28 สิงหาคม 2553 22:12 น.

**ร่าย**

คนกุลา

ร่ายเป็นร้อยกรองแบบหนึ่ง มีสี่ประเภทได้แก่ ร่ายยาว ร่ายสุภาพ ร่ายดั้น และร่ายโบราณ 
ความหมายและลักษณะ
คำร่าย "ร่าย" แปลว่า อ่าน เสก หรือ เดิน 
ร่าย คือ คำประพันธ์ประเภทร้อยกรองแบบหนึ่งที่แต่งง่ายที่สุด และมีฉันทลักษณ์น้อยกว่าร้อยกรองประเภทอื่น ถ้าพิจารณาให้ดีจะพบว่าร่ายมีลักษณะใกล้เคียงกับคำประพันธ์ประเภทร้อยแก้วมาก เพียงแต่กำหนดคำที่คล้องจองและบังคับวรรณยุกต์ในบางแห่ง  เป็นคำประพันธ์ที่มิได้กำหนดจำนวนบาท หรือจำนวนวรรค ในแต่ละบทจะแต่งให้ยาว เท่าไรก็ได้ เป็นแต่ต้อง เรียงคำ ให้คล้องจองกัน ตามข้อบังคับ เท่านั้น ร่ายบางชนิดกำหนดคำเอกคำโทในตอนจบเหมือนโคลงสอง หรือโคลงสาม  อาจมีร่ายบางชนิดกำหนดจำนวนคำและสัมผัสให้คล้องจองกัน ดังจะได้กล่าวต่อไป 

กำเนิดและวิวิฒนาการ
รูปแแบบของร่ายปรากฏครั้งแรกในคัมภีร์กาพยสารวิลาสินี ชื่อวชิรปันตี และปรากฏในวรรณคดีไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) สันนิษฐานว่าร่ายเป็นของไทยแท้ มีมาแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง ด้วยปรากฏหลักฐานครั้งแรกในวรรณคดีสุโขทัยคือสุภาษิตพระร่วง และต่อมาจึงปรากฏเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในวรรณคดีอยุธยาเรื่องโองการแช่งน้ำในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑
พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) สันนิษฐานว่าร่ายเป็นของไทยแท้ เพราะคนไทยนิยมพูดเป็นสัมผัสคล้องจอง ดังปรากฏประโยคคล้องจองในสำนวนศิลาจารึกพ่อ ขุนรามคำแหง กาพย์พระมุนีเดินดงของภาคเหนือ และคำแอ่วของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ยังสันนิษฐานว่า คำว่า "ร่าย" ตัดมาจาก "ร่ายมนต์" สังเกตจากโองการแช่งน้ำที่มีร่ายดั้นปรากฏเป็นเรื่องแรกและมีเนื้อหาเป็นคำประกาศในการดื่มน้ำสาบาน
วิวัฒนาการของร่ายน่าจะเริ่มจากสำนวนคล้องจองในศิลาจารึกและ ความนิยมพูดคล้องจองของคนไทยแต่โบราณ ในบทที่พระภิกษุใช้เทศนาก็ปรากฏลักษณะการคล้องจองอยู่ เป็นการรับส่งสัมผัสจากวรรคหน้าไปยังวรรคถัดไป โดยไม่ได้กำหนดความสั้นยาวของพยางค์อย่างตายตัว ซึ่งลักษณะนี้ใกล้เคียงกับร่ายประเภท "ร่ายยาว" มากที่สุด จึงมีการสันนิษฐานว่า ร่ายยาวเป็นร่ายที่เกิดขึ้นในอันดับแรกสุด ต่อมาจึงเกิด "ร่ายโบราณ" ซึ่งกำหนดจำนวนพยางค์และจุดสัมผัสคล้องจองตายตัว และตามมาด้วย "ร่ายดั้น" ซึ่งมีการประยุกต์กฎเกณฑ์ของโคลงดั้นเข้ามา สุดท้ายจึงเกิด "ร่ายสุภาพ" ซึ่งมีการประยุกต์กฎเกณฑ์ของโคลงสุภาพเข้ามา
ประเภท
ร่าย แบ่งออกเป็น ๔ ชนิด คือ  
๑. ร่ายยาว  
๒. ร่ายโบราณ  
๓. ร่ายดั้น  
๔. ร่ายสุภาพ 

ฉันทลักษณ์
1. ร่ายยาว
 
ร่ายยาว คือ ร่ายที่ไม่กำหนดจำนวนคำในวรรคหนึ่ง ๆ แต่ละวรรคจึงอาจมีคำน้อยมากแตกต่างกันไป การสัมผัส คำสุดท้ายของวรรคหน้าสัมผัสกับคำหนึ่งคำใดในวรรคถัดไป   การแต่งร่ายยาว ต้องรู้จัก เลือกใช้ ถอยคำ และสัมผัสใน ให้มีจังหวะ รับกันสละสลวย เมื่ออ่านแล้ว ให้เกิด ความรู้สึก มีคลื่นเสียง เป็นจังหวะๆ อย่างที่เรียกว่า "เสียงดิ้น" หรือ "เสียงมีชีวิต" และจำนวนคำ ที่ใช้ ในวรรคหนึ่ง ก็ไม่ควรให้ยาว เกินกว่าช่วง ระยะหายใจ ครั้งหนึ่งๆ คือ ควรให้อ่าน ได้ตลอดวรรค แล้วหยุดหายใจได้ โดยไม่ขาดจังหวะ ดูตัวอย่างได้ ในหนังสือ เวสสันดรชาดก   ร่ายยาวนี้ ใช้แต่งเทศน์ หรือบทสวด ที่ต้องว่า เป็นทำนอง เช่น เทศน์มหาชาติ และเทศน์ธรรมวัตร เป็นต้น เมื่อจบความ ตอนหนึ่งๆ มักลงท้ายด้วย คำว่า นั้นแล นั้นเถิด นี้แล ฉะนี้แล ด้วยประการฉะนี้ คำนั้นแล นิยมใช้เมื่อ สุดกระแสความตอนหนึ่งๆ หรือจบเรื่อง เมื่อลง นั้นแล ครั้งหนึ่ง เรียกว่า "แหล่" หนึ่ง ซึ่งเรียกย่อ มาจากคำ นั้นแล นั่นเอง เพราะเวลาทำนอง จะได้ยินเสียง นั้นแล เป็น นั้นแหล่ 
รูปแบบผังทางฉันทลักษณ์ของร่ายยาว
 
ตัวอย่าง โพธิสตฺโต สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ อันสร้างสมดึงส์ปรมัตถบารมี เมื่อจะรับวโรรัตนเรืองศรีแปดประการ แด่สำนักนิท้าวมัฆวานเทเวศร์ ก็ทูลแก่ท้าวสหัสเนตรฉะนี้ กาพย์มหาชาติ สักรบรรพ

2. ร่ายโบราณ
 
ร่ายโบราณ คือ ร่ายที่กำหนดให้วรรคหนึ่งมีคำห้าคำเป็นหลัก บทหนึ่งต้องแต่งให้มากกว่าห้าวรรคขึ้นไป การสัมผัส คำสุดท้ายของวรรคหน้าสัมผัสกัลคำที่หนึ่ง สอง หรือสาม คำใดคำหนึ่งของวรรคถัดไป และยังกำหนดอีกว่า หากส่งด้วยคำเอก ต้องสัมผัสด้วยคำเอก คำโทก็ด้วยคำโท คำตายก็ด้วยคำตาย ในการจบบทนั้น ห้ามไม่ให้ใช้คำที่มีรูปวรรณยุกต์ประสมอยู่เป็นคำจบบท อาจจบด้วยถ้อยคำ และอาจแต่งให้มีสร้อยสลับวรรคก็ได้
รูปแบบผังทางฉันทลักษณ์ของร่ายโบราณ
 

ตัวอย่าง: 
 
________________________________________



ตัวอย่าง ...พระบาทเสด็จ บ มิช้า พลหัวหน้าพะกัน แกว่งตาวฟันฉฉาด แกว่งดาบฟาดฉฉัด ซ้องหอกซัดยยุ่ง ซ้องหอกพุ่งยย้าย ข้างซ้ายรบ บ มิคลา ข้างขวารบ บ มิแคล้ว แกล้วแลแกล้วชิงข้า กล้าแลกกล้าชิงขัน รุมกันพุ่งกันแทง เข้าต่อแย้งต่อยุทธ์ โห่อึงอุดเอาชัย เสียงปืนไฟกึกก้อง สะเทือนท้องพสุธา หน้าไม้ดาปืนดาษ ธนูสาดศรแผลง แข็งต่อแข็งง่าง้าง ช้างพะช้างชนกัน ม้าผกผันคลุกเคล้า เข้ารุกรวนทวนแทง รแรงเร่งมาหนา ถึงพิมพิสารครราช พระบาทขาดคอช้าง ขุนพลคว้างขวางรบ กันพระศพกษัตริย์ หนีเมื้อเมืองท่านไท้ ครั้นพระศพเข้าได้ ลั่นเขื่อนให้หับทวาร ท่านนา
ตัวอย่างแบบมีสร้อยสลับวรรค เจ้าเผือเหลือแผ่นดิน นะพี่ หลากระบิลในแหล่งหล้า นะพี่ บอกแล้วจะไว้หน้าแห่งใด นะพี่ ความอายใครช่วยได้ นะพี่ อายแก่คนไสร้ท่านหัว นะพี่ แหนงตัวตายดีกว่า นะพี่ สองพี่อย่าถามเผือ นะพี่ เจ็บเผื่อเหลือแห่งพร้อง โอเอ็นดูรักน้อง อย่าซ้ำจำตาย หนึ่งรา.
— ลิลิตพระลอ
3. ร่ายดั้น
 
          ร่ายดั้น คือ ร่ายที่กำหนดคำในวรรคและการสัมผัสเหมือนร่ายโบราณ แต่ไม่เคร่งเรื่องการรับสัมผัสระหว่างชนิดคำ คือ คำเอกไม่จำเป็นต้องรับด้วยคำเอก เป็นต้น ส่วนการจบบท ใช้บาทที่สามและสี่ของโคลงดั้นมาปิดท้ายบท และอาจแต่งให้มีคำสร้อยสลับวรรคก็ได้
ร่ายดั้น ปรากฏครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ในวรรณคดีเรื่องลิลิตยวนพ่าย ทวาทศมาส กำสรวลโคลงดั้น แล้วต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีในนิราศตามเสด็จลำน้ำน้อย และลิลิตนารายณ์สิบปาง 
           ๑. คณะ ร่ายดั้น ๑ บทมี ตั้งแต่ ๕ วรรค ขึ้นไป ( ๔ วรรคสุดท้ายคือสองบาทท้ายของโคลงดั้น) วรรคหนึ่งมีตั้งแต่ ๓ คำ ถึง ๘ คำ ลงท้ายด้วยบาทที่ ๓ และบาทที่ ๔ ของโคลงสี่ดั้น
           ๒. สัมผัส มีสัมผัสส่งและสัมผัสรับเช่นเดียวกับร่ายสุภาพ แต่เนื่องจากจำนวนคำในแต่ละวรรคไม่แน่นอน สัมผัสจึงต้องเลื่อนตามจำนวนคำด้วย กล่าวคือ
                    ถ้ามีวรรคละ ๓-๔ คำ ควรรับสัมผัสที่คำที่ ๑-๒
                    ถ้ามีวรรคละ ๕ คำ ควรรับสัมผัสที่คำที่ ๑-๒  
                    ถ้ามีวรรคละ ๖ คำ ควรรับสัมผัสที่คำที่ ๑-๔
                    ถ้ามีวรรคละ ๗-๘ คำ ควรรับสัมผัสที่คำที่ ๑-๕
          ๓ คำสร้อย เช่นเดียวกับร่ายสุภาพ คือเติมได้ ๒ คำท้ายบท หรือเติมสร้อยระหว่างวรรคก็ได้        
รูปแบบผังทางฉันทลักษณ์ของร่ายดั้น

 
         
ตัวอย่าง: 
 

         ตัวอย่าง
                    ...เปรมใจราษฎร       กำจรยศโยค        ดิลกโลอาศรย
          ชยชยนฤเบนทรา                ทรงเดช                     (บาท ๓ โคลงสี่ดั้น)
          ฦๅส่งดินฟ้าฟุ้ง                     ข่าวขจร                    (บาท๔ โคลงสี่ดั้น)
                                                           (ลิลิตยวนพ่าย)


               ตัวอย่าง 
ศรีสุนทรประฌาม งามด้วยเบญจพิธ องค์ประดิษฐ์อุตดม อัญขยมประจงถวาย พร้อมด้วยกายวาจาจิต...มวลมารพ่ายแพ้สูญ สิ้นเสร็จ ทรงพระคุณล้ำล้น เลิศครู
— ลิลิตดั้นมาตาปิตุคุณคาถาบรรยาย - พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ)
 4. ร่ายสุภาพ
 	ร่ายสุภาพ ปรากฏครั้งแรกในวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอ สันนิษฐานว่าแต่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
ร่ายสุภาพ คือ ร่ายที่กำหนดคำในวรรคและการสัมผัสเหมือนร่ายดั้นทุกประการ คือบทหนึ่งมี ๕ วรรคขึ้นไป วรรคหนึ่งมี ๕ คำ และลงท้ายแต่ละบทด้วยโคลงสองสุภาพและนิยมมีคำสร้อยปิดท้ายด้วย และอาจแต่งให้มีคำสร้อยสลับวรรคก็ได้
ลักษณะบังคับของร่ายสุภาพ
          ๑. คณะ ร่ายสุภาพ ๑ บท มี ตั้งแต่ ๕ วรรคขึ้นไป วรรคหนึ่งมี ๕ คำ บทหนึ่งจะมีกี่วรรคก็ได้ 
แต่เมื่อลงท้ายต้องจบด้วยโคลงสองสุภาพ
          ๒.สัมผัส มีสัมผัสจากวรรคหน้าไปยังสัมผัสรับในคำที่ ๑ ,๒,หรือ ๓ ของวรรคต่อไป วรรคที่อยู่
ข้างหน้าของ ๓ วรรคสุดท้าย จะส่งสัมผัสไปยังคำที่ ๑,๒ หรือ๓ ของบาทต้นในโคลงสองสุภาพ
          ๓. คำสร้อย เติมได้ ๒ คำ ท้ายบท เช่นเดียวกับโคลงสองสุภาพ 
       รูปแบบผังทางฉันทลักษณ์ของร่ายสุภาพ

 
ตัวอย่างร่ายสุภาพ
                    ข้าเก่าร้ายอย่าเอา      อย่ารักเหากว่าผม     อย่ารักลมกว่าน้ำ
          อย่ารักถ้ำกว่าเรือน      อย่ารักเดือนกว่าตะวัน      สบสิ่งสรรพโอวาท     
          ผู้เป็นปราชญ์พึงสดับ     ตรับตริตรองปฏิบัติ      โดยอรรถอันถ่องถ้วน    (โคลงสอง) 
          แถลงเลศเหตุเลือกล้วน     เลิศอ้างทางธรรม     แลนา ฯะ 
                                                            (สุภาษิตพระร่วง)
         ตัวอย่าง 
สรวมสวัสดิวิชัย เกริกกรุงไกรเกรียงยศ เกียรติปรากฏขจรขจาย สบายทั่วแหล่งหล้า ฝนฟ้าฉ่ำชุ่มชล ไพศรพณ์ผลพูนเพิ่ม เหิมใจราษฎร์บำเทิง...ประเทศสยามชื่นช้อย ทุกข์ขุกเข็ญใหญ่น้อย นาศไร้แรงเกษม โสตเทอญ
                      ลิลิตนิทราชาคริต - พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์
ตัวอย่าง: 
 


ผมเรียบเรียงขึ้นเพราะด้วยความสนใจใคร่รู้  โดยการไปค้นคว้าหาอ่านแล้วนำมาเรียบเรียงไว้ เผื่อใครสนใจจะได้อ่านและนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อๆไป นะครับ


คนกุลา

ในวสันต์




http://th.wikipedia.org/wiki
http://www.st.ac.th/bhatips/rai_poem.html
http://thaiarc.tu.ac.th/poetry/raay/index.html				
21 สิงหาคม 2553 13:52 น.

**กาพย์ห่อโคลง**

คนกุลา

กาพย์ห่อโคลง เป็นเป็นชื่อของบทประพันธ์  ที่มีลักษณะของคำประพันธ์ ที่แต่งกาพย์สลับกับโคลงสี่สุภาพ โดยที่นิยมมากคือ กาพย์ยานี ๑๑ กับ โคลงสี่สุภาพ ทั้งกาพย์และโคลงต้องมีเนื้อความอย่างเดียวกัน มี ๔ ลักษณะคือ 
หรือบางที ก็ให้คำต้นวรรค ของกาพย์ กับคำต้นบท ของโคลง เป็นคำเหมือนกัน ส่วนบัญญัติ หรือกฏข้อบังคับต่างๆ เหมือนกับ กฎของกาพย์ยานี และโคลงสี่สุภาพ ทั้งสิ้น
ตัวอย่างกาพย์ห่อโคลง
กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง
เที่ยวเล่นเป็นสุขเกษม....................แสนสิ่งสนุกปลุกใจหวัง
เร่ร่ายผายผาดผัง..........................หัวริกรื่นชื่นชมไพร

             สนุกเกษมเปรมหน้าเหลือบ..........ลืมหลัง
แสนสนุกปลุกใจหวัง.......................วิ่งหรี้
เดินร่ายผายผันยัง...........................ชายป่า
หัวร่อรื่นชื้นชี้..................................ส่องนิ้วชวนแล

๑. แต่งกาพย์ยานี ๑๑ บทนึง กับ โคลงสี่สุภาพ บทนึง สลับกันไป 

๑.แต่งกาพย์ยานีหนึ่งบท แล้วแต่งโคลงสี่สุภาพ ซึ่งมีเนื้อความเช่นเดียว กับกาพย์ยานี หนึ่งบท สลับกันไป ชนิดนี้ มักแต่งเป็นเรื่องสั้นๆ เป็นเชิงประกวดฝีปาก หรือสำนวน อย่างแต่งโคลงกระทู้ หรือกลอนกลบท ดังตัวอย่าง เช่น 
  
 


๒. แต่งโคลงสี่สุภาพ บทหนึ่ง กับ กาพย์ยานี ๑๑ บทหนึ่ง สลับกันไป (คล้ายกับประเภทที่หนึ่ง เพียงแต่นำเอาโคลงมาขึ้นก่อน)

 ผีเสื้อชมดอกไม้  โดย ณธีร์
(กาพย์ห่อโคลง)

                      ผีเสื้อชมดอกไม้             สวยใส 
                   สมดั่งหวังหฤทัย                ติดต้อง 
                   แดดแรงแผดแสงให้           ไหวหวั่น 
                   โอบปีกกำบังป้อง               ดอกไม้ได้เงา ฯ

                  ผีเสื้อ ชมดอกไม้             สดสวยใส ทั้งเธอสอง 
                  ผีเสื้อ สมใจปอง              ดอกไม้ ต้องตรึงตราใจ 
                  แดดแรง แผดแสงกล้า      ดอกไม้จ๋า อย่าหวั่นไหว 
                  ผีเสื้อ กำบังไว้                ให้ดอกไม้ ได้ร่มเอย ฯ

๓. แต่งโคลงสี่สุภาพ บทหนึ่ง กับ กาพย์ยานี ๑๑ หลายบท พรรณาข้อความยาวยืดไปเรื่อยจนกว่าจะพอใจ 
แบบที่ ๓ นี้ นิยมแต่งเป็นบทเห่เรือในพิธีกระบวนแห่ทางน้ำ เลยมีอีกชื่อว่า กาพย์ห่อโคลงเห่เรือ หรือ กาพย์เห่เรือ ผู้ประดิษฐ์ กาพย์เห่เรือ คือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ หรือ เจ้าฟ้ากุ้ง กวีอีกท่านที่ตายเพราะรัก 

กาพย์เห่เรือนี้ เป็นที่นิยมต่อมาแพร่หลาย มีสารพัดจะเห่ชม เช่น เห่ชมกระบวนเรือ เห่ชมปลา เห่ชมไม้ เห่ชมนก เห่เรื่องกากี เห่บทสังวาส เห่ครวญ เห่เฉลิมพระเกียรติ เห่สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย เห่ชมเครื่องคาว เห่ชมเครื่องหวาน เห่ชมเครื่องว่าง เห่ชมผลไม้ เห่ชมสวน เห่ชมโฉม เห่ชมพระนคร เห่ชมชายทะเล เห่ชมดอกไม้ ฯลฯ ตามแต่ความสนใจของผู้แต่ง 

หรือบางที ก็ให้คำต้นวรรค ของกาพย์ กับคำต้นบท ของโคลง เป็นคำเหมือนกัน ส่วนบัญญัติ หรือกฏข้อบังคับต่างๆ เหมือนกับ กฏของกาพย์ยานี และโคลงสี่สุภาพ ทั้งสิ้น 


ตัวอย่างเช่น 

กาพย์เห่เรือ พระนิพนธ์ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร

เห่ชมเรือกระบวน

โคลง
๏ ปางเสด็จประเวศด้าว          ชลาลัย 
ทรงรัตนพิมานชัย                 กิ่งแก้ว 
พรั่งพร้อมพวกพลไกร            แหนแห่ 
เรือกระบวนต้นแพร้ว             เพริศพริ้งพายทอง 


กาพย์

        พระเสด็จโดยแดนชล      ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย 
กิ่งแก้วแพร้วพรรณราย          พายอ่อนหยับจับงามงอน 
        นาวาแน่นเป็นขนัด        ล้วนรูปสัตว์แสนยากร 
เรือริ้วทิวธงสลอน                  สาครลั่นครั่นครื้นฟอง 
        เรือครุฑยุดนาคหิ้ว        ลิ่วลอยมาพาผันผยอง 
พลพายกรายพายทอง             ร้องโห่เห่โอ้เห่มา 
        สรมุขมุขสี่ด้าน             เพียงพิมานผ่านเมฆา 
ม่านกรองทองรจนา               หลังคาแดงแย่งมังกร 
        สมรรถชัยไกรกาบแก้ว   แสงแวววับจับสาคร 
เรียบเรียงเคียงคู่จร                 ดั่งร่อนฟ้ามาแดนดิน 
        สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย    งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์ 
เพียงหงส์ทรงพรหมินทร์          ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม 
        เรือชัยไวว่องวิ่ง              รวดเร็วจริงยิ่งอย่างลม 
เสียงเส้าเร้าระดม                    ห่มท้ายเยิ่นเดินคู่กัน 
        คชสีห์ทีผาดเผ่น             ดูดังเป็นเห็นขบขัน 
ราชสีห์ที่ยืนยัน                      คั่นสองคู่ดูยิ่งยง 
        เรือม้าหน้ามุ่งน้ำ            แล่นเฉื่อยฉ่ำลำระหง 
เพียงม้าอาชาทรง                   องค์พระพายผายผันผยอง 
        เรือสิงห์วิ่งเผ่นโผน         โจนตามคลื่นฝืนฝ่าฟอง 
ดูยิ่งสิงห์ลำพอง                      เป็นแถวท่องล่องตามกัน 
        นาคาหน้าดังเป็น            ดูเขม้นเห็นขบขัน 
มังกรถอนพายพัน                  ทันแข่งหน้าวาสุกรี 
        เลียงผาง่าเท้าโผน            เพียงโจนไปในวารี 
นาวาหน้าอินทรี                      มีปีกเหมือนเลื่อนลอยโพยม 
        ดนตรีมี่อึงอล                 ก้องกาหลพลแห่โหม 
โห่ฮึกครึกครื้นโครม                โสมนัสชื่นรื่นเริงพล 
        กรีธาหมู่นาเวศ               จากนคเรศโดยสาชล 
เหิมหื่นชื่นกระมล                    ยลมัจฉาสารพันมี 


เห่ชมปลา

โคลง

        พิศพรรณปลาว่ายเคล้า  คลึงกัน 
ถวิลสุดาดวงจันทร์                แจ่มหน้า 
มัตสยาย่อมพัวพัน                พิศวาส 
ควรฤพรากน้องช้า               ชวดเคล้าคลึงชม 


กาพย์

        พิศพรรณปลาว่ายเคล้า คิดถึงเจ้าเศร้าอารมณ์ 
มัตสยายังรู้ชม                    สาสมใจไม่พามา 
        นวลจันทร์เป็นนวลจริง เจ้างามพริ้งยิ่งนวลปลา 
คางเบือนเบือนหน้ามา         ไม่งามเท่าเจ้าเบือนชาย 
        เพียนทองงามดั่งทอง  ไม่เหมือนน้องห่มตาดพราย 
กระแหแหห่างชาย             ดั่งสายสวาทคลาดจากสม 
        แก้มช้ำช้ำใครต้อง      อันแก้มน้องช้ำเพราะชม 
ปลาทุกทุกข์อกกรม             เหมือนทุกข์พี่ที่จากนาง 
        น้ำเงินคือเงินยวง        ขาวพรายช่วงสีสำอาง 
ไม่เทียบเปรียบโฉมนาง       งามเรืองเรื่อเนื้อสองสี** 
        ปลากรายว่ายเคียงคู่     เคล้ากันอยู่ดูงามดี 
แต่นางห่างเหินพี่                เห็นปลาเคล้าเศร้าใจจร 
        หางไก่ว่ายแหวกว่าย   หางไก่คล้ายไม่มีหงอน 
คิดอนงค์องค์เอวอร             ผมประบ่าอ่าเอี่ยมไร 
        ปลาสร้อยลอยล่องชล   ว่ายเวียนวนปนกันไป 
เหมือนสร้อยทรงทรามวัย     ไม่เห็นเจ้าเศร้าบ่วาย 
        เนื้ออ่อนอ่อนแต่ชื่อ      เนื้อน้องฤๅอ่อนทั้งกาย 
ใครต้องข้องจิตชาย             ไม่วายนึกตรึกตรึงทรวง 
        ปลาเสือเหลือที่ตา        เลื่อนแหลมกว่าปลาทั้งปวง 
เหมือนตาสุดาดวง               ดูแหลมล้ำขำเพราคม 
        แมลงภู่คู่เคียงว่าย       เห็นคล้ายคล้ายน่าเชยชม 
คิดความยามเมื่อสม             สนิทเคล้าเจ้าเอวบาง 
        หวีเกศเพศชื่อปลา       คิดสุดาอ่าองค์นาง 
หวีเกล้าเจ้าสระสาง              เส้นเกศสลวยรวยกลิ่นหอม 
        ชะแวงแฝงฝั่งแนบ      ชะวาดแอบแปบปนปลอม 
เหมือนพี่แอบแนบถนอม       จอมสวาทนาฏบังอร 
        พิศดูหมู่มัจฉา             ว่ายแหวกมาในสาคร 
คะนึงนุชสุดสายสมร             มาด้วยพี่จะดีใจ 


เห่ชมไม้
โคลง

        เรือชายชมมิ่งไม้          มีพรรณ 
ริมท่าสาครคันธ์                   กลิ่นเกลี้ยง 
เพล็ดดอกออกแกมกัน          ชูช่อ 
หอมหื่นรื่นรสเพี้ยง              กลิ่นเนื้อนวลนาง 


กาพย์

        เรือชายชมมิ่งไม้         ริมท่าไสวหลากหลายพรรณ 
เพล็ดดอกออกแกมกัน          ส่งกลิ่นเกลี้ยงเพียงกลิ่นสมร 
        ชมดวงพวงนางแย้ม     บานแสล้มแย้มเกสร 
คิดความยามบังอร               แย้มโอษฐ์ยิ้มพริ้มพรายงาม 
        จำปาหนาแน่นเนื่อง     คลี่กลีบเหลืองเรืองอร่าม 
คิดคะนึงถึงนงราม               ผิวเหลืองกว่าจำปาทอง 
        ประยงค์ทรงพวงร้อย   ระย้าย้อยห้อยพวงกรอง 
เหมือนอุบะนวลละออง         เจ้าแขวนไว้ให้เรียมชม 
        พุดจีบกลีบแสล้ม         พิกุลแกมแซมสุกรม 
หอมชวยรวยตามลม            เหมือนกลิ่นน้องต้องติดใจ 
        สาวหยุดพุทธชาด        บานเกลื่อนกลาดดาษดาไป 
นึกน้องกรองมาลัย               วางให้พี่ข้างที่นอน 
        พิกุลบุนนาคบาน          กลิ่นหอมหวานซ่านขจร 
แม้นนุชสุดสายสมร               เห็นจะวอนอ้อนพี่ชาย 
        เต็งแต้วแก้วกาหลง       บานบุษบงส่งกลิ่นอาย 
หอมอยู่ไม่รู้หาย                   คล้ายกลิ่นผ้าเจ้าตาตรู 
        มะลิวัลย์พันจิกจวง         ดอกเป็นพวงร่วงเรณู 
หอมมาน่าเอ็นดู                    ชูชื่นจิตคิดวนิดา 
        ลำดวนหวนหอมตรลบ    กลิ่นอายอบสบนาสา 
นึกถวิลกลิ่นบุหงา                  รำไปเจ้าเศร้าถึงนาง 
        รวยรินกลิ่นรำเพย          คิดพี่เคยเชยกลิ่นปราง 
นั่งแนบแอบเอวบาง                ห่อนแหห่างว่างเว้นวัน 
        ชมดวงพวงมาลี              ศรีเสาวภาคย์หลากหลายพรรณ 
วนิดามาด้วยกัน                      จะอ้อนพี่ชี้ชมเชย
  
________________________________________
๔. กาพย์ขับไม้ห่อโคลง กาพย์ 

กาพย์ขับไม้ห่อโคลงแตกต่างจาก กาพย์ห่อโคลงอื่นๆที่ใช้แต่งโดยแทนที่จะใช้กาพย์ยานี  โดยแต่งด้วยกาพย์สุรางคนางค์๓๖ แล้วสลับโดยโคลงสี่สุภาพ สองบทซึ่งมีเนื้อความเช่นเดียว กับกาพย์สุรางคนางค์ สลับกันไป กาพย์ห่อโคลงชนิดนี้ เดิมทีจะใช้ร้องประกอบการขับไม้ ในงานสมโภช พิธี หลวง  แล้ววันหลังผมจะเขียนถึง กาพย์ห่อโคลงขับไม้นี้ โดยละเอียดอีก ครั้ง ครับ  (เพราะผมเองก็อยากรู้เหมือนกัน) กาพย์ขับไม้ห่อโคลงขับไม้ ขอยกตัวอย่าง เช่น
 
ตัวอย่าง:   
 


คิดถึงนวล(กาพย์ขับไม้ห่อโคลง)  โดย ดวงสมร

(กาพย์สุรางคนางค์๓๖)

จันทร์เอยฉันเศร้า.....ท่ามทะเลเหงา.....เข้าแดนความกล้า
เมฆเบียดบังเงา.....กลับคืนเหน็บหนาว.....หัวใจอ่อนล้า
ลมเจ้าเฉยชา.....ใยไม่พัดพา.....เห็นแก่ดาวจันทร์


จะโกรธเคืองขึ้ง.....น้อยใจใยจึง.....ถึงบดบังสวรรค์
สิ้นรักแล้วหรือ.....ดวงใจแสนซื่อ....อยู่ไปวันวัน
หัวใจร้าวราน.....หกล้มซมซาน.....นานคงเคียงนวล...


(โคลงสี่สุภาพ (เน้นโท๔))

จันทร์สกาวยามฟ้า.........เปิดใจ
โอบกอดเธอแนบไว้.......ตรงหน้า
นวลขาวแลเห็นไกล.......ฤดีกอด
ทอดแสงรักเครือฟ้า.......อวดแย้มยลยวน


เมฆายามตามถ้วน..........วิถี
มิบดบังฤดี....................นานได้
หากลมนำทำที..............อิดออด
คงมิกอดใครใกล้............หนาวร้ายจำทน

เป็นต้น

แหล่งอ้างอิง 
http://th.wikipedia.org/wiki 
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=natshen&month=04-2008&date=14&group=15&gblog=4
http://www.oknation.net/blog/ThaiTeacher/2009/11/06/entry-1
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=537735
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=duangsamone&date=15-01-2006&group=6&gblog=3
http://www.thaigoodview.com/node/49696				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟคนกุลา
Lovings  คนกุลา เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟคนกุลา
Lovings  คนกุลา เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟคนกุลา
Lovings  คนกุลา เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงคนกุลา