4 พฤษภาคม 2550 21:52 น.

ชาวพุทธอุทลุม : อะไรคือ อุทลุม ?

กวินทรากร

กรรมดีดีกว่า(วัตถุ)มงคล (กาพย์ ฉบัง 16) : พุทธทาสภิกขุ 

กรรมดี ดีกว่ามงคล สืบสร้าง กุศล
ดีกว่า นั่งเคล้า ของขลัง 
พระเครื่อง ตะกรุด อุทกัง ปลุกเสก แสนฉมัง
คาดมั่ง แขวนมั่ง รังรุง 
ขี้ขลาด หวาดกลัว หัวยุ่ง กิเลส เต็มพุง
มงคล อะไร ได้คุ้ม 
อันธพาล ซื้อหา มาคุม เป็นเรื่อง อุทลุม
นอนตาย ก่ายเครื่อง รางกอง 
ธรรมะ ต่างหาก เป็นของ เป็นเครื่อง คุ้มครอง
เพราะว่า เป็นพระ องค์จริง 
มีธรรม ฤามี ใครยิง ไร้ธรรม ผีสิง
ไม่ยิง ก็ตาย เกินตาย 
เหตุนั้น เราท่าน หญิงชาย เร่งขวน เร่งขวาย
หาธรรม มาเป็น มงคล 
กระทั่ง บรรลุ มรรคผล หมดตัว หมดตน
พ้นจาก เกิด แก่ เจ็บ ตาย 
บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ใจกาย อุปัทวะ ทั้งหลาย
ไม่พ้อง ไม่พาน สถานใด 
เหนือโลก เหนือกรรม อำไพ กิเลสา- สวะไหน
ไม่อาจ ย่ำยี บีฑา ฯ 

ที่มา....คู่มืออุบาสกอุบาสิกา ภาค๑-๒ สำนักสวนโมกขพลาราม ไชยา

เมื่ออ่านกาพย์ฉบัง 16 เรื่องกรรมดีดีกว่า(วัตถุ)มงคล ซึ่งประพันธ์โดย พุทธทาสภิกขุ ก็ติดใจคำศัพท์อยู่สองคำ ได้แก่คำว่า อุทกัง และ อุทลุม ข้าพเจ้าจึงได้ลองค้นจาก พจนานุกรมออนไลน์ของ ราชบัณฑิตยสถาน 


สอบจากเครือข่ายพจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน สันนิษฐานว่า อุทกัง มาจาก อุทก จึง หาความหมายของคำว่า อุทก ได้ความว่า 

คำ : อุทก; อุทก- 
เสียง : อุ-ทก; อุ-ทก-กะ-; อุ-ทะ-กะ- 
ชนิด : น. 
ที่มา : (ป., ส.) 
นิยาม : น้ำ. 

อ้างใน http://rirs3.royin.go.th/ridictionary/ 

ศาสตราจารย์ สุธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์ อรรถาธิบายคำว่า อุทก / ทก ไว้ในหนังสือ บาลี สันสกฤตที่สัมพันธ์กับภาษาไทย หน้า 143 

คำว่า อุทก / ทก แปลว่า ผู้ไหล ผู้เปียก ผู้ชุ่ม (จาก อุทิ ธาตุ) หญิงมีระดูเรียกว่า อุทกยา (หญิงต้องการน้ำชำระ) เทียบกับ คำว่า กมล หน้า 145 กมล แปลว่า ประดับน้ำ (กํ = น้ำ + อล= ประดับ) ฉะนั้น อุทกะ หรือ อุทกํ หรือ ทกํ จึงแปล โดยสังเขปว่า น้ำ อย่างไม่ต้องสงสัย คำว่า อุทกัง ที่แปลว่าน้ำนี้ ปรากฎอยู่ใน กาพย์ฉบัง 16 ตอนที่ว่า 

"ดีกว่า นั่งเคล้า ของขลัง 
พระเครื่อง ตะกรุด อุทกัง ปลุกเสก แสนฉมัง"

สาเหตุที่ท่านพุทธทาสใช้คำว่า อุทกัง วัตถุประสงค์ก็เพื่อรับสัมผัส กับคำว่า ขลัง และส่งสัมผัสไปยังคำว่า ฉมัง ตามหลักฉันทลักษณ์ ของ กาพย์ฉบัง 16 สำหรับคำว่า อุทกัง ถ้ามีรากศัพท์มาจากคำว่า อุทก ก็ควรอ่านออกเสียงว่า อุ-ทะ-กัง แต่เพื่อความไพเราะ จำต้องอ่านออกเสียงว่า อุด-ทะ-กัง เพื่อรับสัมผัสกับคำว่า ตระกรุด (ตระกรุด อุด-ทะ-กัง) กรณีนี้ คล้ายกับกรณีที่เราอ่านทำนองเสนาะในวันไหว้ครู ซึ่งเป็นกาพย์ฉบัง 16 เหมือนกัน บทที่ว่า "ข้าขอน้อมนบ อภิวันทน์" (ข้าขอน้อมนบ อบ-พิ-วัน) การอ่านออกเสียงว่า "ข้าขอน้อมนบ อบ-พิ-วัน" ย่อมจะไพเราะกว่า การอ่านออกเสียงว่า "ข้าขอน้อมนบ อะ-พิ-วัน" อัศนี พลจันทร หรือที่เรารู้จักกันดีในนามปากกา "นายผี" เรียกกรณีนี้ว่าเป็น กาพยานุมัติ หรือนักเลงกลอนบางคนก็เรียกว่า เป็น กวียานุโลม (Poetic License) การแผลงคำลักษณะนี้พบมากในภาษากวีและภาษาพระ อาทิเช่น 

กาย แผลงเป็น กายัง 
พุทธ แผลงเป็น พุทธัง 
สกุณ แผลงเป็น สกุณัง 
พล แผลงเป็น พลัง 
ทุกข แผลงเป็น ทุกขัง ฯลฯ 

การแผลงคำลักษณ์นี้ถ้าใช้ในบทประพันธ์ส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความคล้องจองสละสลวย แต่ถ้าในวงการพระ หรือวงการนักเลงบาลีไวยากรณ์ ว่าไว้ว่า นามจะทำหน้าที่อย่างใดในประโยคนั้นขึ้นอยู่กับวิภัติที่บอกหน้าที่หรือการก (case) ซึ่งแบ่งเป็น 8 การก 

คำว่า อุทกัง จัดเป็น ทุติยาวิภัติ เป็นกรรมการก (ทำหน้าที่ถูกกระทำ) แสดงความเป็นเป็น เอกพจน์ (Singular) ทุติยาวิภัติ บางที่ก็ไม่ต้องแปล เพราะทำหน้าที่เป็นกรรม บางทีก็แปลว่า "สู่ ยัง เฉพาะ"

อุทกัง / อุทกํ แปลได้ว่า สู่การเปียกชุ่ม ยังการเปียกชุ่ม เฉพาะการเปียกชุ่ม ซึ่งความหมายก็ยังคงแปลว่าน้ำอยู่ดี แต่ถ้าวิเคราะห์ ตามบริบทของคำประพันธ์ ที่ว่า


"ดีกว่า นั่งเคล้า ของขลัง 
พระเครื่อง ตะกรุด อุทกัง ปลุกเสก แสนฉมัง"

อุทกัง / อุทกํ น่าจะหมายถึงเครื่องลางของขลังจำพวก น้ำมันพราย อะไรทำนองนี้ ประกอบกับนักเลงโบราณ นิยมชมชอบ เสาะหา น้ำมันพราย หรือวัตถุมงคลจำพวกน้ำ ไว้เพื่อใช้ทำเสน่ห์กับหญิงที่ตนเองหมายปองหวังเอาทำเมีย ( อันธพาล ซื้อหา มาคุม) สมัยนี้น้ำมันพราย เปลี่ยนชื่อเป็น เอฟรีดีน (ephredine) ซึ่ง เป็นสารต้นแบบที่ถูกค้นพบในปี 1887 และได้สังเคราะห์ให้เป็น amphetamine ในปีเดียว กันนั่นเอง ต่อมาได้มีการสังเคราะห์อนุพันธ์ใหม่ของ amphetamine เพิ่มขึ้น เพื่อที่จะเพิ่มหรือลดคุณสมบัติ บางประการของ amphetamine อ้างใน http://www.mahidol.ac.th/mahidol/ra/rapc/edrug.html 

สำหรับคำว่า อุทลุม


คำ : อุทลุม 
เสียง : อุด-ทะ-ลุม 
คำตั้ง : อุทลุม 
ชนิด : ว. 

ศาตราจารย์ (พิเศษ) จำนง ทองประเสริฐ (ราชบัณฑิต) อธิบายคำว่า. อุทลุม แปลว่า ผิดประเพณี, ผิดธรรมะ,นอกแบบ, นอกทาง เช่น คดีอุทลุม คือ คดีที่ลูกหลานฟ้องบุพการีของตนต่อศาล, เรียกลูกหลานที่ฟ้องบุพการีของตนต่อศาลว่า คนอุทลุม เช่น ผู้ใดเปนคนอุทลุมหมีได้รู้คุณบิดามานดา ตา ปู่ หญ้า ตา ยาย แต่มันมาฟ้องร้องให้เรียกบิดา มานดา ปู่ หญ้า ตา ยาย มัน ท่านให้มีโทษทวนมันด้วยลวดหนังโดยฉกัน (กม. ตราสามดวง) (กฎ) การห้ามผู้สืบสันดานฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา เช่น ลูกฟ้องพ่อแม่ ต่อศาลไม่ได้ เป็นคนอุทลุม. อ้างใน http://www.thaimisc.com/freewebboard/php/vreply.php?user=chamnongt&topic=15

เชษฐภัทร บันทึกไว้ว่า กฎหมายตราสามดวง พระอัยการลักษณะกู้หนี้ บัญญัติว่า บิดามารดากู้ยืมเงินบุตรชายหญิงเป็นจำนวนมากน้อยเท่าใดก็ดี ท่านห้ามบุตรชายหญิงฟ้องบิดามารดาเลย ให้กล่าวว่ากันโดยปกติส่วนลูกเขย ลูกสะใภ้ อาจฟ้องพ่อตา แม่ยายได้ แต่จะได้เงินต้นเท่านั้น ดอกเบี้ยมากน้อยเท่าใดไม่ให้คิดเลยแม้กระนั้น ลูกเขยลูกสะใภ้ ก็ยังถือว่าเป็นคน "อุทลุม" อยู่ดี อ้างใน 

http://72.14.235.104/search?q=cache:c5mfELcG-MgJ:www.bloggang.com/mainblog.php%3Fid%3Dchettapat%26month%3D13-01-2006%26group%3D13%26blog%3D37+%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B8%A1&hl=th&ct=clnk&cd=4&gl=th

สอดคล้องกับ ไร้นาม บันทึกไว้เช่นเดียวกันว่า พระอัยการลักษณะกู้หนี้: ห้ามมิให้บุตรฟ้องบิดามารดาเรียกคืนหนี้อันเกิดจากการกู้ยืม บุตรเขยหรือสะไพ้ จะฟ้องก็ได้แต่ถือเป็นคนอุทลุม (ไม่รู้คุณคน) ก็ให้ฟ้องได้แต่เงินต้นเท่านั้น อ้างใน http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=rainam&group=5&month=09-2005&date=19&gblog=


สมพร พรหมหิตาธร อัยการอาวุโส อดีตรองอัยการสูงสุด อรรถาธิบายถึง คดีอุทลุม ไว้ในหนังสือเรื่อง รู้ทันกฎหมายจากนิยาย ชุดทนายแผ่นดิน หน้า 157 ความว่า คดีอุทลุม ซึ่งตามพจนานุกรมให้ความหมายว่าห้ามฟ้องเพราะถือว่าผิดประเพณี เช่นลูกฟ้องพ่อแม่บุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ (โปรดดู ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  อุทลุม มาตรา 1562 อ้างใน http://www.kodmhai.com/m2/m2-4/m4-1561-1584-1.html )

แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขออัยการๆ จะยกกล่าวก็ได้ ประกอบกับ พระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 ม.11 (6) ว่า ในคดีที่ราษฎรฟ้องผู้หนึ่งผู้ใดมิได้โดยกฎหมายห้ามอัยการมีอำนาจเป็นโจทย์ก็ได้ ดังนี้อัยการจึงมีอำนาจฟ้องในนามตนเองในฐานะเป็นทนายแผ่นดิน โดยมิต้องให้ลูกแต่งตั้งทนายเพราะหากกระทำเช่นนั้นจะกลายเป็นว่าลูกฟ้องพ่อแม่เสียเองโดยการแต่งตั้งอัยการเป็นทนายแทนให้ (ดูคำพิพากษาศาสลฎีกาที่ 122/2512) 


พุทธทาสภิกขุ ประพันธ์กาพย์ ฉบัง 16 เรื่อง "กรรมดีดีกว่ามงคล" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะเตือนสติพุทธบริษัทผู้งมงายในเรื่องนอกรีด ว่าการนับถือเครื่องรางชองขลัง อาทิ หินทิเบต จตุคามรามเทพ ปี่เซี่ยะ พระภูมิเจ้าที่ ฯลฯ เป็นเรื่องอุทลุม (เรื่องเนรคุณต่อศาสนา) นับว่าเป็นโวหารที่เจ็บแสบไม่น้อย สอดคล้องกับ ทฤษฎี ธวนิ ของอินเดีย ศาสตราจารย์ ดร.กุสุมา รักษมณี อรรถาธิบาย เกี่ยวกับ ทฤษฎี ธวนิ ไว้ในหนังสือเรื่อง การวิเคราะห์วรรณคดีไทย ตามทฤษฎีวรรณคดีสันสกฤต หน้า 38-39 ความว่า

ธวนิ คือ พลังความหมายของคำในบทประพันธ์ วรรณคดีจะทำให้ผู้อ่านเกิดรสได้ จะต้องใช้ถ้อยคำที่มี ธวนิ นักทฤษฎีธวนิจึงถือว่า ธวนิคือวิญญาณของกวีนิพนธ์ (kavyasyamadhvanih) คำที่ใช้ในคำประพันธ์มีความหมาย 3 ระดับดังนี้

1.อภิธา ความหมายตามรูปคำเป็นความหมายพื้นฐานที่สุด
2.ลักษณา ความหมายบ่งชี้ เป็นความหมายตามความจริง
3.วยัญชนา ความหมายแนะ เป็นความหมายที่มีนัย ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งเพิ่มขึ้นจากข้อเท็จจริงด้วย ดังนั้น คำว่า อุทลุม จึง เป็น วยัญชนา ตาม หลักทฤษฎีธวนิ 

ความงมงายนี้มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ปรากฎอยู่ใน เขมาเขมสรณทีปิกคาถา ความว่า




พะหุง เว สะระณัง ยันติ ปัพพะตานิ วะนานิ จะ,
อารามะรุกขะเจตยานิ มะนุสสา ภะยะตัชชิตา
มนุษย์เป็นอันมาก เมื่อเกิดมีภัยคุกคามแล้ว ก็ถือเอาภูเขาบ้าง
ป่าไม้บ้าง อาราม และรุกขเจดีย์บ้าง เป็นสรณะ;
เนตัง โข สะระณัง เขมัง เนตัง สะระณะมุตตะมัง
เนตัง สะระณะมาคัมมะ สัพพะทุกขา ปะมุจจะติ.
นั่น มิใช่สรณะอันเกษมเลย นั่น มิใช่สรณะอันสูงสุด,
เขาอาศัยสรณะ นั่นแล้ว ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้.
โย จะ พุทธัญจะ ธัมมัญจะ สังฆัญจะ สะระณัง คะโต
จัตตาริ อะริยะสัจจานิ สัมมัปปัญญายะ ปัสสะติ
ส่วนผู้ใดถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะแล้ว,
เห็นอริยสัจจ์คือ ความจริงอันประเสริฐสี่ ด้วยปัญญาอันชอบ;
ทุกขัง ทุกขะสะมุปปาทัง ทุกขัสสะ จะ อะติกกะมัง,
อะริยัญจัฏฐังคิกัง มัคคัง ทุกขูปะสะมะคามินัง;
คือเห็นความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์เสียได้,
และหนทางมีองค์แปดอันประเสริฐ เครื่องถึงความระงับทุกข์;
เอตัง โข สะระณัง เขมัง เอตัง สะระณะมุตตะมัง
เอตัง ส ะระณะมาคัมมะ สัพพะทุกขา ปะมุจจะติ. 
นั่นแหละ เป็นสรณะอันเกษม นั่น เป็นสรณะอันสูงสุด;
เขาอาศัยสรณะ นั่นแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้.....



ฟังเสียงท่านพุทธทาส ได้ใน http://www.geocities.com/putthatat/khema.wma

เมื่อ 2550 กว่าปีที่แล้ว ประชาชนในสมัยนั้นก็ไม่ต่างจากสมัยนี้ คือนิยมที่จะกราบไหว้ ภูเขา ป่าไม้ อาราม จอมปลวก ต้นกล้วยแปลกๆ ฯลฯ พุทธองค์ท่านทักท้วงว่า นั่นไม่ใช่ ที่พึ่ง (สรณะ) อันเกษม นั่นไม่ใช่ที่พึงที่ทำให้พ้นทุกข์ได้จริง การพ้นทุกข์นั้น ต้องอาศัย หลัก อริยสัจ 4 เห็นความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์เสียได้, และดำเนินตามหลัก มรรค 8 อันประเสริฐ เป็นเครื่องถึงความระงับทุกข์ ฉะนี้จึงจะพ้นทุกข์ได้จริง พระพุทธองค์ทรงทำให้ผองชนสมัยพุทธกาลที่หลับไหล (ไสยะ) ตื่น (พุทธะ) ฟื้นขึ้น มาร่วม 2550 ปี แต่คนสมัยนี้ กลับเลือกที่จะกลับไปหลับไหล ต่อ 

เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

ที่มา http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=tao&month=03-2007&date=14&group=6&gblog=19				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟกวินทรากร
Lovings  กวินทรากร เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟกวินทรากร
Lovings  กวินทรากร เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟกวินทรากร
Lovings  กวินทรากร เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงกวินทรากร