๏ ตำนานวันสงกรานต์

อัลมิตรา

ตำนานวันสงกรานต์
 
๑.
..๏ เพรงกาลอันล่วงแล้ว...........คณาวิสัย
นานเนิ่นเกินกัปป์ขัย.................ผ่านพ้น
เศรษฐีหนึ่งมากใน....................สมบัติ
เคหะสถานล้น...........................เลิศล้ำศฤงคาร ๚
๒.
..๏ ทรัพย์มากหากปราศผู้.........สืบสกุล
เมียหนึ่งพอเจือจุน....................เจตน์อ้าง
ครองเรือนต่างสนับสนุน............เป็นสุข-  ยิ่งนา
ตราบเฒ่าเนาแนบข้าง...............คู่คล้องครองเกษม  ๚
๓.
..๏ เรือนชานตระหง่านใกล้.....โรงสุ-  ราแฮ
หากนักเลงเหล้าอุ*..................หนึ่งนั้น
มีบุตรสุดสวาทสุ-.....................วรรณเทียบ
ผุดผ่องงดงามครั้น...................เพ่งแล้วเพลินเหลือ ๚
๔.
..๏ ณ  อรุณรุ่งหนึ่งเจ้า.............คนเมา
เดินง่วนชวนหยักเหยา.............เพื่อนบ้าน
ผรุสวาททักทายเขา.................สุดหยาบ-  คายนา
ดูหมิ่นดุจจิตด้าน......................ห่างด้วยคุณธรรม ๚
๕.
..๏ เศรษฐีมิขุ่นข้อง.................เคืองใจ
หากแต่คิดฉงนใน...................เรื่องย้ำ
เพียงเหตุเนื่องความใด...........จึงด่า  เรานอ 
ขอท่านอย่าเกินก้ำ..................เหตุแท้พึงขยาย ๚
๖.
..๏ คนเมาคราวกล่าวด้วย.......ขำขัน
อันท่านสินทรัพย์อนันต์..........พรั่งพร้อม
เรือกสวนไร่นาครัน.................เรือนใหญ่-  โตพ่อ
ปราศบุตรธิดาล้อม.................จักสิ้นวงศ์สกุล  ๚
๗.
..๏ กงการงานด้วยท่าน-.........เชียวฤๅ
ไร้ลูกสุขนั้นคือ........................มากพ้น
มากบุตรสุดชำงือ*.................จิตขุ่น-  เคืองนา
โภคทรัพย์ดุจโจรปล้น............เปรียบได้ดังกัน๚
๘.
..๏ ทุกข์มากหากไร้ลูก...........หลานเหลน
คราวเฒ่าจักชัดเจน................ส่อเค้า
กายปวดเมื่อยอีกเคน*............โรคเบียด-  เบียนแฮ
ใครเล่าจักหยอกเย้า...............นวดเฟ้นเยียวยา ๚
๙.
..๏ คราชีพดับด่าวสิ้น..............ลมปราณ
สินทรัพยลับอันตรธาน............เสื่อมด้วย
นาสวนไร่เรือนชาน..................ตกแก่-  ใครฤๅ
ทนทุกข์ตราบมอดม้วย............แม่นแท้คำเรา ๚
๑๐.
..๏ กุฏุมพีนิ่งด้วย..................จำนน
ครุ่นคิดจิตสับสน....................รุ่มร้อน
ปรารถน์บุตรสุดสวาทจน........ผอมซีด-  เชียวนอ
ตรองตรึกนึกยอกย้อน............สิ่งเร้นเป็นจริง ๚
  ๑๑.
..๏ คำนึงคำถ้อยแห่ง...............คนหยาม
พินิจพิเคราะห์ความ.................ขุ่นคล้อง
ฤๅกรรมเก่าทัณฑ์ตาม.............สาปส่ง  จริงเฮย
สังเวชสังวาสย้อง.....................หากไร้บุตรเคียง ๚
๑๒.
..๏ เหตุไฉนจึ่งไร้ลูก................หนอแม่-  เรือนเอย
เหตุก่อนดุจร่างแห...................ห่อหุ้ม
เหตุการณ์ผ่านผันแปร.............เปรียบวิ-  บากฤา
เหตุสุดวิสัยคลุ้ม.......................ครั่นคร้ามตามหลอน  ๚ 
๑๓.
..๏ ควรเราควรใฝ่เฝ้า...............บวงสรวง  นาแม่
อุทิศอุทัยดวง...........................แจ่มฟ้า
สำรับสำหรับปวง-.....................ทวยเทพ
ประสิทธิ์ประสาทร้า*................รื่นให้สมประสงค์ ๚ 
๑๔.
..๏ ผันศกศักราชพ้น...............สามวสันต์
ปราศเดชเหตุอัศจรรย์.............เสกให้
มิอาจสมปราถนาอัน................จรุงเจต-  นาเฮย
อธิษฐานเทพไท้.....................ไป่ได้ดังหวัง ๚
๑๕.
..๏ ณ  กาลวันหนึ่งนั้น..............รวิวาร
นักขัตฤกษ์พิธาน.....................เก่าย้อน
ราศีเมษแห่งกาล-....................จิตตมาส
ทวยราษฏร์ต่างรำฟ้อน............รื่นร้องสนุกสนาน ๚
๑๖.
..๏ เศรษฐีมีจิตพ้อง..................ภรรยา
คราวเมื่อมหาชนพา..................ลูกน้อย
เที่ยวชมมหรสพหนา................หมองหม่น  ยิ่งเฮย
สังเวชพลันเศร้าสร้อย..............เนื่องด้วยหน่อสกุล   ๚
๑๗.
..๏ จึ่งคิดอุทิศไท้.....................เทพสวรรค์
เครื่องเซ่นบูชายัญ...................หลากล้น
บวงสรวงเทพยดาอัน...............มเหสักข์
สถิตย์โคนไทรต้น.....................ฝั่งน้ำภิรมย์สถาน  ๚
๑๘.
..๏ มวลหมู่วิหคร้อง..................เริงระงม
แผกเผ่าแปลกพันธ์ขรม............กร่นก้อง
ยักย้ายขวักไขว่ชม...................แฉลบผ่าน
เห็นซึ่งพลีกรรมข้อง-.................มุ่งด้วยบุตรธิดา  ๚
๑๙.
..๏ เครื่องเซ่นสรรพสิ่งล้วน......มากมี
ข้าวสุกบริสุทธิ์ดี.......................ยิ่งแท้
ข้าวสารคัดพรรณฉวี.................ผุดผ่อง
หุงจากน้ำนมแล้........................เลิศล้ำหอมหวน  ๚
๒๐.
..๏ บรรจงตกแต่งต้น................ไทรงาม-  งดเฮย
พิณพาทย์ประโคมความ..........เพราะพริ้ง
แตรสังข์ดั่งประณาม*...............ทวยเทพ
หวังซึ่งบุตรสิงคลิ้ง*.................หล่อเลี้ยงสืบสกุล ๚
๒๑.
..๏ รุกขเทพสถิตย์ต้น...............ไทรตรอง
เห็นซึ่งพลีกรรมของ..................คู่นี้
บังเกิดกรุณาระลอง*.................ดลจิต
จึงเหาะสู่สวรรค์รี้......................เร่งเฝ้ามัฆวาน  ๚
๒๒.
..๏ หากแต่องค์เทพไท้.............สรวงสวรรค์
ทิพยอาสน์เป็นอัศจรรย์.............ยิ่งแล้ว
คราวก่อนอ่อนนุ่มพลัน...............เปรียบแผ่น-  ศิลาเฮย
ร้อนรุ่มหฤทัยแพ้ว*....................ขุ่นข้องกังขา  ๚
๒๓.
..๏ พระอินทร์ทรงเพ่งด้วย-......ทิพยญาณ
ทรงแจ่มแจ้งดังการณ์..............เช่นนั้น
หากเฉยจักมรณานต์................เคลื่อนจาก-  สวรรค์นอ
อายุเศรษฐีสั้น........................จักม้วยเสมอตน  ๚
๒๔.
..๏ ทรงมีดำรัสด้วย.................เทวบัญ-  ชาแฮ
จึงส่งเทพยบุตรอัน.................เลิศหล้า
บุญญฤทธิ์สิทธิ์อนันต์.............เดชเดื่อง
คือเทพธรรมบาลกล้า.............สู่ท้องเศรษฐินี  ๚
๒๕.
..๏ นับแต่เสร็จกิจนั้น...............เมียผัว
สพสุขปราศหมองมัว...............หม่นไข้
มินานฝ่ายเมียตัว.....................เกิดคลื่น-  ไส้นา
อยากรสเปรี้ยวเปรียบได้.........ดั่งแจ้งแสดงครรภ์  ๚
๒๖.
..๏ เศรษฐีมิจิตพร้อม...............โสมนัส-  ยิ่งเอย
สั่งปลูกปราสาทจัด...................เจ็ดชั้น
บริเวณแห่งไทรอุบัติ-...............เลอเทียบ-  สวรรค์นา
เป็นเคหสถานหั้น*....................แห่งผู้สืบวงษ์ ๚
๒๗.
..๏ ทศมาสคลาดเคลื่อนคล้อย..กาลสมัย
คลอดบุตรสุดพิไล.....................สง่าล้ำ
ขนานชื่อธรรมบาลไข...............ดังเก่า
อาพาธมิอาจกล้ำ......................สุขด้วยบุญญา-  บารมี  ๚
๒๘.
..๏ วสันต์กาลผ่านพ้น.................เจ็ดหน
เพียรหมั่นศึกษาจน.....................เก่งกล้า
ศิลปวิทยามนต์...........................สรรพศาสตร์
ไตรเพทวิชาค้า-.........................รอบรู้สรรพเสียง  ๚
๒๙.
..๏ คราวเมื่อกาลเก่านั้น..............มหาชน
นบนอบพรหมเบื้องบน................เทพไท้
เพราะท่านบ่งมงคล.....................แสดงแก่-  ชนนา
เพียงเหตุฉะนี้ไซร์........................ต่างน้อมบูชา  ๚
๓๐.
..๏ กิตติศัพท์แห่งท้าว-................ธรรมบาล
ชนต่างระบือขนาน.......................แซ่ซ้อง
ดุจศาสตราจารย์..........................แห่งศิษย์
แสดงเหตุมงคลพ้อง....................ประจักษ์ผู้สรรเสริญ  ๚
๓๑.
..๏ กบิลพรหมท่านท้าว................มหิทธิคุณ
ทราบเรื่องพลันเคืองขุ่น...............จิตร้อน
อิจฉาอีกเอื้อหนุน.........................ประทุษฐจิต
จึงผูกปัญหาซ้อน.........................เล่ห์ร้ายมล้างชนม์  ๚
๓๒.
..๏ ปัญหาดุจหอกง้าว....................ดาบคม
หวังบั่นคอนอนจม-........................เลือดคลุ้ง
เพียงจิตคิดโสมม..........................หมกมุ่น-  บาปนา
แก่งแย่งสำแดงฟุ้ง........................ชั่วช้าสามานต์  ๚
๓๓.
..๏  นี่แนะพ่อหนุ่มน้อย...................สุธี
อันท่านปัญญาดี.............................แน่แท้
สรรพวิทยาการมี...........................ปรากฏ-  ตนเฮย
อัจฉริยภาพแล้..............................ล่วงล้ำเทพสวรรค์  ๚ 
๓๔.
..๏ หากเรามีสิ่งเร้น......................ปัญหา
ยังปราศผู้วิสัชนา.........................เนื่องด้วย
ควรนักหากท่านมา.......................คลายโจทย์ ฉงนนอ
ฤาท่านจักมอดม้วย......................เหตุด้อยจนเชาน์ ๚ 
๓๕.
..๏ ธรรมบาลนั้นใคร่-....................ครวญเห็น-  จริงนา
พรหมอาจเจือจิตเป็น....................มุ่งร้าย
จึงถามไถ่ประเด็น.........................ความเงื่อน-  งำเฮย
ขอท่านจงผะผ้าย*........................กล่าวข้อปัญหา  ๚ 
๓๖.
..๏ กบิลพรหมเจ้าเล่ห์...................แห่งไตร-  ภูมิเฮย
กระหยิ่มยิ้มทันใด..........................แยกเขี้ยว
อันท่านหากจนใน.........................มวลปริศ-  นานอ
ขออย่าทำบิดเบี้ยว.......................จักต้องตัดหัว  ๚ 
๓๗.
..๏ นี่แน่ะพ่อหนุ่มน้อย..................หน้ามน
หากท่านคลายความฉงน..............ขุ่นข้อง
เปิดเผยเอ่ยยุบล*.........................ตรงเหตุ
เราจักตัดเศียรพ้อง........................เพื่อให้ยุติธรรม  ๚ 
๓๘.
..๏ หลากเรื่องหลากเล่ห์ร้าย..........หลอกลวง-  ไรฤๅ
พรหมเพ่งเพียงผลพวง..................ภัคน์พร้อม
ซอกซัง*สิ่งสิงทรวง.......................ทรามซ่อน
เหี้ยมโหดห่อหุ้มห้อม.....................หัชให้โหยหวน  ๚
๓๙.
..๏ ธรรมบาลคิดปลิดเปลื้อง..........ปัญหา
พลันเอ่ยปิยวาจา..........................ตอบด้วย
เราขอผ่อนเพลา...........................ตรองตรึก
จักบั่นคอมอดม้วย........................หากไร้คำเฉลย  ๚ 
๔๐.
..๏ ดีละถ้าเช่นนั้น.........................พึงฟัง
อรุณรุ่งสุริเยศยัง...........................เยี่ยมฟ้า
ราศีที่ชนหวัง.................................สถิตอยู่  ใดฤา
ขอท่านอย่าชักช้า.........................ตอบให้คลายใจ  ๚
๔๑.
..๏ สุริยเทพเที่ยงตั้ง-....................ตรงหัว
สิริที่ชมชัว*....................................เนื่องนั้น
สถิตอยู่พอรู้ตัว..............................หรือไม่  นาพ่อ
เปรื่องปราดอาจปิดกั้น...................มอดม้วยมรณา  ๚ 
๔๒.
..๏ สายัณห์หลังเคลื่อนคล้อย........อัสดง
วิหคผกผินตรง...............................เยี่ยมเหย้า
ราศรีที่จำนง...................................สถิตที่-  ใดนา
ขอท่านพ่อหนุ่มเหน้า......................อย่าให้คอยนาน  ๚  
๔๓.
..๏ เราขอเจ็ดชั่วคล้อย...................สุรีย์ฉาย
จักคิดปริศนาคลาย.........................ขุ่นข้อง
หากพลาดจักขอตาย.....................ทูนมอบ -  เศียรนา
คำสัตย์เสียงกู่ก้อง..........................เทพฟ้าเป็นพยาน  ๚ 
๔๔.
..๏ จนจิตจนจับไข้...........................คร่ำเคร่ง-  เฉลยแฮ
กาลล่วงกาลเลยเกรง......................กลัดกลุ้ม
ย่ำค่ำย่ำคืนเหง*..............................ห่อนสุข
ปราศพิชญ์ปราดเปรื่องคุ้ม...............คลาดแคล้วยมบาล ๚
๔๕.
..๏ ห้าวันกาลเปลี่ยนแล้ว................ยังฉงน
สิริที่ขวายขวน................................หลบเร้น
ธรรมบาลหลีกสับสน.......................มุ่งทุ่ง-  นาเฮย
มือก่ายหน้าผากเขม้น-....................จากผู้ปราศรัย  ๚
๔๖.
..๏ เอนหลังใต้ต้นเดี่ยว..................ตาลนา
สองเหยี่ยวเมียผัวครา...................หยอกเย้า
เมียนกกล่าววาจา.........................ถามต่อ-  ผัวเฮย
วันพรุ่งยามรุ่งเช้า.........................จักได้ภักษา    ๚ 
๔๗.
..๏ มิต้องลอยล่องฟ้า...................ปีกสยาย
เนื่องจากธรรมบาลตาย.................แน่แท้
พรหมฯเฒ่าจักมุ่งหมาย................เข่นฆ่า  พ่อเฮย
เพราะมิอาจคิดแก้........................กล่าวข้อปัญหา  ๚ 
๔๘.
..๏ เหตุไฉนมล้างซึ่ง....................เยาวพาน
ปราศจิตเมตตาผสาน...................โหดร้าย
ฤาเป็นเช่นมรณกาล.....................ของพ่อ-  หนุ่มนา
พี่ท่านขอจงส้าย*..........................ตอบถ้อยคำเฉลย  ๚ 
๔๙.
..๏ กุมารจักสิ้นชื่อ........................เกียรติขจาย
คอขาดชีวาวาย.............................ดับดิ้น
ล่วงกาลเจ็ดวันปลาย....................กำหนด
ครุ่นคิดปริศนาสิ้น..........................มืดคล้ายหมอกบัง  ๚ 
๕๐.
..๏ ปัญหาข้อหนึ่งนั้น..................จักเฉลย
ยามรุ่งราศีเผย............................ที่หน้า
ตื่นเช้าอย่าละเลย.......................ก่อนมุ่ง- การนา
ชำระมลทิลถ้า.............................ผ่องแล้วจักงาม  ๚ 
๕๑.
..๏ ปริศนาลำดับข้อ....................ความสอง  นาแม่
ยามเที่ยงสุรีย์รอง.......................เพริศแพร้ว
ราศีที่ชนปอง..............................อยู่ที่-  อกเฮย
ร้อนรุ่มสุมทรวงแล้ว.....................ลูบน้ำฉ่ำเย็น   ๚ 
๕๒.
..๏ ตะวันชิงพลบร้าง.................เลือนมหรรณพ์
ชนมุ่งความสุขสันต์....................หลับคล้อย
ราศีที่สมกัน...............................คือคู่-  บาทนา
ก่อนมุ่งสู่ห้องน้อย......................จักล้างก่อนเสมอ ๚ 
๕๓.
..๏ ธรรมบาลกรรณเงี่ยต้อง.........สุรเสียง
นกคู่ต่างจำเรียง..........................พจน์แก้
บังเกิดดุจเผลียง*.......................เย็นชุ่ม-  ดินเฮย
โสมนัสปราโมทย์แล้...................ดั่งได้มไหศวรรย์ ๚
๕๔.
..๏ ครบวันกำหนดต้อง.................เฉลยความ
พรหมเฒ่านึกเหยียดหยาม..........ยักคิ้ว
หัวเราะเยาะคุกคาม.....................ข่มพ่อ
หากตอบผิดบิดพลิ้ว....................จักต้องตัดเศียร ๚
๕๕.
..๏ ธรรมบาลหนุ่มน้อย................เมธี
ยามเอ่ยเผยปรัศนีย์....................เล่ห์ร้าย
สมคำดั่งพาที..............................วิหค คู่นา
พรหมเฒ่าร้อนเร่าคล้าย..............มอดไหม้ในเพลิง  ๚
๕๖.
..๏ ฟังความตามปราชญ์น้อย......ธรรมบาล
พรหมเฒ่าราวทรมาน..................มีดย้ำ
เสียชีพหากสมุฏฐาน..................สัตย์ยั่ง-  ยืนนา
ไตรโลกสรรเสริญซ้ำ..................แซ่ซ้องนิรันดร  ๚
๕๗.
..๏ กบิลพรหมข่มจิตด้วย............ขันติ-  ธรรมนา
เรียกลูกสาวสิริ............................แน่งน้อย
สั่งเสียตามนิติ............................สุดร่ำ-  ไรเฮย
พ่อสุดแสนเศร้าสร้อย.................จากเจ้าเจ็ดนาง ๚
๕๘.
..๏ หากเศียรพ่อพลาดพลั้ง..........ตกดิน
หรือเลือดหยดหลั่งริน..................อาบพื้น
โลกจักมอดไหม้ภินท์...................สลายธาตุ
บังเกิดเอิกเกริกครื้น....................ล่มหล้าลบสวรรค์ ๚
๕๙.
..๏ จงรับเศียรพ่อด้วย.................พานทอง
ประทักษิณาผอง........................เขตด้าว
กาลผันล่วงผ่านตรอง..................เมรุราช
เวียรรอบจนตราบท้าว*................ศกสิ้นกาลสมัย ๚
๖o.
..๏ จงตกแต่งด้วยทิพย์................สังเวย
เครื่องเซ่นเนรมิตเคย...................หยิบใช้
วิษณุเทพบุตรเชย-......................ชมเสก- ...สรรค์นา
ดังเช่นมณเฑียรไท้......................เทพฟ้ามัฆวาน ๚
๖๑.
..๏ สั่งเสียเศียรขาดด้วย.............พระขรรค์
นางแม่พรหมกัญญ์....................แน่งน้อย
นามทุงษะเทวีพรรณ..................ผุดผ่อง
พานรับจับเศียรคล้อย.................นอบน้อมถนอมเศียร ๚
๖๒.
..๏ พรหมกัญญาแน่งน้อย..........โฉมเฉลา
ทัดดอกทับทิมเนา......................หนึ่งแย้ม
อาภรณ์แต่งพริ้มเพรา................ปัทมราช
มะเดื่อเป็นภักษ์แกล้ม................หัตถ์ซ้ายทรงสังข์ ๚
๖๓.
..๏ หัตถ์ขวาทรงจักรเพี้ยง...........นารายณ์
ทรงครุฑยุดนาคสยาย.................ปีกกว้าง
รับเศียรซึ่งปิตุหมาย-..................วนเทือก-  สุเมรุนา
ลุศกศักราชอ้าง..........................เปลี่ยนน้องอัญเชิญ ๚
๖๔.
..๏ วันสงกรานต์เกิดด้วย..............ดังความ-  โคลงเฮย
วัฒนธรรมงดงาม.........................สืบไว้ 
ทำบุญตักบาตรยาม.....................เปลี่ยนศัก-  ราชนา
ก่อพระเจดีย์ทรายให้...................เหลื่อมฟ้าจิตรการ ๚
๖๕.
..๏ รดน้ำท่านผู้เฒ่า.....................ปูชนีย์
จักเช่นเป็นราศรี..........................เกียรติสร้าง
มาลัยกระแจะมี...........................รดท่าน-  เถิดนา
จักวัฒนานิจอ้าง..........................ส่งให้เกษมศานต์ ๚
๖๖.
..๏ บรรเทิงเริงเล่นน้ำ..................ยามสง- กรานต์นา
จิตใฝ่หมายจำนง.........................เก่ายั้ง
คงคู่ชาติดำรง..............................ตราบลูก-  หลายเฮย
เอกลักษณ์ไทยจักตั้ง..................คู่ฟ้าเคียงสยาม ๚ะ๛ 

songkarn.jpg				
comments powered by Disqus
  • อัลมิตรา

    11 เมษายน 2551 10:32 น. - comment id 838355

    ประเพณีวันสงกรานต์ 
     
     
              ตำนานของสงกรานต์นี้มีปรากฎในศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพน โดยย่อว่า มีบุตรของเศรษฐีคนหนึ่งชื่อ ธรรมบาลกุมาร เป็นผู้ที่รู้ภาษานกแล้ว เรียนไตรเพทจบ เมื่ออายุได้เจ็ดขวบ ได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่างๆ แก่มนุษย์ทั้งปวง ซึ่งในขณะนั้น โลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหมและกบิลพรหมองค์หนึ่งว่า เป็นผู้แสดงมงคลแก่มนุษย์ทั้งปวง เมื่อกบิลพรหมทราบ จึงลงมาถาม ปัญหาธรรมบาลกุมาร ๓ ข้อ สัญญาไว้ว่า ถ้าแก้ปัญหาได้จะตัดศีรษะบูชา ถ้าแก้ไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย   ปัญหานั้นว่า 
              ข้อ ๑.เช้าราศีอยู่แห่งใด 
              ข้อ ๒.เที่ยงราศีอยู่แห่งใด 
              ข้อ ๓. ค่ำราศีอยู่แห่งใด 
              ธรรมบาลขอผลัด ๗ วัน ครั้นล่วงไปได้ ๖ วัน ธรรมบาลกุมารก็ยังคิดไม่ได้ จึงลงจากปราสาทไปนอนอยู่ใต้ต้นตาลสองต้น  มีนกอินทรี ๒ ตัวผัวเมียทำรังอาศัยอยู่บนต้นตาลนั้น ครั้งเวลาค่ำนางนกอินทรีจึงถามสามีว่า พรุ่งนี้จะได้อาหารแห่งใด สามีบอกว่า จะได้กินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย เพราะทายปัญหาไม่ออก นางนกถามว่า ปัญหานั้นอย่างไรสามีจึงบอกว่า ปัญหาว่าเช้าราศีอยู่แห่งใด เที่ยงราศีอยู่แห่งใด ค่ำราศีอยู่แห่งใด นางนกถามว่า จะแก้อย่างไร สามีบอกว่า เช้าราศีอยู่หน้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า เวลาเที่ยงราศีอยู่อก มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก เวลาค่ำราศีอยู่เท้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า
              ครั้งรุ่งขึ้นท้าวกบิลพรหมมาถาม ปัญหาธรรมบาลกุมารก็แก้ตามที่ได้ยินมา ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกเทพธิดาทั้ง ๗ อันเป็นบริจาริกาพระอินทร์มาพร้อมกัน แล้วบอกว่า เราจะตัดศีรษะบูชาธรรมบาลกุมาล ศีรษะของเราถ้าจะตั้งไว้บนแผ่นดินไฟก็จะไหม้ทั่วโลก ถ้าจะทิ้งขึ้นบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งไว้ในมหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดนั้นเอาพานมารับศีรษะ แล้วก็ตัดศีรษะส่งให้ธิดาผู้ใหญ่ นางจึงเอาพานมารับพระเศียรบิดาไว้แล้ว แห่ทำประทักษิณ รอบเขาพระสุเมรุ ๖๐ นาที แล้วก็เชิญประดิษฐานไว้ในมณฆปถ้ำคันธุลีเขาไกรลาศ บูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่างๆ พระเวสสุกรรมก็นฤมิตรแล้วด้วย แก้วเจ็ดประการชื่อ ภควดีให้เป็นที่ประชุมเทวดา เทวดาทั้งปวงก็นำเอาเถาฉมุลาด ลงมาล้างในสระอโนดาตเจ็ดครั้งแล้วแจกกันสังเวยทุกๆ พระองค์ครั้งถึงครบกำหนด ๓๖๕ วัน โลกสมมติว่า ปีหนึ่งเป็นสงกรานต์นางเทพธิดาเจ็ดองค์ จึงผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหม ออกแห่ประทักษิณเขาพระสุเมรุทุกปี แล้วกลับไปเทวโลก ซึ่งลูกสาวทั้งเจ็ดของท้าวกบิลพรหมนั้น เราสมมติเรียกว่า นางสงกรานต์ มีชื่อต่างๆ ดังนี้ ทุงษ, โคราค, รากษส, มัณฑา, กิริณี, กิมิทา และ มโหทร 
              คำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสฤกตว่า สํ-กรานต แปลว่า ก้าวขี้น ย่างขึ้น หรือก้าวขึ้น การย้ายที่ เคลื่อนที่ คือพระอาทิตย์ย่างขึ้น สู่ราศีใหม่ หมายถึงวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตกอยู่ในวันที่ ๑๓,๑๔,๑๕ เมษายนทุกปี แต่วันสงกรานต์นั้นคือ วันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ วันที่ ๑๔ เป็นวันเนา วันที่ ๑๕ เป็นวันเถลิงศก  
    
    ความหมายของคำที่เกี่ยวข้องกับสงกรานต์ มีดังนี้
              สงกรานต์ ที่แปลว่า "ก้าวขึ้น" "ย่างขึ้น" นั้นหมายถึง การที่ดวงอาทิตย์ ขึ้นสู่ราศีใหม่ อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกเดือน ที่เรียกว่าสงกรานต์เดือน แต่เมื่อครบ ๑๒ เดือนแล้วย่างขึ้นราศีเมษอีก จัดเป็นสงกรานต์ปี ถือว่าเป็น วันขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติ ในทางโหราศาสตร์ 
    
              มหาสงกรานต์ แปลว่า ก้าวขึ้นหรือย่างขึ้นครั้งใหญ่ หมายถึงสงกรานต์ปี คือปีใหม่อย่างเดียว กล่าวคือสงกรานต์หมายถึง ได้ทั้งสงกรานต์เดือนและสงกรานต์ปี แต่มหาสงกรานต์ หมายถึง สงกรานต์ปีอย่างเดียว 
    
              วันเนา แปลว่า "วันอยู่" คำว่า "เนา" แปลว่า "อยู่" หมายความว่าเป็นวันถัดจากวันมหาสงกรานต์มา ๑ วัน วันมหาสงกรานต์เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ย่างสู่ราศีตั้งต้นปีใหม่ วันเนาเป็นวันที่ดวงอาทิตย์เข้าที่เข้าทาง ในวันราศีตั้งต้นใหม่เรียบร้อยแล้ว คืออยู่ประจำที่แล้ว 
    
              วันเถลิงศก แปลว่า "วันขึ้นศก" เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ การที่เปลี่ยนวันขึ้นศกใหม่มาเป็นวันที่ ๓ ถัดจากวันมหาสงกรานต์ ก็เพื่อให้หมดปัญหาว่า การย่างขึ้นสู่จุดเดิม สำหรับต้นปีนั้นเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหาเพราะอาจมีปัญหาติดพันเกี่ยวกับชั่วโมง นาที วินาที ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ที่จะเปลี่ยนศกถ้าเลื่อนวันเถลิงศกหรือวันขึ้นจุลศักราชใหม่มาเป็น วันที่ ๓ ก็หมายความว่า อย่างน้อยดวงอาทิตย์ได้ก้าวเข้าสู่ราศีใหม่ ไม่น้อยกว่า ๑ องศาแล้วอาจจะย่างเข้าองศาที่ ๒ หรือที่ ๓ ก็ได้
              วันสงกรานต์เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ซึ่งกษัตริย์สิงหศแห่งพม่า ทรงตั้งขึ้นเมื่อปีกุนวันอาทิตย์ พ.ศ. ๑๑๘๑ โดยกำหนดเอาดวงอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษได้ ๑ องศา ประกอบกับไทยเราเคยนิยมใช้จุลศักราช สงกรานต์จึงเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยอีกด้วย   ในปีแรกที่กำหนดเผอิญเป็นวันที่ ๑๓ เมษายน ซึ่งอันที่จริงไม่ใช่วันที่ ๑๓ เมษายนทุกปี แต่เมื่อเป็นประเพณี ก็จำเป็นต้องเอาวันนั้นทุกปี เพื่อมิให้การประกอบพิธี ซึ่งมิได้รู้โดยละเอียดต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา วันที่ ๑๓ จึงเป็นวันสงกรานต์ของทุกปี 
    
              ปกติวันสงกรานต์จะมี ๓ วัน คือ เริ่มวันที่ ๑๓ เมษายน ถึงวันที่ ๑๕ เมษายน วันแรกคือวันที่ ๑๓ เป็นวันมหาสงกราต์ วันที่พระอาทิตย์ต้องขึ้นสู่ราศีเมษ วันที่ ๑๔ เป็นวันเนา (พระอาทิตย์คงอยู่ที่ ๐ องศา) วันที่ ๑๕ เป็นวันเถลิงศกใหม่ และเริ่มจุลศักราชในวันนี้ เมื่อก่อนจริงๆ มีถึง ๔ วัน คือวันที่ ๑๓ -๑๖ เป็นวันเนาเสีย ๒ วัน (วันเนาเป็นวันอยู่เฉยๆ) เป็นวันว่าง พักการงานนอกบ้านชั่วคราว
              จะเห็นได้ว่า วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย จนถึง พ.ศ.๒๔๘๓ ทางราชการจึงได้เปลี่ยนไหม่ โดยกำหนดเอาวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้เข้ากับ หลักสากลที่นานาประเทศนิยมปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ ประชาชนก็ยังยึดถือว่า วันสงกรานต์มีความสำคัญ  
    
    ข้อควรปฏิบัติในวันสงกรานต์- การเตรียมงาน 
    
              วันตรุษและวันสงกรานต์เป็นเทศกาลสำคัญที่คนไทยยังถือว่าวันตรุษคือวันสิ้นปี วันสงกรานต์คือวันขึ้นปีใหม่ดังกล่าว ดังนั้น จึงต้องตระเตรียมงานกันเป็นการใหญ่ จนมีคนที่พูดกันติดปากว่า "ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่" สิ่งที่ตระเตรียมกันนั้น จึงเป็นเรื่องที่จะต้องกระทำกันเป็นพิเศษตามลำดับ ดังนี้ 
              ๑. เครื่องนุ่งห่มเพื่อใส่ในโอกาสไปทำบุญที่วัด ตลอดจนเครื่องประดับตกแต่งร่างกายอย่างค่อนข้างจะพิถีพิถัน
              ๒. ของทำบุญ เมื่อใกล้จะถึงวันงานก็เตรียมของทำบุญเลี้ยงพระ และที่เป็นพิเศษของที่จะทำขนมพิศษ ๒ อย่างได้แก่ ข้าวเหนียวแดงในวันตรุษ และขนมกวน หรือ กะละแมในวันสงกรานต์ นอกจากจะทำขึ้นเพื่อทำบุญแล้ว ยังแลกเปลี่ยนแจกกันในหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อแสดงอัธยาศัยไมตรีในวันสำคัญ
              ๓. การทำความสะอาดบ้านเรือนที่อาศัยตลอดจนบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้ดูเรียบร้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บูชาพระและที่เก็บอัฐิบรรพบุรุษ แม้เสื้อผ้าที่ใช้สอยก็ต้องซักฟอก ให้สะอาดหมดจดโดยถือว่า กำจัดสิ่งสกปรกให้สิ้นไปพร้อมกับปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ ด้วยความบริสุทธ์ผุดผ่อง
              ๔. สถานที่ทำบุญ วัดเป็นสถานที่ทำบุญสวดมนต์เลี้ยงพระ และทำต่อเนื่องกันหลายวัน นอกจากจะทำความสะอาดกุฎิที่อาศัยแล้ว ยังต้องทำความสะอาดหอสวดมนต์ โบสถ์วิหาร ศาลาการเปรียญ ตลอดจนลานวัด เพราะต้องใช้ทำกิจกรรมหลายอย่าง ได้แก่ การทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา สรงน้ำพระ ก่อพระเจดีย์ทราย และงานรื่นเริงต่างๆ ด้วย 
    
       
    
    การทำบุญ 
    
              การทำบุญในวันสงกรานต์มีทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์ 
    
    ๑. พิธีหลวง พระราชพิธีสงกรานต์ (คัดจากปี ๒๕๓๑) 
    
              วันที่ ๑๕ เมษายน ในเวลาเช้า ๑๐.๓๐ น. พระสงฆ์ที่รับอาราธนามาเจริญพระพุทธมนต์ที่พระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปสำคัญต่างๆ ที่หอพระสุราลัยพิมาน แล้วเสด็จหอพระบรมอัฐิที่หอพระธาตุมณเฑียร สรงน้ำพระ พระบรมอัฐิและพระอัฐิ ถวายสักการะพระสยามเทวาธิราชที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เสด็จออกพระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัย ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ทรงศีล พระสงฆ์จำนวน ๖๗ รูป เท่าจำนวนพระบรมอัฐิ และพระอัฐิที่อาราธนาจากวัดที่เกี่ยวข้อง กับพระบรมอัฐิและพระอัฐิ เจริญพระพุทธมนต์ ฉันภัตตาหารเพล
    เสร็จแล้วอัญเชิญพระบรมอัฐิ จากหอพระธาตุมณเฑียรเป็นกระบวนแห่ มีประโคมสังข์ แตร กลองชนะ ตั้งแต่เวลาเชิญออก จนกระทั่งถึงบนราชบัลลังก์นพปฏลมหาเศวตฉัตร ในพระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัย ทรงจุดธูปเทียนราชสักการะ พระพุทธรูปประจำพระชนมวารของพระบรมอัฐิ ทรงจุดธูปเทียน ถวายสักการะพระบรมอัฐิและพระอัฐิ ทรงทอดผ้าคู่ (ถือผ้าขาว ๒ ผืน นุ่งผืน ๑ ห่มผืน ๑) มีขวดน้ำหอม ๑ ขวด พระสงฆ์นั่งสดับปกรณ์ตามลำดับวัดประจำพระบรมอัฐิ 
            เวลา ๑๖.๓๐ น. เสด็จสรงน้ำพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรพระพุทธสัมพรรณี พระชัยหลังช้าง พระพุทธรูปฉลองพระองค์รัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒ เสด็จสรงน้ำพระคันธราษฎร์ สรงน้ำ พระโพธิ์ พระนิโครธ พระพุทธเจดีย์ทอง พระไตรปิฎกฉบับทองทึบ พระนาคที่วิหารขาวสดับปกรณ์ พระบรมอัฐิกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และพระอัฐิเจ้านายต้นราชสกุลต่างๆ
              เปิดปราสาทพระเทพบิดรวันที่ ๑๓ ๑๔ ๑๕ ๑๖ เมษายน เพื่อให้ประชาชนถวายสักการะ พระบรมรูปบูรพมหากษัตริยาธิราช
              เมื่อก่อน การบำเพ็ญพระราชกุศลในพระบรมมหาราชวังมี ๔ วัน คือวันที่ ๑๓-๑๖ เมษายน ปัจจุบันมีเฉพาะวันที่ ๑๕ เมษายน วันเดียว ซึ่งในเช้าวันที่ ๑๕ เมษายน โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานนิมนต์พระ ๑๕๐ รูป เข้าไปรับอาหารบิณฑบาตรทีในพระบรมมหาราชวัง
              เวลา ๑๐.๓๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิตไปยังพระมหามณเฑียร ในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯ พระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญที่หอพระสุลาลัยพิมาน ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ แล้วเสด็จฯ ไปทรงจุดธูปเทียนบูชาพระสยามเทวาธิราช ที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เสด็จฯ ไปยังหอพระธาตุมณเฑียร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะและสรงน้ำพระบรมอัฐิ พระอัฐิ แล้วเสด็จออกพระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัยทางพระทวารเทวราชมเหศวร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียน เครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๗๑ รูปเจริญพระพุทธมนต์การ พระราชพิธีสงกรานต์ จบแล้วทรงประเคนภัตตาหาร เมื่อพระสงฆ์รับพระราชทานฉันเสร็จ เจ้าพนักงานเชิญพระบรมอัฐิและพระอัฐิออกประดิษฐานบนพระราชบัลลังก์ ภายใต้นพปฏลมหาเศวตฉัตรและบนที่นั่งกงภายใต้ฉัตรขาวลายทอง ๕ ชั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระอัฐ แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดผ้าคู่ พระสงฆ์สดับปกรณ์ พระบรมอัฐิและพระอัฐิ แล้วถวายอนุโมทนาถวายอดิเรก ถวายพระพรลา เสด็จพระราชดำเนินประทับรถยนต์พระที่นั่ง ที่พระที่นั่งทวารเทเวศรรักษาเสด็จพระราชดำเนินกลับ
              เวลา ๑๖.๓๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้าพนักงานกราบบังคมทูล รายงานเครื่องราชสักการะที่ทรงพระราชอุทิศ พระราชทานให้กระทรวงมหาดไทยเชิญไป ถวายเป็นพุทธบูชา เจดียสถานต่างๆ แล้ว เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถ ทรงพระสุหร่ายสรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงจุดธูปเทียนถวายนมัสการ แล้วเสด็จพระราชดำเนิน ไปสรงน้ำปูชนียวัตถุตามเจดียสถานในพระอารามนี้ แล้วเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่หอพระนาก ทรงจุดธูปเทียน ถวายสักการะพระอัฐิ ๕ รูป สดับปกรณ์แล้วทรงทอดผ้าพระสงฆ์อีก ๕๐ รูป สดับปกรณ์พระอัฐิพระราชวงศ์ พระสงฆ์ถวายอนูโมทนา ถวายดิเรก เป็นเสร็จการ
    
    ๓. พิธีราษฎร์  
    
              การทำบุญในวันสงกรานต์ อาจจะทำการตักบาตรทำบุญได้ ๒ แห่งคือ ที่วัดหรือในบริเวณงานที่จัดไว้แล้ว วิธีตักบาตร ใช้วิธีเรียงแถว และนิมนต์พระเดินตามลำดับ โดยชายตักบาตรด้วยข้าว หญิงตักบาตรด้วยของคาวหวาน ถ้าเต็มบาตรก็ถ่ายใส่ภาชนะอื่น และนิมนต์ท่านรับจนทั่ว เสร็จแล้วอาจนิมนต์ท่านฉัน ณ สถานที่จัดงาน หรือให้ท่านนำไปฉันที่วัดก็ได้
              ในเวลาตักบาตรพระสงฆ์จะสวดถวายพรพระคือ พาหุง พอเสร็จ ก็ช่วยกันยกอาหารคาวหวานไปถวายพระ ขณะพระฉัน จะมีการอ่านประกาศสงกรานต์กันในตอนนี้ บางคนก็อาจจะอยู่ฟังอนุโมทนา เป็นอันเสร็จพิธี
              การก่อเจดีย์ทราย จะทำในวันใดวันหนึ่ง ของวันที่ ๑๓-๑๕ เมษายนก็ได้ ผู้ทำบุญจะช่วยกันขนทราย มาก่อเป็นเจดีย์ขนาดต่างๆ ในบริเวณวัด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ให้ใช้ก่อสร้าง หรือถมพื้นที่ เป็นเรื่องที่ถือว่าได้บุญและสนุกสนาน แต่ไม่มีข้อจำกัดว่าต้องทำทุกวัด
              การปล่อยนกปล่อยปลา เป็นการทำบุญเพื่อแสดงความกรุณาต่อสัตว์ นิยมทำในวันสงกรานต์และไม่จำกัดว่าจะทำในวัดเท่านั้น
              การสรงน้ำพระ มีทั้งสรงน้ำพระพุทธรูปและภิกษุ สามเณร เพื่อความเป็นศิริมงคลในโอกาสขึ้นปีใหม่อันเป็นเวลาที่อากาศร้อน 
              การรดน้ำผู้ใหญ่ เป็นเรื่องของการแสดงคารวะต่อผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ผู้ร่วมพิธีควรน้ำผ้า ๑ สำรับ คือ ผ้านุ่ง ๑ ผืน ผ้าห่ม ๑ ผืน ไปมอบให้ท่านพร้อมกับ ดอกไม้ธูปเทียน การรดน้ำผู้ใหญ่ดังกล่าวมานี้ มักจะรดหรืออาบท่านจริง ๆ จึงต้องมีผ้าไปมอบให้ ปัจจุบันบางแห่งรดเฉพาะที่ฝ่ามือ โดยจะเอาน้ำหอมเจือในน้ำด้วย แต่ก็ยังคงมีผ้านุ่งห่ม ๑ สำรับและดอกไม้ธูปเทียนไปแสดงคารวะ และขอพรท่านก็จะให้ศีลให้พรให้มีความสุขปีใหม่ คือตั้งแต่วันสงกรานต์เป็นต้นไป
              การทำบุญอัฐิ เป็นเรื่องที่นิยมทำแบบนิมนต์พระ ชักบังสุกุลอัฐิของญาติที่ล่วงลับไปแล้ว แล้วอุทิศส่วนกุศลให้ โดยนิมนต์พระไปยังสถานที่เก็บหรือบรรจุอัฐิ หรือถ้าไม่มีอัฐิจะเขียนชื่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก็ได้ เมื่อบังสุกุลแล้วก็เผากระดาษแผ่นนั้นเสีย เหมือนเผาศพ การทำบุญอัฐิจะทำในวันไหนก็ได้สุดแต่จะนัดหมายกัน การรื่นเริง จัดขึ้นเพื่อเชื่อมความสามัคคีในหมู่คณะ เป็นการอนุรักษ์ประเพณีต่างๆ ในท้องถิ่นไว้ด้วย
              การสาดน้ำ เป็นการสนุกสนานรื่นเริงอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของสงกรานต์ คือ สาดน้ำกันโดยมากจะเริ่มต้นในวันสรงน้ำพระ แต่บางแห่งพอเริ่มสงกรานต์ ก็เริ่มสาดน้ำกันทีเดียว ส่วนใหญ่แล้วใช้น้ำสะอาดมีน้ำอบน้ำหอม หรือแป้งหอมผสมบ้างก็ได้ และไม่ถือเป็นเรื่องเสียหาย
              การแห่นางแมว บางแห่งอาจมีการแห่นางแมวเพื่อขอฝนด้วย ซึ่งเป็นเรื่องสนุกสนานรื่นเริงเหมือนกัน แต่ก็หวังผลในทางเกษตรกรรมด้วย กล่าวคือ ถ้าเกิดฝนแล้งก็แห่นางแมวกันในช่วงวันทำบุญสงกรานต์ เช่นเดียวกัน
    
    
     สิ่งที่ได้จากการทำบุญสงกรานต์
     
    ๑. เป็นการแสดงความเคารพบูชาต่อสิ่งที่ตนเคารพ ต่อบิดามารดา และผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ
    ๒. เป็นการชำระจิตใจ และร่างกายให้สะอาด
    ๓. เป็นการรักษาประเพณีมาแต่เดิม
    ๔. เป็นการสนุกสนานรื่นเริงในรอบปี และพักจากงานประจำชั่วคราว เพื่อจะไปพักผ่อนหย่อนใจ
    ๕. เป็นการเตือนสติว่ามนุษย์นั้นผ่านไป ๑ ปีแล้วและในรอบปีที่ผ่านมา เราได้ทำอะไรบ้างและควรจะทำอะไรต่อไปในปีที่กำลังจะมาถึง
    ู๖. เป็นการเตรียมตัวบวช ถ้าเป็นผู้ชายโดยเอาระยะเวลานี้บวชกัน เพราะหลังสงกรานต์ต้องเตรียมตัวทำนาแล้ว
    ๗. เป็นการทำความสะอาดพระ โต๊ะบูชา บ้านเรือน ทั้งในและนอกบ้าน
    
    
     
    --------------------------------------------------------------------------------
    
     
     
    อ้างอิง : 
    
    สมชัย ใจดี,ยรรยง ศรีวิริยาภรณ์. ประเพณีและวัฒนธรรมไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2531. 
    สุพัตรา สุภาพ. สังคมและวัฒนธรรมไทย ค่านิยม ครอบครัว ศาสนา ประเพณี. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2534. 
    สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สงกรานต์. กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊ฟ, 2533.
  • กุ้งก้ามกราม

    11 เมษายน 2551 10:37 น. - comment id 838359

    ได้แต่นั่งอึ้งตะลึงอ่านโคลงระดับเซียนครับ ได้ทั้งความไพเราะและเนื้อหาสาระครบถ้วนกระบวนความจริง สมแล้วที่เป็นยอดหญิงแห่งบ้านกลอนไทย  สุขสันต์วันสงกรานต์และทุกๆวันครับ
       
           29.gif41.gif41.gif29.gif
  • บนข.

    11 เมษายน 2551 11:04 น. - comment id 838375

    แถวพัทลุงบ้านเดิม บนข. เรียกวันสงกรานต์ว่า "วันว่าง" คือว่างจากเทวดาคอยคุ้มกัน จำได้ว่าตอนเป็นเด็ก พ่อแม่สั่งนักสั่งหนาว่า ห้ามปีนต้นไม้ เดี๋ยวจะตกลงมาแข้งขาหัก  เพราะไม่มีมีรุกขเทวดาคอยคุ้มครอง....อ่านตำนานสงกรานต์คำโคลงของคุณอัลมิตรา แล้วก็ได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีก...59.gif
  • อรุณสุข

    11 เมษายน 2551 11:10 น. - comment id 838376

    05_full.jpg
    
    เรียบเรียงไว้ได้หมดจด..จริงๆครับ..หายากแล้ว
    นะครับใครที่จะมีความชำนาญและความ
    อุตสาหะพากเพียรในการเขียน..ขนาดนี้...
    คงเป็นของขวัญอันมีค่าสำหรับมวลมิตรบ้านกลอนของเรานี้..เนื่องในวันสงกรานต์
    จริงๆ..ชื่นชมครับ..พี่อัลฯ...
    
    1.gif36.gif
  • กชมนวรรณ

    11 เมษายน 2551 11:11 น. - comment id 838377

    1.gif ชื่นชมค่ะ ขอให้มีความสุขกับปีใหม่ไทยนะค่ะ 36.gif36.gif36.gif
  • ไหมไทย

    11 เมษายน 2551 11:14 น. - comment id 838379

    สุขสันต์กับเทศกาลสงกรานต์ค่ะ
    
    36.gif36.gif
  • ไร้อันดับ

    11 เมษายน 2551 11:47 น. - comment id 838399

    คงต้องขอชื่นชม กับโคลงตำนาน
    วันสงกรานต์ รวมทั้งข้อมูล
    ที่เขียนให้อ่านครับ 36.gif
  • แก้วประเสริฐ

    11 เมษายน 2551 12:06 น. - comment id 838409

    36.gif16.gif36.gif
    
           แวะมารดน้ำดำหัวกับยอดหญิงจ้า รักเสมอ
    
                           16.gifแก้วประเสริฐ.16.gif
  • มณีจันทร์

    11 เมษายน 2551 14:18 น. - comment id 838437

    27-03-2008_11.gif
  • ฟา

    11 เมษายน 2551 15:17 น. - comment id 838487

    งานงดงาม
    
    เป็นประโยชน์มากๆ ค่ะ
    
    ขอบคุณๆๆ
    
    6.gif36.gif36.gif6.gif
  • ชมพูภูคา

    11 เมษายน 2551 15:18 น. - comment id 838488

    สวัสดีวันปีใหม่ไทยค่ะ...
    
    38.gif38.gif38.gif38.gif
  • แมวคราว...

    11 เมษายน 2551 15:31 น. - comment id 838491

    แวะมาอ่านตำนาน....
    หวัดดีวันปีใหม่ไทยครับ....36.gif46.gif
  • ดอกบัว

    11 เมษายน 2551 19:07 น. - comment id 838524

    สวัสดีค่ะ คุณอัลมิตรา
    สุนสันต์วันมหาสงกรานต์ค่ะ
    ขอให้คุณอิมสดชื่นแจ่มใส
    ฉ่ำเย็นทุกเวลาค่ะ
    งดงามมากโคลงของคุณ
    36.gif46.gif
  • ลักษมณ์

    11 เมษายน 2551 21:04 น. - comment id 838568

    ตำรามีบอกไว้...............นานนม
    นานเนิ่นเกินกล่าวชม...นับได้
    วันเวียนผ่านคืนถม.......ตรมสุข
    สงกรานต์บรรจบไซร้.....ย่างขึ้นศกสมัย
    
    ขอจงมีความสุข
    สวัสดีครับ
  • ลักษมณ์

    11 เมษายน 2551 22:49 น. - comment id 838578

    ตำรามีบอกไว้................นานนม
    นานเนิ่นเกินกล่าวชม...นับได้
    วันเวียนเปลี่ยนคืนถม...ตรมสุข
    สงกรานต์มาสบไซร้........ย่างขึ้นศกสมัย
    
    ตำนานวันสงกรานต์
    ย่างเข้ามาแก้ ๒ คำ ครับ
    
    ขอจงมีความสุข
    สวัสดีครับ
  • การัณยภาส

    12 เมษายน 2551 03:10 น. - comment id 838612

    สวัสดีค่ะ แวะมาเยี่ยมชมค่ะ
    โคลงที่แต่งนั้นไพเราะมากทีเดียวค่ะ นอกจากไพเราะแล้วยังมีความยาวมากด้วย ซึ่งแสดงถึงความสามารถที่เหนือชั้นของผู้ประพันธ์
    ต้องขอขอบคุณที่ให้ข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์นะคะ สำหรับเนื้อหาของตำนานวันสงกรานต์
  • ฤทธิ์ ศรีดวง

    12 เมษายน 2551 12:04 น. - comment id 838697

    สวัสดีครับคุณอิม
    ผมเคยมีคำถามเรื่องสงกรานต์ว่ากบิลพรหมถูกตัดหัวจริงหรือ ผู้ที่จะเป็นพรหมได้ต้องเสียชีวิตขณะเข้าฌาน แล้วทำไมต้องไปหาเรื่องธรรมบาล เพราะพรหมนั้นต้องมีคุณธรรมสูงอยู่แล้ว และอีกอย่างก็คือพรหมมีลูกด้วยหรือ เพราะพรหมนั้นไม่มีเพศ และวันหนึ่งผมก็ได้คำตอบจากเรื่องบอกเล่าของพระราชพรหมญาณ หลวงพ่อเล่าเรื่องสงกรานต์ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้ 
    
      เนื่องจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนพุทธกาล ดังนั้นจึงไม่มีธรรมใดๆที่จะมาจากคำสอนของพระพุทธองค์  
    กบิลพรหมซึ่งเป็นพระอริยบุคคลชั้นอนาคามี(ถ้าจำไม่ผิด ปัจจุบันได้อรหันต์และนิพพานแล้ว) ต้องการจะประกาศคุณธรรมของธรรมบาลให้สาธาณชนได้รับรู้ ธรรมดังกล่าวก็คือ กุศลกรรมบถสิบ ซึ่งก็คือธรรมะที่ใช้ควบคุมจิตใจ หลวงพ่อท่านบอกว่า ศีลห้าที่คนทั่วไปรักษาไม่ได้ครอบคลุมด้านจิตใจและวาจาบางส่วน แต่ควบคุมด้านร่างกาย เช่น ห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามลักทรัพย์ ห้ามผิดประเวณี ห้ามพูดปด(แต่ไม่ห้ามพูดถากถาง ส่อเสียด) ห้ามดื่มสุรา เมื่อมีกรรมบถสิบควบคุมอีกจะห้ามคิดไม่ดี ห้ามพูดไม่ดีทำร้ายจิตใจผู้อื่น ห้ามด่า อะไรทำนองนี้  
    
     การที่ธรรมบาลและผู้คนในหมู่บ้านรักษาศีลและกุศลกรรมบถกันเป็นปกติ กุศลส่งให้มีอายุยืนยาว ไม่ตายเมื่อวัยหนุ่มสาว เมื่ออาจารย์ของธรรมบาลทดสอบโดยนำความมาแจ้งแก่พ่อแม่ธรรมบาลว่าลูกชายตายจึงไม่มีใครเชื่อ
    
      ทีนี้มาเล่าต่อถึงกบิลพรหม เมื่อมีจุดประสงค์เช่นนั้นแล้วจึงออกอุบายมาท้าทายธรรมบาลโดยถามปัญหาสามข้อ เมื่อธรรมบาลตอบไม่ได้ พอใกล้ถึงวันสุดท้ายจึงหนีเข้าป่าด้วยว่าไม่อยากให้พ่อแม่เห็นตนถูกฆ่าตาย เมื่อไปอยู่ใต้โคนต้นไม้ กบิลพรหมจึงให้เทวดาแปลงร่างเป็นนกผัวเมียแล้วไปคุยกันเฉลยปัญหาดังกล่าว 
    
      เมื่อธรรมบาลนำความมาตอบปัญหากบิลพรหมได้ ก็ได้บอกแก่กบิลพรหมว่าปัญหาเหล่านี้ตนไม่ได้ตอบเองเป็นความรู้จากนกดังนั้นกบิลพรหมไม่ต้องตัดเศียรตัวเอง แต่ท้าวพรหมไม่ยอม  เรียกให้นางฟ้าซึ่งเคยเกิดเป็นบุตรของตนสมัยเป็นมนุษย์ให้ถือพานมารองเศียรตนไว้  แล้วอธิษฐานให้เศียรขาดใส่พาน เพราะในความจริงตัดคอพรหมไม่ได้หรอก เลือดพรหมก็ไม่มี ทุกอย่างเป็นแค่อุบายเท่านั้น 
    
      เมื่อสองเดือนที่แล้วผมคิดจะเขียนถ่ายทอดเรื่องนี้ในช่วงสงกรานต์เหมือนกัน แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องเลิก เพราะเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมา 
    
     แวะเข้ามาบ้านกลอนได้อ่านงานของคุณอิมนับว่าคุ้มครับ ฝีมือยังยอดเยี่ยมถ่ายทอดผ่านโคลงได้นี่นับว่าไม่ธรรมดา เพราะอ่านแล้วเข้าใจในเนื้อหาที่ผู้เขียนตั้งใจสื่อได้เป็นอย่างดี  
    
      ขอให้มีความสุขมากๆในช่วงวันหยุดยาวๆครับ
    29.gif29.gif
  • วชรกานท์

    12 เมษายน 2551 13:51 น. - comment id 838710

    กี่ชนจักล่วงรู้              ตำนาน
    สานต่อวันสงกรานต์   อยู่ยั้ง
    ยุวชนต่างสนาน          เริงร่า
    กลายเปลี่ยนมิอาจรั้ง  ห่อนรู้ตำรา
    
    วิถีพราหมณ์ก่อนนั้น    นานมา
    เกิดก่อนพุทธศาสนา   นั่นไซร้
    กำหนดโชคชะตา        ความเชื่อ
    รัฐ(ถะ)กำหนดให้        สู่เหย้าครอบครัว
    
    สิบสามถึงสิบห้า         เมษา
    คืนถิ่นเยือนปู่ตา         พรั่งพร้อม
    ลุงยายย่าป้าอา           รออยู่
    อบอุ่นต่างโอบอ้อม    ต่างล้อมเป็นวง
  • ปีกผีเสื้อ

    12 เมษายน 2551 15:57 น. - comment id 838737

    69m.gif
    
    Comments for Hi5, Myspace สวยๆ อย่างเยอะ...จัดปัย
    
  • white rose.

    12 เมษายน 2551 19:23 น. - comment id 838772

    สุขสันต์วันสงกรานต์ค่ะ..ขอให้มีความสุขคิดเงินได้
    เงินคิดทองได้ทอง...ไม่เจ็บไม่จนค่ะ...11.gif36.gif
  • โอเลี้ยง

    13 เมษายน 2551 01:56 น. - comment id 838846

    4800f8781a16e.gif
    สร้าง Comment ง่ายๆ ด้วยตัวคุณเอง..คลิ๊กที่นี่
  • ปิง

    13 เมษายน 2551 10:14 น. - comment id 838908

    11.gif สุดยอดเลยค่ะ นับถือมาก ๆ31.gif29.gif สุขสันต์วันปีใหม่ไทยค่ะ11.gif
  • กุ้งหนามแดง

    16 เมษายน 2551 09:48 น. - comment id 839634

    สุดยอด....อิอิ...
  • rain..

    16 เมษายน 2551 11:06 น. - comment id 839654

    36.gif..
     พี่อัลมิเก่งมากๆด้วยดิคะ..
     
      ...
     ดีจัง..
    เรนขออนุญาตพี่อัลมิเก็บในไดฯของเรน..36.gif
  • นายพะแนง

    18 เมษายน 2551 16:13 น. - comment id 840288

    1.gif แวะมาอ่านตำแนนคร้าบบ

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน