จาก"สายลมแสงแดด"ถึง"ยุคแสวงหา" ประติมากรรมชิ้นล่าสุดในธรรมศาสตร์

แดดเช้า

บทความจากหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 04 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10342
หน้า 34
จาก"สายลมแสงแดด"ถึง"ยุคแสวงหา" ประติมากรรมชิ้นล่าสุดในธรรมศาสตร์
โดย ... โกวิท โพธิสาร
pra04040749p1.jpg
"ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย
ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย สุดท้าย ให้กระดาษ ฉันแผ่นเดียว..."
วรรคทองบทหนึ่งของวิทยากร เชียงกูล ที่แต่งขึ้นมาเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาในรั้วโดม ยังคงเป็นอมตะทั้งเรื่องของรสคำและรสความ ที่สะท้อนแง่มุมของสังคมเมื่อครั้งก่อนนั้นเป็นอย่างดี
ผ่านวันนั้น กลุ่มคนร่วมสมัยวัยเดียวกันต่างแยกย้ายไปทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองต่างๆ ในสังคม หลังจากที่เคยตั้งคำถามกับรัฐบาลฉาดใหญ่เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาว่า "รัฐให้อะไรกับสังคม" จนนำมาสู่การเรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 
มาวันนี้ สถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนให้เห็นเหตุการณ์ที่เคยเกิด เพียงแต่สิ่งที่แตกต่างคือ พลังนักศึกษาที่ยังเงียบและวางเฉย
สวนประวัติศาสตร์ : ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้ประชาธิปไตย ณ บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จึงเป็นเหมือนสิ่งเตือนใจอย่างหนึ่ง ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ในวันนี้ได้ตระหนักถึงบทบาทของนิสิตนักศึกษาต่อสังคมและประชาธิปไตย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันครบ 6 รอบนักษัตรแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เปิดตัวประติมากรรมลอยตัวขึ้นอีก 1 ชิ้น แต่สะท้อน 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต นั่นคือ ยุคสายลมแสงแดด และยุคแสวงหา 
"สุรพล นิติไกรพจน์" อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วประติมากรรมชิ้นนี้ต้องการสื่อให้เห็นถึงยุคสายลมแสงแดดเมื่อในอดีต ซึ่งเกิดขึ้นในช่วง พ.ศ.2506-2513 ครั้งนั้นเหล่านักศึกษาต่างมีชีวิตที่สุขสบาย แต่ถ้าหากมองลึกเข้าไป ก็จะพบว่าประติมากรรมได้สะท้อนสังคมนักศึกษาในปัจจุบันที่มีความสุขสบายไม่แตกต่างกัน เพียงแต่คนรุ่นนี้มีชีวิตอยู่ในโลกไซเบอร์และโลกของตัวเอง ซึ่งอาจจะแคบกว่าเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้วด้วยซ้ำ
"ประติมากรรม 2 ยุคสมัยที่เปิดขึ้นมาใหม่ ถือเป็นชิ้นงานที่มีความเกี่ยวเนื่องกับสังคมไทยในปัจจุบันไม่ใช่น้อย เมื่อก่อนเราจะนึกถึงนักกลอน นักแต่งเพลง และชีวิตที่สุขสบายริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่สมัยนี้มีชีวิตอยู่ในโลกออนไลน์ และมีเป้าหมายของการเข้ามหาวิทยาลัยเพื่ออนาคตทางการงานของตนเอง ซึ่งงานชิ้นนี้ได้สะท้อนออกมาชัดเจน และเป็นเสมือนตัวแทนของทั้ง 2 ช่วงยุคสมัยที่จะสะท้อนถึงความสัมพันธ์ของสังคมไทยในปัจจุบันไม่น้อย" อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว 
อาจารย์สุรพล ปัญญาวชิระ ศิลปินผู้สร้างกล่าวถึงผลงานตนเองว่า ประติมากรรมที่เพิ่งเปิดตัวออกไปนั้นสร้างขึ้นมาจากโลหะฝังลงบนแผ่นหิน มีลักษณะเหมือนเหรียญ 2 ด้าน ที่บอกเรื่องราวของแต่ละฝั่งแตกต่างกัน ด้านหนึ่งเปรียบถึง "ยุคสายลมแสงแดด" มีรูปชายหญิงใส่หน้ากากเข้าหากัน ต่างฝ่ายต่างหยิบยื่นความรักที่เป็นดอกไม้และคำพูดที่สละสลวยให้ แต่สมองถูกตัดออกไป เปรียบเสมือนกับคนถูกตัดต่อทางปัญญา รอบข้างมีคนเต้นลีลาศ มีนักฟุตบอลที่กำลังสนุกสนาน ก็เหมือนกับการไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงของตน ต่างหลงใหลในการเสพสุข ไม่สนใจสังคมรอบข้าง
ส่วนอีกด้านหนึ่งเปรียบถึง "ยุคแสวงหา" ใช้รูปคนกำลังแหกกรง มีชายหญิงลอยอยู่ เปรียบเหมือนคนที่รู้ตัวตนที่แท้จริง ด้านล่างมีบทกวี "ฉันจึงมาหาความหมาย" ประกอบ เพื่อบ่งบอกถึงการตั้งคำถามกับเรื่องราวรอบตัว
"ปัจจุบันก็ไม่ต่างจากอดีตมากเท่าใดนัก มีทั้งคนที่ให้ความสำคัญกับการทำงานเพื่อสังคม และคนที่หลงรื่นเริงกับความสุขทางกาย เพียงแต่ว่าอย่างหลังอาจจะมากกว่า งานประติมากรรมที่นำมาติดตั้งนั้น คงไม่สามารถที่จะบอกเรื่องราวทั้งหมดในอดีตได้ แต่หวังอย่างยิ่งว่า นี่จะเป็นเหมือนสิ่งเตือนใจให้คนรุ่นหลังหันไปศึกษาประวัติศาสตร์ในอดีตได้" อาจารย์สุรพลกล่าว
ด้านอาจารย์วิทยากร เชียงกูล ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนของยุคแสวงหา กล่าวว่า ประติมากรรมของธรรมศาสตร์จะช่วยให้คนสนใจประวัติศาสตร์ มองว่าธรรมศาสตร์มีบทบาทต่อประชาธิปไตยในอดีต 
ยุคของ "สายลมแสงแดด" กับ "ยุคแสวงหา" นั้น ก็เป็นช่วงที่อยู่ในยุคมืด แล้วนักศึกษาก็เริ่มตื่นตัวขึ้นมาสนใจว่า ชีวิตที่ถูกต้องหรือทิศทางประเทศไทยจะเป็นไปอย่างไร นั่นคือยุคก่อน 14 ตุลาฯ ก่อนที่แนวคิดต่างๆ เหล่านั้นจะเริ่มหล่อหลอมขึ้นมา จนนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ในที่สุด
"สายลมแสงแดด ก็หมายถึง ยุคนั้นนักศึกษาเขาสนใจแต่ความสนุกสนาน ความบันเทิง ทุนนิยม บริโภคนิยม ชอบเต้นรำ ฟุตบอลประเพณี ไม่สนใจประชาชนและสังคม ตอนนี้บางส่วนก็เป็น แต่อาจเปลี่ยนเป็นแสงนีออน" อาจารย์วิทยากรกล่าวเปรียบเทียบด้วยอารมณ์ขัน ก่อนจะวิพากษ์สังคมปัจจุบันอีกว่า
"นักศึกษาเป็นวัยที่ต้องแสวงหาในชีวิต ไม่ใช่เรียนไปแล้วก็ไปทำงาน แต่มีหน้าที่พิเศษ คือ ต้องให้ความสำคัญกับปัญหาชุมชน ปัญหาประเทศ เพราะนี่เป็นการศึกษาระดับสูง เมื่อได้ชื่อว่าเป็นปัญญาชนแล้วก็ต้องมองการณ์ให้ไกลกว่าเดิม และที่สำคัญต้องมองคนอื่นด้วย" อาจารย์วิทยากรกล่าว
ขณะที่นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิษย์เก่ารั้วโดมอีกคน ซึ่งเป็นตัวแทนยุคสายลมแสงแดด กล่าวว่า เห็นคนในยุคนี้แล้วไม่อยากใช้คำว่า "ยุคสายลมแสงแดด" เหมือนเดิม แต่อยากใช้คำว่า "ยุคคนไม่เอาไหน" แทน เพราะเป็นยุคแห่งความเงียบทางปัญญา ไม่สนใจรากเหง้าของสังคม หวังอย่างยิ่งว่าประติมากรรมที่นำมาติดตั้งนี้จะทำให้คนรุ่นหลังไม่เฉพาะนักศึกษาในธรรมศาสตร์เท่านั้น สนใจประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยมากขึ้น
"ประวัติศาสตร์จะมีความหมายขึ้นมา ก็ต่อเมื่อมีคนให้ความหมายของมัน ประติมากรรมไม่ใช่แค่อนุสรณ์ที่รับรู้ว่าแค่ว่าเป็นตัวแทนที่ถ่ายทอดถึงยุคก่อนการเรียกร้องประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการให้ความหมายและภาพรวมของสังคมในของยุคนั้นๆ ด้วย" นายสุชาติกล่าว
ผลงานประติมากรรม 2 ยุคนี้ ถือเป็นชิ้นที่ 6 จากทั้งหมด 9 ชิ้น ที่จะสะท้อน 12 เหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับประชาธิปไตยในอดีต ตั้งแต่การอภิวัฒน์ 2475 จนถึงปัจจุบัน ส่วนชิ้นที่เหลือจะได้มีการสร้างและนำมาติดตั้งในโอกาสต่อไป
แต่การรำลึกถึงประชาธิปไตยและการใส่ใจสังคมนั้น ประชาชนไทยไม่เฉพาะนิสิตนักศึกษา ควรจะสร้างตั้งแต่บัดนี้หรือไม่ ประติมากรรมเหล่านั้นอาจจะไม่ใช่คำตอบสำหรับหลายคน แต่เชื่อว่าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาน่าจะบอกได้ดี 
โกวิท โพธิสาร ... ผู้เขียนบทความ
............................
ตามลิงก์ไปอ่านได้ที่นี่ค่ะ .....
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01pra04040749&day=2006/07/04				
comments powered by Disqus
  • อัสสุ

    4 กรกฎาคม 2549 18:08 น. - comment id 14806

    11.gif11.gif11.gif11.gif11.gif11.gif11.gif11.gif12.gif12.gif12.gif12.gif12.gif12.gif4.gif4.gif4.gif4.gif4.gif13.gif13.gif13.gif13.gif5.gif5.gif5.gif6.gif6.gif6.gif7.gif7.gif7.gif10.gif10.gif10.gif10.gif9.gif9.gif9.gif23.gif23.gif23.gif27.gif27.gif27.gif42.gif42.gif42.gif65.gif65.gif65.gif74.gif74.gif
  • plaing_piu

    5 กรกฎาคม 2549 18:54 น. - comment id 14817

    วิญญาณเก่าเจ้าพระยาย้อนอดีต
    สืบจารีตคนกล้าทะยานสู้
    เผด็จการครองเมืองหวนเฟื่องฟู
    ท่าพระจันทร์วันนี้อยู่เพื่อผู้ใด
    
    เพื่อสามานย์ผลาญเมืองเลื่องลือชั่ว
    เพื่อส่วนตัวมัวเมาสิ่งเขลาใกล้
    เพื่อยืนหยัดสัจจะประชาธิปไตย
    ธรรมศาสตร์ยิ่งใหญ่เพื่อใครกัน
  • dark side of mind

    6 กรกฎาคม 2549 22:31 น. - comment id 14829

    เมื่อก่อนมี..จิ๊งหน่อง..นะ
    เดี๋ยวนี้ไม่รู้มีป่าว..อยู่กลางสวนหน้าตึกศิลป์
  • วิฬารี/wilar1@yahoo.com

    1 สิงหาคม 2549 13:38 น. - comment id 15056

    จิ๊งหน่องก็ยังอยู่เหมือนเดิมนะ
    แต่ตอนนี้ไม่รู้มหาลัยนี้จะก่อสร้างอะไรนักหนา
    เดี๋ยวก็ย้ายนักศึกษาทั้งหมดไปรังสิตแล้วแท้ๆ

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน