแดดร้อนเดือนต้นตุลา ชีวิตสองฝั่งเลื่อนไหลสวนผ่าน ทั้งบนสะพานคอนกรีต บนฟากฟ้า พื้นแผ่นดิน และในห้วงน้ำ เส้นทางเหล่านี้เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของผู้คนไทย-ลาว มาอย่างช้านาน ซึ่งแม้ระบบการปกครองทั้งสองประเทศจะแตกต่างกันอย่าสิ้นเชิง แต่เค้ารูปบางอย่างในการพัฒนาบ้านเมือง เริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนว่ามีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน

ลาวกระโจนสู่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจอย่างเต็มตัวในปี พ.ศ. 2529 โดยใช้นโยบาย “ จินตนาการใหม่ ” (New Economic Mechanism : NEM) แนวคิดคือเน้นความสำคัญของระบบราคาที่เป็นไปตามกลไกตลาด และการบริหารในเชิงธุรกิจมากขึ้น แน่นอนว่าได้ดึงดูดให้แหล่งทุนภายนอกประเทศเข้ามาทำธุรกิจ และนำเงินรายได้ไปพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากบัญชีกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาภายในปี ค.ศ.2020 ซึ่งจังหวะการเดินเหินเศรษฐกิจในลักษณะนี้ ดูไม่ยากเลยว่าต้นแบบมาจากไหน ดังนั้นจึงไม่แปลกใจนักหากมีโอกาสไปสัมผัสวิถีชีวิตชาวลาวในเมืองหลวง ซึ่งแม้ผู้คนยังยึดถือวัฒนธรรมภาษาและการแต่งกายที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเองอย่างเหนียวแน่นน่ารัก แต่เมื่อแหงนมองตึกรามบ้านช่อง ร้านรวงต่างๆ ที่ตั้งขนานเส้นทางเข้าสู่ประตูชัย ทำให้แทบดูไม่ออกว่ารูปทรงชนิดเดียวกันนี้ต่างกับที่เคยเห็นในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ อย่างไร ใช่ นี่คือผลงานชิ้นเอกของการพัฒนาประเทศตามรูปแบบตะวันตกโดยมีระบบทุนนิยมเสรีเป็นเครื่องมือ และถูกขับเคลื่อนด้วยขบวนโลกาภิวัตน์อย่างไม่รู้ตัว

การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจในลาวกำลังเติบโตอย่างแท้จริงบรรดากิจกรรมก่อสร้างอาคารสถานที่ต่างๆ และแหล่งธุรกิจหลายแห่ง ดำเนินงานอย่างขะมักเขม้นโดยเจ้าของจากจีน คนงานที่กำลังก่ออิฐบนตึกสูงและเชื่อมโครงหลังคาเหล็ก อาจมาจากที่ไหนสักแห่งในหมู่บ้านห่างไกลของลาว,เวียดนาม หรือจีน ยังไม่นับรวมกิจกรรมการรุกคืบของพืชเศรษฐกิจอย่างยางพาราตามเมืองเอกต่างๆ ในลาวใต้ หรือระบบเกษตรพันธะสัญญาปลูกพืชผักส่งออกในลาวเหนือ กระทั่งการพัฒนาด้านพลังงานเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมและส่งออกโดยมีการผลิตพลังงานไฟฟ้าจาก “เขื่อน” เป็นโครงการหลักไม่ต่ำกว่า 20 เขื่อน ยังไม่ต้องพูดถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และต่อผู้คนในประเทศที่กำลังก่อตัวตามหลังมา

ในภาคชนบทแม้ผู้คนยังยึดถือการทำนาและหาอยู่หากินกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างแนบแน่น แต่ด้วยวาทะกรรม “จินตนาการใหม่” ส่งผลให้ชาวนาใช้ทุนและเทคโนโลยีในการทำเกษตรกรรมเพิ่มมากขึ้นทุกขั้นตอน แน่นอนว่ากิจกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดหนี้สินในระบบเกษตรเพิ่มขึ้นและเดาไม่ยากว่าเรื่องราวที่จะเกิดตามมาเป็นอย่างไร-ชาวนาละทิ้งที่ดินออกไปทำงานในเมืองหลวง-พ่อแม่คาดหวังให้ลูกเรียนสูงเพื่อไม่ต้องเป็นชาวนา-ชาวนาขายข้าวขาดทุน ฯลฯ  ต่อเรื่องนี้การพัฒนาด้านการเกษตรในลาวเอง มีองค์กรหนึ่งชื่อศูนย์ “ห้วยซอน ห้วยซั้ว” ทำงานกับเกษตรกร โดยสร้างการเรียนรู้, เทคนิค,และเครื่องไม้เครื่องมือในการทำการเกษตรกรรมแบบพึ่งตนเอง สร้างกำลังใจให้แก่เกษตรกรที่เคยล้มเหลวจากเศรษฐกิจจนสามารถตั้งตัวได้ยั่งยืน  เช่นเดียวกับพ่อแก้ว เกษตรกรต้นแบบที่ได้รับการส่งเสริมจากศูนย์ฯ หันมาทำเกษตรกรรมอินทรีย์โดยทำนาข้าวและปลูกพืชผักส่งขายตลาด สามารถส่งลูกเรียนได้จนจบ  แต่คล้ายเป็นเพียงติ่งหนึ่งเท่านั้นที่สามารถโอบอุ้มวิถีเกษตรกรรมในลาวมิให้ถูกกลืนด้วยเศรษฐกิจทุนนิยมแบบเต็มตัว

จุดเด่นอย่างหนึ่งของผู้คนในลาวคือความจริงใจ และนอบน้อม คุณสามารถสัมผัสสิ่งนี้ได้หากเอ่ยปากถามไถ่สนทนา และนี่คงเป็นอีกสิ่งหนึ่งของความเป็น “ประชาชนลาว” ที่กระแสทุนนิยมโลกาภิวัตน์มิอาจกลืนกิน.

......

ในขณะอาทิตย์หย่อนตัวลับแนวเขา ความมืดมิดคลี่ห่มโลกแข่งขับสีสันและความคึกคักของดวงไฟจากร้านรวงในเมืองหลวง ผู้คนพลุกพล่าน รถราเต็มถนน วิถีชีวิตยามค่ำคืนมาเยือน ประตูร้านอาหารเปิดต้อนรับผู้มีเงินจากทั่วสารทิศ เสียงดนตรีบรรเลงแข่งเสียงรถราอย่างอื้ออึง ซึ่งหากย้อนกลับไปในอดีตซักสี่สิบปี สภาพค่ำคืนในลาวขณะนั้น คงพบเพียงความเงียบงัน ครอบครัวหุงหาอาหารจากแหล่งอาหารท้องถิ่นทำครัวล้อมวงกินข้าวสำรับเดียวกัน แสงไต้ตะเกียงลอดช่องประตูส่องสลัวหน้าบ้าน เพื่อนบ้านตะโกนถามเรื่องอาหารเย็น กลุ่มเด็กกระโดดน้ำของเล่นอย่างสนุกสนาน ฯลฯ ใช่หรือไม่ว่าวิถีชีวิตเหล่านี้แถบหาไม่พบจากเขตเมืองใดในลาว และปฏิเสธได้หรือไม่ว่าการ “พัฒนา” ในปัจจุบัน มิได้สอนให้คนพึ่งตนเอง หรือยึดโยงกับความเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น ความเจริญด้านวัตถุ และจิตสำนึกแบบปัจเจกถูกยกย่องให้เป็นโมเดลแห่งการพัฒนา กระทั่งยอมรับที่จะสูญเสียตัวตนบางอย่างเพื่อแลกกับกรงขังอันสวยงาม การเดินทางบนถนนสายพัฒนาไปสู่ความด้อยพัฒนาของประเทศลาวแบบ

“ ก้าวกระโดด ” คงไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้เป็นแน่ สถานการณ์และปัญหาต่างๆ กำลังจ่อคิวเผยตัว ไม่มีใครบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วผู้คนในประเทศจะรับมืออย่างไร แต่สิ่งที่พอคาดเดาได้ล่วงหน้าก็คือ การซ้ำรอยบทเรียนของประเทศต่างๆ ที่ดำเนินแนวคิดการพัฒนาแบบเศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งหาชื่นชมผลงานได้ไม่ยากจากตัวอย่างประเทศเกือบทั้งโลก

             ท่ามกลางแดดร้อนเดือนต้นตุลาชีวิตสองฝั่งเลื่อนไหลสวนผ่าน ทั้งบนสะพานคอนกรีตบนฟากฟ้า พื้นแผ่นดิน และในห้วงน้ำ เส้นทางเหล่านี้เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของผู้คนไทย-ลาว มาอย่างช้านาน ซึ่งแม้ระบบการปกครองทั้งสองประเทศจะแตกต่างกันอย่าสิ้นเชิง แต่เค้ารูปบางอย่างในการพัฒนาบ้านเมือง เริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนว่ามีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน...อย่างแน่นอน 

comments powered by Disqus

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน