25 พฤศจิกายน 2552 22:35 น.

"สัมผัสเผลอ" และ "สัมผัสเพี้ยน"

คนกุลา

สัมผัสเผลอ หรือ สัมผัสเสียง คือ สัมผัสระหว่างคำที่ผสมสระเสียงสั้น (รัสสระ) กับสระเสียงยาว (ฑีฆสระ) เช่น น้ำ กับ ความ, จ้าว กับ เจ้า, กาย กับ ใต้, ย้ำ กับ ยาม เป็นต้น อันนี้เป็นปัญหาของผมในระยะแรกๆอยู่บ่อยเหมือนกัน เช่น 

แสงจันทร์เพ็ญเย็นนวลพาหวนย้ำ    คิดถึงยามเคยได้ชิดใกล้ขวัญ 

คำว่า ย้ำ ไม่สามารถ สัมผัส กับ ยาม ได้ เพราะสระ คนละเสียงกัน สระ อำ เป็นสระเสียงสั้น ส่วนยาม เป็นคำผสมกับสระ อา ที่เป็นสระเสียง ยาว การสัมผัสเผลอแบบนี้ เกิดขึ้น เพราะความเข้าใจผิด ว่า สระอำ ไอ ใอ เอา เป็นสระเสียงยาว ทั้งที่จริงแล้ว อำ ไอ ใอ เอา เป็น สระเกิน เสียงสั้น ดังนั้น การไปเผลอนำไป สัมผัส กับคำที่ผสมกับสระเสียงยาว จึง ผิด หลักของกลอนแปด  มีบางท่านก็อนุโลมคำว่าย้ำ กับ ยาม ว่าสามารถสัมผัสกันได้ เพราะ ว่าเป็นสระเสียงยาวเหมือนกัน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด นะครับ ไม่ว่าจะพิจารณาโดยยึดหลัก หรือ ยึดเสียง

สัมผัสเพี้ยน คือสัมผัสคำที่ไม่มีเสียงสระใกล้เคียงกัน แต่ความจริงเป็นสระคนละรูป เช่น กำ กับ กัน เวง กับ เดน หรือ เลง กับ เร้น เป็นต้น อันนี้ผู้ที่สันทัดแต่งกลอนหน่อยไม่มีปัญหา เพราะสัมผัสแบบนี้เรียกว่าไม่สัมผัสเลยก็ว่าได้  แต่สำหรับคนแต่งกลอนใหม่ อาจผิดตรงนี้ เพราะอาจจะไม่เข้าใจ ความหมาย และตำแหน่งของสัมผัส เช่นตัวอย่างต่อไปนี้ เป็นสัมผัสเพี้ยน หรือ ไม่มีสัมผัสนะครับ
 
ในไพรทึบแห่งแดนพราย                นางเร้นกายอย่างเงียบ(งัน)
เบเรนหมองเศร้าเหลือ(ล้ำ )             ฟังเสียงไพร(วัล)อันวัง(เวง)
บ่อยคราเบ(เรน)ได้ยินเสียงแว่ว        เสียงฝีเท้าแผ่วดั่งใบลิน(เดน)
แต่เสียงครืนครางใต้หล้าบรร(เลง)    กลับกระหึ่มในโพรง(เร้น)รับตา 


คนกุลา

ในเหมันต์				
25 พฤศจิกายน 2552 11:19 น.

วิพากษ์ "คนกุลา" ว่าด้วย"สัมผัสเกิน"

คนกุลา

สัมผัสเกิน  เป็นคำสัมผัสที่เกินมาใน วรรค รับ และวรรค ส่ง เป็นคำสัมผัส
ที่อยู่คำที่ สี่ ของวรรค ซึ่งเป็นสัมผัส ในที่ไป สัมผัสกับคำที่สาม ของวรรค
ดังกล่าว ที่ต้องรับกับวรรค สดับ หรือ วรรค รอง อยู่แล้ว ท่านเรียก สัมผัส 
ชนิด นี้ ว่า "สัมผัสเกิน"

     วาสนา ดาวเรือง บอกว่า สัมผัสเกิน หมายถึง คำสัมผัสที่อยู่ติดกัน

    ไม่เคยคิดบิดเบือนว่าเพื่อนเบ่ง         ถึงเพื่อนเบ่งเคร่ง(๑)ครัดไม่ขัดขวาง
      จะคิดแปลกแหกออกไปนอกทาง       ใจก็วางอย่าง (๒)นั้นไม่ผันแปร

คำว่า"เบ่ง"จะสัมผัสกับคำว่า "เก่ง" แต่มีคำว่า"เคร่ง" อยู่ติดกัน ซึ่งเกินเข้า
มา คำ เคร่ง นี้ เป็นสัมผัสเกิน

          ส่วน Anna_Hawkins ที่อ้างถึง งานของ ช่อประยง บอกว่า สัมผัส
เกิน หมายถึงการใช้คำที่มีเสียงสระหรืออักษรอยู่ชิดกันในวรรค มีทั้งสัมผัส
เกินสระ และสัมผัสเกินอักษร แต่เกินอักษรไม่ถือว่าเป็นข้อห้าม และใช้กันทั่ว
ไป สัมผัสเกินสระนั้นก็ไม่ผิดแต่นักกลอนรุ่นหลังไม่ค่อยนิยมกันเพราะไม่
เพราะ 

ไม่เคยคิดบิดเบือนว่าเพื่อนเบ่ง ถึงเพื่อนเก่งเคร่งครัดไม่ขัดขวาง
จะคิดแปลกแหวกออกไปนอกทาง ใจก็วางอย่างนั้นไม่ผันแปร 

           อันนี้ท่านสุนทรภู่ใช้บ่อย ในหนังสือบอกถึงเหตุผลต่างๆนานาที่อ้างว่า
ใช้ได้ และเขาเองนั้นอ่านยังไงก็ไม่เห็นว่าสัมผัสเกินนี้มีปัญหาแต่ประการใด 
ซึ่งความเห็นนี้ ก็ตรง กับ ร้อยคำหอม และร้อยคำหอม ถือว่าสัมผัสชนิดนี้ยัง
พอให้อภัยได้เพราะอาจไม่เจตนาหรืออาจมีเจตนาเพื่อ ย้ำคำหน้าให้เด่น , 
ขยายความให้ชัด , เป็นกลุ่มคำคล้องจอง , เป็นคำสัมผัสที่แยกไม่ออก
 
           เท่าที่ผม ไปศึกษา ดูและ ทบทวนประสบการณ์ของตนเองแล้ว สัมผัส
เกิน นี้ มาจาก หลักการในการเขียนสัมผัสใน มักจะให้ คำที่ สาม สัมผัสกับ
คำที่ สี่    และ คำที่ ห้า สัมผัส กับ คำที่ เจ็ด โดยที่เป็นที่นิยมกัน หาก สัมผัส
ดังกล่าวนี้ อยู่ในวรรค สดับ (วรรค ที่ ๑ )และวรรค รอง (วรรค ที่ ๓ ) ก็จะถือ
ว่า เป็นสัมผัสตามแนวนิยม

            แต่หากไปใช้ หลัก สัมผัสนี้ ใน วรรค รับ (วรรค ที่ ๒ )และวรรค ส่ง 
(วรรค ที่ ๔ ) ก็จะกลายเป็น สัมผัสเกิน ไป ทั้งนี้เพราะ คำที่ สาม ของ วรรค 
รับและ วรรค ส่ง ต้องรับ สัมผัส กับวรรค สดับ และ วรรค รอง อยู่แล้ว 

            โดย ส่วนตัวผมเอง เขียน กลอน ที่ผ่านมาก็มีสัมผัสเกิน ทั้ง 
สัมผัสเกินอักษร และสัมผัสเกินสระ ค่อนข้างมาก จึงขอ ศึกษางานของคน
กุลา ว่าด้วยสัมผัส เกิน เพื่อการเรียนรู้  กันนะครับ หวังว่าคงไม่ว่ากัน ผมยก
กลอนเริงสายธาร ของคนกุลา มาเป็นกรณี ศึกษา เฉพาะสัมผัสสระ ที่เป็น
สัมผัสเกินนะครับ

            
                     เริงสายธาร

๐ แว่วคำวอนอ่อนหวานสายธารรัก
ใครนะถักทอร้อยสร้อยสายขวัญ
ปานรินธารน้ำใจส่งให้กัน
หวังคำมั่นควั่น (๑)เกลียวเกี่ยวเคียงปอง

๐  กล่าวเป็นนัยใบไม้กับสายน้ำ
ที่เน้นย้ำความหมายคลายหมางหมอง
โลมสายธารม่านรักถักไยทอง
หวังเพียงครองคู่ข้างไม่ห่างไกล

  ๐ ใบไม้ปลิวลิ่วคว้างลาร้างต้น
ร่อนล่วงหล่นลงผ่านธารน้ำไหล
สืบเรื่องราวเล่าขานตำนานไพร
สบัดใบลอยลมพรมนที

  ๐ ลำนำใจในธารรินสาส์นรัก
ชั้นเพิงพักผุดพรายร่ายวิถี
สายธารใดใครเอ่ยเผยวจี
ร้อยวลีกวี (๒)จารธารเว้าวอน

  ๐ กรองคำกล่าวเล่าเรื่องเมืองใบไม้
จากแดนไกลใน(๓)เขาเนาว์สิงขร
โรยลาร่างพร่างใบในวันจร
ลงออดอ้อนแอบว่ายสายน้ำวน

  ๐ ระเริงรำฉ่ำใบในสายน้ำ 
ล่องผุดดำร่ำ(๔)ระบายอาบสายฝน
ควะคว้างควงร่วงพริ้วปลิวเพียงยล
เหมือนต้องมนต์ใบไม้ร่ายระบำ

  ๐ ใบไม้เรียมเทียมหมายคล้ายคู่ชื่น
มิเป็นอื่นแอบหวามรักงามขำ
จะถนอมนวลนางอย่างเคยทำ
ด้วยภักดิ์ย้ำเยี่ยงใบไม้เริงสายธาร..ฯ

  ๐ แว่วคำวอนร่อนร่ายสายธารรัก
ใครนะถักทอย้ำคำแสนหวาน
พากษ์ไพเราะเสนาะเสียงสำเนียงกานท์
เห่ขับขานกล่อมหทัยให้อุ่นอิง..ฯ

...... 

คนกุลา
ในวสันต์

            วิพากษ์ คนกุลา ในบท เริงสายธาร  ว่าด้วยสัมผัสเกิน ก็จะพบ สัมผัส
เกินสระถึง ๔ ที่ 

              ส่วนตัวผมมองว่าการเขียน สัมผัสเกิน นั้นทำให้ กลอน พลิ้วไหว 
สวยงามมากขึ้น แต่มีข้อเสีย อยู่ สองสามอย่าง คือ

               ๑.	เกิดอาการ ที่ กวี ต้องเร่ไปหาสัมผัส แทนที่ สัมผัส จะมา
หากวี ซึ่งเป็นข้อแนะนำของครูบาอาจารย์ ท่านว่าไว้ เพราะว่าหลายครั้งสัมผัส
เกินเหล่านี้ มาในตอนเกลากลอน ที่พยายามหาคำสัมผัสสระมาเปลี่ยนจากคำ
ในร่าง ซึ่งคำเดิมในร่างบทกลอนตอนแรก อาจจะตรงใจผู้เขียนมากกว่าคำ
สัมผัสเกิน ที่ปรับตอนหลังเสียอีก คือ คำ ในร่างแรก เป็นการที่ สัมผัส เดินมา
หาผมโดยตรง
                ๒.	 หลายครั้งที่ การคำนึงถึงสัมผัสเกินเหล่านี้มากไป อาจทำให้
กลอนถูกจำกัด พลังแห่งจินตนาการของผู้ประพันธ์มากจนเกินไป เป็นเหตุให้
กลอนขาดพลังในการถ่ายทอดเนื้อหาความคิดที่ต้องการออกไป แต่หากกวี
ท่านใดสามารถทำได้และรักษาพลังจินตนาการไว้ได้ ก็น่าจะใช้สัมผัสเกินได้
                 ๓.	ประเด็นนี้ไม่สำคัญนัก แต่เป็นปัญหาของคนกุลาเอง คือ เสีย
เวลามากขึ้นในการขัดเกลากลอน หากทำไปแล้วเกิดผลดี ก็ควรทำ แต่หาก
ทำแล้วทำให้พลังจินตนาการกลับลดลง ก็เห็นว่าคงต้องกลับไปทบทวนตนเอง
ให้มากขึ้น 

                 ที่วิพากษ์ นี้เป็นประสบการณ์ของคนกุลาเองนะครับ ท่านอื่นอาจ
จะไม่ได้มีปัญหาดังกล่าวนี้ และหากท่านใด มีความเห็น อย่างไร ผมก็ยินดี 
รับฟัง นะครับ

             ปล. ที่ ท่านพี่ แก้วประเสริฐ ติงผมเรื่อง สัมผัสซ้อน นั้น อันที่จริง
แล้ว น่าจะเป็นสัมผัสเกิน นี้ นะครับ ก็ต้องขอขอบคุณ ท่านพี่แก้วฯไว้อีกครั้งนะครับ           


คนกุลา

ในเหมันต์				
24 พฤศจิกายน 2552 15:56 น.

"การชิงสัมผัส"

คนกุลา

การชิงสัมผัส บางท่านเรียก สัมผัสสะท้อน บางท่านเรียก สัมผัสแย่ง ซึ่งตามที่ผม ตรวจ
ดูแล้ว ก็เป็นลักษณะเดียวกัน โดย Yimwhan นั้นออกความเห็นไว้ดังนี้ ว่า 
การชิงสัมผัส....เป็นเรื่องของคำส่งคือคำที่แปดหรือเก้าของวรรค ที่จะส่งเสียงไปสัมผัส
กับวรรคถัดไป ดังนั้นถ้าคำส่ง(คำที่แปดหรือเก้า) เป็นเสียงใด คำก่อนหน้านั้นทั้งเจ็ดหรือแปดคำ 
จะมีเสียงเดียวกับคำส่งย่อมจะเป็นชิงสัมผัสเสียงของวรรคเสมอนะครับ ควรหลีกเลี่ยงเพราะจะ
ทำให้ความไพเราะของกลอนลดลงไป
สำหรับ ม้าก้านกล้วย เรียกข้อห้ามชนิดนี้ ว่า  สัมผัสสะท้อนคำ โดยยกตัวอย่างจาก
บทกลอนว่า ใจ ของวรรคส่ง ในท่อนที่แล้ว จะต้องส่งมาสัมผัสกับ ตำแหน่งท้าย ของวรรครับ
 (คำว่า ใหม่) แต่ วรรคนี้ มีคำว่า ให้ มาสะท้อนสัมผัสเสียก่อน 

....จนไม้โศกสิ้นร่างลงกลางป่า 
ด้วยหนักเหลือภาระจึงสูญสิ้น 
ไม่อาจหาอาหารพอต่อชีวิน 
เพราะกาฝากฝากกากินจนสิ้น(ใจ)
....กาฝากยังชูช่อต่อสายพันธุ์ 
(ให้)กานั้นกินลูกไปปลูก(ใหม่) 
ไม่มีแม้คำอำลาคำอาลัย 
ต้นไม้ใหญ่ที่ตายไป เพราะใครเอย 

สำหรับ บุญเสริม แก้วพรหม นั้นเรียกสัมผัสแบบนี้ว่า สัมผัสแย่ง และอธิบายว่า

หมายถึง การมีเสียงคำอื่นในวรรคเดียวกันมารับสัมผัสเสียก่อนที่จะถึงคำที่อยู่ในตำแหน่ง
รับสัมผัสตามที่กำหนดไว้ในลักษณะบังคับ (เรียกว่า แย่งสัมผัส หรือ ชิงสัมผัส ก็มี) เช่น

หวังประเทศลุกฟื้นคืนจากภัย 
(ไม่) กลัว (ใคร) มากลุ้มรุมข่มเหง
ถึงวัง (เวง) แต่ใจไม่กลัวเกรง 
ถึงมาเบ่งจะสู้ให้รู้กัน

ข้อบกพร่อง คือ
ไม่ มาแย่งสัมผัสเสียก่อนคำว่า ใคร ซึ่งเป็นตำแหน่งบังคับ
เวง มาแย่งสัมผัสเสียก่อนคำว่า เกรง ซึ่งเป็นตำแหน่งบังคับ

กิตติกานต์ จาก บ้านกลอนไทย ก็มีความเห็นไว้ดังนี้
กิตติกานต์เคยถูกติงเรื่อง>>>การชิงสัมผัส เช่น


...บนถนนสายนี้คลุกคลีฝุ่น
แต่เคยคุ้นชินชามาแต่หลัง
(ทั้ง) รักโลภ โกรธหลงปนชิง(ชัง)
ระไวระวังยังพลั้งพลาดแทบขาดใจ

เธอบอกว่า ในบทนี้  สังเกตที่วรรครับ คำสุดท้าย หลัง
ต้องสัมผัสกับ ชัง
แต่ก่อนจะถึงคำรับสัมผัสที่ ชัง
ก่อนชัง ในวรรคเดียวกัน
มีคำที่ใช้สระเดียวกัน คือคำว่า ทั้ง
ทั้ง   จึงเป็นการชิงสัมผัสค่ะ

สำหรับ วาสนา บุญสม ผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงของกลอน ได้เขียนเสนอเรื่องเทคนิค
การเขียนกลอนบางประการ ไว้ในหนังสือ กลอนสัมผัสใจได้อย่างไร โดยบุคคลท่านนี้ได้
เสนอแนะแนวทางเรื่องการเขียนกลอนที่ถูกต้อง และการเลือกสรรคำที่ใช้ในการเขียนกลอนหลาย
แง่มุมด้วยกัน ในส่วนเรื่อง สัมผัสเลือน นั้น ท่านเสนอความรู้และความคิดเรื่องวิธีการชิงสัมผัส
และสัมผัสเลือน ไว้ดังนี้  
           ในการแต่งกลอนแต่ละวรรคไม่ใช้สระเสียงเดียวกันในตำแหน่งคำที่ ๓ กับคำที่ ๘ เพราะ
จะทำให้เกิดการใช้สระเดียวกันในวรรคเดียวกันมากมายเกินไป หรือเป็นการรับสัมผัสที่พร่ำเพรื่อ
จนด้อยความไพเราะและความสมดุล ดังกลอนตัวอย่างที่แสดงถึงความบกพร่องในการใช้คำของ
กลอนแต่ละวรรค ดังต่อไปนี้  
 
ห้วงลึกลมหายใจ  
           นายทุน (จาก) ญี่ปุ่นลงทุน (มาก)      เที่ยวออกปากสร้างโรงงานกว้านซื้อที่ 
ราวดอกเห็ดล้อมเมืองรุ่งเรืองดี                    แต่ยายนี้ทอดถอนใจพึ่งใครเอย 
      
  
ศิลปินอย่างฉัน 
           ทุกข์วิบากยากจนทางชนชั้น              ศิลปิน(ไทย) อย่างฉันย่อมหวั่น (ไหว) 
ยามฉัน (ใด) ฉันจนใครสน (ใจ)                     จะหันหน้าพึ่งใครไม่มีเลย 
      
อิจฉาริษยา  
           	คนอิจ (ฉา) ตาร้อนชอบค่อน(ว่า)           มีจิต(ใจ) ไร้เมตตามากสา (ไถย) 
ส่อนิ(สัย)อันธพาลคิดจัญ(ไร)                                ริษ(ยา)เรื่อยไปในทุก(ครา) 
      
  
ในกลอนบทหลังสุดนี้จะเห็นว่ามีสัมผัสเลือนและชิงสัมผัสทั้ง ๔วรรค ได้แก่วรรคที่ ๑,๒,
๓ และ ๔(ในส่วนที่เน้นตัวอักษรในวงเล็บไว้)

แต่ตามความเห็นผมนั้นเรื่องของ วาสนา บุญสม ที่ผมยกมา น่าจะเป็นการผสมผสานระหว่างสัมผัสเลือนและการชิงสัมผัส หรือ สัมผัสแย่ง ในรูปหนึ่งด้วย นะครับ ผิดถูกอย่างไร ผู้รู้ช่วยกันออกความเห็น ช่วยกันด้วยนะครับ แต่ไม่ว่าจะเป็นสัมผัสเลือน ชิงสัมผัส หรือผสมผสาน
ทั้งสองอย่าง ก็เป็นสัมผัสที่ควรหลีกเลี่ยงเพราะเป็นการทำให้บทกลอนสะดุด หรือสัมผัสเลอะเลือนขาดความไพเราะด้วยกันทั้งสิ้น

ส่วน ประเด็นของการชิงสัมผัสโดยตรงนั้น คือทำให้จังหวะกลอนสะดุด หยุดชะงัก ทำให้ความไพเราะลดลง จึงไม่เป็นที่นิยม

คนกุลา
ในเหมันต์

ขอบคุณ กาลเวลา, บุญสม แก้วพรม, Anna_Hawkins, ช่อประยงค์ (หรือ ประยงค์ อนันทวงศ์),
วาสนา บุญสม, Yimwhan, ม้าก้านกล้วย และ ครูไท ที่ได้มีการค้นคว้าเรียบเรียงเรื่องเหล่านี้ไว้
ให้ได้ไปสืบค้นเพื่อศึกษากัน				
24 พฤศจิกายน 2552 14:44 น.

สัมผัสเลือน

คนกุลา

วันนี้ ผม อยากรู้และอยากคุยด้วยเรื่องสัมผัสเลือน จึงได้ไป ค้นหาอ่านดูจากผู้รู้หลายท่าน ดังนี้ 
Yimwhan เขาว่าไว้ดังนี้ ครับว่า
เรื่องสัมผัสเลือน เป็นสัมผัสในที่วางไว้ไม่ถูกตำแหน่งที่กำหนด ทำให้เสียงเลือนไปอยู่ตำแหน่งอื่น เช่น
   1 2 (3) (4) ((5)) 6 ((7)) 8
ตำแหน่งสัมผัสในจะมีสองคู่ คู่แรกคำที่ 3 และ 4 คู่ที่สองคือคำที่ 5 และ 7
สัมผัสเลือนมักเกิดกับสัมผัสในคู่แรก สัมผัสเลือนเกิดจากคำที่น่าจะอยู่ในตำแหน่งที่ 4 กลับไปอยู่ในคำที่5 (กรณีมีแปดคำ) เสียงที่ลงหนักจะอยู่คำที่สามโดยปกติ เมื่อเป็นสัมผัสเลือนเสียงจะเลื่อนไปในคำที่ 5 แทน
เช่น
หากพูดไป กลัวใจ นี้คอยเก้อ.....คำว่า ใจ เป็นสัมผัสเลือนมีเสียงเดียวกันกับคำว่า ไป
แต่อยู่ผิดตำแหน่งสัมผัส ทำให้เสียงเลื่อนหรือเลือนไป
Anna_Hawkins เขียนโดยอ้างจากหนังสือ กลอน และวิธีการเขียนกลอน เขียนโดย ช่อประยงค์ (หรือ ประยงค์ อนันทวงศ์) ว่า
สัมผัสเลือน หมายถึงสัมผัสที่อยู่ใกล้กันหลายคำ จนทำให้เลอะเลือนไปหมด เช่น 

โอ้เจ้าพวงบุปผามณฑาทิพย์ สูงลิบลิบเหลือหยิบถึงตะลึงแหงน 
หรือ แม้เธอเป็นดอกฟ้าน่าถนอม เหล่าชายล้อมอยู่พร้อมพรั่งดังฝูงผึ้ง 

คำว่า ลิบลิบ กับ หยิบ และ ล้อม กับ พร้อม เป็นสัมผัสรับได้ทั้งนั้น ก็คือทำให้สัมผัส เลือน ไป บางท่านก็ว่า สัมผัสเลือน หมายถึง การสัมผัสคำที่ 3 และ 5 ในวรรครับและส่ง 
โดย Anna วิจารณ์ต่อประเด็นนี้ว่า ถึงแม้ว่าวรรครับและส่งจะมีสัมผัสรับได้ตั้งแต่คำที่ 1 2 3 4 5 6 แต่สัมผัสจะเพราะที่สุดคือคำที่ 3 หรืออนุโลมว่า 5
 
แต่กลอนที่ยกตัวอย่างมา วรรคหนึ่งมี 9 คำ หรือท่อนตรงกลางมี 3 คำ เช่นที่ยกตัวอย่างมา สูงลิบลิบ เหลือหยิบถึง ตะลึงแหงน สัมผัสที่ดีสุดจะอยู่ตรงคำที่ 3 การที่ให้คำที่ 5 สัมผัสด้วยจะไม่เพราะ น่าจะให้คำที่ 6 สัมผัส 
ทีนี้คำที่ 3 และ 5 เกิดมาสัมผัสพร้อมกัน เลยกลายเป็นสับสนแทนว่าตกลงจะอ่านอย่างไร อาจอ่านเพี้ยนเป็นว่า สูงลิบลิบ เหลือหยิบ ถึงตะลึงแหงน ก็ไม่ได้รสกันพอดี สัมผัสเลือนก็เลยไม่พึงปรารถนา Anna ว่าไว้ดังนี้ 
ส่วน กิตติกานต์ บอกว่าในความเห็น ที่เขียนในสัมผัส ซ้ำ-ซ้อนของผมว่า เธอเคยถูกติงเรื่อง
สัมผัสเลือน ว่า>>> สัมผัสเลือน ซึ่งเป็นจังหวะตกของเสียงอ่าน  ๓/๒/๓  หรือ ๓ /๓/๓  โดยยกตัวอย่างประกอบว่า

...พักเถิดหนาดวงใจให้หายล้า
ค่อยฟันฝ่าโลกกว้างทางฝันใฝ่
มหานทีลึกล้ำหากข้ามไป
อาจจมได้/หากไม่/ระวังตน

เธอขยายความ ว่า ในบทนี้ วรรคส่ง 
ที่คำว่า ไม่ จะนับว่าทำให้สัมผัสเลือน
เพราะเป็นจังหวะตกของเสียงอ่าน
๓/๒/๓ 

ส่วน บุญเสริม แก้วพรหม กล่าวว่า สัมผัสเลือน หมายถึง การรับ-ส่งสัมผัสระหว่างวรรคที่ ๑ กับ วรรคที่ ๒ และวรรคที่ ๓ กับ วรรคที่ ๔ กำหนดว่า ให้คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑ สัมผัสกับคำที่ ๓ หรือ ๕ ในวรรคที่ ๒ คำสุดท้ายของวรรคที่ ๓ สัมผัสกับคำที่ ๓ หรือ ๕ ของวรรคที่ ๔ ใช้คำว่า หรือ เพื่อให้เลือกสัมผัสในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเพียงที่เดียว ดังนั้นถ้ารับสัมผัสทั้งในคำที่ ๓ และคำที่ ๕ ไปพร้อมกัน จึงเป็นการสัมผัสเลือน และทำให้กลอน 
ขาดความไพเราะ เช่น 


ในคืนที่เจิดแจ้งด้วยแสงดาว 
นวลสีพราวห้วงหาวราวสวรรค์
คิดถึงคนจากไกลใจผูกพัน 
เพียงรอวันเธอนั้นผันกลับคืน

ข้อบกพร่อง คือ
ดาว ส่ง-รับสัมผัสทั้ง พราว และ หาว
พัน ส่ง-รับสัมผัสทั้ง วัน และ นั้น

จากการศึกษาดู ผมพบว่า สัมผัสเลือน นั้น เป็นสัมผัสที่ไม่เป็นที่นิยม เพราะเมื่อคำสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นสัมผัสนอก ที่รับ-ส่งมา แทนที่จะสัมผัสในคำที่ใน คำที่ 3 หรือ 5 ของวรรค รับ และวรรค ส่ง กลายเป็นสัมผัสในคำอื่นแทนหรือเป็นสัมผัสใน ไม่ตรงตามตำแหน่งที่กำหนด ที่ตำแหน่ง 3 สัมผัส กับ 4 และ 5 สัมผัส กับ 7 ทำให้จังหวะคำ เสียจังหวะไป ทำให้ความไพเราะของกลอนลดลง  

อีกกรณีหนึ่งนักกลอนบางท่าน แม้แต่ตัวผมเองบางครั้งคำนึงถึงสัมผัสในมากไป จนมีการเขียนซ้ำคำ จนกระทั่งคำซ้ำที่ให้เกิดการสัมผัสนั้น เลือนไปจากตำแหน่ง ที่เหมาะสม เลยกลายเป็นสัมผัสเลือน ที่ขาดความไพเราะไปเสียนี่

ก็ลองออกความเห็นแลกเปลี่ยนกันดูนะครับ 

คนกุลา
ในเหมันต์ 

ขอขอบคุณ กาลเวลา, บุญสม แก้วพรม, Anna_Hawkins, ช่อประยงค์ (หรือ ประยงค์ อนันทวงศ์), วาสนา บุญสม, ม้าก้านกล้วย และ ครูไท ที่ได้มีการค้นคว้าเรียบเรียงเรื่องเหล่านี้ไว้ให้ได้ไปสืบค้นเพื่อศึกษากัน				
24 พฤศจิกายน 2552 11:55 น.

การเขียนกลอนสุภาพ หรือ กลอนแปด

คนกุลา

จากการที่ได้เขียนเรื่องสัมผัส ซ้ำ-ซ้อน ขึ้นเพราะความสนใจใคร่รู้แล้ว ทำให้ผมสนใจที่จะค้นคว้าต่อ เกี่ยวกับการเขียน กลอนแปด หรือ กลอนสุภาพ โดยเริ่ม จากจับประเด็นเรื่อง ของสัมผัส เป็นจุดเริ่ม ขอออกตัวเสียก่อนนะครับ ว่าไม่ใช่ผู้รู้ แต่อยากเรียน และหากใครสนใจจะแลกเปลี่ยนและติติง ก็ขอเชิญชวนนะครับ วัตถุประสงค์อีกอย่าง ก็เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้เขียนกลอนใหม่ และสำหรับท่านที่เขียนช่ำชองอยู่แล้ว ก็ถือเป็นการทบทวน และแลกเปลี่ยนพัฒนากันให้ดียิ่งๆขึ้นไปนะครับ  
ตัวอย่าง
        กลอนสุภาพแปดคำประจำบ่อน               อ่านทุกตอนสามวรรคประจักษ์แถลง
ตอนต้นสามตอนสองสองแสดง                       ตอนสามแจ้งสามคำครบจำนวน
        มีกำหนดบทระยะกะสัมผัส                       ให้ฟาดฟัดชัดความตามกระสวน
วางจังหวะกะทำนองต้องกระบวน                        จึงจะชวนฟังเสนาะเพราะจับใจ ฯ

หลักเกณฑ์ทั่วไป-ฉันทลักษณ์ ในการเขียนกลอนแปดนั้นมีดังนี้

๑ . ในหนึ่งบทนั้นจะมี  4 วรรค

วรรคแรกเรียกว่า วรรคสดับ
วรรคที่สองเรียกว่า วรรครับ
วรรคที่สามเรียกว่า วรรครอง
วรรคที่สี่ เรียกว่า วรรคส่ง
คำสุดท้ายของวรรคแรก ควร เป็นเสียงสูง กลางหรือต่ำ เว้นไว้แต่เสียงสามัญห้ามใช้
คำสุดท้ายของวรรคที่สอง ควร เป็นเสียง สูง เสียงเดียว 
คำสุดท้ายของวรรคที่สาม ควร เป็นเสียงกลางหรือต่ำ
คำสุดท้ายของวรรคที่สี่ ควรเป็นเสียงเสียงกลางหรือต่ำเท่านั้น(ห้ามเป็นเป็นเสียงต่ำคำตาย)

๒. ในวรรคหนึ่ง ๆ มีอยู่ ๘ คำ จะใช้คำเกินกว่ากำหนดได้บ้าง แต่ต้องเป็นคำที่ประกอบด้วยเสียงสั้น

๓. การส่งสัมผัส คำที่ ๘ ของวรรคแรก สัมผัสกับคำที่ ๓ หรือคำที่ ๕ ของวรรคที่สอง คำที่ ๘ ของวรรคที่ ๒ สัมผัสกับคำที่ ๘ ของวรรคที่ ๓
คำ ที่ ๘ ของวรรคที่ ๓ สัมผัสกับคำที่ ๓ หรือที่ ๕ ของวรรคที่ ๔ และคำสุดท้ายของวรรคที่ ๔ ส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ของบทต่อไป

๔. วรรคสดับ หรือวรรคแรก คำสุดท้ายใช้คำเต้น คือ เว้นคำสามัญใช้ได้หมด แต่ถ้าจำเป็นจะใช้เป็นเสียงสามัญก็อนุญาตให้ใช้ได้บ้าง แต่อย่าบ่อยนักพยายามหลีกเลี่ยง

๕. วรรครับ หรือวรรคสอง คำสุดท้ายนิยมใช้เสียงจัตวา ส่วน เอก โท ตรี ได้บ้าง ห้ามเด็ดขาดคือ เสียงสามัญ

๖. วรรครอง หรือวรรคสาม คำสุดท้ายนิยมใช้เสียงสามัญ ไม่นิยมใช้เสียงจัตวา หรือคำที่มีรูปวรรณยุกต์

๗. วรรคส่งหรือวรรคสี่ คำสุดท้ายนิยมใช้เสียงสามัญ ห้ามใช้คำตายและไม่นิยมใช้คำที่มีรูปวรรณยุกต์

๘. คำที่ ๓ ของวรรครองและวรรคส่ง ใช้ได้ทุกเสียง

๙. นิยมสัมผัสในระหว่างคำที่ ๕-๖-๗ ของทุก ๆ วรรค

๑๐. นิยมสัมผัสชิดในระหว่างคำที่ ๓-๔ ของวรรคสดับและวรรครอง

๑๑. อย่าให้มีสัมผัสเลือน, สัมผัสซ้ำ, สัมผัสซ้อน, สัมผัสเกิน, สัมผัสแย่ง, สัมผัสเผลอ, และสัมผัสเพี้ยน

สัมผัสประเภทต่างๆในกลอนแปด
@ กลอนแปดจะมีทั้งสัมผัสนอกและสัมผัสใน จึงจะไพเราะ แต่สัมผัสในไม่ได้บังคับว่า จะต้องมี แต่ถ้ามีจะทำให้กลอนไพเราะอีกมาก บางครั้งจะเห็นว่า กลอนบางบทไม่มีสัมผัสในแต่ไพเราะได้เช่นกัน เพราะอาศัยจังหวะและน้ำหนักของคำ ซึ่งในโอกาสต่อๆไปหากมีเวลา ผมจะเขียนถึงเรื่องนี้ แต่วันนี้มาว่าเรื่องสัมผัสก่อน
๑) สัมผัสนอก คือ สัมผัสบังคับของบทร้อยกรองทุกชนิด ได้แก่ สัมผัสที่ส่งและรับกันระหว่างวรรค ระหว่างบาท และระหว่างบท ตามลักษณะบังคับของบทร้อยกรองแต่ละชนิด คำที่ใช้เป็นสัมผัสนอกต้องเป็นคำที่สัมผัสสระเท่านั้น

   สัมผัสนอก เป็น สัมผัสบังคับ

คือ สัมผัสระหว่างวรรค ระหว่างบท เป็นสัมผัสบังคับ ในตำแหน่งที่กำหนดของบทร้อยกรองแต่ละชนิด ซึ่งกำหนดไว้เป็นการเฉพาะตามแผนผังบังคับ สัมผัสนอกใช้เฉพาะสัมผัสสระเท่านั้น 

นอกจากนั้นในกรณีที่มีคำว่า หรือ หมายถึงให้เลือกสัมผัสในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเพียงทีเดียวเท่านั้น
 " สัมผัสนอก " มีลักษณะดังนี้

1   2   3   4   5   6   7   8..............1   2   3   4   5   6   7   8 
1   2   3   4   5   6   7   8..............1   2   3   4   5   6   7   8

- คำสุดท้ายของวรรคแรก จะต้องสัมผัสเสียงกับ คำที่สามหรือห้า ของวรรคสอง
- คำสุดท้ายของวรรคที่สอง จะต้องสัมผัสเสียงกับคำสุดท้ายของวรรคที่สี่ 
- คำสุดท้ายของวรรคที่สอง จะต้องสัมผัสเสียงกับคำที่สามหรือห้า ของวรรคที่สี่ด้วย
  สำหรับสัมผัสสระหว่างบท (กรณีมีมากกว่าหนึ่งบท) 
คำสุดท้ายของวรรคที่สี่ของบท " แรก "
จะต้องสัมผัสเสียงกับคำท้ายของวรรคสองของบทถัดมา 

การหาเสียงว่าคำใดเป็นเสียง สูง กลาง หรือ ต่ำ สามารถเอาคำนั้นๆเข้าไปเทียบเสียงกับการผันพยัญชนะเสียงกลาง ดังนี้ กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า เช่นคำว่า ค้า.......เทียบดังนี้ คา ค่า ค้า ค๊า........คำว่า ค้ารูปเป็นเสียงโทแต่เสียงนั้นเป็น เสียงตรี ตรงเสียงสระ ถ้าเป็น กา ก่า จัดเป็นเสียงต่ำส่วนเสียงสูงคือ ก๋า นอกนั้นจัดได้เป็นเสียงกลาง

๒) สัมผัสใน คือ สัมผัสที่ส่งและรับสัมผัสกันภายในวรรคเดียวกัน เป็นสัมผัสที่ไม่บังคับ สัมผัสในเป็นสัมผัสที่จะทำให้บทร้อยกรองนั้นไพเราะยิ่งขึ้น คำที่ใช้เป็นสัมผัสใน จะเป็นคำที่สัมผัสสระหรือสัมผัสอักษร ก็ได้  สัมผัสใน โดยทั่วไปไม่ได้บังคับว่าจะต้องมีหรือไม่ แต่ถ้าหากมีจะทำให้กลอนไพเราะมากยิ่งขึ้นแต่ถ้าไม่มีก็สามารถทำให้กลอนไพเราะได้เช่นกัน ถ้าแต่งให้สละสลวย 
        1 2 (3) (4) ((5)) 6 ((7)) (((8))

สัมผัสในจะมีสองคู่ๆแรกคือคำที่สามและสี่ คู่ที่สองคือคำที่ห้าและเจ็ด ของวรรคสัมผัสนั้นเป็นการสัมผัสเสียง ส่วนคำที่แปดคือคำส่งสัมผัส

- ส่วนกรณีที่วรรคหนึ่งมีเก้าคำกลอน สัมผัสในจะมีลักษณะดังนี้

        1 2 (3) (4) 5 ((6)) 7 ((8) (((9)))

จะเห็นได้ว่าสัมผัสในคู่ที่สองจะเปลี่ยนไปเป็นคำที่หกและแปด ส่วนคำที่เก้าเป็นคำเสียงส่งของวรรคไปสู่วรรคต่อไปเท่านั้น
ในการดูตัวอย่างสัมผัสใน ขอยกตัวอย่างกลอนของสุนทรภู่ว่าสัมผัสอย่างไรกัน 
            ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
   แม้นเกิดในใต้หล้าสุธาธาร ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา 

            แม้ท่านจะไม่ได้ใช้เช่นนี้ทุกวรรค แต่สังเกตว่าท่านพยายามให้ลงแบบนี้ สรุปได้ว่า คำที่ 3 สัมผัสคำที่ 4 และคำที่ 5 สัมผัสคำที่ 7 (จะสัมผัสสระหรืออักษรก็ได้) ก็ฟังดูไพเราะ อันนี้แล้วแต่สไตล์ของแต่ละคน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว จนบางคนว่าเห็นกลอนก็รู้ได้ว่าใครแต่ง เป็นต้น 

               บางคนมัวแต่คิดจะเล่นสัมผัสใน จนบางทีเกิดปัญหาสัมผัสไม่พึงปรารถนาขึ้น สัมผัสเหล่านี้ ช่อประยงค์ เขียนไว้ จะมี สัมผัสเลือน สัมผัสซ้ำ สัมผัสเกิน สัมผัสแย่ง สัมผัสเผลอ และสัมผัสเพี้ยน ซึ่งผมได้เขียนเรื่อง สัมผัสซ้ำ-ซ้อนไปแล้ว ส่วนสัมผัสผิดพลาด หรือสัมผัสที่ไม่นิยมใช่กันอย่างอื่น ผมจะทยอยเขียนเรียบเรียงไปตามกำลังที่มีนะครับ
              ที่เรียบเรียงมานี่ ก็จากการไปอ่านและค้นคว้ามาจากท่านผู้รู้ หากท่านใดรู้ในบางแง่มุมจากนี้ ช่วยเพิ่มเติม วิพากษ์ วิจารณ์ ด้วยนะครับ เพราะฉันทลักษณ์ เหล่านี้เป็นเพียงพื้นฐาน แต่การใช้ลูกเล่นที่เป็นความเชี่ยวชาญ หรือเป็นเอกลักษณ์ เฉพาะตัวนั้น ก็เป็นเรื่องของเฉพาะบุคคลอยู่แล้ว นะครับ

คุณกุลา

ในเหมันต์


ขอบคุณ กาลเวลา, บุญสม แก้วพรม, Anna_Hawkins, ช่อประยงค์ (หรือ ประยงค์ อนันทวงศ์), วาสนา บุญสม, ม้าก้านกล้วย และ ครูไท ที่ได้มีการค้นคว้าเรียบเรียงเรื่องเหล่านี้ไว้ให้ได้ไปสืบค้นเพื่อศึกษากัน				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟคนกุลา
Lovings  คนกุลา เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟคนกุลา
Lovings  คนกุลา เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟคนกุลา
Lovings  คนกุลา เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงคนกุลา