สมัยบ่ะเก่าบ่ะก่อน แผ่นดินที่เรียกกันว่าล้านนา ยังไม่เจริญด้วยวัตถุมากมายเฉกเช่นปัจจุบัน วิถีชีวิตเรียบง่ายที่ผูกพันกับ ธรรมชาติคือวิถีชีวิตที่คุ้นเคยกันมาตั้งแต่อดีตกาล ละอ่อน หรือเด็กน้อยล้านนาในอดีตไม่ต้องรีบเร่งไปโรงเรียน ตั้งแต่เดินยังไม่แข็ง เหมือนในปัจจุบัน ละอ่อนหน้อย สมัยนั้นถ้าอายุไม่ถึงเกณฑ์เข้าโรงเรียน ก็จะอยู่กับบ้าน เล่นดิน เล่นทรายบ้าง ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ตามแต่จะช่วยได้ เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่เมื่อมองย้อนกลับไปในสมัยนั้นแล้วพบว่า มันมีการละเล่นมากมายให้เด็กให้เล่นกัน บางอย่างก็จำต่อๆ กันมา บางอย่างก็คิดขึ้น ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ใส่จินตนาการของ ตัวเองเข้าไปผสมผสาน แต่ปัจจุบันนี้ การละเล่นต่างๆ เหล่านี้เริ่มเลือนหายไปแล้ว การเล่นขายครัวที่ใช้ใบไม้ แทนเงิน เก็บดอกผักปั๋งมาย้อมสี ให้เป็นน้ำหวาน ฉีกกาบกล้วยให้เป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว กำลังถูกตุ๊กตาบาร์บี้และชายหนุ่มของเธอมาแทนที่ ปืนก้านกล้วย ม้าก้านกล้วย ก็ถูกรุกไล่ด้วยปืนพลาสติกจาก จีนแดง ยางรถถีบเก่าๆ ที่เคยเอามาตีล้อแข่งกันก็ถูกรถยนต์ของเล่นมาเบียดตกหายไปจากชีวิต ของละอ่อนล้านนาในปัจจุบันนี้เสียแล้ว บัวลา ละอ่อนล้านนาในอดีตจึงพาพี่ๆ เพื่อนๆ ในวัยเดียวกันมาทำความรู้จักกับละอ่อนในยุค IT เพื่อจะพาละอ่อน IT กลับไป สู่การละเล่นในอดีตของเด็กน้อยเมื่อครั้งที่คนในแผ่นดินนี้ยังสงบงามตามวิถีแต่โบราณ ......................................................................... เมื่อประมาณยี่สิบกว่าปีก่อน ในหมู่บ้านชนบทเล็กๆแห่งหนึ่งในจังหวัดทางภาคเหนือ มีเด็กหญิง ตัวเล็กๆ คนหนึ่งเป็นที่รู้จัก ของทุกๆ คนในหมู่บ้าน ใครๆก็เรียกเด็กหญิงคนนั้นว่า บัวลา เธอเป็นเด็กหญิงอายุ 9 ขวบที่ตัวเล็กและผอมบาง บัวลามีพี่ชายหนึ่ง คนชื่อ แก้วเมือง อายุ 13 ปี พี่แก้วเมืองตัวโตกว่าบัวลาและแข็งแรงกว่าบัวลามากโข บัวลามีน้องชายอีกหนึ่งคนชื่อ อินท์เหลา อายุ เพิ่ง 5 ขวบกว่า อินท์เหลาหน้าตาน่ารัก ใครเห็นใครก็ชม แม่บอกว่าที่ให้ชื่อน้องว่า อินท์เหลา ก็เพราะว่าน้องหน้าตาน่ารัก โตขึ้นคงจะ หล่อเหลาเหมือนกับพระอินทร์ลงมาหล่อ มาปั้น มาเหลาให้กลมกลึง บัวลาฟังทีไรก็นึกน้อยใจทุกที ทำไมแม่ ไม่ปั้นให้บัวลาตัวโตกว่านี้ น่ารักกว่านี้บ้างนะ บัวลาตัวเล็กผอมบาง ผิวคล้ำ ป้าบัวคำข้างบ้านตัดผมให้บัวลาเสียตลก ผมหน้าม้าสั้นเต่อ ด้านข้างสั้นถึงติ่งหู ใครๆ เห็นก็หัวเราะ บัวลาอยากให้ผมยาวเร็วๆ จะได้มัดผมยาวเป็นพวง ผูกริบบิ้นเหมือนพี่ดวง พี่ไข่ในหมู่บ้าน ที่แต่งชุดนักเรียน ไว้ผมยาว ผูกผมไป โรงเรียนทุกวัน บัวลาเคยบ่นกับแม่ แม่ก็ได้แต่หัวเราะแล้วบอกว่าอีกหลายปีกว่าบัวลาจะโตเป็นสาวถ้าเมื่อไหร่ ที่บัวลายังไม่เลิกเล่นขายครัว บัวลาก็คงไม่ได้เป็นสาวกับเขาหรอก แต่..เอถ้าจะให้บัวลาเลิกเล่นขายครัวกับเพื่อนๆ บัวลาก็ไม่เอาเหมือนกัน ก็มันสนุกจะตายไป นี่นา ยิ่งวันเสาร์ วันอาทิตย์ พอบ่ายคล้อยมา แสงหล้าเพื่อนรักมาแอ่วที่บ้าน ก็ชวนกันลงไปเล่นที่ข่วงหรือลานหน้าบ้าน บัวลามีชุด เครื่องครัวชุดใหญ่ แม่บริจาคช้อนเคลือบสีน้ำเงิน สีเขียว 2-3 คัน พร้อมกับชามสังกะสีผุอีก 2-3 ใบ เอาไว้ให้บัวลากับแสงหล้าไว้เล่น ขายของ หน้าบ้านบัวลามีต้นหูกวางอยู่ต้นหนึ่ง บัวลาชอบไปเด็ดใบอ่อนของมันสีแดงๆ ที่ม้วนเป็นหลอดมาสมมุติว่าเป็นเนื้อหมู เอาไว้ ซอยใส่ก๋วยเตี๋ยวที่แสงหล้าฉีกใบตองเป็นริ้วๆ รอไว้แล้ว เครื่องปรุงก็ใช้ทราย ที่ร่อนไว้แล้วจากบ้านลุงเมือง ที่กำลังปลูกบ้านใหม่ นั่นแหละ หน้าบ้านลุงเมืองมีทรายกองโตทั้งที่ร่อนแล้วและยังไม่ได้ร่อน ทรายที่ร่อนแล้วมันละเอียดนุ่มมือ ไม่เหมือนทราย ที่ยัง ไม่ร่อน บางทียังมีสิ่งแปลกปลอมเหม็นๆ ซ่อนอยู่อีกต่างหาก บางครั้ง ถ้าเพื่อนอินท์เหลามาแอ่วที่บ้าน บัวลากับแสงหล้าก็จะเกณฑ์น้องๆ ให้มาเป็นคนซื้อ สตางค์ก็หาไม่ยาก เด็ดเอาใบ ลำไยที่ปลูกอยู่เต็มบ้านนั่นแหละมาใช้แทน ไม่ว่าจะเป็นเหรียญ 25 สตางค์ 50 สตางค์ ไปจนถึงเหรียญห้าบาท แบงค์สิบ แบงค์ร้อย ก็ใช้ใบลำไยแทนได้หมด แต่พี่แก้วเมืองเป็นคนซื้อมืออาชีพ เพราะมีธนบัตรที่ทำมาจากซองบุหรี่ทั้งสีเทา สีเขียว สีแดง เหมือนแบงค์ จริงๆ เป็นปึก พี่แก้วเมืองบอกว่าไปขอป้าปริกร้าน ขายของชำเก็บไว้ให้เวลาป้าขายบุหรี่หมดแล้ว น้องๆ แต่ละคนรอจะได้แบงค์ ที่ทำ จากซองบุหรี่ของพี่แก้วเมืองกันทุกคน เพราะมันดูเหมือนแบงค์จริงๆ แต่พี่แก้วเมืองก็ริบคืนทุก ทีเวลาเลิกเล่น พี่แก้วเมืองบอกว่า ถ้าไม่เก็บ เดี๋ยวอินท์เหลาจะเอาไปฉีกเล่น ส่วนแสงหล้าคนงาม ผิวขาวเหมือนหยวก ชอบขายขนมครกมากกว่าใคร พื้นดินที่เป็นมุมประจำของแสงหล้าจะเป็นหลุมๆ เต็มไปหมด เพราะแสงหล้าจะใช้ช้อนขุดให้เป็นหลุม แล้วเอาดินผสมน้ำพอเหลวเทลงไปในหลุมเหมือนเวลาหยอดขนมครก แล้วใช้ ทรายละเอียดสีขาวที่ทางเหนือเรียกว่า ทรายมุก โรยลงไปเหมือนน้ำกะทิราดหน้า ใครๆ ก็ว่าแสงหล้าท่าทางทะมัดทะแมงเหมือน แม่ค้าขายขนมครกจริงๆ ส่วนอินท์เหลาจอมซน ชอบไปเก็บลูกผักปั๋งสุกสีดำๆ มาละลายน้ำ จะได้น้ำสีม่วงอมชมพู อินท์เหลาบอกว่าใช้เป็นน้ำหวาน ดื่มเวลากินก๋วยเตี๋ยวของบัวลาเสร็จแล้ว หรือหลังกินขนมครกของแสงหล้า วันไหนถ้าพี่แก้วเมืองใจดีขึ้นมาก็จะปีนต้นมะม่วง หรือหากขี้เกียจก็จะใช้หนังสะติ๊กยิงผลมะม่วง หน้อยหรือมะม่วงขบเผาะ หล่นปุๆ มาให้น้องๆ สับทำอาหาร แต่พอเห็นพี่แก้วเมืองเช็ดผลมะม่วงกับกางเกงขาสั้นสีตุ่นๆ แล้วกัดกร้วมๆ นั้นแล้ว ทุกคนก็เลย ไม่ยอมเอามะม่วงไปเล่น สู้เอามากินดีกว่า อร่อยกว่ากันเยอะเลย บัวลากับแสงหล้าเล่นเป็นแม่ค้าขายข้าวขายขนมกันจนเย็น แม่ของแสงหล้าตะโกนข้ามรั้วมาว่า ให้แสงหล้ากลับบ้านไปช่วย ทำอาหารได้แล้ว เด็กๆ จึงต้องสลายตัวกันโดยปริยาย บัวลาและแสงหล้าเก็บอุปกรณ์ข้าวของไว้ในลังที่อยู่ใต้ถุนบ้าน แล้ววิ่งตื๋อ ไปหาแม่ บัวลาช่วยแม่ก่อไฟควันโขมง กลิ่นไม้เกี๊ยะผสมปนเปไปกับ กลิ่นถ่านที่เริ่มจะติดไฟคลุ้งทั่ว ครัวไฟ หลังบ้าน อีกไม่นาน กลิ่นข้าวใหม่ที่แม่นึ่งก็จะส่งกลิ่นหอมไปถึงบ้านแสงหล้าเลยทีเดียว แม่ของบัวลาทำอาหารอร่อย โดยเฉพาะแกงแคกับแกงโฮะนั้น ลือไปหัวบ้านท้ายบ้านเลยทีเดียวว่า ฝีมือแม่ไม่มีใครเทียม บัวลาก็อยากจะทำอาหารเก่งๆ อย่างแม่บ้าง แต่ยังทำไม่ได้ซักที ก็เลย อวดฝีมือเวลาเล่นขายครัวเท่านั้นเอง บัวลาเลยฝันไว้ว่าสักวันหนึ่งบัวลาจะทำอาหารให้อร่อยไม่แพ้แม่เลยทีเดียว ............................................................................................................ น่าจะมีตอนต่อไปแหม คอยซักกำเน้อครับ
15 กุมภาพันธ์ 2550 16:46 น. - comment id 94891
อ่านแล้วคิดถึงตอนเป็นเด็กค่ะ ที่บ้านเรียกเล่นเฮือนน้อยค่ะ เป็นภาษาอีสาน เด็ดลูกตำลึง ใบตำลึงมาทำก๋วยเตี๋ยว เอากะลาเป็นชาม อิอิ บางวันแม่ย้อมไหม เราก็จะได้ขายน้ำหวานสีสวยๆกันค่ะ ชอบทานอาหารเหนือนะคะ ชอบทานขนมจีนน้ำเงี้ยวกับน้ำพริกอ่องค่ะ เมื่อเดือนที่แล้วซื้อกินทุกวันเลยค่ะ เดือนนี้แม่ค้าไม่ทำแล้วค่ะ คุณป้าแม่ค้าบอกว่า"คนแถวนี้มีหนูคนเดียวนี่แหละชอบกิน อาหารเหนือ ป้าเปลี่ยนมาทำอาหารภาคกลางดีกว่า" อ้อ มีหนุ่มเหนือสัญญาว่าจะทำให้ทานด้วยนะคะ เขียนเล่าได้ดีนะคะ แวะมาทักทายค่ะ