รู้หรือไม่... ฤดูวสันต์ ไม่ใช่ ฤดูฝน!

กามนิต


เห็นบทกวีหลายบทเอ่ยถึงฤดูวสันต์ โดยเข้าใจว่าเป็นฤดูฝน
จึงขอลอกบทความเก่า ๆ มาแปะให้รู้กันครับ 
-------------------------------------------------------------------
แท้จริงแล้ว ฤดูวสันต์ ไม่ใช่ ฤดูฝน หากแต่เป็น ฤดูใบไม้ผลิ คำ "วสันต์" มาจากภาษาบาลีสันสกฤตว่า "วสนฺต" หมายถึง ฤดูใบไม้ผลิ
          การแบ่งฤดูกาลในประเทศอินเดียมีความแตกต่างจากการแบ่งฤดูกาลในประเทศไทย เนื่องจากลักษณะภูมิอากาศไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ ในประเทศอินเดียเองยังมีการแบ่งฤดูที่แตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่และลักษณะภูมิอากาศอีกด้วย
          คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา (บาลี) กล่าวถึงฤดูในประเทศอินเดียว่า มีการแบ่ง ๒ แบบ 
          แบบแรกเป็นการแบ่งฤดูตามลักษณะภูมิอากาศของประเทศอินเดียทางภาคตะวันออกและภาคใต้ คือ แบ่งออกเป็น ๓ ฤดู ฤดูละ ๔ เดือน ได้แก่ 
๑. เหมนฺต (เหมันต์) = ฤดูหนาว   
๒. คิมฺหาน (คิมหันต์) = ฤดูร้อน   
๓. วสฺสาน (วัสสานะ) = ฤดูฝน   
          ส่วนแบบที่ ๒ เป็นการแบ่งฤดูตามลักษณะภูมิอากาศของประเทศอินเดียทางภาคเหนือ คือ แบ่งออกเป็น ๖ ฤดู ฤดูละ ๒ เดือน ได้แก่ 
๑. เหมนฺต (เหมันต์) = ฤดูหนาว   
๒. สิสิร (สิสิระ) = ฤดูหมอกหรือน้ำค้าง   
๓. วสนฺต (วสันต์) = ฤดูใบไม้ผลิ   
๔. คิมฺหาน (คิมหันต์) = ฤดูร้อน   
๕. วสฺสาน (วัสสานะ) = ฤดูฝน   
๖. สรท (สารท) = ฤดูใบไม้ร่วง
          สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ในเขตร้อนนั้น พจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถานได้อธิบายการแบ่งฤดูกาลในประเทศไทยไว้ว่า แบ่งตามลักษณะภูมิอากาศออกได้เป็น ๓ ฤดู ฤดูละประมาณ ๔ เดือน ได้แก่ 

๑. ฤดูหนาว (กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนพฤศจิกายน)  
๒. ฤดูร้อน (กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม)  
๓. ฤดูฝน (กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม)

          จะเห็นได้ว่าการแบ่งฤดูกาลในประเทศไทยนั้นคล้ายคลึงกับการแบ่งฤดูกาลในประเทศอินเดียภาคตะวันออกและภาคใต้ซึ่งอยู่ในเขตมรสุม คือ มี ๓ ฤดู ดังนั้น หากจะนำคำเรียกชื่อฤดูในภาษาบาลีสันสกฤตมาเทียบใช้แทนคำเรียกชื่อฤดูในภาษาไทย ก็สามารถเทียบใช้ได้ดังนี้

                    เหมันต์      =      ฤดูหนาว
                    คิมหันต์     =      ฤดูร้อน
                    วัสสานะ    =       ฤดูฝน

ผู้เขียน : นางสาวชลธิชา  สุดมุข 
ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๕๖, มกราคม ๒๕๓๙


    ๏ สามฤดู ของไทย จำให้มั่น
ว่า "เหมันต์" "ฤดูหนาว" สาวหนีผละ
อัน "คิมหันต์" "ฤดูร้อน" สงน้ำพระ
"วัสสานะ" "ฤดูฝน" ชลฉ่ำนองฯ
    ๏ คำแขกคู่ "ฤดูฝน" สับสนนัก
หลายคนปัก ใจมั่น "วสันต์" ท่อง
นั่นฤดู ใบไม้ผลิ ฝรั่งดอง 
ที่ถูกต้อง "วัสสานะ" นะจ๊ะเธอ ฯ
				
comments powered by Disqus
  • .

    21 กรกฎาคม 2553 11:47 น. - comment id 31867

    พจนาฯให้ความหมายเช่นว่ามานานแล้ว แต่คนไทยหลงใช้/เชื่อผิดๆมานานตามคนเก่ากันมา ไม่ได้ตรวจทานความถูกต้องกันจริงจัง
    
    มาหาความถูกต้องกันทีก็ดีแล้ว
    
     46.gif21.gif20.gif

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน