๏ ๏ ๏ แห่ผ้าขึ้นธาตุ ๏ ๏ ๏

ใยไหม

๏ แห่ผ้าขึ้นพระธาตุ..........เมืองนครฯ
ศิลป-วัฒนธรรมสอน.........สั่งไว้
สั่งลูกสั่งหลานจร................จดว่า
จักกลับมาแห่ไซร้..............ทราบถ้วนทั่วกัน ๚
๏ วัฒนธรรมมากล้วน......ชื่นชม
เป็นที่ชนนิยม...................ยิ่งล้ำ
คุณค่ายิ่งสั่งสม..................มาแต่  บุราณเฮย
หากเปรียบได้ดั่งค้ำ...........ค่าไว้คู่เมือง ๚
๏ บรรพบรุษมอบให้...........สิ่งงาม
เพื่อฝากลูกหลานตาม.........ติดต้อง
กระทำอย่างมอบนาม..........เหนือค่า
อณุรักษ์คุณค่าคล้อง............คู่ฟ้ามลายสูญ ๚๛				
comments powered by Disqus
  • ใยไหม

    20 กุมภาพันธ์ 2548 16:29 น. - comment id 428330

    ประเพณีการแห่ผ้าขึ้นธาตุ
    
    ทำกันมาแต่ครั้งใดนั้น ไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่ปรากฎว่าในสมัยร.2 ได้กระทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือ วันวิสาขบูชาทุกปี..
    
    ต่อมาในสมัย ร.4 ได้กำหนดประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุเพิ่มเป็น 2 วัน คือ นอกจากวันวิสาขบูชาแล้ว ยังเพิ่มวันมาฆบูชาอีกวันหนึ่ง..
    
    เรื่องเล่าเกี่ยวกับประเพณีนี้ ยาวหน่อยนะคะ เรื่องมีอยู่ว่า...
    
    ในสมัยโบราณประมาณปี พ.ศ.1773 ขณะที่กษัตริย์สามพี่น้อง คือ
    พระเจ้าศรีธรรมโศกราช 
    พระเจ้าจันทรภาณุ และ
    พระเจ้าพงษาสุระ
    กำลังเตรียมการสมโภชพระบรมธาตุ ก็พอดีพระบฏ ซึ่งเป็นผ้าแถบใหญ่ยาวผืนหนึ่ง ถูกคลื่นซัดมาขึ้นที่ชายหาดอำเภอปากพนัง ชาวบ้านได้เก็บผ้านั้นไปซักทำความสะอาด แล้วถวายพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช 
    
    พระองค์โปรดเกล้าให้ประกาศหาเจ้าของ จึงทรงทราบว่า
    ผู้เป็นเจ้าของคือ กลุ่มชาวพุทธประมาณร้อยคนที่เดินทางมาจากหงสาวดี เพื่อนำพระบฏไปบูชาพระพุทธบาทที่ลังกา ทว่าระหว่างทางที่เดินทางมากลางทะเลนั้นเกิดพายุเรือแตก มีผู้รอดชีวิตมาได้ราวสิบคนเท่านั้น 
    
    พระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงเสนอให้นำพระบฏนั้นไปห่มองค์พระบรมธาตุ ผู้เป็นเจ้าของผ้าพระบฏก็อนุโมทนาด้วย จากนั้นชาวนครศรีธรรมราชก็ได้ถือปฏิบัติตามประเพณีมาจนถึงปัจจุบัน
     
    
    ก่อนถึงวันดังกล่าว ชาวนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียงจะพร้อมใจกันร่วมบริจาคทรัพย์ตามศรัทธา เพื่อนำเงินไปซื้อผ้ามาเย็บรวมกันเป็นผืนใหญ่ ครั้นถึงวันก็จะนำแถบผ้านั้นไปพันโอบรอบฐานองค์พระบรมธาตุเจดีย์ที่บรรจะพระบรมสารีริกธาตุ อันเป็นที่นับถือของชาวนครศรีธรรมราชและชาวใต้ทั้งมวล
    
    ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุนี้ น่าจะได้รับแบบปฏิบัติมาจากอินเดีย แฝงคติความเชื่อที่ว่า การสร้างบุญกุศลที่ให้ผลสัมฤทธิ์นั้น จะต้องปฏิบัติต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า แม้พระพุทธองค์จะเสด็จสู่ปรินิพพานแล้ว การกราบไหว้บูชาสัญลักษณ์แทนพระองค์ เช่น เจดีย์ หรือ พระพุทธรูป ก็ให้ผลเสมือนได้กราบไหว้บูชาพระพุทธองค์ด้วยเช่นกัน
     
    
    ปัจจุบันผ้าพระบฏเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่เคยวาดภาพสีสันวิจิตรเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติลงบนผ้าหลากสี พร้อมทั้งประดับประดาด้วยลูกปัดสีและดอกไม้สวยงาม ก็เหลือเพียงผ้าพื้น 3 สี คือ สีขาว แดง และเหลือง 
    
    ัภัตตาหารที่เคยแห่มาถวายพระพร้อมกันก็หายไป อีกทั้งขบวนแห่ก็ไม่เอิกเกริกพร้อมเพรียงกันเช่นแต่ก่อน 
    
    พุทธศาสนิกชนต่างเตรียมผ้ากันมาเอง ใครจะแห่ผ้าขึ้นธาตุก่อนหลังก็แล้วแต่สะดวก 
    
    เมื่อแห่ทักษิณาวัตรรอบพระบรมธาตุเจดีย์ครอบ 3 รอบแล้วก็นำผ้าเข้าสู่วิหารพระม้า หรือวิหารพระทรงม้า ในตอนนี้ผู้ร่วมในขบวนแห่จะส่งตัวแทนเพียง 3-4 คน สมทบไปกับเจ้าหน้าที่ของวัด เพื่อนำผ้าพระบฏขึ้นไปล้อมองค์พระบรมธาตุเจดีย์ 
    
    
    ขอขอบคุณข้อมูลจาก  http://www.trekkingthai.com/cgi-bin/webboard/generate.pl?board=kaoluang&content=0316
  • แม่จิตร

    20 กุมภาพันธ์ 2548 17:15 น. - comment id 428369

    มาชมการแห่ผ้า              จดจำ
    เสริมส่งวัฒนธรรม          อยู่ไว้
    บุญหนุนช่วยกระทำ        เผยแผ่
    เพียงว่าศรัทธานั้น           ค่าล้ำ  จิตใจ
    
    ขอบคุณที่ช่วยเผยแผ่
    ประเพณีชาวพุทธ ครับ
  • อัลมิตรา

    20 กุมภาพันธ์ 2548 21:11 น. - comment id 428453

    ปีนี้ไม่ต้องฝากขนมมากับนายกวางทองนะจ๊ะ โดนอุ๊บอิ๊บ .. ไม่แบ่งเลย 
    
    
  • ที่รักของฉัน

    20 กุมภาพันธ์ 2548 22:22 น. - comment id 428498

    ...ประวัติศาสตร์ก่อนนั้น....นานนัก
    ชนรุ่นหลังประจักษ์...........กล่าวอ้าง
    พระธาตุใหญ่เปรียบหลัก-  ฐานยิ่ง
    ใครก่อหรือใครสร้าง..........น่าล้วนอัศจรรย์....
    
    ........................สวัสดีครับ.....................

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน