6 กุมภาพันธ์ 2552 14:31 น.

ลำนำภูกามยาว : ดอยภูนาง

บพิตร

เทือกเขาสูงเรียงสลับทับป่ากว้าง
อุทยานดอยภูนาง กลางขุนเขา
อาทิตย์ส่องแสงสอดทอดทาบเงา
คลอเสียงเคล้าน้ำตกสาดลาดผาชัน

สวยสายน้ำหล่นพราวในราวป่า
เสียงซัดซ่ากังวาน ธารสวรรค์
มรกตสดเขียวพร่างกลางไพรวัลย์
ดุจภาพฝันธารเขียวใสไหลพรั่งพรู

งามพืชพันธุ์ธรรมชาติสะอาดใส
ฝูงนกยูงพันธุ์ไทยอาศัยอยู่
ฝูงสุดท้ายที่นี่มีให้ดู
ตอนเช้าตรู่เดินกรีดกรายอวดสายตา

ดอยภูนางเส้นทางแห่ง เชียงม่วน
ยังอบอวลแมกไม้ร่มใบหนา
ดอยสูงชันทอดไกลสุดสายตา
รูปเกือกม้าโค้งเว้าเย้ายวนใจ

แพะเมืองผี ฝั่งต้า น่าอัศจรรย์
ความสร้างสรรค์ธรณีที่มีให้
กัดเซาะพังทรุดกายทะลายไป
เหลือทิ้งไว้เป็นงานศิลป์แผ่นดินงาม.				
6 กุมภาพันธ์ 2552 09:21 น.

ทางสองแพร่ง

บพิตร

แม่น้ำม้าไหลรินถิ่น เมืองลา
กลางหุบเขาแนวป่าท้องฟ้าใส
ทางคดเคี้ยวเลาะโขดเขาลำเนาไพร
ศิวิไลซ์กลางขุนเขาเย้ายวนชม

ชนพื้นเมืองเป็นไทใหญ่หรือไทโหลง
ยังดำรงวิถีทางอย่างเหมาะสม
มีไทลื้อเป็นหย่อมบ้านมานานนม
ผสานผสมชนเผ่าสร้างเหย้าเรือน

มีวัดงาม จินตะ พระชี้นิ้ว
มองเห็นวิวเมืองลาหาใดเหมือน
พระชี้นิ้วดั่งย้ำคำสั่งเตือน
มิร้างเลือนความร่มเย็นเป็นสุขใจ

วัดจินตะหรือเจดีย์ภูเขาทอง
สร้างจำลองวัดสำคัญอันยิ่งใหญ่
ทั่วพม่ามากมายไว้ภายใน
ให้กราบไหว้ขอพรก่อนอำลา

พอมืดค่ำเปลี่ยนไปได้สีแสง
หอโคมแดงเรียงรายไว้คอยท่า
สวยจิ้มลิ้มเหล่านางคณิกา
จิบน้ำชาเล่นไพ่ชายตามอง

เสียงอื้ออึงในบ่อนตอนเสี่ยงโชค
บ้างชะโงกลุ้นเสียงดังบ้างนั่งหมอง
ทั้งหญิงชายเด็กผู้ใหญ่ไม่ต่อรอง
ดูแคล่วคล่องทั้งรับจ่ายไม่หวั่นกลัว

ก่อนอำลาเมืองลามานั่งคิด
ด้วยดวงจิตว้าวุ่นขุ่นในหัว
ทางสองแพร่งเมืองลาพามืดมัว
มีทางชั่วทางสวรรค์ให้ท่านไป

คิดคำนึงถึงกลุ่มชนคนพื้นบ้าน
เหล่าลูกหลานจะก้าวย่างหนทางไหน
ความดั้งเดิมกับวิถีศิวิไลซ์
ทางสายใดควรทอดยาวควรก้าวเดิน.				
5 กุมภาพันธ์ 2552 13:00 น.

เกินกว่าคำว่า "รัก"

บพิตร

เมื่อวันนั้นถามหาคำว่า รัก
จนประจักษ์เราสองครองใจมั่น
คำสัญญาแน่นหนักเรารักกัน
มิไหวหวั่นเคียงข้างร่วมทางเดิน

ใจสองดวงสอดประสานสมานสมัคร
ดวงใจภักดิ์คงไว้ไม่ห่างเหิน
สร้างความฝันที่เคยใฝ่ให้เพลิดเพลิน
ความจำเริญแห่งรักคือหลักชัย

ถึงวันนี้ความรักปักลงลึก
เกินกว่านึกเมื่อวันนั้นที่ฝันใฝ่
จากความ รัก แปรเปลี่ยนเป็น เข้าใจ
ที่ชอนไชสู่ก้นบึ้งตรึงสองเรา

เกินกว่าคำว่า รัก จากคำถ้อย
ใจที่ร้อยเป็นหนึ่งเดียวไม่เปลี่ยวเหงา
คำว่า รัก คงมีค่าแค่เพียงเงา
เพราะสองเรา เข้าใจ กันและกัน.				
4 กุมภาพันธ์ 2552 09:41 น.

เขมรัฐตุงคบุรี

บพิตร

เขมรัฐตุงคบุรี ที่ลือเลื่อง
ทอประเทืองเรืองอารามงามวิถี
ถิ่นไทเขิน ไทใหญ่ งามไมตรี
งามนที หนองตุง จรุงใจ

สมญานาม สามจอม กับเจ็ดเชียง
เก้าหนอง สิบสองประตูเวียง ความยิ่งใหญ่
ครั้งอดีตสานสัมพันธ์ล้านนาไทย
ยึดมั่นไว้วิถีเก่าชาวเชียงตุง

หนองน้ำใหญ่กลางเมืองมีเรื่องเล่า
ครั้งก่อนเก่าน้ำนองหลากมากพวยพุ่ง
ด้วยเป็นแอ่งจึงท่วมขังทั่วทั้งกรุง
เอ่อท้นสูงเขารอบเป็นขอบคาน

ตุงคฤาษี ผู้มากมีอิทธิฤทธิ์
ความศักดิ์สิทธิ์เรียกน้ำป่ามหาศาล
ให้ไหลรวมเป็นหนองใหญ่ไม่หลากลาน
เป็นตำนานชื่อ หนองตุงจึงรุ่งเรือง

ถิ่นเชียงตุงวันนี้มีคุณค่า
ยังรักษาความงดงามความฟูเฟื่อง
รูปแบบเก่าสืบสานมานานเนือง
รักษาเมืองประวัติศาสตร์แห่งชาติตน

ทิวเขาสูงรายรอบเป็นขอบขันธ์
ไม้หลากพันธุ์เขียวชอุ่มชุ่มไอฝน
ความดั้งเดิมแห่งชีวีวิถีชน
จึงเปี่ยมล้นความงดงามนาม เชียงตุง				
3 กุมภาพันธ์ 2552 09:11 น.

ลำนำภูกามยาว : พ่อขุนงำเมือง

บพิตร

สิบสองสายไหลหลากจากยอดดอย
ผ่านขุนเขาใหญ่น้อยร้อยรวมสาย
เป็นแม่อิงหล่อเลี้ยงใช่เพียงกาย
สื่อความหมายสายสัมพันธ์ผ่านชุมชน

คือเส้นเลือดหลอมรวมร่วมสืบสาน
คือวิถีแห่งกว๊านผ่านร้อนฝน
คือสายใยแห่งชีวิตจิตใจคน
คือไมตรีเปี่ยมล้นคนพะเยา

ดอยชมภูเขตคามที่ทอดไกล
น้ำอิงไหลอบอุ่นหนุนเรือนเหย้า
ลงหลักฐานบ้านช่องพี่น้องเรา
คือเนินเขาสู่นาม ภูกามยาว

พ่อขุนศรีจอมธรรม นำแต่งสร้าง
จากเมืองร้างเป็นเมืองใหญ่ปลายขุนเขา
จาก ดอยด้วนหรือ ชมภู สู่ร่มเงา
มีองค์เจ้าปกครองจึงรองเรือง

หลายพระองค์ทรงครองผองทวยราษฎร์
ด้วยอำนาจบารมีที่ฟูเฟื่อง
คราผู้ครองทรงนาม ขุนงำเมือง
คนลือเลื่องทั่วเขตแคว้นแสนเกรียงไกร

ครั้งพ่อขุนงำเมืองรุ่งเรืองนัก
ทรงเป็นหลักปวงประชาพาเลื่อมใส
เป็นเพื่อนรัก พระร่วงเจ้าสุโขทัย
สร้างเชียงใหม่ ขุนเม็งราย สหายกัน

ขุนงำเมืองเรื่องราวที่เล่าขาน
ทรงบันดาลฟ้าครึ้มดำทำป่วนปั่น
ให้สว่างจางหายมลายพลัน
อัศจรรย์ผู้พบเห็นเป็นด้วยบุญ

คราวลมร้อนอ่อนโหยโรยแรงล้า
แสงแดดจ้าแผดเผาเคล้าผงฝุ่น
ก็บดบังคลายเข็ญเย็นละมุน
เป็น พ่อขุนงำเมือง เรืองฤทธา.				
Lovers  0 คน เลิฟบพิตร
Lovings  บพิตร เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟบพิตร
Lovings  บพิตร เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟบพิตร
Lovings  บพิตร เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงบพิตร