28 มกราคม 2549 08:13 น.

วรรณศิลป์ ความงามอันเลือนราง ในสังคมเดินเร็ว...

เวทย์

ในยุคที่สังคมนิยมความเร่ง รีบ รวดเร็ว แน่นอนว่าทุกอย่างรอบตัวต้องได้รับผลกระทบจากความนิยมที่ว่า และเรื่องของภาษาก็คงเป็นหนึ่งในสิ่งที่จะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงจากผลกระทบ โดยเฉพาะในสังคมแวดวงการอ่านเริ่มลุกขึ้นมาบอกว่า กวีไทยใกล้ตาย,หรือ คำถามที่ว่า ฤ จะถึงทางตันของวรรณกรรมไทย และอีกหลายๆ ปรากฏการณ์อันนำมาซึ่งคำถาม แต่อย่างไรคนในแวดวงก็ยังคงมีความเชื่อในพลังแห่งวรรณศิลป์ที่สื่อสารผ่านตัวอักษรอยู่ และเมื่อเร็วๆ นี้หนึ่งในพลังแห่งความเชื่อที่ว่า ชมรมวรรณศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพิ่งจัดงาน "วรรณกรรมสู่แผ่นดิน วรรณศิลป์สู่สังคม"ไป โดยในงานมีการมอบรางวัลเกียรตินิยมวรรณศิลป์ ครั้งที่สองและมีผู้ชนะเลิศประเภทหนังสือทำมือ ในหัวข้อ "เสียงเล่าจากคนชายขอบ" คือ นายสัญญา พานิชยเวช กับผลงาน "เพลงดอกไม้" และในประเภทเรื่องสั้น หัวข้อ "เราจะผ่านเรื่องร้ายไปด้วยกัน" ผู้ชนะคือ นายณรรธราวุธ เมืองสุข กับผลงาน "ถนนสายนี้ กลับบ้าน" นอกจากการมอบรางวัลแล้วยังมีการจัดเสวนาในหัวข้อ "คุยกับนักเขียน วรรณศิลป์สู่สังคม" โดยมีสองวิทยากรผู้หลงรักวรรณศิลป์อย่าง ไพวรินทร์ ขาวงาม กวีซีไรต์ และ จักรภพ เพ็ญแข ร่วมแสดงความคิดเห็น 

โดยก่อนอื่น จักรภพ ขอนิยามสิ่งที่เรียกว่าวรรณศิลป์ให้เข้าใจตรงกันก่อนว่าเป็นสิ่งที่แสดงออกมาในรูปของตัวอักษร แล้วสามารถทำให้หัวใจอ่อนไหวละมุนละไมรู้สึกไปกับสิ่งนั้นได้ และสมควรอย่างยิ่งจะให้วรรณศิลป์นี้คงอยู่เพื่อกล่อมเกลาสังคมต่อไป 

และแน่นอนว่า หากจะให้คงอยู่ต้องมีการถ่ายทอดสู่สังคมวงกว้าง แม้ปัจจุบันความเป็นไปในสังคมจะต่างจากอดีต 

"เรื่องของวรรณกรรมก็มีทั้งยุคเข้มข้น สังคมการเมือง ยุคความรัก สายลมแสงแดด และต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งทั้งหมดของศิลปะการประพันธ์อันเป็นสุนทรียะนั้นมิใช้มีไว้เพื่อเสพคนเดียว หรือในกลุ่ม แต่ระดับหนึ่งมันเป็นเครื่องมือรับใช้จิตสำนึกทางสังคมการเมือง หรือจิตสำนึกสาธารณะได้" 

"เมื่อเราได้อ่านหนังสือดีๆ เราอาจเข้าใจชีวิตมากขึ้น ยุคหนึ่งเราอาจจะอยากเปลี่ยนสิ่งที่เกิดขึ้นข้างนอก แต่เมื่อเราอ่านหนังสือเราจะรู้สึกว่าสิ่งแรกที่ต้องปฏิวัติ คือข้างในตัวเอง ถ้าเราได้สร้างสันติภาพในใจ มีสวนดอกไม้ในใจตัวเองแล้วค่อยขยายไปสู่เพื่อนบ้าน ไปสู่คนอื่นในมิติที่กว้างออกไป" ไพวรินทร์กล่าวอย่างเชื่อมั่น 

ซึ่งจักรภพ เองก็เชื่อเช่นนั้น โดยเฉพาะวรรณศิลป์จากบทประพันธ์ที่ร้อยเรียงด้วยฉันทลักษณ์แล้วเขายิ่งมั่นใจว่ามันมีพลัง 

"เราลองสังเกตภาษาให้ดีว่ามันมีพลังแค่ไหน อย่างผมประเภทชอบร้อยกรองฉันทลักษณ์ ชอบความลงตัว ความคล้องจอง ในแบบของมัน รู้สึกชอบภาษา ก่อนที่จะชอบความหมายด้วยซ้ำ เพราะบางทีรู้สึกว่าจังหวะของภาษานั้นยิ่งส่งให้พลังในความหมายในคำแจ่มชัด" 

มาถึงตรงนี้ ไพวรินทร์เองเห็นด้วยอย่างยิ่งถึงพลังภาษา และท่องทำนอง ที่เขาเชื่อว่าต้องสื่อด้วยใจ 

"ผมเคยไปงานกวีนานาชาติ แล้วมาเลเซียก็อ่านบทกวีในภาษาถิ่นของเขาซึ่งเราฟังไม่รู้เรื่อง แต่ขนลุกในพลังของมัน แสดงว่าคนที่เขาเปล่งคำออกมาไม่ใช่อยู่ๆ จะเปล่งออกมาได้ต้นกำเนิดมันคือหัวใจ กวีหรือศิลปะอะไรก็แล้วแต่ที่สุดแล้วมันก็เริ่มจากหัวใจ ผ่านรูปแบบ แล้วไปสู่สาธารณชน ผมเชื่อว่าพลังศิลปะมีจริง แต่บางครั้งในสังคมวุ่นวาย สิ่งเหล่านี้ถูกลืมไป" ไพวรินทร์กล่าว 

และบอกด้วยความเชื่ออีกว่าชีวิตทุกชีวิตยังคงต้องการ การกล่อมเกลาจิตใจ เยียวยาอารมณ์ จากวรรณศิลป์ 

"คนไม่จำเป็นต้องกระด้างตลอดเวลา อย่างทหารบางทีเครียดกับระเบียบวินัยมา อาจต้องน้ำตาไหลเมื่อนั่งฟังเพลงเงียบๆ คนเดียวนั่นคือการกล่อมเกลา ผมคิดว่าศิลปะไม่จำเป็นต้องอยู่เฉพาะกับหมู่ศิลปิน หรือกวีเองก็ไม่จำเป็นจะต้องอยู่กับกวี แต่ควรอยู่กับมนุษย์ทุกคน" 

แต่หากในยุคนี้ที่วรรณศิลป์ต้นกำเนิดอย่างกลอนจะถูกมองว่าเชยนั้น จักรภพ บอกว่าไม่ทั้งหมด แต่อยู่ที่ที่ทางที่เหมาะสม 

"ที่ที่ไปอ่านกลอน หรือเห็นกลอนติดไว้ แล้วรู้สึกว่าเชยนั้น มักเป็นที่ๆ กระด้าง อย่างถ้าเราเห็นกลอนติดแถวสีลมแน่นอนคงเชย แต่ถ้าติดในโรงเรียน โรงพยาบาล ต่างๆ กลับไม่ให้ความรู้สึกนั้น เพราะฉะนั้นเราคงพูดได้ว่าจริงๆ แล้ววรรณศิลป์เป็นสิ่งที่ลดทอนความกระด้างของสภาพแวดล้อม" จักรภพ สรุป 

และที่สุดแล้วหากถามถึงอนาคตวรรณศิลป์ไทย ทั้งจักรภพ และไพวรินท์ เองยังแอบยิ้มแบบมีความหวังว่าจริงๆ แล้วมันซึบซับอยู่ในจิตใจของทุกคน เพียงแต่จะเสพเข้าไปด้วยวิธีใดมากกว่า จะรับมา หรือเป็นผู้สร้าง ซึ่ง ณ วันนี้ต้นกล้าความคิดก็ยังพร้อมจะเติบโตให้เห็นอยู่ 
................................................................... 

คัดลอกจากมติชน ๒๘ กพ ๒๕๔๙				
22 มกราคม 2549 09:28 น.

ความจริงในคำคม

เวทย์

ความจริงในคำคม

โดย มุกหอม วงษ์เทศ
..............................................................................................................



"ข้าพเจ้าสามารถหักห้ามใจในทุกสิ่ง ยกเว้นความเย้ายวนใจ" 

"Paradox" มักจะเป็นคำที่ใช้ทับศัพท์ แต่ก็มีคำแปลอันเยี่ยมยอดว่า "ความย้อนแย้ง" ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการคิดยุ่งเหยิงว่า อะไร "ย้อน" มา "แย้ง" กับอะไร ที่แน่ๆ นั้น Paradox ไม่ใช่ถ้อยคำที่รื่นหูหรือลื่นปาก เพราะโดยรากศัพท์แล้ว Paradox แปลว่า สิ่งที่ไปไกลกว่าความเชื่อปกติของคนส่วนใหญ่ 

"ชีวิตมีความสำคัญเกินกว่าที่จะไปพูดถึงมันอย่างจริงจัง" 

"Aphorism" เป็นคำที่นิยามและแปลยาก ถ้า "Maxim" แปลกันว่า คติพจน์ และ "Axiom" แปลกันว่า สัจพจน์ เราก็อาจแปล "Aphorism" ทื่อๆ ได้ว่า "คำคม" (ซึ่งรวมถึงพวกสุภาษิต คำพังเพย คำจำกัดความด้วย) เนื่องจาก Aphorism เป็นคำกล่าวสั้นกระชับที่ "กลั่น" มาจากประสบการณ์ มุมมอง และความคิดต่อสรรพสิ่ง Aphorism จึงมักจะแสดงความหลักแหลมและปฏิภาณของผู้กล่าว

ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าแอบกังขาวาทะบางวาทะอยู่เป็นประจำ การปะทะกับวาทะไม่ใช่การวิวาทหรือวิวาทะ เนื่องจากข้าพเจ้าไม่ประสงค์ความอึกทึก และปรารถนาจะกังขาในความสงัด

ความน่าสงสัยในคำคมบางคำคือ "ความจริง" ในคำคมนั้นๆ ด้วยธรรมชาติและเจตนาที่จะให้ "คม" นั่นเองที่ทำให้เนื้อหาของ Aphorism ดูจะ "จริง" ไปด้วย ส่วนใหญ่แล้ว การเป็นที่จับใจและติดหูของ Aphorism ก็มักจะอยู่ที่ความบรรเจิดและงามสง่าของถ้อยคำ มากกว่าค่าความจริงของข้อความ 

Eco แยกความแตกต่างระหว่าง Paradox กับ Aphorism ไว้ว่า ไม่จำเป็นว่า Aphorism จะดูเฉียบแหลมเสมอไป ทั้งยังไม่ได้มุ่งหมายที่จะเสนออะไรที่ขัดแย้งกับความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ด้วย Aphorism จึงเป็นข้อความที่ต้องการแสดงความลึกซึ้งและความกระจ่างแจ้งในสิ่งที่เป็นที่เข้าใจรับรู้อย่างผิวเผินกันอยู่แล้ว พูดอีกอย่างได้ว่า Aphorism แสดงความคิดเห็นที่ธรรมดาๆ ด้วยลีลาอันบรรเจิด โดยไม่ได้ทำให้เราเห็นอะไรเพิ่มเติมจากที่เห็นๆ อยู่แล้ว เช่น 

"แอลกอฮอล์ คือ ของเหลวที่ฆ่าคนเป็นและรักษาคนตาย"

"อย่ามองโลกอย่างที่มันเป็น แต่มองอย่างที่มันควรจะเป็น"

เมื่อใดที่ Aphorism ขัดแย้งกับความเห็นส่วนใหญ่อย่างรุนแรงจนกระทั่งดูราวกับว่ามันจะกล่าวความเท็จ และต่อเมื่อได้สกัดรูปแบบที่ดูเกินจริงของข้อความออกไปจนพอจะมองเห็นความจริงบางอย่างแล้วนั่นแหละ ความเป็น Paradox จะเผยร่างพรางกายออกมา 

แล้วเราจะทดสอบความจริง (truth) ของ Aphorism ได้ยังไงล่ะ? Eco เสนอให้เราลองกลับ (reverse) ประโยคดูว่า Aphorism ที่ "คมๆ" นั้น หากถูกกลับความหมายแล้วจะยังฟัง "คม" และ "จริง" เหมือนเดิมไหม ถ้าปรากฏว่าความหมายที่กลับแล้วยังคงจริงอยู่ ก็แสดงว่าความจริงของคำคมนั้น "จริง" เพียงบางส่วนเท่านั้น (พูดแบบนี้ก็ถูก พูดกลับตาลปัตรก็ถูกอีกเหมือนกัน) Aphorism ต่อไปนี้จึงน่าเคลือบแคลง เพราะถึงจะกลับหัวกลับหางข้อความตั้งต้นแล้ว มันก็เป็นความจริงได้พอๆ กัน 

"ใครๆ ก็สร้างประวัติศาสตร์ได้ เฉพาะคนที่ยิ่งใหญ่เท่านั้นที่สามารถเขียนประวัติศาสตร์" เ "ใครๆ ก็เขียนประวัติศาสตร์ได้ เฉพาะคนที่ยิ่งใหญ่เท่านั้นที่สามารถสร้างประวัติศาสตร์"

"มีผู้หญิงบางคนที่ไม่สวย แต่มีไอแห่งความงาม" เ "มีผู้หญิงบางคนที่สวย แต่ไม่มีไอแห่งความงาม"

"ใครที่เห็นความแตกต่างระหว่างจิตวิญญาณกับร่างกาย คนคนนั้นไม่มีทั้งสองอย่าง" เ "ใครที่ไม่เห็นความแตกต่างระหว่างจิตวิญญาณกับร่างกาย คนคนนั้นไม่มีทั้งสองอย่าง"

"ยิ่งเราศึกษาศิลปะมากขึ้นเท่าใด เราก็ยิ่งใส่ใจธรรมชาติน้อยลงเท่านั้น" เ "ยิ่งเราศึกษาธรรมชาติมากขึ้นเท่าใด เราก็ยิ่งใส่ใจศิลปะน้อยลงเท่านั้น"

"จินตนาการสำคัญกว่าความรู้" เ "ความรู้สำคัญกว่าจินตนาการ"

"ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น" เ "ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่อื่น"

Aphorism ที่เมื่อกลับความหมายให้ตรงกันข้ามแล้วยังคงความจริงอยู่ได้ ก็ย่อมแปลว่ามันไม่ได้ใส่ใจความจริงอย่างแท้จริง การที่คำคมอย่างนี้ดูเหมือนจะนำเสนอความจริง เป็นเพราะลีลาภาษาที่ดูสวยงามเฉลียวฉลาดเคลือบเอาไว้ต่างหาก

แม้จะดูคลับคล้ายคลับคลาในบางครา Paradox กลับไม่ได้มีอุปนิสัยใจคออย่าง Aphorism ความแตกต่างอยู่ตรงที่ว่าเราไม่สามารถกลับประโยคที่เป็น Paradox เพื่อที่จะทำให้ประโยคนั้นจริงได้ เพราะ Paradox เป็นการพลิกกลับวิธีคิดที่เป็นที่ยอมรับในสังคมแต่แรกอย่างแท้จริงอยู่แล้ว Paradox จึงเป็นวิถีทางตรรกะอันยอกย้อนไปสู่ความจริง ถ้าประโยคแบบ Aphorism ทำให้เรารู้สึกคล้อยตามและแทงใจในวูบแรกที่อ่าน ประโยคแบบ Paradox กลับจะทำให้เรารู้สึกสะดุดชะงัก มึนงง และยากจะเชื่อในทันทีจนต้องคิดกลับไปกลับมาอีกหลายๆ ครั้ง

"เพื่อที่จะเป็นผู้หญิงสมบูรณ์แบบ ทั้งหมดที่เธอต้องการก็คือข้อบกพร่องสักอย่างหนึ่ง"

"การลงทัณฑ์มีไว้ขู่พวกที่ไม่ต้องการทำบาป"

"ฉันฝันถึงความเป็นจริง ช่างโล่งอกเสียนี่กระไรที่ได้ตื่นจากฝัน!"

"แม้แต่ในขณะที่เขากำลังอยู่ในความเงียบ ก็ยังมีความผิดพลาดทางไวยากรณ์"

"เฉพาะพวกที่ตื้นเขินเท่านั้นที่รู้จักตัวเอง"

"ความทึ่มเป็นช่วงวัยเปลี่ยนผ่านไปสู่ความซีเรียส"

ถ้าคำคมไม่ได้คมจริงๆ มันจะยังเป็นคำคมอยู่หรือไม่? วัฒนธรรมของเรารู้จัก-ไม่ต้องทะเยอทะยานไปถึงสันทัด-การตรวจสอบคำคมกันบ้างหรือเปล่า? นอกจากสุภาษิตคำพังเพยเก่าๆ แล้ว เรามีปัญญาและปฏิภาณในการสร้างคำคมใหม่ๆ กันบ้างไหม? หรือว่าส่วนใหญ่ที่พอจะมีกลับมักจะเป็นคำทื่อๆ ที่แสดงหรือตอกย้ำวิธีคิดดาษๆ ที่เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ทั้งที่คิดในกรอบและคิดนอกกรอบอยู่แล้ว? หรือถ้าเข้าข่ายเป็นคำคมก็อาจจะคมแบบเฝือๆ หรือเป็นประเภท reverse ได้! 

บางทีวิถีแห่ง Paradox ที่ลึกล้ำที่สุดวิถีหนึ่งคือวิถีแห่งเต๋า

"The words of truths are always paradoxical." - Lao Tzu

บางที Paradox ก็เป็นสิ่งสูงส่งจนเจ็บแสบ

"Take away paradox from the thinker and you have the professor." -Soren Kierkegaard

คำที่คมไม่จริง ต้องเพ่งนานๆ จึงจะเห็น แต่การจะเห็น Paradox ได้ ต้องหลับตา 

ข้าพเจ้าไม่คิดว่าคำที่เพิ่งกล่าวไปนี้ "คม" แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้มันไม่ "จริง"				
1 มกราคม 2549 09:18 น.

"เคานต์ดาวน์"สวัสดีแฮปปี้นิวเยียร์

เวทย์

"เคานต์ดาวน์"สวัสดีแฮปปี้นิวเยียร์

โดย : ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ




ได้เวลา "นับถอยหลัง" สิบ เก้า แปด เจ็ด หก ห้า สี่ สาม สอง หนึ่งศูนย์เสียงไชโยต้อนรับ "ปีใหม่มนุษย์" กระหึ่มก้อง กังวานไกลไปทั่วจักรวาล อันเป็นเทศะที่ไร้ขอบเขต ไปถึงดาวบางดวงที่อยู่ไกล หลายล้านปีแสง ใช้เวลาเดินทางหลายล้านล้านปีเสียง

เวลาเดินทางมาหาเรา หรือเราเดินทางไปหามัน ตั้งแต่เราเกิดจนเราตาย ชีวิตเดินทางไปหาความตาย หรือความตายเดินทางมาหาชีวิต คงไม่มีใครคิดถึงความตายขณะกำลัง "เคานต์ดาวน์" ต้อนรับปีใหม่

คำว่า "เกิด" และ "ตาย" คือความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง คำพระว่า "อนิจจัง" เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป วนเวียนอยู่เช่นนี้

เป็นเช่นนั้นเองคำพระว่า "ตถาตา" ทุกสรรพสิ่งดำเนินไปตามเหตุและปัจจัย ถ้า "ตั้งอยู่" คือปัจจุบัน การ "เกิด" ก็คืออดีต "ดับไป" ก็คืออนาคต แต่ "อนิจจัง" คือความเคลื่อนไหวเป็น "วัฏฏะ" เป็นวงกลม ไม่มีต้น ไม่มีปลาย

มนุษย์กำหนด "เวลา" ตามเหลี่ยมเล่ห์แห่ง "เทศะ" โลกหมุนรอบตัวเองทำองศากับตะวัน ซึ่งมีแสงสว่างในตัวเอง ทำให้เกิดกลางวันกลางคืน มืดและสว่าง

ถ้าโลกใบใหญ่กว่านี้สักครึ่งเท่า หนึ่งวันของโลกย่อมยาวนานกว่า 24 ชั่วโมง หนึ่งเดือน หนึ่งปี ก็ย่อมยาวนานออกไปตาม "ตัวเลข" ที่มนุษย์กำหนดนับ

หากไม่มีเกณฑ์กำหนดนับ มนุษย์คงไม่สามารถบอกได้ถึงความรู้สึกที่ตนมีต่อ "เวลา"

เราเคยได้ยินการ "นับถอยหลัง" ในหลายครั้ง หลายกาละและเทศะ

การปล่อยจรวดส่งยานอวกาศสู่เวิ้งจักรวาล ก็มีการ "เคานต์ดาวน์"

การจุดชนวนระเบิดทำลายล้างก็มีการ "เคานต์ดาวน์"

วินาทีที่นักบินคนหนึ่งจะกดปุ่มทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มฮิโรชิมา ก็มีการ "เคานต์ดาวน์" จากภาคพื้นดิน

เด็กๆ เล่นซ่อนหาไม่นับถอยหลัง แต่นับไปข้างหน้า หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หก เจ็ด แปด เก้า สิบ

กรรมการมวยบนเวทีก็นับไปข้างหน้า นับช้าๆ ด้วยจังหวะสม่ำเสมอ ให้เวลาแก่ผู้พลาดพลั้งที่จะลุกขึ้นสู้อีกครั้ง

บางครั้ง การนับหนึ่งถึงสิบในใจของใครคนหนึ่ง คือการตั้งสติข่มใจให้อดทน อดกลั้นต่ออารมณ์ตน ให้โอกาสตนเองพบหนทางที่ถูกต้อง

การนับหนึ่งถึงสิบ ด้านหนึ่งคือการแสดงพลังอำนาจของ "เวลา" ที่ครอบงำมนุษย์ไว้ อีกด้านหนึ่งคือพลังของมนุษย์ที่จะต่อต้านขัดขืน

31 ธันวาคม-1 มกราคม เวลาเที่ยงคืนตรง คือรอยต่อของปีเก่าและปีใหม่

เราจ้องมองเข็มนาฬิกาอย่างใจจดใจจ่อ ไม่เห็นความเคลื่อนไหวของเข็มชั่วโมง เห็นเพียงอาการเคลื่อนไหวของเข็มวินาที ขณะที่เข็มนาทีรอคอยอยู่อย่างนิ่งงัน กระทั่งเข็มวินาทีเคลื่อนมาถึง เข็มนาทีจึงขยับหนึ่งก้าว พร้อมเสียงสัญญาณบอกเวลาเที่ยงคืนตรง ตามด้วยเสียงไชโยโห่ร้อง ขณะที่เข็มวินาทีเคลื่อนที่ต่อไปโดยไม่มีใครสนใจมองมัน

ทุกสรรพสิ่งล้วนเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งแม้แต่ขณะเรานั่งอยู่นิ่งๆ หัวใจของเราก็ยังเต้นตึกๆ บีบตัวและคลายตัวตามจังหวะที่อยู่เหนือความควบคุมของเรา กระแสเลือดในกายคงไหลเวียน ลมหายใจเคลื่อนไหว เข้า-ออก เข้า-ออก

เหลียวมองไปรอบกาย มนุษย์ สัตว์ และพืชทั้งหลายต่างเคลื่อนไหวไปตามกิริยาและอิริยาบถทางกาย ยานยนต์ที่มนุษย์สร้างเคลื่อนที่ไปตามประสงค์ของมนุษย์ มีความเปลี่ยนแปลง เคลื่อนไหวที่เราเห็นได้ด้วยตา ความรวดเร็วจนเราแทบมองไม่ทัน อย่างเชื่องช้าจนเราแทบสังเกตไม่เห็น

เราตื่นใจกับซากฟอสซิลสัตว์ดึกดำบรรพ์อายุนับล้านล้านปี ตื่นใจกับโครงกระดูกของลิงบรรพบุรุษมนุษย์ เด็กๆ ตื่นเต้นที่เห็นเมฆก้อนใหญ่เคลื่อนไหวคลี่คลายเปลี่ยนรูปร่างเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ในชั่วขณะแห่งจินตนาการ หญิงสาวคนหนึ่งปลื้มปีติล้นเหลือทุกขณะจิตต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ตน

ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสสาร ปฏิกิริยา ปฏิสัมพันธ์ เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน

ส้มผลนั้นเริ่มบวมช้ำ, เนื้อชิ้นนั้นเริ่มเน่าและโชยกลิ่น, ดอกไม้ดอกนั้นโปรยกลีบแห้งร่วงโรยลง แพร่พันธุ์และขยับขยายเนื้อที่อยู่ในร่างกายของใครคนหนึ่ง, ความคิดชั่วร้ายกำลังเคลื่อนไหวอยู่ในกะโหลกศีรษะใบหนึ่ง

โลภะ โทสะ โมหะ คือการเคลื่อนไหวของมโนกรรม กำลังเคลื่อนขบวนออกทางวจีกรรม และกายกรรม มีความเคลื่อนไหวอยู่ภายนอก มีความเคลื่อนไหวอยู่ภายใน ความเคลื่อนไหวที่มนุษย์ควบคุมไม่ได้ และที่มนุษย์ควบคุมได้

มนุษย์มองความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงด้วยสายตาแห่งสติปัญญา และด้วยจิตใจที่นิ่งแน่ว เพื่อเห็นความเคลื่อนไหวภายนอกและภายในมโนกรรมของตนเองอย่างละเอียดลึกซึ้ง

ยังมีความเคลื่อนไหวของสายลมสายหนึ่งซึ่งคนเรามักละเลย คือลมหายใจเข้า-ออกของเราเอง

ขณะที่ทุกสรรพสิ่งล้วนเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง เป็นเหตุซึ่งก่อผล และเป็นผลซึ่งก่อเหตุ ต่อเนื่องไปไม่รู้จบ

การเกิด เจ็บป่วย เจ็บปวด ความตาย การสืบพันธุ์ ความรัก ความเกลียด สรรเสริญ นินทา การกิน การอยู่ การบ้าน การเมือง เศรษฐกิจ เคียดแค้น เข่นฆ่า อคติ ฉันทาคติ ความรู้สึก นึก คิด

บางทีการเฝ้ามองความเคลื่อนไหวของลมหายใจตน อาจเป็นทางออกสู่แห่งแสงสว่าง

"เคานต์ดาวน์" ปีใหม่ ขอให้ทุกท่านมีความสุข สงบ สันติ เทอญ

สิบ เก้า แปด เจ็ด หก ห้า สี่ สาม สอง หนึ่งศูนย์ศูนย์ คือความว่างจากอัตตา นำมาซึ่งความสุข สวย สันติ ของมนุษยชาติทั้งมวล				
29 ธันวาคม 2548 16:31 น.

เก็บมาฝาก

เวทย์

เกณฑ์การพิจารณางานร้อยกรองว่าดี หรือไม่ดี 

๑.บทกลอนที่ดีควรถูกต้องตามฉันทลักษณ์ของร้อยกรองประเภทนั้นๆ แต่ถ้าคิดรูปแบบขึ้นมาเองก็อยู่นอกเกณฑ์นี้ 

๒.ใจความ หรือ เนื้อหา -ของเรื่อง ต้องดีเด่น ชัดเจน มีจุดหมายสร้างสรรค์ดีงาม แม้ว่าสิ่งที่กล่าวนั้นอาจเป็นเรื่องของความสกปรกโสมม เลวทราม น่ารังเกียจ ฯลฯ 

แต่การแสดงออกต้องมีจุดมุ่งหมายที่จะชี้ให้เกิดความคิดในเชิงสร้างสรรค์ในทางดีงาม หรือขจัดสิ่งไม่ดีไม่งามนั้นเสีย 

๓.ถ้อยคำ -ต้องดีเด่น การเลือกใช้ถ้อยคำให้ตรงกับสภาวะบรรยากาศ อารมณ์ของเรื่องที่กล่าวถึง ต้องเป็นไปอย่างประณีต คำทุกคำมีความหมายเหมาะกับเนื้อหาตรงนั้น เช่น คำอย่างไรจะเหมาะ ที่จะใช้กับการบรรยาย การพรรณนา การสาธก หรือใช้ตรงกับอารมณ์ อ่อนหวาน งด 
งาม โกรธเกลียด กระแทกกระทั้นประชดประชัน อาลัยอาวรณ์ สะเอนใจ ซาบซึ้ง สร้างภาพพจน์ ฯลฯ 
การใช้ถ้อยคำถ้าไม่ถูกจังหวะจะโคน แล้วก็เหมือนเอาแก้วกองลงไปเป็น กองๆ มิใช่การ ร้อยกรอง อย่างที่เรียกกัน 

๔.สำนวนโวหาร - ต้องลึกซึ้งกินใจ การเขียนอะไรง่ายๆ อย่างที่ใครๆ ก็เขียนก็พูดนั้น จะทำให้บทกลอน (หรือร้อยแก้ว) ไม่เป็นที่ ทึ่ง ชวนประทับใจใครๆ แต่อย่างใด ตรงข้าม ผู้ที่มีสำนวนโวหารงดงามลึกซึ้งจะสร้างความประทับใจแก่ผู้อ่านได้มาก 

๕.อารมณ์สะเทือนใจ-สิ่งนี้สร้างกันยาก แต่กวีมีสมองเห็นจุดลึกๆ ที่คนทั่วไปมองไม่เห็น ถ้าสามารถหยิบเอาจุดที่อยู่ลึกๆ นั้นออกมาหาคำดีๆ ประจงเรียบร้อยคำงามๆ นั้น ลงไปในบทกลอนได้ บทกวีบทนั้นก็จะประทับใจ คนอ่านเกิดอารมณ์สะเทือนใจไม่ว่าจะเป็นอารมณ์รัก หวาน ทุกข์ ขม เศร้า สุข น้อยใจ เสียใจ ปลาบปลื้มใจ ลิงโลด อหังการ ฯลฯ อารมณ์สะเทือนใจ คือไม้ตายอันยากที่ใครๆ จะทำได้เท่าเทียมกัน คนมีฝีมือเท่านั้นที่จะมองเห็นและประจุลงไปในบทกลอนได้พอเหมาะ พอดีโดยเฉพาะในตอนท้ายๆ ของบทประพันธ์ที่กระชากใจผู้อ่านให้หวิวตามด้วยความรู้สึก ลึกๆ 

ลองประเมินคุณค่าโคลงกลอนด้วยหลักในใจประการนี้ดู. 


(คัดจาก คำนำ ดอกไม้ใกล้หมอน ของ อ.นภาลัย ฤกษ์ชนะ)				
22 พฤศจิกายน 2548 08:10 น.

(มัก)ง่ายดี

เวทย์

เหตุผลพระราชกฤษฎีกา ยุบเลิกกฟผ.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดย คณิน บุญสุวรรณ

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2548 ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาอันส่งผลกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประโยชน์ได้เสียของประชาชนอย่างลึกซึ้ง รวม 2 ฉบับ

พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ ได้แก่ พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2548

และพระราชกฤษฎีกากำหนด อำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท กฟผ.จำกัด(มหาชน)

พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าว มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ วันที่ 23 มิถุนายน 2548 ดังนั้น พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ จึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2548 เป็นต้นมา

พูดง่ายๆ คือ ประกาศปุ๊บก็ใช้ปั๊บเลยทีเดียว

ผลบังคับแบบเฉียบพลันทันใด ของพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายุบเลิกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2548 คือ พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวม 5 ฉบับ เป็นอันยกเลิก นับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2548 เป็นต้นมา

พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 5 ฉบับ ซึ่ง ณ วันนี้ ได้กลายเป็น "อดีต" ไปแล้วโดยสมบูรณ์ ได้แก่ พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2521 พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2527 พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2530 และพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(ฉบับที่ 5) พ.ศ.2535

ด้วยเหตุนี้ ใครก็ตามที่ยังพูดปาวๆ แบบไม่อายฟ้าดินว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยังคงฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจเพราะกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่อยู่แล้วละก้อ ใครคนนั้นถือว่า "พูดความจริงครึ่งเดียว" แต่ "พูดโกหกเต็มคำ"

ที่ว่าพูดความจริงครึ่งเดียว คือ ขณะนี้กระทรวงการคลังอาจจะถือหุ้นส่วนใหญ่อยู่ แต่ความจริงอีกครึ่งหนึ่งที่ไม่ยอมพูด คือ "ไม่ช้าหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่ก็ต้องขายหมด"

ส่วนที่ว่า "โกหกเต็มคำ" นั้น คือ ที่บอกว่าบริษัท กฟผ.จำกัด(มหาชน) ยังเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ เพราะในความเป็นจริงนั้น การตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2548 นั้น ถือเป็น "นิติฆาตกรรม" ซึ่งลบล้างและยุติความเป็น "รัฐวิสาหกิจ" ในฐานะเป็น "หน่วยงานของรัฐ" ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซึ่งถือกำเนิดและดำเนินกิจการมาตลอด 37 ปี ไปโดยสิ้นเชิงแล้ว

การที่องค์กรภาคประชาชนรวมตัวกันต่อสู้ โดยการฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้สั่งเพิกถอนพระราชกฤษฎีกายุบเลิกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และนำไปกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น

จุดสำคัญ อันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางประวัติศาสตร์และการต่อสู้ของภาคประชาชนในครั้งนี้อยู่ที่บทบัญญัติมาตรา 11(2) ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ที่บัญญัติว่า "ศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา หรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี"

เพราะนี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของประเทศไทย รวมทั้งระบบกฎหมายไทย ที่ราษฎรธรรมดาๆ สามารถฟ้องร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเป็นกฎหมายชนิดหนึ่งที่ออกมาใช้บังคับโดยอาศัยเพียงแค่อำนาจของคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นนักการเมืองกลุ่มหนึ่งได้ 

เพราะก่อนหน้านั้น "ไม่ว่าผู้ใดจะได้รับความเดือดร้อนแค่ไหน จากผลการบังคับใช้ของพระราชกฤษฎีกา" ก็ตาม ก็ไม่มีสิทธิที่จะไปร้องขอให้ศาลหรือองค์กรใดๆ ยกเลิก "กฎ" นั้นได้

อย่างดีก็เพียงแค่ไปฟ้องศาลยุติธรรมเพื่อขอความคุ้มครองเป็นรายๆ ไปเท่านั้น แต่ถึงกระนั้น ศาลยุติธรรมก็ไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอน "กฎ" หรือ "พระราชกฤษฎีกา" นั้นได้

โดยปกติ การออกพระราชกฤษฎีกาก็จะเป็นการออกมาเพื่อรองรับพระราชบัญญัติ ซึ่งโดยศักดิ์ทางกฎหมายแล้ว ต้องถือว่าพระราชกฤษฎีกามีศักดิ์ต่ำกว่าพระราชบัญญัติ

เหตุผลก็คือ พระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายที่ออกโดยคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร แต่พระราชบัญญัติเป็นกฎหมายที่ออกโดย "คำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา" ซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ

และด้วยเหตุนี้ ถ้ารัฐบาลใดเห็นว่าสมควรยกเลิก หรือแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติฉบับใด สิ่งที่จะต้องทำ และทำจนเป็นประเพณีในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยมาตลอดทุกยุคทุกสมัย ก็คือ การเสนอเป็น "ร่างพระราชบัญญัติ" เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

จะมียกเว้นก็แต่เฉพาะในยุคเผด็จการทหารเท่านั้น ที่ออกประกาศคณะปฏิวัติเพื่อยกเลิกพระราชบัญญัติกันเป็นว่าเล่น

แต่ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอยู่ในยุคปฏิรูปการเมืองและอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เองก็เคยพูดว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในโลก กลับมาทุบโต๊ะออกพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชบัญญัติเสียเอง

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เป็นเสมือนฟ้าฟาดลงมากลางใจของประชาชนทุกหมู่เหล่า คือ การออกพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวดเดียว 5 ฉบับ ภายในวันเดียว คือ ในวันที่ 24 มิถุนายน 2548 และพร้อมกันนั้น ก็ทำการแปลงสมบัติชาติซึ่งอยู่คู่คนไทย และคนไทยเป็นเจ้าของมาตลอด 37 ปีเต็ม ให้กลายไปเป็นทรัพย์สินของเอกชนและนายทุนชาวต่างชาติอย่างเป็นการถาวร

และนี่คือเหตุผลหลักที่ราษฎรธรรมดาๆ ที่รักชาติรักแผ่นดินและหวงแหนสมบัติชาติ จะสามารถหยิบยกขึ้นมาอ้างในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายุบเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2548 และพระราชกฤษฎีกา กำหนด อำนาจ สิทธิ และประโยชน์ ของบริษัท กฟผ.จำกัด(มหาชน) ทั้งนี้ เพื่อให้ กฟผ.กลับมาเป็นสมบัติของชาติอย่างเดิม

ข้อกล่าวหา ก็คือ เป็นพระราชกฤษฎีกาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อประเพณีอันดีงามของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และที่สำคัญ เป็นการทำลายผลประโยชน์ของชาติและของประชาชน

พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2548 นั้น สมควรจะถูกเพิกถอน

เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร ออกกฎหมายเพื่อยกเลิกพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ได้รับคำแนะนำและยินยอมจากรัฐสภาตามกระบวนการนิติบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ โดยที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 92 มาตรา 221 และมาตรา 230 วรรคสอง และยังขัดต่อประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอีกด้วย

พระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท กฟผ.จำกัด(มหาชน) พ.ศ.2548 นั้น สมควรจะถูกเพิกถอน เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหารทำการถ่ายโอนหรือแปลงสภาพ "ทรัพย์สินและกิจการของรัฐ" หรือที่เรียกกันว่า "สมบัติชาติ" ซึ่งเป็นของคนไทยทุกคน ไปเป็นทรัพย์สินและกิจการของเอกชน ซึ่งเป็น "สมบัติส่วนตัว" ของผู้ถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งในจำนวนผู้ถือหุ้นดังกล่าวนั้น มีชาวต่างชาติรวมอยู่ด้วย

ในขณะที่ยังบังคับให้ประชาชนทั้ปงระเทศต้องแบกรับภาระ "หนี้" ของบริษัท กฟผ.จำกัด(มหาชน) นั้นต่อไป โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน "หนี้" ดังกล่าว ถึงแม้จะแปลงสภาพไปเป็นบริษัทมหาชนแล้วก็ตาม

นอกจากนั้น การตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับข้างต้น ยังมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 87 ที่บัญญัติว่า "รัฐมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินธุรกิจที่มีลักษณะผูกขาด กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ กระทบต่อผลประโยชน์ส่วนรวม และกิจการที่เป็นสาธารณูปโภค" อีกด้วย เพราะพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเปิดโอกาสให้เอกชนซึ่งรวมทั้งนายทุนต่างชาติ เข้ามามีส่วนเป็นเจ้าของและดำเนินกิจการ หรือถึงขั้นผูกขาดด้วย

การตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับข้างต้น ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก

ด้วยเหตุผลโดยสรุปดังกล่าวข้างต้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อมีคำสั่งเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ

ซึ่งในเบื้องต้นศาลได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการชั่วคราว ให้ระงับการดำเนินกิจกรรมใดๆ เพื่อแปลงสภาพองค์กรนี้ตามพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว

จากนี้คงขอบารมีและความยุติธรรมอันสูงส่งของศาลปกครองสูงสุด จงเป็นที่พึ่งแก่ปวงประชาราษฎรผู้รักชาติ รักแผ่นดิน รักความเป็นไทย รวมทั้งลูกหลานไทยตาดำๆ ด้วยเถิด				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟเวทย์
Lovings  เวทย์ เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟเวทย์
Lovings  เวทย์ เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟเวทย์
Lovings  เวทย์ เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงเวทย์