การสูญพันธุ์ยุคเพอร์เมียน....

คีตากะ

gashydrate_thumb.jpg               การสูญพันธุ์ยุคเพอร์เมียน 251 ล้านปีก่อน
   มาร์ก ไลนัส เขียน
                 สำหรับคนงานเหมืองชาวจีนซึ่งขุดหินอยู่ในเหมืองเหมยชานที่มณฑลซีเกียงทางตอนใต้ของจีน เส้นแบ่งระหว่างหินปูนสีเทากับหินดินดานที่คล้ำกว่านั้นแยกกันไม่ออกเลย พวกเขาอาจจะสังเกตว่าหินใต้เส้นแบ่งเปราะกว่าปกติไม่ค่อยเหมาะนำไปใช้ในการก่อสร้าง พวกเขาอาจสังเกตเห็นสีที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนจากสีเทาอ่อนๆ ไปเป็นสีเกือบดำในชั้นหิน แต่การระเบิดและลำเลียงเศษหินเหล่านี้ออกไปคงเป็นงานของอีกวันหนึ่ง ไม่มีใครสังเกตว่าด้วยสว่าน จอบ พลั่ว ของพวกเขานี่เองคือกระบวนการที่กำลังเปิดเผยให้เห็นถึงหนึ่งในชั้นทางธรณีวิทยาซึ่งสำคัญที่สุด พวกเขาขุดเหมืองไปเจอรอยต่อของยุคเพอร์เมียนกับยุคไทรอัสสิก ซึ่งเป็นช่วงของการสูญพันธุ์อย่างขนานใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยปรากฏมา
                    ชั้นเหมยชานกลายเป็นมาตรฐานทองคำทางธรณีวิทยาสำหรับการสิ้นสุดยุคเพอร์เมียนเพราะรอยต่อของชั้นหินชัดเจนมาก มันทอดตัวอยู่บนพื้นทะเลตื้นๆ และชั้นหินปูนที่อยู่ใต้รอยต่อ เพอร์เมียน-ไทรอัสสิก(Permain-Triassic) อัดแน่นไปด้วยซากฟอสซิลที่มีอยู่มากมายเป็นพิเศษนั่นก็คือสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวขนาดเล็กที่เรียกว่า ฟอรามินิเฟอแรน(foraminiferran แพลงก์ตอนพืชชนิดหนึ่ง) และโคโนดอนต์(conodont ซากสัตว์มีแกนสันหลังเล็กมากขนาด 0.1-1.0 ม.ม.) แต่ก็ยังพบหอยเม่น ปลาดาว และหอยมีเปลือก ตลอดจนปะการัง ปลา และปลาฉลามด้วยเช่นกัน เห็นได้ชัดว่าทะเลก่อนการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่อุดมสมบูรณ์มากและเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตสัตว์และพืชแต่ละชนิดปรับตัวเข้ากับสถานที่ซึ่งวิวัฒนาการไปในระบบนิเวศอันซับซ้อนได้เป็นอย่างดี
                   แล้วหายนะก็มาเยือน ซากฟอสซิลหายไป ส่วนหินปูนถูกแทนที่ด้วยชั้นโคลน มีหินควอร์ต และขี้เถ้าภูเขาไฟปะปนอยู่กระจัดกระจายด้านบนของหินดินดานสีคล้ำดังกล่าวนี้ สารอินทรีย์อุดมสมบูรณ์ เป็นร่องรอยที่สำคัญของสภาพออกซิเจนต่ำก้นทะเล นอกจากนั้นยังมีเหล็กไพไรต์(pyrite หรือทองของคนโง่) ที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงสภาวะออกซิเจนต่ำและเต็มไปด้วยกำมะถัน ซากฟอสซิลอันอุดมสมบูรณ์หายไปหมด ที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ นับร้อยๆ อาศัยอยู่ในระบบนิเวศน์อันซับซ้อน บัดนี้มีเพียงหอยสองสามชนิดเหลือรอดอยู่ในชั้นโคลน สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ในทะเลสูญพันธุ์ไป จากข้อมูลของนักธรณีวิทยาที่ศึกษาชั้นเหมยชานหายนะภัยทั้งหมดนั้นอยู่ในช่วงชั้นที่หนาเพียง 12 มิลลิเมตร
ยังมีความลับที่ซ่อนอยู่อีกในชั้นหินเหมยชาน แถบขี้เถ้าภูเขาไฟช่วยให้สามารถกำหนดอายุที่แน่นอนได้จากการสลายตัวของไอโซโทปของยูเรเนียนไปเป็นตะกั่ว บ่งชี้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 251 ล้านปีมาแล้ว ไอโซโทปของคาร์บอนก็เปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าชั้นไบโอสเฟียร์และวัฏจักรคาร์บอนเกิดความผิดเพี้ยนรุนแรงบางอย่างขึ้น เบาะแสว่าเหตุใดมันจึงเกิดขึ้นนั้นได้จากไอโซโทปของออกซิเจน ซึ่งแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วระหว่างออกซิเจน-16 และออกซิเจน-18 บ่งชี้ถึงความผันผวนอย่างรุนแรงของอุณหภูมิ บางทีนี่อาจจะเป็นปรากฏการณ์ที่เผยตัวออกมาครั้งรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยปรากฏ อุณหภูมิสูงขึ้นแต่ไม่ใช่คราวละ 1 หรือ 2 หรือแม้กระทั่ง 4 องศา มันพุ่งปรู๊ดขึ้นไปไม่น้อยกว่า 6 องศา ดูเหมือนว่าการสูญพันธุ์เมื่อสิ้นยุคเพอร์เมียน เกิดขึ้นจากความร้อนภายใต้สภาวะเรือนกระจกที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
                    นอกเหนือจากประเทศจีน หินรอยต่อยุคเพอร์เมียน-ไทรอัสสิก บอกเรื่องราวโลกาวินาศและวันสิ้นโลกคล้ายๆ กัน ทางตอนเหนือของอิตาลี ชั้นตะกอนใต้ทะเลบริเวณใกล้ชายฝั่งในช่วงสิ้นยุคเพอร์เมียนประกอยด้วยดินที่ชะล้างมาจากแผ่นดินอันเกิดจากการพังทลายของดินอย่างรุนแรงมาก ภายใต้สถานการณ์ปรกติ พืชจะช่วยยึดดินไว้ คอยปกป้องมันจากการถูกฝนกัดเซาะ แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวการปกป้องรักษาดินนี้ไม่เกิดขึ้น ข้อสรุปที่เป็นอื่นไปไม่ได้ก็คือ พืชที่ปกคลุมดินเกือบทั้งหมดถูกกำจัดไป มีอะไรบางอย่างกวาดป่า หนองน้ำ และทุ่งหญ้าสะวันนาหายไป และเมื่อฝนแห่งฤดูมรสุมมาเยือน ก็ไม่เหลืออะไรเหนี่ยวรั้งดินอันมีค่าไว้ได้ ดินถูกชะล้างด้วยความเชี่ยวกรากรุนแรงลงสู่มหาสมุทรในยุคโบราณ
พืชตายแล้วที่หลงเหลืออยู่บนพื้นดินก็เน่าเปื่อยผุพังไปตามปรกติมีรายงานว่าพบฟังกัล สไปค์(fungal spike) อยู่ตามหินในทะเลทรายเนเจฟ (Negev) ที่อิสราเอล และที่อื่นๆ ทั่วโลก มันคือสปอร์ที่ยังคงอยู่จากการทวีจำนวนของเห็ดมีพิษซึ่งจะงอกงามอย่างรวดเร็วบนต้นไม้และไม้พุ่มที่ตายแล้ว สำหรับสิ่งมีชีวิตที่ดำรงอยู่ด้วยการกินสิ่งที่ตายแล้วนี่คือช่วงเวลาอันอุดมสมบูรณ์จนเหลือเฟือ
                    ที่แอ่งคารู ในแอฟริกาใต้สมัยใหม่ นักวิจัยซึ่งกำลังตามล่าหาซากฟอสซิลที่เคยมีชีวิตในช่วงรอยต่อยุคเพอร์เมียน-ไทรอัสสิก พบกับชั้นทางธรณีวิทยาที่ผิดปกติในช่วงการสูญพันธุ์ ชั้นของเหตุการณ์ ดังกล่าวซึ่งบ่งบอกถึงการพังทลายอย่างรุนแรง เป็นชั้นที่ปราศจากสิ่งมีชีวิต นอกจากนั้นยังชี้ให้เห็นว่าภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง จากเปียกชื้นไปเป็นแห้ง ในช่วงเวลาซึ่งรูปแบบชีวิตหายวับไป ที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นหุบเขาแห่งแม่น้ำลึก สองฝั่งอุดมณ์ด้วยสิ่งมีชีวิต กลับกลายเป็นร่องคดเคี้ยวในภูมิทัศน์แห้งผาก เมื่อไม่มีพืชเกาะยึดตลิ่ง จึงกลายเป็นแม่น้ำแห้งวกเวียนไปมาท่ามกลางทะเลทรายเกิดใหม่ ที่ซึ่งครั้งหนึ่งคือสวนสวรรค์แห่งอีเดน กลับกลายเป็นหุบเขาแห่งความตาย
                    เครื่องบ่งชี้ถึงสุดยอดสภาวะเรือนกระจกมหาวินาศอีกประการเกิดขึ้นในบริเวณที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นก็คือ แอนตาร์กติกา สูงขึ้นไปเกือบ 3,000 เมตรบนยอดกราไฟต์ ในเขตภูเขาทรานส์แอนตาร์กติก ดินที่คงสภาพเดิมอยู่แสดงให้เห็นระดับสารเคมีปนเปื้อนในอากาศซึ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นไปได้ว่าส่วนใหญ่เกิดจากระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจึงทำให้เกิดฝนกรดมากขึ้น ที่สำคัญก็คือตะกอนหินช่วงนี้ยังเผยให้เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านจากภูมิอากาศปรกติไปสู่สภาวะเรือนกระจกนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษอย่างน้อยก็ตามมาตรฐานทางธรณีวิทยา กล่าวคือในระยะเวลาราว 10,000 ปี หรือต่ำกว่า
                เดวิด คิดเดอร์ และโธมัส วอร์สลีย์ สองนักธรณีวิทยาเสนอแบบจำลองที่น่าประทับใจสำหรับกระบวนการทำงานของสภาวะเรือนกระจกของโลก และการเกิดของมัน พวกเขาเสนอว่าเมล็ดพันธุ์ถูกหว่านไว้นับสิบๆ ล้านปีก่อนจะเกิดเหตุการณ์สูญพันธุ์ เมื่อการเกิดภูเขาจากเปลือกโลกเคลื่อนที่เข้าชนกันยุติลง และเมื่ออากาศหยุดปนเปื้อนสารเคมี เปิดทางให้คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศก่อตัวขึ้นช้าๆ จนถึงระดับอันตราย เมื่อยุคเพอร์เมียนใกล้ถึงจุดจบ ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าทุกวันนี้ถึง 4 เท่า เป็นตัวจุดให้อุณหภูมิสูงขึ้นครั้งใหญ่
                   ทำนองเดียวกับเกมโดมิโนแห่งความตาย การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศสร้างแรงกระเพื่อมซ้ำเติมวิกฤต ทะเลทรายขยายตัว ขณะที่ป่ากระถดตัวเข้าใกล้ขั้วโลกที่อากาศเย็นกว่า ยิ่งไปลดการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านการสังเคราะห์แสงลง ทะเลทรายขยายขึ้นไปถึง 45 องศาเหนือ(บริเวณพื้นทวีปของยุโรปตอนกลางและสหรัฐอเมริกาตอนเหนือในปัจจุบัน) และบางทีอาจจะรุกล้ำขึ้นไปถึง 60 องศาเหนือ ใกล้กับอาร์กติกเซอร์เคิล ทะเลทรายเหล่านี้คงร้อนจนสุดจะจินตนาการ การระเหยของน้ำจากมหาสมุทรนอกชายฝั่งเป็นไปในระดับสูงมากจนทะเลหนาแน่นและเต็มไปด้วยเกลือ น้ำอุ่นถูกดึงลึกลงไปใต้มหาสมุทร กระบวนการดังกล่าวกลับกันกับในโลกทุกวันนี้ ซึ่งน้ำเย็นที่ขั้วโลกจมลงในเหวลึกของมหาสมุทร แต่ด้วยขั้วโลกที่ร้อนกว่าในสภาวะเรือนกระจกยุคเพอร์เมียนการจมลงของน้ำอุ่นในมหาสมุทรขั้วโลกดำเนินไปอย่างช้าๆ และหยุดลงในที่สุด
                   น้ำอุ่นอาจจะน่าลงไปแหวกว่าย แต่ก็อย่างที่เราเห็นก่อนหน้านี้เมื่อแพร่กระจายไปทั่วทั้งมหาสมุทร มันกลับกลายเป็นนักฆ่า ออกซิเจนน้อยลงในน้ำทะเลที่ร้อนขึ้น ดังนั้น น้ำทั้งหมดจึงค่อยๆ หยุดหมุนเวียนและขาดออกซิเจน สิ่งมีชีวิตในน้ำที่ต้องอาศัยออกซิเจน กล่าวคือ รูปแบบชีวิตขั้นสูงกว่าทั้งหมดตั้งแต่แพลงก์ตอนไปจนถึงปลาฉลาม ต้องเผชิญกับสภาวะปราศจากอากาศหายใจ ในห้วงวิกฤตของยุคเพอร์เมียนน้ำอุ่นยังขยายตัวและระดับน้ำทะเลสูงขึ้นราว 20 เมตร เข้าท่วมชั้นทวีป ก่อให้เกิดทะเลร้อนและตื้นขณะที่น้ำขาดออกซิเจนรุกล้ำเข้าไปบนพื้นผิวแผ่นดิน
                  มหาสมุทรที่ร้อนขึ้นเหล่านี้เป็นเชื้อให้กับเฮอร์ริเคนอันเกรี้ยวกราดดุดันเกินกว่าที่เราเคยประสบกันมาในยุคปัจจุบัน พายุสมัยใหม่ถูกจำกัดด้วยน้ำเย็นในทะเลลึกและในเขตละติจูดสูงๆ ทว่ามหาสมุทรร้อนในสภาวะเรือนกระจกตอนสิ้นยุคเพอร์เมียนนั้นขยายไปทั่วโลกตั้งแต่ขั้วโลกเนือจนจรดขั้วโลกใต้ มหาเฮอร์ริเคน(super-hurricanes บางครั้งเรียก hypercanes) มีพลังพอจะพาตัวมันเองไปถึงขั้วโลกเหนือแล้วย้อนกลับมา บางครั้งยังถึงขนาดตีวนกลับรอบโลกซ้ำอีกด้วย มีแต่แผ่นดินแห้งผากเท่านั้นจึงจะหยุดมันได้ แต่มหาเฮอร์ริเคนก็อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันอย่างรุนแรงจนกระทั่งสิ่งมีชีวิตไม่อาจรอดได้ พายุขนาดมโหฬารเหล่านี้นำพาความร้อนสูงไปยังละติจูดสูงๆ เพิ่มผลกระทบจากสภาวะเรือนกระจกให้มากยิ่งขึ้นผ่านปฏิกิริยาสะท้อนกลับจากไอน้ำและเมฆ
                     นี่เพียงเริ่มต้นเท่านั้น หากระบบโลกสมดุลก็อาจจะทานทนกับการจู่โจมอย่างฉับพลันเช่นนั้นได้ ทว่าโชคร้าย ชะตากรรมกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เมื่อสภาวะเรือนกระจกทวีความเข้มข้น แมกม่าร้อนหลอมละลายจากใจกลางโลกพุ่งขึ้นมาตามรอยแยกของโลกเหมือนมีดพุ่งแทงทะลุหัวใจของไซบีเรีย เมื่อมาถึงผิวโลก หินหลอมเหลวพุ่งขึ้นไปด้วยความรุนแรงเต็มพิกัด พ่นขี้เถ้าและเศษซากภูเขาไฟไปไกลเป็นร้อยๆ ไมล์ บดบังดวงอาทิตย์ด้วยฝุ่นและซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ยิ่งแมกม่าพุ่งทะลักในชั่วระยะเวลาหนึ่งพันปีดังกล่าว ก็ยิ่งสะสมเป็นชั้นหนานับหลายร้อยเมตรกินอาณาบริเวณกว้างใหญ่กว่ายุโรปตะวันตก ด้วยระเบิดของแมกม่าแต่ละครั้งอย่างต่อเนื่อง หินบะซอลท์ก็ยิ่งบ่าท่วมพื้นแผ่นดิน ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หลายพันล้านตันจากรอยปริของพื้นผิวโลกที่กำลังแยกออกจากกันอย่างรวดเร็ว
                    สิ่งมีชีวิตอาจจะอยู่รอดจากเหตุการณ์หินบะซอลท์ท่วมไซบีเรียได้ดีกว่านี้ หากมันไม่ได้มาอยู่ในช่วงที่ความร้อนของโลกขึ้นสูงถึงจุดที่ชั้นบรรยากาศ พื้นผิวโลกมุ่งไปสู่ชายขอบของความสามารถในการอยู่รอดอย่างที่มันเกิดขึ้น การระเบิดของแมกม่ายิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ปลดปล่อยก๊าซพิษและคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในปริมาณพอๆ กัน บันดาลให้เกิดพายุฝนกรดเกรี้ยวกราดรุนแรง พร้อมๆ กับยิ่งทำให้สภาวะเรือนกระจกเข้าใกล้สภาวะสุดขั้วยิ่งขึ้น เหมือนที่หนังสือเว็น ไลฟ์ เนียร์ลี่ดาย(When Life Nearly Died) ของไมเคิล เบนตันวาดเค้าโครงไว้ พายุมรสุมของกรดซัลเฟอริกเหล่านี้จะทำลายอาณาจักรของพืชบนบก กวาดล้างท่อนซุงผุพังและใบไม้เน่าเปื่อยลงสู่มหาสมุทรที่แน่นิ่งไปแล้ว ถึงตอนนี้สิ่งมีชีวิตหากไม่ตายแล้วก็กำลังจะตาย สัตว์โลกที่อยู่ในรูลึกอาจมีชีวิตรอดจากวิกฤตที่เลวร้ายที่สุดในตอนเริ่มต้น ทว่าอะไรก็ตามที่โผล่ขึ้นมาบนพื้นดินไม่ช้าก็ต้องตายเพราะความร้อน หรืออดตายไปในที่สุด พืชส่วนใหญ่ซึ่งเป็นฐานของห่วงโซ่อาหารทั้งบนบกและในทะเลถูกกวาดหายไปจนหมดสิ้น มีเพียงน้อยนิดที่อาจอยู่รอดไปได้เป็นเวลานาน ระดับออกซิเจนในชั้นบรรยากาศลดลงเหลือ 15 เปอร์เซ็นต์ (ระดับในปัจจุบันคือ 21 เปอร์เซ็นต์) ต่ำมากพอจะปล่อยให้สัตว์ใดๆ ที่เคลื่อนไหวได้รวดเร็วต้องหอบหายใจแม้กระทั่งที่ระดับน้ำทะเล
                 สิ่งที่แย่กว่านั้นยังมาไม่ถึง เมื่อน้ำอุ่นลงไปถึงใต้มหาสมุทรอย่างรวดเร็ว เจ้าปีศาจร้ายที่เดี๋ยวนี้รู้จักกันดีก็เริ่มก่อกวนชั้นทวีป ซึ่งก็คือน้ำแข็งแห้งมีเทน สภาวะโลกร้อนที่ควบคุมไม่ได้เริ่มขึ้นแล้ว
                    มีเทนส่วนใหญ่ที่ปลดปล่อยออกมาในตอนแรกแทรกตัวอยู่ในน้ำค่อยๆ สะสมไปตามกาลเวลา อย่างไรก็ตาม เมื่อพรายฟองเพิ่มมากขึ้นๆ แต่ละชั้นของน้ำที่ต่อเนื่องกันจะค่อยๆ ถึงจุดอิ่มตัว เมื่อระเบิดเตรียมพร้อมแล้ว สิ่งเดียวที่ต้องการก็คือเชื้อปะทุ
                 เหตุการณ์คลี่คลายไปในทำนองนี้ ก่อนอื่น การก่อกวนเบาๆ ที่ก้นทะเลทำให้กลุ่มของน้ำที่อิ่มตัวด้วยก๊าซมีเทนลอยตัวขึ้นข้างบน ขณะที่มันลอยตัวขึ้น ฟองเริ่มผุด ก๊าซที่ปนอยู่เดือดปุดเป็นฟองด้วยการลดแรงดันสถิตของน้ำลง เหมือนกับขวดน้ำเลโมเนดที่เป็นฟองฟู่ล้นทะลักออกมาหากเปิดฝาออกเร็วเกินไป ฟองก๊าซเหล่านี้ทำให้กลุ่มของน้ำชุดดังกล่าวยังคงลอยขึ้นด้วยความเร่งผ่านมวลน้ำตามแนวโด่ง ขณะที่น้ำพุ่งขึ้นข้างบนจนถึงจุดระเบิดมันจะฉุดเอาน้ำรอบๆ ขึ้นไปด้วย ทำให้กระบวนการดังกล่าวขยายตัว จากผิวทะเลน้ำพุ่งขึ้นไปในอากาศหลายร้อยเมตร ขณะที่ก๊าซซึ่งปลดปล่อยออกมาระเบิดเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ เกิดคลื่นกระแทก(shockwave) กระจายไปทุกทิศทาง กระตุ้นให้เกิดการระเบิดตามมาในบริเวณใกล้ๆ
                 ที่บรรยายมานี้ไม่มีตรงไหนเป็นการคาดเดาทางทฤษฎี กระบวนการคล้ายกันในระดับย่อส่วนเกิดขึ้นเมื่อไม่นานเท่าไรนัก ปี ค.ศ.1986 ในทะเลสาบนีโยส ประเทศแคเมอรูน ภูเขาไฟที่อยู่ใต้ทะเลสาบปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาอย่างต่อเนื่อง ตอนเย็นของวันที่ 12 สิงหาคม 1986 ก๊าซก็ระเบิดขึ้น ทำให้เกิดน้ำพุของก๊าซปนกับน้ำพุ่งสูงขึ้นไปในอากาศ 120 เมตร ปลดปล่อยกลุ่มหมอกควันคาร์บอนไดออกไซด์มรณะคร่าชีวิตคนกว่า 1,700 คนในบริเวณโดยรอบเพราะขาดอากาศหายใจ หมอกควันคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งหนักกว่าอากาศจะลอยเรี่ยอยู่ระดับพื้นดินทำให้เหยื่อจำนวนมากหายใจไม่ออกตายอยู่บนเตียง
                 หมอกควันมีเทนก็อาจจะทำตัวแบบเดียวกัน มันแทรกตัวอยู่ในหยดน้ำ กระจายตัวคลุมหน้าดินเหมือนกับผ้าห่มมีพิษ นอกจากนั้นมีเทนยังไม่เหมือนคาร์บอนไดออกไซด์ตรงที่มันติดไฟได้ ความเข้มข้นของมีเทนในอากาศแม้ต่ำเพียงแค่ 5 เปอร์เซนต์ ก็เป็นส่วนผสมเพียงพอจุดให้ลุกได้ด้วยสายฟ้าผ่าหรืออะไรอื่นที่ทำให้เกิดประกายไฟ เกิดเป็นลูกไฟน่ากลัวพุ่งพาดผ่านท้องฟ้า อาจจะเทียบได้กับระเบิดเชื้อเพลิงสมัยใหม่ที่กองทัพสหรัฐและรัสเซียใช้ ส่วนอำนาจทำลายล้างของมันเทียบได้กับอาวุธนิวเคลียร์อันน่าสะพรึงกลัว สิ่งที่เรียกกันว่า ระเบิดสุญญากาศ นี้ พ่นกลุ่มฝอยของหยดเชื้อเพลิงขึ้นไปอยู่เหนือเป้าหมาย(เป็นพื้นที่อากาศถูกโอบล้อมเหมือนในถ้ำ) จากนั้นก็จะจุดระเบิด มันจะดูดอากาศออกและส่งคลื่นกระแทกรุนแรงพอที่จะฆ่าและทำให้บาดเจ็บได้ในบริเวณกว้าง
อย่างไรก็ตาม หมอกควันก๊าซมีเทนที่เกิดจากการระเบิดในมหาสมุทรจะทำให้อาวุธสงครามสมัยใหม่ชนิดรุนแรงที่สุดกลายเป็นของกระจอกไปเลย และการระเบิดของกลุ่มหมอกควันมีเทนที่ใหญ่ที่สุดจะทำให้เกิดคลื่นทำลายล้างซึ่งสามารถเดินทางไปได้เร็วกว่าเสียง ด้วยการระเบิดซูเปอร์โซนิก แรงดันจากคลื่นกระแทกเองจะเป็นตัวจุดระเบิดส่วนผสมของอากาศ ผลักให้การระเบิดพุ่งไปข้างหน้าด้วยความเร็ว 2 กิโลเมตรต่อวินาที ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่มันพุ่งผ่านระเหยกลายเป็นไอ
                  ผลที่เกิดขึ้นกับสัตว์และพืชที่มีชีวิตอยู่ในโลกยุคเพอร์เมียนนั้นยากจะจินตนาการออก ดังนั้น การระเบิดที่ค่อนข้างเล็กโดยเปรียบเทียบของก๊าซมีเทนในมหาสมุทรจะกลายเป็นตัวการที่มีประสิทธิผลมากของการสูญพันธุ์ขนานใหญ่ ดังที่ เกรกอรี ไรสกิน วิศวกรเคมีเขียนไว้ในรายงานชิ้นหนึ่งว่าด้วยเรื่อง กลไกการทำลายล้าง ตอนสิ้นยุคเพอร์เมียนโดยเฉพาะว่า ก๊าซมีเทนดังกล่าว สามารถทำลายล้างสิ่งมีชีวิตบนโลกได้จนเกือบหมดสิ้น เขาประเมินว่าการระเบิดของก๊าซมีเทนครั้งใหญ่ จะปลดปล่อยพลังงานเท่ากับระเบิด TNT 108 เมกะตัน มากกว่าอาวุธนิวเคลียร์สะสมของโลกประมาณ 10,000 เท่า ไฟล้างโลกนี้อาจจะยิ่งทำให้อุณหภูมิเย็นลงในระยะสั้นเหมือนฤดูหนาวนิวเคลียร์ ก่อนที่จะกลับไปเร่งให้โลกร้อนต่อไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้มีเทน (ส่วนมีเทนที่ไม่ได้เผาไหม้ก็จะยิ่งสร้างผลกระทบจากภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น)
                    ก๊าซมีเทนอาจจะไม่ได้ทำหน้าที่สังหารโดยลำพัง ขณะที่พืชและสัตว์เน่าเปื่อยอยู่ในมหาสมุทรตายนั้น ไฮโดรเจนซัลไฟด์ ปริมาณมหาศาลกำลังก่อตัวขึ้นในระดับลึกของมหาสมุทร หลักฐานบ่งชี้ถึงมหาสมุทรกำมะถันนี้ยังคงปรากฏอยู่ในหินยุคเพอร์เมียนทางตะวันออกของเกาะกรีนแลนด์ ซึ่งก็คือเหล็กไพไรต์ที่พบได้ทั่วไปท่ามกลางหินดินดานในยุคที่เกิดภัยพิบัติ สารพิษเข้มข้นในชั่วเวลาสั้นๆ (กลิ่นเหมือนไข่เน่า) หรือไฮโดรเจนซัลไฟด์ใดๆ ที่ปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศจะทำลายสัตว์ไม่ให้เหลือชีวิตรอดได้ไม่ว่าในสถานที่ใดๆ แม้ว่ามันอาจจะรอดมาจากการระเบิดของก๊าซมีเทนก็ตาม
                    ที่สำคัญพอๆ กันก็คือ กำมะถันที่หมักอยู่ในมหาสมุทรเป็นตัวการให้เกิดการสูญพันธุ์ที่มีประสิทธิผลมากกับสิ่งมีชีวิตในน้ำ มันสังหารรูปแบบชีวิตที่ต้องอาศัยออกซิเจนในการหายใจจนหมดสิ้น ราวกับว่าเท่านี้ยังไม่พอ หมอกควันไฮโดรเจนซัลไฟด์อาจบุกจู่โจมและทำลายชั้นโอโซนเปิดช่องให้รังสีอัลตราไวโอเล็ตอันตรายจากดวงอาทิตย์แผ่ลงมา เมื่อเร็วๆ นี้มีการค้นพบสปอร์รูปร่างผิดเพี้ยนในหินยุคเพอร์เมียนจากเกาะกรีนแลนด์ทางตะวันออกเช่นเดียวกัน เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า พืชบกที่หลงรอดมาได้อาจจะประสบกับการผ่าเหล่าทางดีเอ็นเออันเนื่องมาจากการรับรังสีอัลตราไวโอเล็ตเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน
                    ก๊าซมีเทนเข้มข้นสูงมากยังทำลายชั้นโอโซนด้วย การศึกษาโดยใช้แบบจำลองชิ้นหนึ่งมุ่งสืบค้นเงื่อนไขต่างๆ ในตอนสิ้นยุคเพอร์เมียนโดยเฉพาะพบว่า หากความเข้มข้นของก๊าซมีเทนบนผิวโลกสูงขึ้นไปถึง 5,000 เท่าของระดับทั่วไป ซึ่งเป็นกรณีที่อาจเกิดขึ้นจากการระเบิดของน้ำแข็งแห้งมีเทนในวงกว้าง ครึ่งหนึ่งของมวลโอโซนจะถูกทำลาย ทำให้รังสีอัลตราไวโอเล็ตแผ่ลงมายังพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้นอีก 7 เท่า ผู้เขียนเสนอว่านี่อาจจะเป็นสาเหตุของการสูญพันธุ์ก็เป็นได้ นอกจากนั้นเมื่อตัวกระทำการสองตัวร่วมกันคือ ไฮโดรเจนซัลไฟด์ และก๊าซมีเทน สามารถจะส่งผลให้เกิดการทำลายล้างชั้นโอโซนอย่างขนานใหญ่ขึ้นได้
ด้วยภัยพิบัติอย่างต่อเนื่องเหล่านี้ทั้งหมดที่กระหน่ำใส่โลก แทบไม่น่าประหลาดใจเลยว่าการสูญพันธุ์เมื่อสิ้นยุคเพอร์เมียนนั้นนำโด่งทิ้งห่างจากครั้งอื่นๆ ทั้งหมด จากการคำนวณ 95 เปอร์เซนต์ของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ ทั้งบนบกและในน้ำสูญพันธุ์ไป ในทะเลมีหอยสองสามชนิดรอดมาได้โดยฝังตัวลึกอยู่ในโคลน บนบกสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ชนิดเดียวที่รอดผ่านคอขวดของการสูญพันธุ์มาได้คือ ลิสโทรซอรัส(Lystrosaurus) รูปร่างคล้ายหมู ซึ่งครอบครองโลกส่วนใหญ่อยู่เป็นเวลาอีกหลายล้านปีหลังจากนั้น มี แหล่งถ่านหิน ที่แตกต่างออกไปอยู่ในช่วงต้นถึงกลางยุคไทรอัสสิก ซึ่งเป็นยุคทางธรณีวิทยาต่อจากเพอร์เมียน แสดงให้เห็นว่ามีพืชปกคลุมดินเท่านั้นที่มีชีวิตรอด ไม่มีป่าเขียวขจีขึ้นตามแนวตะเข็บชั้นถ่านหินหนาเช่นตอนต้นยุคเพอร์เมียนและยุคคาร์โบนิเฟอรัส(Carboniferous) ต้องใช้เวลาอีก 50 ล้านปีในยุคจูราสสิก ก่อนที่ความหลากหลายทางชีวภาพในระดับเดียวกับก่อนการสูญพันธุ์จะกลับคืนมา.....

Be Veg Go Green Save The Planet
spd_20080331182827_b.jpg				
comments powered by Disqus
  • โคลอน

    17 มิถุนายน 2553 21:44 น. - comment id 117463

    7.gif7.gif7.gif
    
    โอย........เล่นเอามึน 44.gif36.gif
  • แจ้นเอง

    18 มิถุนายน 2553 22:53 น. - comment id 117503

    36.gif
    
    อ่านจนตาลายเลย
    
    ขอบคุณเรื่องดีๆที่นำมาลงค่ะ
    
    31.gif

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน