11 เมษายน 2550 16:20 น.

เล่าตำนาน “7 นางสงกรานต์” ลูกสาวท้าวกบิลพรหม

MomMamSan


       สำหรับ นางสงกรานต์ นั้น เป็นลูกสาวของท้าวกบิลพรหม ซึ่งไม่ใช่คนเดียวแต่มีถึงเจ็ดคน แถมยังเป็นบาทบริจาริกา (เมียน้อย) ของพระอินทร์อีกด้วย ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน(ยง เสถียรโกเศศ) อธิบายไว้ว่า นางสงกรานต์ เป็นคติความเชื่ออยู่ในตำนานสงกรานต์ อันเป็นเรื่องเล่าถึงความเป็นมาของประเพณี เป็นอุบายเพื่อให้คนโบราณได้รู้ว่าวันมหาสงกรานต์ คือ วันที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ ซึ่งสมัยนั้นถือเป็นการเถลิงศกใหม่ หรือวันขึ้นปีใหม่ตามสุริยคติตรงกับวันใด โดยสมมุติผ่านนางสงกรานต์ทั้งเจ็ดเทียบกับแต่ละวันในสัปดาห์ ปีไหนตรงกับวันใด นางสงกรานต์ที่มีชื่อสมมุติเข้ากับวันนั้นๆก็จะเป็นผู้อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมออกแห่ไปสรงน้ำ

       จากตำนานเล่าถึงท้าวกบิลพรหมแพ้พนันธรรมบาลกุมาร ต้องตัดเศียรออกบูชาธรรมบาลกุมารตามสัญญา แต่เนื่องจากพระเศียรของพระองค์ตกไปอยู่ที่ใด ก็จะเป็นอันตรายต่อที่นั้นไม่ว่าจะเป็นบนอากาศ บนดินหรือในน้ำ ดังนั้น ธิดาทั้งเจ็ดจึงต้องนำพานมารองรับ และนำไปประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธชุลี ณ เขาไกรลาส ครั้นถึงกำหนด ๓๖๕ วัน ซึ่งโลกสมมุติว่าเป็นปีหนึ่งเวียนมาถึงวันมหาสงกรานต์ เทพธิดาทั้งเจ็ดก็จะทรงพาหนะต่างๆผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรของบิดาออกแห่ โดยที่เทพธิดาทั้งเจ็ดนี้ปรากฏในวันมหาสงกรานต์เป็นประจำ จึงได้ชื่อว่า นางสงกรานต์
       
       ส่วนท้าวกบิลพรหมนั้น โดยนัยก็คือ พระอาทิตย์ นั่นเอง เพราะกบิล หมายถึง สีแดง นอกจากตำนานข้างต้น ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับนางสงกรานต์นั่นก็คือ นางสงกรานต์ของแต่ละวัน จะมีนาม อาหาร อาวุธ และสัตว์ที่เป็นพาหนะ ต่างๆกันออกไป
       
Image.aspx?ID=289620

       วันอาทิตย์  นาม นางทุงษะ ทัดดอกทับทิม เครื่องประดับปัทมราค หรือปัทมราช(พลอยสีแดง) ภักษาหารมะเดื่อ หัตถ์ขวาถือจักร หัตถ์ซ้ายถือสังข์ มีครุฑเป็นพาหนะ

Image.aspx?ID=289615

       วันจันทร์ นาม นางโคราคะ ทัดดอกปีบ เครื่องประดับมุกดา ภักษาหารน้ำมัน หัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า มีเสือเป็นพาหนะ
       
Image.aspx?ID=289616

       วันอังคาร นามนางรากษส (ราก-สด) ทัดดอกบัวหลวง เครื่องประดับโมรา ภักษาหารโลหิต หัตถ์ขวาถือตรีศูล หัตถ์ซ้ายถือธนู มีสุกร(หมู)เป็นพาหนะ
       
Image.aspx?ID=289617

       วันพุธ นาม นางมณฑา ทัดดอกจำปา เครื่องประดับไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย หัตถ์ขวาถือเหล็กแหลม หัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า มีคัสพะ(ลา) เป็นพาหนะ
       
Image.aspx?ID=289618

       วันพฤหัสบดี นาม นางกิริณี ทัดดอกมณฑา เครื่องประดับมรกต ภักษาหารถั่วงา หัตถ์ขวาถือขอช้าง หัตถ์ซ้ายถือปืน มีช้างเป็นพาหนะ
       
Image.aspx?ID=289622

       วันศุกร์ นามนางกิมิทา ทัดดอกจงกลนี เครื่องประดับบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำว้า หัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือพิณ มีกระบือ(ควาย)เป็นพาหนะ

Image.aspx?ID=289619

       วันเสาร์ นาม นางมโหทร ทัดดอกสาวหาว เครื่องประดับนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย หัตถ์ขวาถือจักร หัตถ์ซ้ายถือตรีศูล มีนกยูงเป็นพาหนะ

       


       ทั้งนี้ นอกจากนางสงกรานต์แต่ละวัน นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกให้ทราบถึงการเปลี่ยนปีตามนักษัตรใหม่แล้ว ยังมีสาระเกี่ยวกับการพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆทั้งดีและร้ายซึ่งจะเกิดขึ้นในระหว่างปี ซึ่งตามตำรามหาสงกรานต์ได้อธิบายไว้ ดังนี้
       
       สงกรานต์วันอาทิตย์ ผลผลิตทุกอย่าง ได้แสนโสภางค์ ออกผลมากมาย ของมิสูงแพง มิแล้งรู้หมาย ตามคำทำนาย บ่งไว้เช่นนี้ หมายถึง ผลผลิตต่างๆดี ข้าวของไม่แพง
       
       สงกรานต์วันจันทร์ รู้มั่นเชิงมี ข้าลากมากชี้ ช่องแพ้ ท้าวพระยา อีกเสนาบดี เด่นดีนักหนา จงทราบกิจจา ข้อเค้ากล่าวไว้ หมายถึง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ตลอดจนคุณหญิงคุณนายจะเรืองอำนาจ
       
       สงกรานต์วันอังคาร และวันเสาร์ ผ่านเข้าเสาร์นัย ระวังเจ็บไข้ ขโมยมากมี แถมพระเพลิงร้อน ห่อนได้หลีกหนี เข้าบุกคลุกคลีแก่เหล่าอาณา หมายถึง โจรผู้ร้ายจะชุกชุม เกิดการเจ็บไข้ร้ายแรง

       สงกรานต์วันพุธ สุดแสนเปรมปรา ลาภยุคท้าวพระยา มาจากต่างเมือง ลูกอ่อนก่อเหตุ อาเพศขุ่นเคือง มักจะเกิดเรื่อง ให้เร่งระวัง หมายถึง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะได้รับการยกย่องจากต่างประเทศ
       
       สงกรานต์วันพฤหัสบดี เรื่องขัดข้องตั้ง แพ้ท้าวพระยา หวังล้วนไม่สู้ดี พระสงฆ์ทรงศีล ถูกปีนป่ายชี้ เดือดร้อนเหลือที่ ให้ตั้งทางธรรม หมายถึง ผู้น้อยจะแพ้ผู้เป็นใหญ่และเจ้านาย
       
       สงกรานต์วันศุกร์ ทุกข์หมดปลดช้ำ ข้าวปลาเหลือล้ำ อุดมสมบูรณ์ ระวังเจ็บตา ฝนพายุพูน เด็กล้วนประมูล มากโทษให้แล หมายถึง พืชพันธ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ แต่ฝนชุกพายุพัดแรง ผู้คนจะเป็นโรคตาและเจ็บไข้กันมาก




       นอกเหนือไปจากคำทำนายข้างต้น อันเน้นเรื่องวันที่ ที่พระอาทิตย์ยกสู่ราศีเมษที่เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ ว่าตรงกับวันใด มีคำนายว่าอย่างไรแล้ว ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ ก็มีคำนายไว้ด้วยเช่นกัน โดยกำหนดเป็นอิริยาบถที่นางสงกรานต์ขี่พาหนะมา มีอยู่ ๔ ท่า ซึ่งตามความเชื่อโบราณบอกไว้ว่า ดังนี้
       
       ๑.ถ้าพระอาทิตย์ยกสู่ราศีเมษ ในระหว่างเวลารุ่งเช้าจนถึงเที่ยง นางสงกรานต์จะยืนบนพาหนะ และถ้ายืนมา มีความเชื่อว่า ปีนั้น คนจะเกิดความเดือดร้อนเจ็บไข้
       
       ๒.ถ้าพระอาทิตย์ยกสู่ราศีเมษ ในระหว่างเที่ยงจนถึงค่ำ นางสงกรานต์จะนั่งบนพาหนะ ถ้านั่งมา มีความเชื่อว่า ปีนั้น จะเกิดความเจ็บไข้ ผู้คนล้มตายและเกิดเหตุเภทภัยต่างๆ

       ๓.ถ้าพระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ ระหว่างค่ำไปจนถึงเที่ยงคืน นางสงกรานต์จะนอนลืมตาบนพาหนะ ถ้านอนลืมตา มีความเชื่อว่า ประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข
       
       ๔.ถ้าพระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ ระหว่างเที่ยงคืนไปจนถึงรุ่งเช้า นางสงกรานต์จะนอนหลับตาบนพาหนะ ถ้านอนหลับตา มีความเชื่อว่า พระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรืองดี 
				
Calendar
Lovers  1 คน เลิฟMomMamSan
Lovings  MomMamSan เลิฟ 1 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟMomMamSan
Lovings  MomMamSan เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟMomMamSan
Lovings  MomMamSan เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงMomMamSan