ซากฟอสซิลคืนชีพ....

คีตากะ

dinonychus2.jpg
















          แบคทีเรีย คือ สิ่งมีชีวิตเซลเดียว ไม่มีผนังห่อหุ้มนิวเคลียส มีรูปร่างกลมเป็นท่อน โค้ง หรือเป็นเกลียว บางทีก็เรียกว่า บัคเตรี...

         เมื่อประมาณ 4,600 ล้านปี โลกเพิ่งถือกำเนิดเกิดมา กล่าวกันว่าโลกยุคแรกเต็มไปด้วยภูเขาไฟ เป็นเวลาหลายล้านปีที่ภูเขาไฟพ่นก๊าซปริมาณมหาศาลออกมา ก๊าซเหล่านี้รวมตัวกันและเกิดเป็นชั้นบรรยากาศ แต่มันต่างจากบรรยากาศในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง มันคือส่วนผสมที่มีพิษของคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไอหมอกของไฮโดรเจนซัลไฟด์ ไม่มีร่องรอยของก๊าซที่เราพึ่งพาอยู่ในทุกวันนี่อย่างออกซิเจน ส่วนผสมอันตรายนี้คงอยู่นานกว่า 2,000 ล้านปี จนกระทั่งเกิดสิ่งที่คาดไม่ถึงที่เข้ามาเปลี่ยนสภาพชั้นบรรยากาศ นั่นคือชีวิตในยุคแรกเริ่ม จากหลักฐานทางชีววิทยานักวิทยาศาสตร์ได้พบ ” สโตรมาโทไลต์ ” ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตพวกอินทรีย์สารที่ครองโลกของเรามานานกว่า 3,000 ล้านปี ก่อนที่สิ่งมีชีวิตทุกอย่างจะเกิดขึ้น มันเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตธรรมดาที่เป็นแบคทีเรีย เมื่อพวกมันซึมซับแสงอาทิตย์และสังเคราะห์แสงมันก็แยกพันธะเคมีในน้ำและปล่อยก๊าซออกซิเจนปริมาณมหาศาลออกมา ประมาณ 2,500 ล้านปีที่แล้ว สโตรมาโทไลต์ปกคลุมมหาสมุทรน้ำตื้นอยู่ทั่วโลกแล้วพวกมันทั้งหมดก็ผลิตออกซิเจนออกมา สิ่งนี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก ในที่สุดดาวดวงนี้ก็มีบรรยากาศที่เต็มไปด้วยออกซิเจน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดต่อการกำเนิดชีวิตบนโลก เมื่อออกซิเจนลอยผ่านชั้นบรรยากาศขึ้นไปยังชั้นสตาร์โตสเฟียร์ มันก็ก่อตัวขึ้นเป็นชั้นโอโซนที่ช่วยปกป้องโลกจากรังสีอุลตราไวโอเล็ตที่เป็นอันตรายจากดวงอาทิตย์ ทำให้สิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนเจริญเติบโตขึ้นบนผิวโลกของเรา เมื่อสโตรมาโทไลต์ ปล่อยออกซิเจนขึ้นสู่บรรยากาศมันไม่เพียงแค่ปกป้องโลกเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ชีวิตรูปแบบใหม่กำเนิดขึ้น ออกซิเจนเป็นก๊าซที่เกิดปฏิกิริยาได้ไว มันจึงเป็นประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตที่ต้องการพลังงานมากกว่าที่แบคทีเรียต้องการ เมื่อบรรยากาศอุดมไปด้วยออกซิเจน โลกค่อยๆ กลายเป็นบ้านให้แก่สิ่งมีชีวิตสุดพิเศษหลากหลายชนิดที่มีความซับซ้อน และกลายเป็นบ้านให้เราในที่สุด ซึ่งไม่มีอินทรีย์สารชนิดไหนบนโลกที่มีอิทธิพลต่อโลกได้มากขนาดนี้ ออกซิเจนได้สร้างขีดจำกัดในการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ของเรา ชีวิตสร้างออกซิเจนและออกซิเจนก็ขยายโอกาสให้แก่ชีวิต สามารถสรุปได้อย่างง่ายดายว่า ไม่มีก๊าซใดในบรรยากาศจะมีความสำคัญมากไปกว่านี้อีกแล้ว...

          แบคทีเรียไม่เพียงเป็นต้นกำเนิดของก๊าซออกซิเจนในยุคเริ่มแรกเท่านั้น ในวัฏจักรของคาร์บอนพวกมันเป็นกลไกในการขับเคลื่อนระบบที่สำคัญนี้ด้วย ภายหลังจากที่โลกมีพืชและสัตว์ต่างๆเกิดขึ้นมากมายจากออกซิเจนที่มันผลิต พืชที่มีหน้าที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสงและคายออกซิเจนออกมาให้แก่สิ่งมีชีวิตบนโลกในเวลาต่อมา โดยเฉพาะพืชจำพวกแพลงก์ตอน สาหร่าย ที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรทั่วโลก พวกมันจะทำหน้าที่ในการดึงคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากบรรยากาศนำมาสร้างเปลือกแข็งเพื่อห่อหุ้มร่างกาย สังเคราะห์แสง และคายก๊าซออกซิเจน พืชและสัตว์ที่ตายลงกลายเป็นซากพืชซากสัตว์ พวกมันจะเก็บคาร์บอนเอาไว้ในรูปสารอินทรีย์ มีซากพืชซากสัตว์สะสมอยู่ทุกหนทุกแห่งทั้งบนบกและในทะเล เช่นเดียวกับที่มีแบคทีเรียในทุกหนทุกแห่ง เวลาผ่านไปนับล้านๆปี  แบคทีเรียจะค่อยๆกินซากพืชซากสัตว์เหล่านั้นผลิตก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการย่อยของมัน แบคทีเรียผลิตมีเทนได้โดยไม่ต้องใช้ออกซิเจนมักจะอยู่ในส่วนลึกของพื้นดินหรือมหาสมุทร ในลักษณะระบบปิดทางธรณีวิทยา การตกตะกอนของซากพืชซากสัตว์ที่ล้มตายทับถมกันจนหนากลายเป็นชั้นตะกอนที่ความดันและอุณหภูมิที่เหมาะสม จะเกิดการปรุงตามกระบวนการทางธรณีวิทยา  ก่อให้เกิดสารไฮโดรคาร์บอนขึ้น เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ที่รู้จักกันในชื่อเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์หรือเชื้อเพลิงฟอสซิล(Fossil fuel) น้ำมันและก๊าซธรรมชาติมักจะเรียกกันว่า “ปิโตรเลียม” นอกจากนั้นการตกตะกอนทับถมของซากสิ่งมีชีวิตบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ ก้นทะเลสาบ แม่น้ำลำคลอง ใต้ชั้นดินเยือกแข็ง(Permafrost)ที่มีหิมะปกคลุม และพื้นมหาสมุทร แบคทีเรียที่ชื่อ “Archaea “ จะเปลี่ยนซากสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นไปเป็นน้ำแข็งแห้งมีเทนหรือมีเทนก้อนที่เรียกว่า “มีเทนไฮเดรต(Methane Hydrate)” น้ำแข็งแห้งมีเทนถูกปิดล็อกด้วยชั้นตะกอนหนา แผ่นดินหรือชั้นดินเยือกแข็งที่อยู่ด้านบนตามลักษณะทางธรณีวิทยา  พวกมันเกิดจากก๊าซมีเทนที่รวมตัวกับน้ำ โดยมีโมเลกุลของน้ำล้อมรอบโมเลกุลของมีเทน มีลักษณะเป็นของแข็งคล้ายน้ำแข็ง จะเกิดในที่บริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำและความดันที่สูง สำหรับใต้ชั้นเพอร์มาฟอสต์ที่มีหิมะปกคลุมตลอดปี น้ำแข็งแห้งมีเทนอาจอยู่บริเวณที่ตื้นกว่า ประมาณ 200 เมตร แต่สำหรับแนวตะกอนใต้พื้นมหาสมุทรมันจะอยู่ที่ระดับความลึกประมาณ 300-500 เมตรจากผิวน้ำทะเลหรือมากกว่า นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบปริมาณที่แน่ชัดของน้ำแข็งแห้งมีเทนที่สะสมอยู่ตามมหาสมุทรทั่วโลก แต่คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณถึง 2-20 ล้านล้านตัน พวกมันเสมือนยักษ์ใหญ่ที่กำลังนอนหลับอยู่ใต้ก้นทะเลลึกและบางส่วนกำลังตื่นขึ้นมาแล้ว...

         วัฏจักรของคาร์บอนมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก คาร์บอนส่วนหนึ่งสะสมอยู่ในต้นไม้และชั้นบรรยากาศ มนุษย์เคยคิดว่าคาร์บอนส่วนใหญ่อยู่ในต้นไม้บนพื้นแผ่นดิน แต่นั่นคือความคิดที่ผิด เพราะความจริงแล้วคาร์บอนถึง 93% ถูกสะสมอยู่ในมหาสมุทร สำหรับชั้นบรรยากาศคาร์บอนโดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทนเป็นก๊าซเรือนกระจกทำหน้าที่ช่วยดูดซับคลื่นรังสีความร้อนหรือรังสีอินฟราเรดจากดวงอาทิตย์เอาไว้ ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกอบอุ่นพอเหมาะพอดี หรือกล่าวง่ายๆว่ามันช่วยกักเก็บความร้อนบางส่วนไว้ในโลก ไม่ให้สะท้อนกลับสู่บรรยากาศทั้งหมด แล้วค่อยๆแผ่รังสีความร้อนออกมาในตอนกลางคืน ทำให้อุณหภูมิของโลกมีความคงที่ เช่นเดียวกับก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ เช่น ไอน้ำ ก๊าซไนตรัสออกไซด์ และโอโซน ตามธรรมชาติก๊าซเรือนกระจกจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 33 องศาเซลเซียส ก๊าซเหล่านี้ควบคุณอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้อยู่ที่ 15 องศาเซลเซียส แต่ถ้าหากปราศจากก๊าซเรือนกระจกที่ทำหน้าที่เสมือนผ้าห่มผืนบางๆเหล่านี้แล้ว พื้นผิวโลกจะมีอุณหภูมิเพียง -18 องศาเซลเซียสเท่านั้น ซึ่งนั่นก็หมายความว่า น้ำทั้งหมดบนโลกนี้จะกลายเป็นน้ำแข็งทั้งหมด ถ้ามีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศมากขึ้น ธรรมชาติจะปรับสมดุลด้วยการทำให้พืชดูดซับมันมากขึ้นและเร่งการเจริญเติบโตให้รวดเร็วขึ้น แต่ถ้ามีคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง คาร์บอนจากซากฟอสซิลที่อยู่ใต้พื้นทวีปที่ถูกหลอมละลายตามกระบวนการทางธรณีวิทยาจะถูกปลดปล่อยคืนสู่บรรยากาศอีกครั้งจากก๊าซที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟและกระบวนการย่อยสลายตามธรรมชาติ ชั้นบรรยากาศของโลกบางมาก จนเราสามารถเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของมันได้อย่างเป็นรูปธรรม... 

        ยุคน้ำแข็งหรือช่วงที่มีน้ำแข็งปกคลุมถาวรจำนวนมาก โดยเฉพาะในบริเวณขั้วโลกและภูเขาสูง อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกจะเย็นต่ำกว่าในปัจจุบันประมาณ 8-12 องศาเซลเซียส ระดับน้ำทะเลอยู่ในระดับต่ำกว่าในปัจจุบันประมาณ 100-130 เมตร แต่เมื่อเข้าสู่ยุคโลกร้อนหรือช่วงที่น้ำแข็งบริเวณต่างๆ เช่น ที่ขั้วโลกและภูเขาสูงมีการละลายอย่างถาวร ทำให้อุณหภูมิโดยเฉลี่ยและระดับน้ำทะเลค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น ยุคโลกร้อนที่ผ่านมาแต่ละครั้งอุณหภูมิสูงกว่าปัจจุบันประมาณ 2-6 องศาเซลเซียส และระดับน้ำทะเลสูงกว่าปัจจุบันประมาณ 2-5 เมตร จากการศึกษาของนักธรณีวิทยาควอเทอร์นารี พบว่าในช่วง 1,000,000 ปีที่ผ่านมา เราผ่านช่วงยุคโลกร้อนกับยุคน้ำแข็งสลับกันไม่ต่ำกว่า 7-8 ครั้งที่ผ่านมา ดังนั้นอุณหภูมิโลกมีการเปลี่ยนแปลงลดลงต่ำสุด เมื่อโลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง และอุณหภูมิจะเพิ่มสูงสุดเมื่อโลกเข้าสู่ยุคโลกร้อนอีกครั้ง โดยรอบการเกิดแต่ละรอบกินเวลาประมาณ 100,000-150,000 ปีทุกครั้ง เหตุที่ทำให้โลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็งกับยุคโลกร้อนเกิดจากแกนโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ แกนหมุนของโลกส่ายเป็นวงคล้ายลูกข่างทำให้ระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และลักษณะการหมุนรอบของวงโครจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ สภาวะโลกร้อนเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นมีวัฏจักรแน่นอนและเคยเกิดมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน พร้อมกับวิวัฒนาการของโลกซึ่งมีมาแล้วไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านปีที่ผ่านมา....

        ในช่วงอดีตเมื่อประมาณ 635 ล้านปีที่ผ่านมา การปลดปล่อยก๊าซมีเทนเป็นผลทำให้เกิดภาวะโลกร้อนอย่างรวดเร็ว นำไปสู่การสูญพันธุ์จำนวนมากของสิ่งมีชีวิต การพังทลายของระบบภูมิอากาศกินเวลายาวนานกว่า 100,000 ปี(เป็นการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตหลายเซลครั้งแรกจากโลกร้อน)  การสะสมก๊าซเรือนกระจกนับสิบๆล้านปีจนความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมากกว่า 4 เท่าของปัจจุบัน ตอนสิ้นยุคเพอร์เมียน เมื่อ 251 ล้านปีก่อนทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น กระแสน้ำในมหาสมุทรหยุดไหลเวียนจนเกิดการขาดออกซิเจนและร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วผลักดันให้เกิดการปะทุของก๊าซมีเทนจากน้ำแข็งแห้งมีเทนใต้พื้นมหาสมุทรน้ำนิ่ง เป็นสาเหตุของการสูญพันธุ์ 90% ของสิ่งมีชีวิตทางทะเล และ 75% ของสิ่งมีชีวิตบนบก นับเป็นการสูญพันธุ์ครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ในยุคจูราสสิก เมื่อ 183 ล้านปีมาแล้ว แมกม่าร้อนของภูเขาไฟแทรกตัวขึ้นระหว่างรอยตะเข็บถ่านหินที่พาดผ่านแอฟริกาใต้เป็นระยะทางนับพันๆกิโลเมตร ลาวาร้อนอบถ่านหินจนกลายเป็นก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์เติมเข้าไปในบรรยากาศ ทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นสูงสุดจนมหาสมุทรขาดออกซิเจน กระตุ้นให้น้ำแข็งแห้งมีเทนจากชั้นใต้มหาสมุทรปลดปล่อยก๊าซที่อาจมากถึง 9 ล้านล้านตันจากใต้ทะเล ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จากการออกซิไดซ์ของก๊าซมีเทนในชั้นบรรยากาศพุ่งขึ้นไปอีก 1,000 ppm ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นราวๆ 6 องศาเซลเซียส เท่ากับสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่คาดการณ์ไว้ในแบบจำลองของ IPCC ผลกระทบเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เกิดการสูญพันธุ์ขนานใหญ่ครั้งรุนแรงที่สุดตลอดยุคจูราสสิก และครีเทเชียส (กินเวลา 140 ล้านปี) ในยุคครีเทเชียส อยู่ระหว่าง 144-65 ล้านปีที่ผ่านมา เกิดภาวะเรือนกระจกสุดขั้วอันยาวนานที่สุด ขณะที่กลางมหาทวีปแพนเจียกำลังฉีกขาด แยกอเมริกาใต้กับแอฟริกาออกจากกัน ช่องแคบเล็กๆระหว่างสองทวีป คือมหาสมุทรแอตแลนติกวัยเยาว์ ไม่ได้กว้างไปกว่าทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในปัจจุบัน เมื่อแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนห่างจากกันราวสองสามมิลลิเมตรในแต่ละปีนั้น จะเกิดการระเบิดครั้งใหญ่ของภูเขาไฟที่สั่นสะเทือนไปทั้งโลก ในเขตซีกโลกใต้ซึ่งอินเดียยังอยู่ไกลจากตำแหน่งปัจจุบันลงไปทางใต้นั้น ค่อยๆเลื่อนอย่างสงบเงียบออกจากชายฝั่งตะวันออกของมาดากัสการ์ พื้นทวีปส่วนใหญ่ก็ดูแตกต่างมากด้วย ระดับน้ำทะเลสูงกว่าปัจจุบัน 200 เมตรหรือมากกว่า ทำให้ตอนกลางของทวีปจำนวนมากจมอยู่ใต้มหาสมุทร อเมริกาเหนือแยกออกเป็นเกาะห่างกันสามเกาะด้วยการรุกล้ำของมหาสมุทร ขณะที่หลายส่วนของแอฟริกาเหนือ ยุโรป และอเมริกาใต้ จมอยู่ใต้ทะเลตื้นๆ การรุกล้ำของทะเลดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดฐานหินปูนซึ่งยังหลงเหลือให้เห็นได้จนทุกวันนี้ ตั้งแต่เมดิเตอร์เรเนียนไปจนถึงจีน และยังทำให้เกิดหินชอล์ก ซึ่งในภาษาละตินเรียกว่า ครีตา(creta) อันเป็นที่มาของยุคครีเทเชียส หน้าผาขาวโพลน และทุ่งหินชอล์ก อันมีชื่อเสียงของอังกฤษทั้งหมดมีอายุย้อนหลังไปได้ถึงยุคครีเทเชียส โลกก็ยังเป็นพื้นราบกว่านี้มาก ภูเขาก่อตัวขึ้นเมื่อแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนเข้าชนกัน แต่ทวีปต่างๆ ในครีเทเชียสกำลังฉีกออกจากกันไม่ได้เข้าชนกัน ด้วยระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและทวีปมีขนาดเล็กลง พื้นแผ่นดินยุคนี้จึงปรากฏให้เห็นเพียง 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือจมอยู่ในทะเลสีคราม ความแตกต่างทางภูมิศาสตร์เหล่านี้มากมายพอๆกับภูมิอากาศระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในยุคครีเทเชียสมากกว่าปัจจุบันประมาณ 10 ถึง 15 องศาเซลเซียส ซึ่งไม่ใช่เพียงสอดแทรกเข้ามาในช่วงสั้นๆเท่านั้น ทว่ากินเวลานับล้านๆปี ในยุคกลางของครีเทเชียส เมื่อระดับคาร์บอนไดออกไซด์และอุณหภูมิสูงสุด และภาวะเรือนกระจกถึงจุดสุดยอดของมันนั้น หย่อมลึกก้นทะเลอันเกิดจากคลื่นพายุในช่วงนี้มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาหย่อมกันทะเลทั้งหมด วัฏจักรของน้ำเข้มข้นกว่าทำให้ฝนตกหนักมากขึ้น เขตน้ำท่วมภายในของอเมริกาเหนือ ซึ่งอยู่ในภูมิอากาศเขตร้อน อัตราฝนตกสูงขึ้นไปได้ถึง 4,000 มิลลิเมตรต่อปี อุณหภูมิของมหาสมุทรอันเป็นตัวขับเคลื่อนพายุฝนเหล่านี้สูงกว่ปัจจุบันมาก ในแอตแลนติกเขตร้อนอาจจะสูงขึ้นไปถึง 42 องศาเซลเซียส เหมือนกับอ่างน้ำร้อนมากกว่าจะเป็นมหาสมุทร ส่วนบริเวณแอตแลนติกใต้ใกล้เกาะฟอล์กแลนด์ซึ่งอยู่ในภูมิอากาศกึ่งขั้วโลกนั้น อุณหภูมิปรกติที่ผิวน้ำทะเลอยู่ที่ 32 องศาเซลเซียสโดยเฉลี่ย ร้อนกว่าส่วนใหญ่ของเขตร้อนจัดของทุกวันนี้ มันเป็นชวงเวลาที่โลกปราศจากน้ำแข็งปกคลุมไม่ว่าจะขั้วโลกไหน ที่ขั้วโลกเหนือ อุณหภูมิมหาสมุทรอาจจะขึ้นไปถึง 20 องศาเซลเซียส ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดคาดว่าจะอยู่ระหว่าง 3 ถึง 6 เท่าของระดับปัจจุบัน คาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นนี้ส่วนใหญ่มาจากภูเขาไฟ ในขณะที่ทุกวันนี้ภูเขาไฟมีส่วนในการสร้างคาร์บอนไดออกไซด์เข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2 เปอร์เซนต์ต่อปี แต่ยุคครีเทเชียสนั้นการระเบิดของภูเขาไฟเป็นแบบขนานใหญ่อย่างแท้จริงและเป็นเช่นนั้นอยู่ตลอดหลายพันปี คาร์บอนจำนวนมากถูกกักไว้ในตะกอนมหาสมุทรเมื่อซากย่อยสลายของแพลงก์ตอนลงไปกองทับถมเป็นชั้นๆ ที่ก้นมหาสมุทรกลายเป็นโคลนชีวภาพอันอุดมสมบูรณ์ บางส่วนของคาร์บอนดังกล่าวนี้ถูก “ปรุง” ด้วยกระบวนการทางธรณีวิทยา บีบคั้นผ่านรูในหินเข้าไปอยู่ในแอ่งสะสมกลายเป็นสสารที่คุ้นเคยกันดีสำหรับมนุษย์สมัยใหม่คือ “น้ำมัน” นั่นเอง เห็นได้จัดเจนว่าสิ่งมีชีวิตในโลกต้องออกแรงเป็นเวลานับล้านๆปีเพื่อกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศที่อยู่ในระดับสูงเข้าขั้นอันตรายจึงรักษาอุณหภูมิของโลกไว้ให้จำกัดอยู่ภายในขอบเขตที่ยอมรับได้ คาร์บอนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคาร์บอนเดียวกันกับที่มนุษย์ในปัจจุบันกำลังออกแรงเอามันคืนกลับไปใส่ชั้นบรรยากาศ นอกจากนั้นมนุษย์ยังสร้างคาร์บอนได้เก่งกว่าบรรดาหอยแมลงภู่ หอยนางรม และแพลงก์ตอน พวกเราปลดปล่อยคาร์บอนได้รวดเร็วกว่าที่สิ่งมีชีวิตยุคครีเทเชียสใช้เวลาทำมาตลอดบรมยุคราวๆ 1 ล้านเท่า จากหลักฐานทางธรณีวิทยา การพุ่งชนโลกของอุกกาบาตขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกว่า 15 กิโลเมตรช่วงรอยต่อยุคครีเทเชียส-เทอร์เทียรี ประมาณ 65 ล้านปีก่อน ก่อให้เกิดเขม่าฝุ่นปริมาณมหาศาลจากการระเบิดปกคลุมชั้นบรรยากาศเร่งให้เกิดภาวะโลกร้อนขั้นรุนแรง น้ำในมหาสมุทรร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว ขาดออกซิเจนผลักดันให้น้ำแข็งแห้งมีเทนปลดปล่อยก๊าซมีเทนปริมาณมหาศาลออกมา เป็นสาเหตุของการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ในยุคนั้น การเกิดภาวะโลกร้อนฉับพลันในช่วงรอยต่อระหว่างยุคพาเลโอซีนกับอีโอซีน เมื่อ 55 ล้านปีมาแล้ว เกิดจากการเคลื่อนตัวของแผ่นทวีป เช่น อนุทวีปอินเดียซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการปลดปล่อยมีเทนซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์การเกิดภาวะโลกร้อนเรียกว่า Late Paleocene Thermal Maximum (LPTM) กินเวลายาวนานกว่า 100,000 ปี เมื่ออนุทวีปอินเดียเคลื่อนตัวไปยังแผ่นทวีปยูเรเชีย ภูเขาหิมาลัยกำลังก่อตัวเกิดการยกตัวก่อสร้างแผ่นเปลือกโลกซึ่งจะเป็นการลดความดันในพื้นมหาสมุทรลงและอาจเป็นผลให้ก๊าซมีเทนปริมาณมหาศาลถูกปลดปล่อย เป็นไปไดว่าจะประกอบด้วยคาร์บอนมากถึง 2.8 ล้านล้านตัน มากเกินพอสำหรับการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็ว ทั้งบรรยากาศและมหาสมุทรจึงเริ่มอุ่นขึ้น อุณหภูมิน้ำทะเลบริเวณใกล้ขั้วโลกพุ่งขึ้นไปถึง 23 องศาเซลเซียส สูงกว่าส่วนใหญ่ของแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในปัจจุบัน ส่วนอุณหภูมิในอากาศอาจจะขึ้นไปถึง 25 องศาเซลเซียส นี่คือโลกซึ่งคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมีระดับสูงขึ้นจนถึงขีดอันตราย อุณหภูมิโดยเฉลี่ยสูงขึ้น 5 องศาเซลเซียส เป็นโลกซึ่งมหาสมุทรเป็นกรด ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขั้วโลกทั้งสองปราศจากน้ำแข็ง และเป็นโลกซึ่งทั้งชุ่มชื้นและแห้งแล้งอย่างสุดขั้วไปพร้อมๆกัน กล่าวโดยสรุป มันคือโลกที่เหมือนกันมากกับโลกที่เรากำลังมุ่งหน้าไปหาในศตวรรษนี้นี่เอง....

         การเกิดการลัดวงจรของวัฏจักรคาร์บอนก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนจนนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบนโลกหลายครั้งในอดีตดังที่กล่าวมา โลกร้อนที่เกิดในขณะนั้นพบว่าเกิดจาก น้ำแข็งแห้งมีเทนหรือมีเทนไฮเดรต ที่อยู่ในชั้นตะกอนในมหาสมุทรและแผ่นน้ำแข็งใต้ชั้นตะกอนบนแผ่นดิน โดยปกติแล้วมีเทนไฮเดรตจะคงสภาพเป็นของแข็งอยู่ใต้บริเวณพื้นท้องทะเลในมหาสมุทรซึ่งมีอุณหภูมิที่เย็นหรือความดันสูง หากมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยของน้ำทะเลมากกว่าระดับหนึ่งเมื่อไร มีเทนไฮเดรตจะเปลี่ยนสถานะจากของแข็งกลายเป็นก๊าซมีเทนลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศทันที ซึ่งก๊าซมีเทนถือว่าเป็นก๊าซเรือนกระจกที่รุนแรงตัวหนึ่ง แต่คุณสมบัติของก๊าซมีเทนหนึ่งตัวนั้นมีความพิเศษ ที่สามารถดูดกลืนรังสีอินฟราเรดได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงประมาณ 72 เท่าในช่วงระยะเวลา 20 ปี (เวลาเพียง 11 ปีก๊าซมีเทนในบรรยากาศจะถูกออกซิไดซ์กลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จนหมด ยกเว้นกรณีที่มีความเข้มข้นของก๊าซมีเทนมากจนเกินไปจนไม่สามารถออกซิไดซ์กับออกซิเจนและไฮโดรเจนได้หมด จะเหลือส่วนเกินซึ่งเร่งให้เกิดภาวะโลกร้อนอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น) ดังนั้นประวัติศาสตร์ธรรมชาติของโลกก่อนที่จะมีอารยธรรมมนุษย์ การปลดปล่อยก๊าซมีเทนตามธรรมชาติมีผลให้เกิดโลกร้อน ทำให้อุณหภูมิและการละลายของน้ำแข็งจะเพิ่มขึ้น มีผลต่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้นทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และนำมาสู่การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต...

         นับตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อประมาณ 200 ปีที่ผ่านมา กิจกรรมของมนุษย์ได้เติมก๊าซมีเทน คาร์บอนไดออกไซด์ และไนตรัสออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศอันเป็นตัวการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนในช่วงเวลาอย่างรวดเร็วกว่ายุคใดๆในอดีตที่ผ่านมา โดยมาจากการทำการเกษตรและปศุสัตว์ การเผาป่าเพื่อการใช้ที่ดิน การถมขยะ การเผาขยะ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล การทำเหมืองถ่านหิน การผลิตก๊าซ การคมนาคม โรงงานอุตสาหกรรม การรั่วไหลของก๊าซ ฯลฯ นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อสรุปที่มากกว่าความสงสัยอย่างมีเหตุผลว่าโลกที่ร้อนขึ้นประมาณ 1 องศาเซลเซียสในศตวรรษที่ผ่านมาทำให้อุณหภูมิของโลกสูงถึงระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ รายงานของ IPCC เมื่อ ค.ศ. 2007 ยืนยันว่าไม่มี “ข้อมูลแวดล้อม” ใดๆไม่ว่าจากวงปีต้นไม้ แกนน้ำแข็ง แถบปะการัง หรือแหล่งอื่นๆที่แสดงว่ามีช่วงเวลาใดในช่วง 1,300 ปีหลังที่อากาศอุ่นเท่าตอนนี้ แท้จริงแล้วบันทึกจากทะเลลึกบ่งชี้ว่าอุณหภูมิขณะนี้อยู่ในระดับสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านปีด้วยซ้ำ พื้นที่บนโลกซึ่งอ่อนไหวต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นฉับพลันนี้มากที่สุดและเป็นบริเวณที่น่าจะได้เห็นการผ่าน “จุดพลิกผัน” ที่สำคัญครั้งแรกคือ ทวีปอาร์กติก ที่นี่ อุณหภูมิปัจจุบันสูงขึ้นกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วโลกถึงสองเท่า อลาสก้าและไซบีเรียร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษ ในบริเวณเหล่านี้ปรอทสูงขึ้นแล้ว 3-4 องศาเซลเซียสในช่วงห้าสิบปีหลัง บางทีสัญญาณแรกที่ชัดเจนที่สุดของการเปลี่ยนแปลงอาจพบได้ที่ทะเล พืดน้ำแข็งที่อาร์กติกลดขนาดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ประมาณ ค.ศ. 1980 เมื่อฤดูร้อนแต่ละครั้งทำให้ปริมาณน้ำแข็งถาวรหายไปมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ละปีผิวมหาสมุทรเปิดโล่งมากขึ้นเฉลี่ย 100,000 ตารางกิโลเมตร เมื่อน้ำแข็งซึ่งเคยปกคลุมอยู่ละลายไป ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2005 เพียงเดือนเดียว บริเวณที่เป็นน้ำแข็งทะเลของอาร์กติกขนาดเท่าอลาสก้าหายไปโดยไร้ร่องรอย แม้แต่ในคืนมืดมนของเดือนในฤดูหนาว น้ำแข็งทะเลที่ปกคลุมอยู่ก็ลดลง ทั้ง ค.ศ. 2005 และ 2006 บริเวณที่เป็นน้ำแข็งลดต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมากจนถึงปี ค.ศ. 2010 น้ำแข็งทวีปอาร์กติกหายไปมากกว่า 50% แล้ว ซึ่งคาดกันว่าพืดน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกจะหายไปแบบไม่หวนคืนมาอีกภายในฤดูร้อนปี ค.ศ. 2012 ตรงนี้เองที่จุดผลิกผันเข้ามามีบทบาท ขณะที่น้ำแข็งสีขาวเจิดจ้าที่มีหิมะปกคลุมสะท้อนความร้อนของดวงอาทิตย์กลับไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มหาสมุทรสีเข้มที่เปิดโล่งกลับดูดซับรังสีจากดวงอาทิตย์ไว้ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจสรุปได้ว่าเมื่อน้ำแข็งทะเลเริ่มละลาย กระบวนการนี้ก็เสริมแรงตัวมันเองอย่างรวดเร็ว ยิ่งพื้นผิวมหาสมุทรเปิดโล่งดูดซับความร้อนจากดวงอาทิตย์มากขึ้น ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น น้ำแข็งก็ยากจะก่อตัวกลับมาได้อีกในฤดูหนาวครั้งต่อไป....

          นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในฐานะที่มันเป็นก๊าซเรือนกระจกอันเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน จากการเก็บข้อมูลทางสถิติจากแท่งแกนน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกพบว่าความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสมในชั้นบรรยากาศแปรตามค่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกตั้งแต่ 600,000 ปีที่ผ่านมาและสรุปว่าคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยมาจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน โดยมุ่งเน้นไปที่การเผาไหม้เชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์หรือซากฟอสซิลคือ ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ การแก้ปัญหาโลกร้อนจึงมุ่งเน้นไปที่การลดหรือจำกัดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลดังกล่าวลง โดยเฉพาะจากโรงงานอุตสาหกรรม  โรงไฟฟ้า การขนส่ง และอุตสหกรรมที่ใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆ การให้น้ำหนักไปที่การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและมองข้ามสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา ทำให้ไม่เพียงจะไม่สามารถแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงในช่วงเวลาสั้นๆนี้ได้ทันแล้วยังเป็นการใช้ต้นทุนจำนวนมหาศาลไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพอีกด้วย เหตุผลก็เนื่องมาจากแบบจำลองคอมพิวเตอร์ซึ่งตั้งอยู่บนกฎฟิสิกส์ยังไม่สามารถอธิบายอย่างแน่ชัดว่า”ละอองของเหลวซัลเฟอร์” หรือ”แอโรซอล” ซึ่งเป็นอนุภาคเล็กจิ๋วที่เกิดจากมลภาวะและถูกกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุของ “ภาวะโลกมืด” นั้นคืออะไร? ยังมีการถกเถียงกันอยู่ในวงกว้างของเหล่านักวิทยาศาสตร์ ดร.เจมส์ ฮันเซ่นน์ สุดยอดนักวิทยาศาสตร์ทางภูมิอากาศของนาซ่าและคณะได้เสนอว่า”ผลของการเผาไหม้เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และละอองลอยซัลเฟตจะหักล้างกันเป็นส่วนใหญ่ ทำให้การร้อนขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาเกิดจากก๊าซเรือนกระจกที่ไม่ใช่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” การปลดปล่อยมลพิษจากการกระทำของมนุษย์ที่เด่นชัดคือ “ละอองลอย” ซัลเฟต ซึ่งสามารถลดอุณหภูมิโดยการสะท้อนแสงอาทิตย์กลับออกไปจากโลกมีผลทำให้โลกเย็นลง สังเกตได้จากการบันทึกอุณหภูมิที่เย็นลงในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 (ประมาณตั้งแต่ พ.ศ. 2490) ส่วนภาวะโลกมืดเกิดจากการเผาไหม้น้ำมัน ทำให้เกิดอนุภาคลอยขึ้นไปจับตัวกับไอน้ำในอากาศ แต่ไม่ตกลงมาเป็นฝน กลับกลายเป็นกระจกคอยสะท้อนความร้อนและแสงไม่ให้มาถึงผิวโลก ผลคือ คนเป็นโรคระบบทางเดินหายใจมากขึ้น พืชสังเคราะห์แสงไม่ได้ และนักวิทยาศาสตร์คำนวณระยะเวลาและอุณหภูมิของภาวะโลกร้อนผิดพลาดไป 1 เท่าตัว นอกจากนั้นในช่วงที่อุณหภูมิต่ำสุดของยุคน้ำแข็งสุดท้าย สารมลพิษในปัจจุบันอย่าง แอโรซอล(ส่วนใหญ่คือซัลเฟอร์ไดออกไซด์และอนุภาคที่ปลดปล่อยมาจากไฟ) ยังอาจทำให้เกิดการเย็นตัวลง สิ่งนี้เรียกว่า “เมฆสีน้ำตาลของเอเชีย (Asian Brown Cloud)” คือกลุ่มหมอกควันมลพิษที่ปกคลุมภูมิภาคเอเชียใต้ ตัดแสงแดดที่ส่องสู่พื้นดินลง 10-15% เปลี่ยนสภาพอากาศของภูมิภาคโดยทำให้พื้นดินเย็นในขณะที่อากาศร้อน เกิดน้ำท่วมฉับพลันในบังกลาเทศ เนปาล และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย แต่เกิดความแห้งแล้งในปากีสถาน และภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย...

          ความจริงในปี ค.ศ. 2006 องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ (FOA) ได้ประมาณการณ์ว่าการเลี้ยงสัตว์เพื่อผลิตเนื้อและผลิตภัณฑ์นม มีผลเพียง 18 เปอร์เซ็นต์ของภาวะโลกร้อน มากกว่าที่เกิดจากการขนส่งทั้งโลกรวมกัน ดร.ราเจนดรา ปาชาอุร ประธานองค์การระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) กล่าวว่า “ผมได้รับอีเมลล์จำนวนหนึ่งจากผู้คนที่ผมนับถือ โครงสร้าง 18% นั้นประมาณการต่ำไป ซึ่งความจริงมันสูงกว่ามาก” ดร.ที.คอเลน จากมหาวิทยาลัยคอเนล สหรัฐอเมริกา ยังกล่าวว่า “ผมมีข้อมูลบางอย่างเมื่อเร็วๆนี้ มีโครงสร้างใหม่ตอนนี้ระบุว่าอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของก๊าซเรือนกระจกที่อยู่ที่นั่น ไม่ใช่แค่ 15% หรือ 20% อย่างน้อยครึ่งหนึ่งและบางทีมากพอใช้มาจากผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์” ก๊าซเรือนกระจกถูกปลดปล่อยอยู่ระหว่างแต่ละขั้นตอนของกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์อย่างแท้จริง ซึ่งประกอบด้วย 3 ก๊าซหลัก คือ คาร์บอนไดออกไซด์ ไนตรัสออกไซด์และมีเทน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แปลกนั่นคือความจริงที่กลับกันของตัวเลข 23 เท่าที่ใช้ในรายงานส่วนใหญ่ รวมทั้งของสหประชาชาติด้วย ที่จริงแล้ว มีเทนมีศักยภาพเป็น 72-100 เท่าของคาร์บอนไดออกไซด์ในการทำให้โลกร้อนขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกันในช่วงระยะเวลา 20 ปี นอกจากนั้น ศาสตราจารย์แบรี่ บรุค แห่งมหาวิทยาลัยอดิเทรด ออสเตรเลีย ยังกล่าวว่า” ถ้าคุณมองที่รายงานเหล่านี้ พวกเขาจะแนะนำมัน(มีเทน)มีประมาณ 25 เท่าของผลกระทบของ CO2 แต่จริงๆ แล้วเมื่อมันขึ้นไปอยู่บนนั้นในบรรยากาศ การทำงานของมันเป็น 72 เท่าของผลกระทบและนั่นทำให้เกิดความแตกต่างอย่างใหญ่หลวง” Noam Mohr นักฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “มีเทนอยู่ได้นาน 12 ปีและเก็บกักความร้อนได้ 25 เท่าของความร้อนที่คาร์บอนไดออกไซด์ทำใน 100 ปี ถ้าคุณดูในช่วงเวลาที่สั้นกว่า และว่าความร้อนมากเท่าไรในช่วง20 ปีข้างหน้าที่ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์นี้กำลังจะเป็นเหตุให้เกิดความร้อนเทียบกับปริมาณของมีเทนนี้ แล้วจะพบว่ามีเทนเป็นสาเหตุถึง 72 เท่าของความร้อนจากคาร์บอนไดออกไซด์ในช่วง 20 ปี” ดร. เคิร์ท สมิธ จาก IPCC กล่าวว่า “การปลดปล่อยก๊าซมีเทนเป็น 37 เปอร์เซ็นต์ของโลก การปศุสัตว์เป็นแหล่งใหญ่ที่สุดหนึ่งเดียวของมีเทนที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ แน่นอนเราต้องจัดการกับคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะยาว แต่ถ้าคุณต้องการที่จะสร้างผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในอีก 20 ปีข้างหน้า สิ่งที่สำคัญคือจัดการกับก๊าซเรือนกระจกที่มีอายุสั้นกว่า ตัวที่สำคัญที่สุดคือมีเทน” นอกจากนั้น Noam Mohr ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ ดังนั้น ถ้าคิดคำนวณในช่วงเวลา 20 ปี การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของปีนี้เป็นเพียง 40% ของความร้อนทั้งหมด อีก 60% หรือมากกว่าจะมาจากก๊าซที่มีอายุสั้นกว่า ก๊าซที่สำคัญที่สุดคือ มีเทน และยังมีส่วนแบ่งด้วยอัตราที่มากกว่าอีก เมื่อยังมีตัวแปรที่ยังไม่ได้นับรวมเข้าไปด้วยที่รู้จักกันในชื่อ แอโรซอล (aerosol) หรืออนุภาคที่ปล่อยออกมาพร้อมกับคาร์บอนไดออกไซด์ จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล นอกเหนือจากการที่มันมีความสามารถในการทำลายสุขภาพของเราแล้ว มันยังมีผลในการทำความเย็นด้วย ดังนั้น เมื่อคุณเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล คุณจะได้คาร์บอนไดออกไซด์ออกมาซึ่งมีผลทำให้โลกร้อน และแอโรซอลซึ่งมีผลทำให้โลกเย็น คุณสามารถคำนวนโดยคร่าวๆ ผลกระทบอุณหภูมิสมบูรณ์ออกมา ปรากฏว่าพวกมันหักล้างกันเกือบเป็นศูนย์ ดังนั้นความร้อนที่เราได้เห็นและมีทีท่าว่าจะได้เห็นในอนาคตอันใกล้นี้เป็นผลพวงหลักมาจากแหล่งอื่น ตัวการหลักอันหนึ่งคือ มีเทน เรามีวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงมากในตอนนี้ ผลที่เกิดขึ้นสามารถพบเห็นได้ทั่วโลก และถ้าเราต้องการกล่าวถึงก๊าซเรือนกระจกที่มาแรงที่สุด ที่ทำให้เกิดความร้อนในตอนนี้นอกจากก๊าซอื่นๆแล้ว ส่วนใหญ่มาจากมีเทน แหล่งผลิตอันดับหนึ่งของมันมาจากการปศุสัตว์” เพราะว่าการผลิตเนื้อสัตว์เป็นสาเหตุถึง 80% ในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เนื่องจากมันก่อมลภาวะที่เกี่ยวเนื่องกับหลายแหล่ง คือ การขนส่ง น้ำ การตัดไม้ทำลายป่า การแช่แข็ง การดูแลรักษาสัตว์ มนุษย์และอื่นๆ มลภาวะทั้งหมดมาจากการผลิตเนื้อสัตว์ มันไม่ใช่เพียงผืนดิน ถ้าพวกเขาใช้ มันไม่ใช่เพียงก๊าซมีเทนหรือก๊าซไนตรัสออกไซด์ที่พวกเขาทำให้มันเกิดขึ้น ทั้งหมดเป็นผลพลอยได้จากการผลิตไม่มีที่สิ้นสุดที่จะเอ่ยถึง ดังนั้น เราไม่สามารถพึ่งพาเพียงเทคโนโลยีสะอาดเพื่อที่จะช่วยชีวิตโลก เพราะว่าสาเหตุที่แย่ของมันมาจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ทุกคนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย ต่างได้รายงานให้เรารู้แล้ว เป็นมังสวิรัติ รักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยชีวิตโลก คือวิธีการที่ทรงพลังที่สุดในการช่วยลดภาวะโลกร้อนในขณะนี้ รวมทั้งยังยังใช้ต้นทุนต่ำที่สุดในการแก้ไขปัญหาวิกฤตโลกร้อนอีกด้วย
				
comments powered by Disqus
  • แจ้นเอง

    19 กรกฎาคม 2553 12:56 น. - comment id 118183

    36.gif
    
    ขอบคุณ
    
    29.gif29.gif29.gif31.gif

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน