12 มกราคม 2553 12:20 น.

**วรรณกรรม..สนทนา.."เรื่องนามปากกา"**

คนกุลา

"นามปากกา นี้ ท่านได้แต่ใดมา ?" และ 
 "นามปากกานั้นสำคัญไฉน?"

      ต้องขอขอบคุณและขออนุญาต กระทู้ เปิดเวทีถามไถ่ หัวข้อ 
"นามปากกา"นี้ไซร้ท่านได้แต่ใดมา...ของ ชาวบ้านกลอนไทย
      ที่ทำให้ผมนึกสนุก และอยากรู้ เลยไปค้นคว้าหาอ่าน และเก็บ

ความมาเขียนกระทู้ นี้ขึ้น  
      ก่อนอื่นต้องกล่าวสวัสดีปีใหม่กับชาวบ้านกลอนไทยทุกท่าน ขอให้

มีความสุขสันต์กันถ้วนหน้า ในปี ๒๕๕๓ นะครับ

       คำว่านามปากกา หากไปเปิดดู พจนานุกรมฉบับ ราช

บัณฑิตยสถาน จะบอกไว้อย่างนี้ ครับ

       นามปากกา น. ชื่อแฝงที่นักเขียนหรือนักประพันธ์ใช้แทนชื่อ     

                          จริงของตน
       คำใกล้เคียงคือ คำว่า 
       นามแฝง น.  ชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อพรางหรือแทนชื่อจริง
 

       สำหรับชาวบ้านกลอนไทย ให้เหตุผลว่าจากการที่เปิดมาได้สักสิบ

ปีแล้ว มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  บ้างก็อยู่มาตั้งแต่เปิดบ้านใหม่ จน

กระทั่งถึงทุกวันนี้ก็มี บ้างก็ล้มหายตายจาก?  บ้างก็พึ่งมาร่วมเรือน

หลังงาม ณ ที่แห่งนี้

        เนื่องด้วยอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ บางคนเดินผ่านกันไปมา 

อาจจะยังไม่รู้จักชื่อเสียงเรียงนามของกันและกัน ว่าเป็นมาอย่างไร จึง

เปิดเวที ถามไถ่  นามปากกาอันงดงามนี้ไซร้ ท่านได้แต่ใดมา? 
 
        จากการเปิดเวทีถามไถ่...นามปากกานี้ไซร้ ท่านได้แต่ใด

มา... ก็มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็น  ยี่สิบกว่า ท่าน ดังนี้  
   
        ความคิดเห็นที่ 1 :   
เรา "ชาวบ้านกลอนไทย"
ก็เพราะใช้ชื่อบ้านนี้เป็นที่พัก
ร่วมจับมือเกี่ยวก้อยร่วมร้อยรัก
ร่วมสลักมธุรสเป็นบทกลอน

         ความคิดเห็นที่ 2 
มาจากคำว่า "butterfly effect"
ผีเสื้อขยับปีกเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ 
ผีเสื้อกระพือปีก 
 
 
 
         ความคิดเห็นที่ 3 :   
"ยาแก้ปวด"ชื่อนั้นฉันได้มา
เพื่อรักษาเพื่อนกลอนตอนหวลไห้
ไร้สาระบันเทิงระเริงใจ
เมาที่ไหนที่นั่นคือฉันเอง....

         ความคิดเห็นที่ 4  
จากแรกเริ่มเดิมทีไม่มีชื่อ
อาศัยสื่อนามแฝงแต่งภาษา
จวบเมื่ออ่านหนังสือที่ซื้อมา
จึงบังเกิด"อัลมิตรา"ในครานั้น

ชื่ออัลมิตรา มาจากหนังสือปรัชญาชีวิต ของคาลิล ยิบรานห์ ชาว

เลบานอน ค่ะ 
 
          ความคิดเห็นที่ 5  
นาม"เฌอมาลย์"ไร้ที่มาและที่ไป
ตั้งตามใจบ้าดารามานานเนิ่น
ชอบชื่อพลอยเฌอมาลย์นานเหลือเกิน
ไม่เคอะเขินล็อคอินเดี๋ยวชินเอง...

           ความคิดเห็นที่ 6  
"เฌอแก้ปวด"นามนี้มีเฉพาะกิจ
เกิดเพราะฤทธิ์แอลกอฮอร์หนอชื่อฉัน
ยามเราสองปรองดองฉลองกัน
แสนเมามันส์อักษราภาษาเมา.....

            ความคิดเห็นที่ 7   
นาม"เทียนหยด"ที่ใช้เพราะใจชอบ
จึงขอตอบทันใดมิใช่ฝัน
เป็นไม้ดอกที่ปลูกจึงผูกพัน
ในทุกวันนั่งชมภิรมย์เพลิน


เป็นคนชอบสีม่วงค่ะ..และดอกเทียนหยด
ที่ปลูกไว้ก็เป็นสีม่วง.. เลยนำมาตั้งเป็น
นามปากกาซะเลย..ถูกใจสุดๆชื่อนี้   
 
            ความคิดเห็นที่ 8   
= สิ้ น ฝั น = ใช่ฉันจะสิ้นชื่อ
ใช้ยึดถือเอาไว้สอนใจฉัน
ให้อยู่แต่แค่ในปัจจุบัน
ไม่เพ้อฝันหรืออาลัยในวันวาน

           ความคิดเห็นที่ 9 : 
"สุรศรี"มีที่มา 
คือผู้กล้าทำความดี
หลายคนนั้นอาจมี
แต่ไม่กล้าที่จะทำ 
 สุรศรี 
 
 
            ความคิดเห็นที่ 10  

"ลูกหว้า"นามนี่มีที่มา
เดิมนาสมัยเป็นstudent
ยืนเคารพธงชาติหน้าทะเล้น
เจ้าลูกหว้าหล่นเต้นกระทบเสื้อ

เสื้อขาวเปื้อนสี..
สีหน้าเริ่มเจื่อนหมอง
ใจข้าเริ่มติตรอง
ลูกหว้าตีตราจองบนเสื้อขาว..
...ซักไม่ออกเศร้าใจเอย
**********************
เหอๆก้อตอนแรกนึกว่าใครบังอาจมาปาหลัง
ทำเอาจุกเลย...เสื้อขาวก้อเปื้อน
จำติดใจเลยลูกสีม่วง..
เด้งกระทบหลัง..หน้าเสาธงรร.เก่า(สทช.)
ต้นหว้าบานจะไท
...ก้อเลยหยิบมาใช้
 
            ความคิดเห็นที่ 11 
นามปากกานี้ได้มาโดยบังเอิญ

ณ ห้องสมุดอันกว้างใหญ่ไพศาล
ล้านหนังสือก่ายกองดุจขุนเขา

ฉันเดินเข้าไปในมุมสงบเงียบ ไร้ผู้คน

หนังสือเล่มหนึ่งปรากฏแก่สายตา
ฉันหยิบขึ้นมา และเปิดไปหน้าหนึ่ง

นำมาซึ่งนามนั้น ....."ธันวันตรี"

            ความคิดเห็นที่ "12"  
นาม"เรริน" ชื่อนี้มีที่มา
คือฉายาคนรักสลักหมาย
อยากให้ฉันพากเพียรเขียนนิยาย
วาดฝันปลายเฟื่องฟุ้งดุจรุ้งงาม

สรุปว่า....คุณแฟนตั้งให้... 

 ความคิดเห็นที่ 13  
"เอื้องอังกูร"..ก่อเกิดกำเนิดสร้าง
มิใช่นางแต่เป็นายมิหน่ายหนี
ชื่อว่าเอื้องประหนึ่งว่าสตรี
อังกูรมี หน่อเนื้อ หญิงเหนือเอย

เอื้อง...เป็นสัญลักษณ์ของหญิงเหนือ
อังกูร..คือเลือดเนื้อเชื้อไข
เอื้องอังกูรคือ..ลูกของแม่ญิงคนเมือง
สรุปก้อคือลูกคนเหนือคับ..
ลูกป้อจายข้าวนึ่งคับ 
 
            ความคิดเห็นที่ 14  
ยิปซี...เพราะเป็นเหมือนคนเร่ร่อน
ไร้เสื่อหมอนนอนไหนใจแสวง
เดินทางทั่วไทยเท่าใจมีแรง
ใจแสวงไขว่คว้าหาเพื่อทำกิน
(มาจากชนเผ่าเผ่าหนึ่งในการ์ตูน..ฟอสทีน..)

โฟว์..คือเลข 4 ที่ชอบมาก
และนายมาร์คลอว์เรนสันเขาใส่อยู่
วันนั้นดูฟุตบอลในจอตู้
มาร์คทำประตูชัยให้ลิเวอร์พูลชนะเอย

"ยิปซี4"..ใช้ชื่อนี้ตั้งแต่สมัยเรียนครับ
30 กว่าปีแล้ว..เพื่อนรุ่นน้องเขาบอกว่าเหมาะดีเพราะเป็น
คนที่เดินทางไม่สิ้นสุดและชอบเลข 4กับสีม่วงเป็นชีวิตจิตใจครับ

           ความคิดเห็นที่ 16 :  
**.. อักษรย่อ ก.ไก่ ในนามนี้
       ชื่อจริง-เล่น ล้วนมี ที่ขึ้นต้น
       อาจเรียก ก้อง  หรือ เกรียงไกร  ตามใจดล
       ใช้ปะปน ไม่เน้น ไม่เป็นไร..

**.. ชื่อ ประแสร์  แลคือ ชื่อบ้านเกิด
       ถือกำเนิด ชายคา พักอาศัย
       คนเมืองแกลง เชื้อกวี ล้วนมีไฟ
       สุนทรภู่ ครูใหญ่ ในเชิงกลอน..

**..  ศิษยาพร  นามฤๅ คือลูกศิษย์
       ผู้มีจิต เข้มขลัง ดังเก่าก่อน
       น้อมรำลึก  พระองค์เจ้าอาภากรฯ 
   กรมหลวงชุมพร  ชนโจษจัน..

**.. แลต่อมา จิตตระหนัก เป็นนักกฎหมาย
       ศรัทธาหนึ่ง พร่างพราย ใจยึดมั่น
       อุทิศใน  องค์รพี  ฝากชีวัน
       ยุติธรรม์ จึงฝากฝัง ยังโลกา..

**.. นาม  รพี  แลนาม  อาภากร 
       คือ  อาทิตย์  รังสิธร ตอนเจิดจ้า
       นิยามสอง เป็นหนึ่งเดียว เกี่ยวข้องมา
   ศิษยาพร  คือศิษยา สองพระองค์

**.. คือนามหลัก จารลง ผจงเขียน
       หวังแนบเนียน ถ้อยความ ตามประสงค์
       หวังร้อยกรอง ของไทย ให้ดำรง
       จิตยังคง ชื่นรส บทกวี...

            ความคิดเห็นที่ 17  
**  ประทับตรา ตรึงไว้ ในดวงจิต
เทพนิมิต สรวงสวรรค์ สุดหรรษา
งามจาตุ  มหา  ราชิกา
คือที่มา...แห่งนาม เมื่อยามยล.....ฯ

ในช่วงหนึ่งของชีวิต...ได้ไปปฏิบัติ
วิปัสสนากรรมฐาน...ในนิมิตที่เห็น...
พบตนเอง..อยู่บนสถานทิพย์วิมานแห่งหนึ่ง...
ซึ่งมีชื่อว่า...จาตุมหาราชิกา...

จึงกลายเป็นที่มา..ของนามปากกา.."ราชิกา"..ค่ะ

            ความคิดเห็นที่ 18 

นาม"ดอกบัว"มิมัวแถมชัวร์ชื่อ
นามนี้หรือพ่อแม่แปลมาใช้
ดอกบัวอยู่หนองบึงพึ่งแนวไพร
อยู่ตามไร่คูคลองหนองกลางนา

จากบ้านป่าชนชานบ้านท้องทุ่ง
มีผักบุ้งเคียงคล้องตามหนองป่า
นามง่ายง่ายแม่หมายให้ยายตา
เรียกหลานย่าป่าพงดงดอกบัว

            ความคิดเห็นที่ 19  
o กิ่ง เพียงเสี้ยวหนึ่งก้าน......กุมใบ
โศก แค่เศษพงไพร......พุ่มต้น
ทุกข์เทวษเกินใด..........ดูเทียบ
รวมรากดอกเต็มล้น.....ร่างสิ้นกลบฝัง ฯ

..เสี้ยวหนึ่งของชีวิตที่เผชิญ ชะตาในเมืองหลวง 
ความทรหดอย่างเดียวที่พยุงร่างแลหัวใจให้คงมั่น 
อย่างลำบากลำบน...นับเป็นความทุกข์ทรมานยิ่ง
แต่ก็ปลุกปลอบตัวเองเสมอมาว่า นี่เพียงส่วนหนึ่ง
เท่านั้น..หากเปรียบความทุกข์ คือต้นไม้ใหญ่ 
สิ่งที่เราได้รับ มันเป็นเพียง ส่วนหนึ่ง หรือกิ่งเล็กๆ
ของทั้งต้น เท่านั้นเอง

.."กิ่งโศก"..ที่รอโศกเต็มต้น หรือ จะรอ..
อโศก..นามนี้จึงอุบัติขึ้น.. 

           ความคิดเห็นที่ 20  
 ข้าพเจ้า นามว่า.."เสียงหัวเราะ"...ชีวิตมิค่อยมี
เสียงหัวเราะเท่าใดนัก  แต่จักแลมีเสียงหัวเราะใน
ความเงียบบ้าง....นานทีปีหนจึงมีร้อยเรียงกลอน
มาให้อ่าน  เพราะมีภาระกิจมากมายหลายสถาน....
กว่ายี่สิบปีที่เกิดมา...ยังมองหาความสุขที่แท้จริง
มิได้เลย...ยังหาผู้ใดสักคน..มาคอยเติมเต็ม
ชีวิตที่ขาดหายไป.... 
 
            ความคิดเห็นที่ 21 
๐ "คนกุลา"คราก่อนรอนแรมฝัน
ในทุ่งอันใหญ่กว้างและร้างแล้ง
แดดระยิบพริบพรายสายลมแรง
ท่ามชนแกร่งแล้งฝน"คนกุลา"

มาจากตำนานของชาวกุลา และทุ่งกว้าง 
แห่งอดีตอันแล้งร้าย นามทุ่งกุลาร้องไห้
นะครับ 

            ความคิดเห็นที่ 22 
"อนงค์นาง"... นามนี้ชอบนักหนา
มีทีมาที่ไปในความหลัง 
ชอบนิยายอ่านได้ทุกวันจัง 
เรื่องหนึ่งยังจำได้..ใช่เลยคุณ 

ตอนวัยรุ่นชอบอ่านนวนิยายค่ะ 
เป็นชื่อนางเอกนิยายเรื่องหนึ่ง
ชอบมากเพราะฟังดูหวานเป็นผู้หญิงจัง 

           ความคิดเห็นที่ 23 
 
กุ้ง=ชื่อเล่น
หนามแดง=ที่พำนัก
"กุ้งหนามแดง"
:)  แค่นี้แหละไม่ซับซ้อน..
   
 
 
           ความคิดเห็นที่ 25 
เคยใช่นามบากกาว่า.......
แต่มิอาจหวานได้ดังใช้ชื่อ
เมื่อเริ่มเขียนเรื่องสั้นหมั่นฝึกปรือ
จึงใช้ชื่อ "วงศ์ตะวัน" แต่นั้นมา

           ความคิดเห็นที่ 26 
"น้ำตาลหวาน" ห่างไกลจากตัวฉัน
เหตุชอบนั้นอยากหวานนานหนักหนา
เป็นสาวห้าว เรียบร้อย ด้อยหวานมา
นามปากกา มาจากใจ ก็ใจอยากเป็น

เป็นคนบุคคลิกเรียบร้อยแต่ไม่อ่อนหวาน
ก็อยากจะหวานๆมั่งค่ะ

     ความคิดเห็นที่ 27 
 
 
   
"Golden Snitch" is the name of a 

small bird from "Harry Potter" 

also part of the popular game 

"Quidditch"
but, personaly I like silver much 

more than gold 

then, I changed from "Golden 

Snitch" to ""Silver Snitch"

catch me if you can !!
bye 
  
            หลังจากอ่านกระทู้ของชาวบ้านกลอนไทยแล้ว ก็ได้ลองเข้าไป

ค้น สารพันข้อสังเกตเกี่ยวกับ เรื่อง นามปากกา ในเว็ปอื่นๆ ก็ได้เห็น

แนวทางในการตั้งนามปากกาเพิ่มเติม ทั้งในแง่นามปากกาของนัก

กลอนและนามปากกาของนักเขียนอื่นๆ ซึ่งผู้เรียบเรียงขอเรียงลำดับ
ความเห็นต่อไปเลยเพื่อสะดวกในการอ่าน ดังนี้นะครับ 

            ความเห็นที่ 28 ...โดย   จินตานุภาพ        
 เมื่อก่อนนี้ก็ไม่คิดว่านามปากกาจะเป็นเรื่องจริงจังขนาดนี้   แค่คิดว่า

เป็นชื่อที่เราชอบและแสดงถึงตัวตนของเราก็พอ   แต่พอมาอ่านความ

เห็นของทุกๆคนดูแล้ว  ก็เห็นความสำคัญของนามปากกาขึ้นมาทันที 

และก็รู้สึกว่า  เป็นคำแนะนำเบื้องต้นของการตั้งนามปากกาได้เลย

            ความเห็นที่ 29 ...โดย   ปอฝ้าย  
 "  ปอฝ้าย  " นี่ก็นามปากกาของฝ้ายเอง  ฝ้ายคิดว่าหากเรา

อยากจะตั้งนามปากกาของตัวเอง  ฝ้ายก็จะนำแรงบันดาลใจที่ทำให้เรา

อยากเขียนหนังสือมาเรียงเรียง  เป็นชื่อที่เราอยากตั้ง  อาจจะให้ชื่อ

แหวกแนวบ้าง  ก็ดูดีมีสไตล์ของแต่ละคน  อย่างฝ้าย  "  ปอฝ้าย " 

เนี่ย  ก็เกิดจากแรงบันดาลใจที่ทำให้อยากเป็นนักเขียนและชื่อของตัว

เองเข้ามาผสมกัน  ทำให้เกิด  "  ปอฝ้าย "  เดินทางอยู่บนเส้น

ทางนักเขียนอีกคน...........

              ความเห็นที่ 30 ...โดย   ทอฝัน  
 ทอฝันมาจากว่า ในเมื่อเราจะแต่งเรื่องซักเรื่องควรจะลองคิดสรรหา

นามปากกาให้คนสนใจ ฝันแต่งเรื่องจากความฝัน (อาจจะงง ก็คือฝัน 

(ประธาน) ฝัน (กิริยา) ถึงพล๊อตเรื่อง ว่าตัวเองจะวางแนว

ไหนอย่างไร แล้วมันก็กลายมาเป็นเช่นนี้) ทอฝันมันก็ออกภาษาพื้นๆ 

ซึ่งถูกใจฝันเป็นที่สุด

            ความเห็นที่  31 ...โดย   หนุ่มขี้เหงา  
ที่ใช้นามปากกาว่า 'หนุ่มขี้เหงา' ก็เพราะ ได้แรงบันดาลใจมาจาก

ภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง

            ความเห็นที่  32 ...โดย   ชายช่างภวนา    
            เมื่อก่อนผมไม่ค่อยพอใจกับชื่อจริงที่พ่อแม่ตั้งให้เลย ผมรู้สึก

ว่ามันโหลและดูไม่ไพเราะเมื่อเทียบกับชื่อของคนอื่น ๆ ในเมื่อชื่อเพราะ 

ๆ และคำไทยอีกมากมายที่ดูสละสลวยความหมายดีซึ่งดูหรูหราและ

ธำรงความไพเราพได้ครบถ้วนกว่าชื่ในปัจจุบัน แต่พอต้องมาตั้งชื่อ

นามปากกาของตัวเองถึงได้รู้ว่าการตั้งชื่อไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างการตั้งชื่อ

สัตว์เลี้ยงเลย ธรรมชาติของผมบอกว่าชื่อที่ให้ก็ให้เป็นชื่อที่เราเป็น เรา

อยู่กับตัวเองมาตั้งครึ่งชีวิตแล้วในตอนนี้ ดังนั้นการตั้งนามปากกาน่าจะ

เน้นความเป็นตัวเองภายในออกมา ส่วนความไพเราะนั้นค่อยว่ากันที

หลังก็ยังไม่สายนี่นา..

             ความเห็นที่  33 ...โดย   maichan  
 เรื่องนามปากกาก็มีปัญหาเหมือนกันค่ะ เพราะยังไม่มีนิยายที่ได้รับ

การตีพิมพ์ก็เลยไม่รู้จะใช้อะไรจะใช้ maichan ก็ดูเด็กไป เพราะ

ใช้ชื่อนี้เขียนอะไรเล่นๆตั้งแต่สมัยเรียน

ตอนนี้ชอบชื่อ โมไนย เพราะมีความหมายที่ดีมาก คิดว่าชื่อนี้น่าจะใช้

ได้หลายแนวแต่ไปๆมาๆ ก็อยากเปลี่ยนเสียแล้ว

เป็นคนหลายใจมากมายอ้อ...พูดถึงนามปากกาที่ชอบ
ชอบชื่อนี้จัง "เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย"จำได้ติดใจเลยล่ะค่ะ
ช่วงนี้ก็เลยเสาะหานามปากกาไปเรื่อยๆจนกว่าจะถูกใจนั่นแหละ

               ความเห็นที่ 34 ...โดย   นักเขียนไร้สมอง     
               มีปัญหาเหมือนกันค่ะ เรื่องนามปากกา เมื่อก่อนเคยใช้ว่า 

Black_Witch แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็น ~นักเขียนไร้สมอง~ 
ไม่รู้ว่าจะเข้ากับแนวที่แต่งมั้ยเหมือนกัน  เพราะจากที่อ่านความเห็น 

ต่างๆ มา ส่วนใหญ่ก็ลงความเห็นว่า แนวแฟนตาซีควรใช้เป็นภาษา

อังกฤษ 

               ความเห็นที่ 35 ...โดย   ตะวันสีรุ้ง  
               ตั้งชื่อที่ตัวเองชอบอาจจะมีความหมายอ้อนเพื่อไม่ให้ใครรู้

ว่าเราเป็นใครหรือไม่ก็ใช้การแปลหลายๆชั้น เช่น ชื่อฟ้า ก็ นภา  

อะไรอย่างนี้ก็เพราะไปอีกแบบ  

      เขียนไปเขียนมา ชักจะยาว จึงขอจบแนี้ก่อน แล้วจะมาต่อตอนจบ
ใน ตอนหน้านะครับ



............

แหล่งอ้างอิง

www.jj-book.com/jjtalk1/view.php?qs_qno=379
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=242977
www.atriumtech.com/cgi-bin/hilightcgi?Home=/home/... 
http://www.abhakara.com/webboard/index.php?topic=885.0
http://www.thaipoem.com/forever/ipage/board6545.html
..........


คนกุลา (เรียบเรียง)

ในเหมันต์

มีต่อตอนสอง(จบ)				
7 มกราคม 2553 10:30 น.

**วรรณกรรม...วิพากษ์..!!**

คนกุลา

วรรณกรรมไทย จากการค้นคว้าศึกษา ผมพบว่า
ในแต่ละยุคสมัย มีการพัฒนากันมาอย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งบางคราวก็มีความเห็นที่แตกต่างกันจนกระทั่ง
มีการกล่าวหา กันว่าการประพันธ์
บางอย่าง เป็นการทำลายวรรณกรรม ไปโน่น..!!

ชาวบ้านกลอนไทย ในฐานะผู้สนใจ อนุรักษ์ และ
สืบสาน พัฒนา งานวรรณกรรมไทย กลุ่มหนึ่ง ที่
ต่อเนื่อง นับสิบปี มีประสบการณ์ และความคิดเห็น
ในเรื่อง นี้อย่างไรบ้าง ครับ ลองแลกเปลี่ยนกันดู
นะครับ...!!!


...........

คนกุลา 

ในเหมันต์				
5 มกราคม 2553 18:48 น.

**กาพย์เห่เรือ**

คนกุลา

กาพย์เห่เรือ เป็นคำประพันธ์ประเภทหนึ่งของไทย แต่งไว้สำหรับขับ

ร้องเห่ในกระบวนเรือ โดยมีทำนอง เห่ที่สอดคล้องกับจังหวะการพาย

ของฝีพาย ว่าช้า หรือเร็ว มักจะมีพนักงานขับเห่หนึ่งคนเป็นต้นเสียง 

และฝีพายคอยร้องขับตามจังหวะ พร้อมกับการให้จังหวะจากพนักงาน

ประจำเรือแต่ละลำ

กาพย์เห่เรือนั้น ใช้คำประพันธ์ 2 ชนิดด้วยกัน นั่นคือ กาพย์ยานี 11 

และโคลงสี่สุภาพ เรียงร้อยกันในลักษณะที่เรียกว่า กาพย์ห่อโคลง โดย

มักขึ้นต้นด้วยโคลง 1 บท แล้วตามด้วยกาพย์ยานี เรื่อยไป จนจบ

ตอนหนึ่งๆ ในบางกรณี อาจจะจบลงด้วยโคลงอีกหนึ่งบทก็ได้ แต่ไม่

ค่อยเห็นบ่อยนัก เมื่อจะขึ้นตอนใหม่ ก็จะยกโคลงสี่สุภาพมาอีกหนึ่งบท

แล้วตามด้วยกาพย์จนจบตอน เช่นนี้สลับกันไป 

กาพย์เห่เรือที่เก่าแก่ที่สุด ที่พบในเวลานี้ คือ กาพย์เห่เรือในเจ้าฟ้าธรรม

ธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยอยุธยา

ตอนปลาย ทรงแต่งไว้ 2 เรื่อง คือบทเห่ชมเรือ ชมปลา ชมไม้ และ

ชมนก มีลักษณะเป็นเหมือนนิราศ กับอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องกากี

สันนิษฐานกันว่ากาพย์เห่เรือ เดิมคงจะแต่งเพื่อขับเห่กันเมื่อเดินทางไกล

ในแม่น้ำลำคลอง แต่ในภายหลังคงมีแต่งใช้แต่เจ้านายหรือพระ

ราชวงศ์ชั้นสูง และสุดท้ายมีใช้แต่ในกระบวนเรือของพระเจ้าแผ่นดิน

เท่านั้น

กาพย์เห่เรือไม่สู้จะนิยมประพันธ์กันมากนัก เนื่องจากถือเป็นคำ

ประพันธ์สำหรับใช้ในพิธีการ คือ ในกระบวนเรือหลวง หรือกระบวน

พยุหยาตราชลมารค ไม่นิยมใช้ในพิธีหรือสถานการณ์อื่นใด การแต่ง

กาพย์เห่เรือจึงมักแต่งขึ้นสำหรับที่จะใช้เห่เรือจริงๆ ซึ่งในแต่ละรัชกาล 

มีการเห่เรือเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น

กาพย์เห่เรือที่ปรากฏเป็นที่แพร่หลายจนถึงปัจจุบัน

กาพย์เห่เรือ พระนิพนธ์ ในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ นิยมใช้เห่ในกระบวน
เรือหลวงจนถึงปัจจุบัน 

กาพย์เห่เรือ พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย 
(ชมเครื่องคาวหวาน และผลไม้) 

กาพย์เห่เรือ พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 
(ชมสวน ชมนก ชมไม้ และชมโฉม) 

กาพย์เห่เรือ พระนิพนธ์ ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรม
พระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ชมเรือ) 

กาพย์เห่เรือ พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 
(ชมเรือ ชมพระนคร ชมปลา เห่ครวญ เป็นต้น) 

กาพย์เห่เรือ พระนิพนธ์ ในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ 
(ทรงพระนิพนธ์ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระ
ราชพิธีทรงเปิดสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์) 

กาพย์เห่เรือ นิพนธ์ โดย นายฉันท์ ขำวิไล ในวาระฉลอง 25 พุทธ
ศตวรรษ 

กาพย์เห่เรือ นิพนธ์ โดย นายหรีด เรืองฤทธิ์ ในวาระฉลอง 25 พุทธ
ศตวรรษ 

กาพย์เห่เรือ ประพันธ์โดย นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย กระบวนพยุห
ยาตราทางชลมารค ในงานเอเปค ๒๕๔๖  


 
    ๑. ขอโหมโรงด้วยการอัญเชิญ กาพย์เห่เรือ เห่ชมเครื่องคาวหวาน
ซึ่งป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย 
(รัชกาลที่ ๒)

เห่ชมเครื่องคาว

โคลง
๏ แกงไก่มัสมั่นเนื้อ        นพคุณ พี่เอย 
หอมยี่หร่ารสฉุน            เฉียบร้อน 
ชายใดบริโภคภุญช์        พิศวาส หวังนา 
แรงอยากยอหัตถ์ข้อน     อกให้หวนแสวง ๚

กาพย์
๏ มัสมั่นแกงแก้วตา        หอมยี่หร่ารสร้อนแรง 
ชายใดได้กลืนแกง          แรงอยากให้ใฝ่ฝันหา 
๏ ยำใหญ่ใส่สารพัด        วางจานจัดหลายเหลือตรา 
รสดีด้วยน้ำปลา             ญี่ปุ่นล้ำย้ำยวนใจ 
๏ ตับเหล็กลวกหล่อนต้ม  เจือน้ำสมโรยพริกไทย 
โอชาจะหาไหน             ไม่มีเทียบเปรียบมือนาง 
๏ หมูแนมแหลมเลิศรส   พร้อมพริกสดใบทองหลาง 
พิศห่อเห็นรางชาง          ห่างหอหวนป่วยใจโหย 
๏ ก้อยกุ้งปรุงประทิ่น      วางถึงลิ้นดิ้นแดโดย 
รสทิพย์หยิบมาโปรย      ฤๅจะเปรียบเทียบทันขวัญ 
๏ เทโพพื้นเนื้อท้อง        เป็นมันย่องล่องลอยมัน 
น่าซดรสครามครัน        ของสวรรค์เสวยรมย์ 
๏ ความรักยักเปลี่ยนท่า   ทำน้ำยาอย่างแกงขม 
กลอ่อมกล่อมเกลี้ยงกลม  ชมไม่วายคลับคล้ายเห็น 
๏ ข้าวหุงปรุงอย่างเทศ     รสพิเศษใส่ลูกเอ็น 
ใครหุงปรุงไม่เป็น          เช่นเชิงมิตรประดิษฐ์ทำ 
๏ เหลือรู้หมูป่าต้ม          แกงคั่วส้มใส่ระกำ 
รอยแจ้งแห่งความขำ      ช้ำทรวงเศร้าเจ้าตรากตรอม 
๏ ช้าช้าพล่าเนื้อสด        ฟุ้งปรากฏรสหื่นหอม 
คิดความยามถนอม        สนิทเนื้อเจือเสาวคนธ์ 
๏ ล่าเตียงคิดเตียงน้อง     นอนเตียงทองทำเมืองบน 
ลดหลั่นชั้นชอบกล         ยลอยากนิทรคิดแนบนอน 
๏ เห็นหรุ่มรุมทรวงเศร้า รุ่มรุ่มเร้าคือไฟฟอน 
เจ็บไกลใจอาวรณ์         ร้อนรุมรุ่มกลุ้มกลางทรวง 
๏ รังนกนึ่งน่าซด          โอชารสกว่าทั้งปวง 
นกพรากจากรังรวง       เหมือนเรียมร้างห่างห้องหวน 
๏ ไตปลาเสแสร้งว่า       ดุจวาจากระบิดกระบวน 
ใบโศกบอกโศรกครวญ ให้พี่เศร้าเจ้าดวงใจ 
๏ ผักโฉมชื่อเพราะพร้อง เป็นโฉมน้องฤๅโฉมไหน 
ผักหวานซ่านทรวงใน    ใคร่ครวญรักผักหวานนางฯ 

       ...........
 
     ๒. กาพย์เห่เรือ พระนิพนธ์ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร
 
เห่ชมเรือกระบวน

โคลง
๏ ปางเสด็จประเวศด้าว          ชลาลัย 
ทรงรัตนพิมานชัย                 กิ่งแก้ว 
พรั่งพร้อมพวกพลไกร            แหนแห่ 
เรือกระบวนต้นแพร้ว             เพริศพริ้งพายทอง 


กาพย์

        พระเสด็จโดยแดนชล      ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย 
กิ่งแก้วแพร้วพรรณราย          พายอ่อนหยับจับงามงอน 
        นาวาแน่นเป็นขนัด        ล้วนรูปสัตว์แสนยากร 
เรือริ้วทิวธงสลอน                  สาครลั่นครั่นครื้นฟอง 
        เรือครุฑยุดนาคหิ้ว        ลิ่วลอยมาพาผันผยอง 
พลพายกรายพายทอง             ร้องโห่เห่โอ้เห่มา 
        สรมุขมุขสี่ด้าน             เพียงพิมานผ่านเมฆา 
ม่านกรองทองรจนา               หลังคาแดงแย่งมังกร 
        สมรรถชัยไกรกาบแก้ว   แสงแวววับจับสาคร 
เรียบเรียงเคียงคู่จร                 ดั่งร่อนฟ้ามาแดนดิน 
        สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย    งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์ 
เพียงหงส์ทรงพรหมินทร์          ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม 
        เรือชัยไวว่องวิ่ง              รวดเร็วจริงยิ่งอย่างลม 
เสียงเส้าเร้าระดม                    ห่มท้ายเยิ่นเดินคู่กัน 
        คชสีห์ทีผาดเผ่น             ดูดังเป็นเห็นขบขัน 
ราชสีห์ที่ยืนยัน                      คั่นสองคู่ดูยิ่งยง 
        เรือม้าหน้ามุ่งน้ำ            แล่นเฉื่อยฉ่ำลำระหง 
เพียงม้าอาชาทรง                   องค์พระพายผายผันผยอง 
        เรือสิงห์วิ่งเผ่นโผน         โจนตามคลื่นฝืนฝ่าฟอง 
ดูยิ่งสิงห์ลำพอง                      เป็นแถวท่องล่องตามกัน 
        นาคาหน้าดังเป็น            ดูเขม้นเห็นขบขัน 
มังกรถอนพายพัน                  ทันแข่งหน้าวาสุกรี 
        เลียงผาง่าเท้าโผน            เพียงโจนไปในวารี 
นาวาหน้าอินทรี                      มีปีกเหมือนเลื่อนลอยโพยม 
        ดนตรีมี่อึงอล                 ก้องกาหลพลแห่โหม 
โห่ฮึกครึกครื้นโครม                โสมนัสชื่นรื่นเริงพล 
        กรีธาหมู่นาเวศ               จากนคเรศโดยสาชล 
เหิมหื่นชื่นกระมล                    ยลมัจฉาสารพันมี 

 
เห่ชมปลา

โคลง

        พิศพรรณปลาว่ายเคล้า  คลึงกัน 
ถวิลสุดาดวงจันทร์                แจ่มหน้า 
มัตสยาย่อมพัวพัน                พิศวาส 
ควรฤพรากน้องช้า               ชวดเคล้าคลึงชม 


กาพย์

        พิศพรรณปลาว่ายเคล้า คิดถึงเจ้าเศร้าอารมณ์ 
มัตสยายังรู้ชม                    สาสมใจไม่พามา 
        นวลจันทร์เป็นนวลจริง เจ้างามพริ้งยิ่งนวลปลา 
คางเบือนเบือนหน้ามา         ไม่งามเท่าเจ้าเบือนชาย 
        เพียนทองงามดั่งทอง  ไม่เหมือนน้องห่มตาดพราย 
กระแหแหห่างชาย             ดั่งสายสวาทคลาดจากสม 
        แก้มช้ำช้ำใครต้อง      อันแก้มน้องช้ำเพราะชม 
ปลาทุกทุกข์อกกรม             เหมือนทุกข์พี่ที่จากนาง 
        น้ำเงินคือเงินยวง        ขาวพรายช่วงสีสำอาง 
ไม่เทียบเปรียบโฉมนาง       งามเรืองเรื่อเนื้อสองสี** 
        ปลากรายว่ายเคียงคู่     เคล้ากันอยู่ดูงามดี 
แต่นางห่างเหินพี่                เห็นปลาเคล้าเศร้าใจจร 
        หางไก่ว่ายแหวกว่าย   หางไก่คล้ายไม่มีหงอน 
คิดอนงค์องค์เอวอร             ผมประบ่าอ่าเอี่ยมไร 
        ปลาสร้อยลอยล่องชล   ว่ายเวียนวนปนกันไป 
เหมือนสร้อยทรงทรามวัย     ไม่เห็นเจ้าเศร้าบ่วาย 
        เนื้ออ่อนอ่อนแต่ชื่อ      เนื้อน้องฤๅอ่อนทั้งกาย 
ใครต้องข้องจิตชาย             ไม่วายนึกตรึกตรึงทรวง 
        ปลาเสือเหลือที่ตา        เลื่อนแหลมกว่าปลาทั้งปวง 
เหมือนตาสุดาดวง               ดูแหลมล้ำขำเพราคม 
        แมลงภู่คู่เคียงว่าย       เห็นคล้ายคล้ายน่าเชยชม 
คิดความยามเมื่อสม             สนิทเคล้าเจ้าเอวบาง 
        หวีเกศเพศชื่อปลา       คิดสุดาอ่าองค์นาง 
หวีเกล้าเจ้าสระสาง              เส้นเกศสลวยรวยกลิ่นหอม 
        ชะแวงแฝงฝั่งแนบ      ชะวาดแอบแปบปนปลอม 
เหมือนพี่แอบแนบถนอม       จอมสวาทนาฏบังอร 
        พิศดูหมู่มัจฉา             ว่ายแหวกมาในสาคร 
คะนึงนุชสุดสายสมร             มาด้วยพี่จะดีใจ 

 
เห่ชมไม้
โคลง

        เรือชายชมมิ่งไม้          มีพรรณ 
ริมท่าสาครคันธ์                   กลิ่นเกลี้ยง 
เพล็ดดอกออกแกมกัน          ชูช่อ 
หอมหื่นรื่นรสเพี้ยง              กลิ่นเนื้อนวลนาง 


กาพย์

        เรือชายชมมิ่งไม้         ริมท่าไสวหลากหลายพรรณ 
เพล็ดดอกออกแกมกัน          ส่งกลิ่นเกลี้ยงเพียงกลิ่นสมร 
        ชมดวงพวงนางแย้ม     บานแสล้มแย้มเกสร 
คิดความยามบังอร               แย้มโอษฐ์ยิ้มพริ้มพรายงาม 
        จำปาหนาแน่นเนื่อง     คลี่กลีบเหลืองเรืองอร่าม 
คิดคะนึงถึงนงราม               ผิวเหลืองกว่าจำปาทอง 
        ประยงค์ทรงพวงร้อย   ระย้าย้อยห้อยพวงกรอง 
เหมือนอุบะนวลละออง         เจ้าแขวนไว้ให้เรียมชม 
        พุดจีบกลีบแสล้ม         พิกุลแกมแซมสุกรม 
หอมชวยรวยตามลม            เหมือนกลิ่นน้องต้องติดใจ 
        สาวหยุดพุทธชาด        บานเกลื่อนกลาดดาษดาไป 
นึกน้องกรองมาลัย               วางให้พี่ข้างที่นอน 
        พิกุลบุนนาคบาน          กลิ่นหอมหวานซ่านขจร 
แม้นนุชสุดสายสมร               เห็นจะวอนอ้อนพี่ชาย 
        เต็งแต้วแก้วกาหลง       บานบุษบงส่งกลิ่นอาย 
หอมอยู่ไม่รู้หาย                   คล้ายกลิ่นผ้าเจ้าตาตรู 
        มะลิวัลย์พันจิกจวง         ดอกเป็นพวงร่วงเรณู 
หอมมาน่าเอ็นดู                    ชูชื่นจิตคิดวนิดา 
        ลำดวนหวนหอมตรลบ    กลิ่นอายอบสบนาสา 
นึกถวิลกลิ่นบุหงา                  รำไปเจ้าเศร้าถึงนาง 
        รวยรินกลิ่นรำเพย          คิดพี่เคยเชยกลิ่นปราง 
นั่งแนบแอบเอวบาง                ห่อนแหห่างว่างเว้นวัน 
        ชมดวงพวงมาลี              ศรีเสาวภาคย์หลากหลายพรรณ 
วนิดามาด้วยกัน                      จะอ้อนพี่ชี้ชมเชย 

 
เห่ชมนก

โคลง

        รอนรอนสุริยโอ้               อัสดง 
เรื่อยเรื่อยลับเมรุลง                   ค่ำแล้ว 
รอนรอนจิตจำนง                      นุชพี่ เพียงแม่ 
เรื่อยเรื่อยเรียมคอยแก้ว             คลับคล้ายเรียมเหลียว 


กาพย์

        เรื่อยเรื่อยมารอนรอน         ทิพากรจะตกต่ำ 
สนธยาจะใกล้ค่ำ                        คำนึงหน้าเจ้าตาตรู 
        เรื่อยเรื่อยมาเรียงเรียง         นกบินเฉียงไปทั้งหมู่ 
ตัวเดียวมาพลัดคู่                        เหมือนพี่อยู่ผู้เดียวดาย 
        เห็นฝูงยูงรำฟ้อน                คิดบังอรร่อนรำกราย 
สร้อยทองย่องเยื้องชาย                เหมือนสายสวาทนาดนวยจร 
        สาลิกามาตามคู่                 ชมกันอยู่สู่สมสมร 
แต่พี่นี้อาวรณ์                           ห่อนเห็นเจ้าเศร้าใจครวญ 
        นางนวลนวลน่ารัก             ไม่นวลพักตร์เหมือนทรามสงวน 
แก้วพี่นี้สุดนวล                          ดั่งนางฟ้าหน้าใยยอง 
        นกแก้วแจ้วแจ่มเสียง          จับไม้เรียงเคียงคู่สอง 
เหมือนพี่นี้ประคอง                     รับขวัญน้องต้องมือเบา 
        ไก่ฟ้ามาตัวเดียว                 เดินท่องเที่ยวเลี้ยวเหลี่ยมเขา 
เหมือนพรากจากนงเยาว์              เปล่าใจเปลี่ยวเหลียวหานาง 
        แขกเต้าเคล้าคู่เคียง             เรียงจับไม้ไซ้ปีกหาง 
เรียมคะนึงถึงเอวบาง                   เคยแนบข้างร้างแรมนาน 
        ดุเหว่าเจ่าจับร้อง                สนั่นก้องซ้องเสียงหวาน 
ไพเราะเพราะกังวาน                   ปานเสียงน้องร้องสั่งชาย 
        โนรีสีปานชาด                    เหมือนช่างฉลาดวามแต้มลาย 
ไม่เท่าเจ้าโฉมฉาย                       ห่มตาดพรายกรายกรมา 
        สัตวาน่าเอ็นดู                     คอยหาคู่อยู่เอกา 
เหมือนพี่ที่จากมา                        ครวญหาเจ้าเศร้าเสียใจ 
        ปักษีมีหลายพรรณ              บ้างชมกันขันเพรียกไพร 
ยิ่งฟังวังเวงใจ                             ล้วนหลายหลากมากภาษา 

 
เห่ ครวญ

โคลง

        เสียงสรวลระรี่นี้                   เสียงใด 
เสียงนุชพี่ฤๅใคร                          ใคร่รู้ 
เสียงสรวลเสียงทรามวัย                 นุชพี่ มาแม่ 
เสียงบังอรสมรผู้                           อื่นนั้นฤๅมี 


กาพย์

        เสียงสรวลระรี่นี้                   เสียงแก้วพี่หรือเสียงใคร 
เสียงสรวลเสียงทรามวัย                 สุดสายใจพี่ตามมา 
        ลมชวยรวยกลิ่นน้อง             หอมเรื่อยต้องคลองนาสา 
เคลือบเคล้นเห็นคล้ายมา                เหลียวหาเจ้าเปล่าวังเวง 
        ยามสองฆ้องยามย่ำ              ทุกคืนค่ำย่ำอกเอง 
เสียงปี่มี่ครวญเครง                       เหมือนเรียมคร่ำร่ำครวญนาน 
        ล่วงสามยามปลายแล้ว           จนไก่แก้วแว่วขันขาน 
ม่อยหลับกลับบันดาล                    ฝันเห็นน้องต้องติดตา 
        เพรางายวายเสพรส              แสนกำสรดอดโอชา 
อิ่มทุกข์อิ่มชลนา                          อิ่มโศกาหน้านองชล 
        เวรามาทันแล้ว                    จึงจำแคล้วแก้วโกมล 
ให้แค้นแสนสุดทน                       ทุกข์ถึงเจ้าเศร้าเสียดาย 
        งามทรงวงดั่งวาด                งามมารยาทนาดกรกราย 
งานพริ้มยิ้มแย้มพราย                 งามคำหวานลานใจถวิล 
        แต่เช้าเท่าถึงเย็น                กล้ำกลืนเข็ญเป็นอาจิณ 
ชายใดในแผ่นดิน                      ไม่เหมือนพี่ที่ตรอมใจ 


โคลง

        เรียมทนทุกข์แต่เช้า           ถึงเย็น 
มาสู่สุขคืนเข็ญ                         หม่นไหม้ 
ชายใดจากสมรเป็น                  ทุกข์เท่า เรียมเลย 
จากคู่วันเดียวได้                      ทุกข์ปิ้มปานปี 

                    .....................
 
     ๓. กาพย์เห่เรือ กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในงานเอเปค 

๒๕๔๖ ประพันธ์โดย นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

บทที่ ๑
ชมเรือ

ลอยลำงามสง่าแม้น                 มณีสวรรค์ 
หยาดโพยมเพียงหยัน             ยั่วฟ้า 
สายชลชุ่มฉ่ำฉัน                    เฉกทิพย์ ธารฤา  
ไหลหลั่งโลมแหล่งหล้า           หล่อเลี้ยงแรงเกษม 

เรือเอยเรือพระที่นั่ง               พิศสะพั่งกลางสายชล 
ลอยลำงามสง่ายล                  หยาดจากฟ้ามาโลมดิน 
สุวรรณหงส์ทรงภู่ห้อย           งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์ 
โอดโฉมโสมโสภิน                ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม 
นารายณ์ทรงสุบรรณ            ดังเทพสรรเสกงามสม 
ปีกป้องล่องลอยลม               ดุจเลื่อนฟ้ามาล่องลอย 
กระบี่ศรีสง่า                       งามท่วงท่าไม่ท้อถอย 
เรือครุฑไม่หยุดคอย             ยุดนาคคล้อยลอยเมฆินทร์ 
อสุรวายุภักษ์                      ศักดิ์ศรีคู่อสุรปักษิน 
พายยกเพียงนกบิน              ผินสู่ฟ้าร่าเริงบน 
เรือแซงแข่งเรือดั้ง              พร้อมสะพรั่งกลางสายชล 
เรือชัยไฉไลล้น                  ยลเรือกิ่งพริ้งเพราตา 
ยักษ์ลิงกลิ้งกลอกกาย           แลลวดลายล้วนเลขา 
รูปสัตว์หยัดกายา                พาโผนเผ่นเป็นทิวธาร 
นาวาสถาปัตย์                    เชิงช่างชัดเชี่ยวชาญฉาน 
ท่อนไม้ไร้วิญญาณ             ท่านเสกสร้างเหมือนอย่างเป็น 
ฝีมือลือสามโลก                  ดับทุกข์โศกคลายเคืองเข็ญ 
ยิ่งยลยิ่งเยือกเย็น                เห็นสายศิลป์วิญญาณไทย 
เจ้าเอยเจ้าพระยา               ถั่งธารามานานไกล 
เอิบอาบกำซาบใจ               หล่อเลี้ยงไทยแผ่นดินทอง 
รวงทองเหลืองท้องทุ่ง          แดดทอรุ้งเหนือเขื่อนคลอง 
ข้าวปลามาเนืองนอง           เรือขึ้นล่องล้วนเริงแรง 
วัดวาทุกอาวาส                  พุทธศาสน์ธรรมทอแสง 
น้ำใจจึงไหลแรง                ไม่เคยแล้งจากใจไทย 
เกลียดใครไม่นานวัน          แต่แรกนั้นนานกว่าใคร 
เจ้าพระยาหยาดยาใจ          คือสายใยหยาดจากทรวง 
เห่เอยเห่เรือสวรรค์            เพลงคนธรรพ์ลั่นลือสรวง 
ฝากหาวเดือนดาวดวง        อย่าลับล่วงอยู่นิรันดร์เทอญ. 

บทที่ ๒
ชมเมือง

สยามเอยอุโฆษครื้น          คุณขจร 
สุขสถิตสถาพร                 ผ่านฟ้า 
ไตรรงค์ลิ่วลมสลอน          อวดโลก 
ตราบเมื่อนี้เมื่อหน้า           เมื่อโน้นนิรันดร์เกษม 

สยามเอย สยามรัฐ            งามร่มฉัตรทัดเทียมโพยม 
กิตติศัพ์ขับประโคม          โคมครืนครั่นลั่นหน้าคง 
สุโขทัยไกลสุด                 ถึงอยุธยายง 
ธนบุรีลอยฟ้าลง               ทรงศักดิ์ฟื้นคืนคุณขจร 
รัตนโกสินทร์ศิลป์            สืบระบิลอันบวร 
แม่นแม้นแดนอมร          ถอนจากฟ้ามาเมืองดิน 
เจ้าเอย เจ้าพระยา           ถั่งธารามาเรื่อยริน 
ทวยไทยได้อาบกิน         ลินลาศลุ่มขุมกำลัง 
งามเอย งามระยับ           แวววาววับวัดเวียงวัง 
ย่ำค่ำย่ำระฆัง                วังเวงหวานซ่านซึ้งเสียง 
เจดีย์ศรีสูงเหยียด            เสียดยอดท้าฟ้ารายเรียง 
ปรางค์ยอดทอดเงาเคียง    เลี้ยงตาเมืองเรื้องเรืองรมย์ 
พืชพันธุ์ธัญญาผล           เลี้ยงชีพชนดลอุดม 
นาสวนชวนชื่นชม          ร่มรื่นไม้ไพรพฤกษ์มี 
รอยยิ้มพิมพ์ใจสวย          ชนรุ่มรวยด้วยไมตรี 
เสน่ห์ประเพณี                ศรีสง่ามานิรันดร์ 
น้ำใจไม่เคยจืด                อยู่ยาวยืดยิ้มยืนยัน 
ต่างเพศต่างผิวพรรณ        แต่ใจนั้นไม่ต่างใจ 
แขกบ้านแขกเมืองมา       ไทยทั่วหน้าพาสดใส 
ท่านมาจากฟ้าไกล            อยู่เมืองไทยไร้กังวล 
เทคโนอาจน้อยหน้า          แต่ข้าวปลาไม่ขัดสน 
สินทรัพย์อาจอับจน           แต่ใจคนไม่จนใจ 
บ้านเรือนไม่หรูหรา          แต่สูงค่าปัญญาไทย 
หนทางอาจห่างไกล           แต่หัวใจใกล้ชิดกัน 
ศาสนาสถาพร                  ประชากรเกษมสันต์ 
ร่มธรรมฉ่ำชีวัน               ฟั้นฝึกใจใฝ่ความดี 
ราชันขวัญสยาม               ปิ่นเพชรงามปักธานี 
ร่มพระบารมี                   ศรีไผทฉัตรชัยชน 
ไตรรงค์ธงชัยโชค             ลอยอวดโลกโบกลมบน 
ขวัญฟ้าขวัญตายล             ล้นเลิศหล้าศักดิ์ศรีสยาม 
เมื่อนี้ตราบเมื่อหน้า            คงคู่หล้ากล้าเกียรติงาม 
ใครบุกรุกเขตคาม              ตามหาญหักรักษ์แผ่นดิน 
ฟ้าเอย ฟ้าสยาม                 งามกว่าฟ้าทุกธานินทร์ 
เพลงสยามทุกยามยิน          วิญญาณปลื้มดื่มด่ำเอย. 


http://golfroses.spaces.live.com/blog/cns!DFF90E439FD8A19F!474.entry
http://www.st.ac.th/bhatips/chan_poem.html
http://www.thaiwashington.org/node/185
http://www.konmun.com/Article/id5221.aspx

...........

คนกุลา (เรียบเรียง)

ในเหมันต์

ปล.รวบรวมและเรียบเรียง เพราะอยากทบทวนความรู้ในเรื่องนี้นะครับ				
1 มกราคม 2553 22:42 น.

**ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒**

คนกุลา

ภุชงคประยาต  แปลว่า  งูเลื้อย  หมายความว่า ฉันท์นี้มีความ

หมายว่ามีลีลางดงามดุจการเลื้อยของพญานาคใช้บรรยายความ ใน
เรื่องที่ต้องให้เห็นความรวดเร็ว  กระฉับกระเฉง  หรือรำพันภาพที่
สนุกสนานรื่นเริง

         คณะและพยางค์ 
        ฉันท์บทหนึ่งมี ๒ บาท บาทละ ๒ วรรค วรรคต้นและวรรคท้าย 
มีวรรคละ ๖ คำเท่ากัน รวม ๒ วรรคเป็น ๑๒ คำ จึงเขียน ๑๒ ไว้ท้าย
ชื่อฉันท์

         สัมผัส สัมผัสบังคับดูได้จากแผนตามผังสัมผัส และจากตัวอย่าง
ดังรายละเอียด ต่อไปนี้

         สัมผัสภายในบท 
คู่ที่ ๑. คำสุดท้าย ของวรรคที่ หนึ่ง สัมผัสกับคำที่ สาม ของ
             วรรคที่ สอง แทน ด้วย (ค)-(ค)
คู่ที่ ๒. คำสุดท้าย ของวรรคที่ สอง สัมผัสกับคำที่ สุดท้าย ของวรรคที่   

            สาม แทนด้วย ((ค))-((ค))

สัมผัสระหว่างบท

มีการบังคับ ระหว่าง คำสุดท้ายของบท (วรรคที่ ๔) จะไปสัมผัส
กับ คำสุดท้าย ของวรรคที่ สอง ของฉันท์ ในบทถัดไป แทนด้วย  
(((ค)))-(((ค)))

         คำครุ คำลหุ บังคับครุ ลหุ ตามที่เขียนไว้ในแผนผังและตาม

ตัวอย่าง

    ล ค ค ล ค (ค)         ล ค(ค)ล ค ((ค))
 ล ค ค ล ค ((ค))         ล ค ค ล ค (((ค)))

    ล ค ค ล ค ค            ล ค ค ล ค (((ค)))

คำครุ แทนด้วย ค
คำลหุ แทนด้วย ล


     ตัวอย่างฉันทลักษณ์ของภุชงคประยาตฉันท์  ๑๒

     สะอาดเอี่ยมประเปี่ยมน้ำ        สลอนส่ำสโรชมี
พบูบานผสานสี                           สล้างกลีบกุสุมสรรพ์

     สำแดงดวงดำรูเด่น                ประดับเบจพิธพรรณ
พิโดรฉมระงมคัน -                    ธรสรื่นบำเรอฆาน

     ภมรมั่วประทุมมาศ                มิรู้ขาดสถานธาร
ชะลอเอาละลองมาล -                  ยเมื้อมุ่งอำรุ่งรวง

     สลาบโรยก็หล่นลอย              กระแสสร้อยสลายพวง
สะพราดพันธุปลาปวง                 ประเนืองน่านเฉนียนนอง

      ฉวัดว่ายเฉวียนวน               กระโดดพ่นละอองฟอง
ระเมียรมัจฉะคลอครอง             บ  คลาดคู่คระไลลอย

       ชะโดดุกกระดี่โดด              สลาดโลดยะหยอยหยอย
กระเพื่อมน้ำพะพร่ำพรอย           กระฉอกฉานกระฉ่อนชล

       กระสร้อยซ่าสวายซิว            ระรี่ริ่วละวาดวน
ประมวลมัจฉะแปมปน                ประหลาดเหลือจะรำพัน

                   (อิลราชคำฉันท์)

       ทิชงค์ชาติฉลาดยล              คะเนกลคะนึงการ 
กษัตริย์ลิจฉวีวาร                        ระวังเหือดระแวงหาย
เหมาะแก่การจะเสกสรร              ปวัตน์วัญจโนบาย
มล้างเหตุพิเฉทสาย                    สมัครสนธิ์สโมสร 
ณวันหนึ่งลุถึงกา                         ลศึกษาพิชากร 
กุมารลิจฉวีวร                             เสด็จพร้อมประชุมกัน

                   (สามัคคีเภทคำฉันท์ )

       การอ่านภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒ 
       การอ่านภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒  ทำนองเสนาะนั้น อ่าน แบ่งออก
ตามเสียงครุ ลหุ เป็น จังหวะ ในหนึ่งวรรค แบ่งการอ่านออกเป็น จังหวะ  

๓/๓ ดังตัวอย่างด้านบน จะอ่านเป็นจังหวะ ดังนี้

ทิชงค์ชาติ/ฉลาดยล                  คะเนกล/คะนึงการ 
กษัตริย์ลิจ/ฉวีวาร                     ระวังเหือด/ระแวงหาย
เหมาะแก่การ/จะเสกสรร            ปวัตน์วัญ/จโนบาย
มล้างเหตุ/พิเฉทสาย                  สมัครสนธิ์/สโมสร 
ณวันหนึ่ง/ลุถึงกา                       ลศึกษา/พิชากร 
กุมารลิจ/ฉวีวร                          เสด็จพร้อม/ประชุมกัน



............

แหล่งอ้างอิง 


http://guru.sanook.com/enc_photo.php?pic
http://www.kruwallapa.com/unit4/unit40104.html
www.prakan.ac.th/Link-Data/e-learning-51/orapin-3.ppt
http://www.st.ac.th/bhatips/chan_poem.html

...........

คนกุลา (เรียบเรียง)

ในเหมันต์				
1 มกราคม 2553 19:20 น.

**ราชิกาฉันท์ ๗**

คนกุลา

ราชิกาฉันท์ เป็นฉันท์ ที่ผมและคุณราชิกาพยายาม พัฒนาขึ้น โดยนำ
เอา กาพย์ราชิกา ๗ มาประพันธ์ โดยใช้การ บังคับ ครุ ลหุ เข้าไป โดย 
ศึกษารายละเอียดและวิเคราะห์ ฉันท์ หลายๆประเภท ประกอบ 

วัตถุประสงค์ในการพัฒนา ราชิกาฉันท์ขึ้น เพราะในความรู้สึกของเรา
ฉันท์นั้นเป็น บทกวีที่ประพันธ์ยาก เพราะมีทั้งสัมผัส ทั้งมีการบังคับ
คำ ครุ ลหุ 

เนื่องจากราชิกาฉันท์ มีคำน้อยคำ ทำให้การประพันธ์ ฉันท์ ทำได้ง่าย
ขึ้น อันจะสามารถทำให้ผู้สนใจ ค่อยๆพัฒนาไปประพันธ์ ฉันท์ที่ยากๆ
ขึ้นต่อๆไป 

การประพันธ์ ฉันท์ นั้น จากประสบการของผม พบว่าทำให้ผู้ประพันธ์ 

เรียนรู้ภาษาไทยเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องคำ ครุ เรื่อง สระเสียงยาว 

(ทีฆสระ)เรื่องสระเกินทั้ง ๔ คือ สระ อำ ใอ ไอ เอา เรื่องพยางค์ที่มีตัว

สะกดทั้งสิ้น และคำลหุ ได้เข้าใจคำ หรือพยางค์ที่มีเสียงเบา เข้าใจ 

พยางค์ที่ประกอบด้วย สระเสียงสั้น (รัสสระ) เสียงของพยางค์ที่
ไม่มีตัวสะกด 

ราชิกาฉันท์ มีลักษณะและจำนวนคำเหมือนกับกาพย์ราชิกา ๗ แต่ต่าง

กันเพียงที่ว่าราชิกาฉันท์นี้มีข้อบังคับ ครุและลหุ ดังรายละเอียดต่อไปนี้


          ๑. คณะและพยางค์
          ฉันท์บทหนึ่งมี ๒ บาท บาทละ ๒ วรรควรรคต้นมี ๓ คำ วรรค

ท้ายมี ๔ คำ รวมบาทละ ๗ คำ จึงเขียน ๗ ไว้ท้ายชื่อฉันท์
           
          ๒. สัมผัส
 สัมผัสระหว่างวรรค มีสัมผัส ๒ คู่ คือ
 คำสุดท้ายของวรรคหน้า สัมผัสกับ คำที่สองของวรรคหลัง แทน
     ด้วย (ค)-(ค) ในแผนภาพโครงสร้างด้านล่าง
 คำสุดท้ายของวรรคที่สอง สัมผัสกับ คำสุดท้ายของวรรคที่สาม 
      แทนด้วย((ค)) - ((ค)) ในแผนภาพโครงสร้างด้านล่าง
 สัมผัสระหว่างบท มี ๑ คู่ คือ
 คำสุดท้ายของแต่ละบท สัมผัสกับ คำสุดท้ายของวรรคที่สองของ
      บทที่ตามมา แทนด้วย (((ค)))-(((ค)))ในแผนภาพ

โครงสร้างด้านล่าง
     
      สรุปว่าสัมผัสใน ๑ บท มีสัมผัส ๒ คู่ สังเกตจากแผนผังและตัวอย่าง 

(คำสัมผัสในที่นี้คือสัมผัสสระ ) สัมผัสบังคับดูได้จากแผนตาม 

เครื่องหมาย() หรือ(()) บอกสัมผัส 
       ส่วน คำครุ คำลหุ บังคับครุ ลหุ ตามที่เขียนไว้ในแผน และตาม

ตัวอย่าง

แผนผังโครงสร้าง ราชิกาฉันท์ ๗
     ค ล (ค)    ล ค ล ((ค))
  ค ล ((ค))   ล ค ล (((ค)))

     ค ล  ค              ล ค ล (((ค)))
 

ค เท่ากับ คำครุ
ล เท่ากับ คำลหุ

ตัวอย่างบทประพันธ์ ราชิกาฉันท์ ๗ 


**คราคิดถึง**


  ๐ โรยละออง 
มิหมองเสมือน
ราวจะเตือน
ลุเดือนผ่านกาล

  ๐ ลอยละลิ่ว
ผิปลิวประสาน
ล่วงพิมาน
สิผ่านดวงใจ

  ๐ ครวญตลอด
จะกอดไฉน
หวานละไมย
ฤทัยสองเรา

  ๐ คิดคนึง
ประหนึ่งเพราะเหงา
ดุจจะเนาว์
สิเฝ้าครวญคำ

 ๐ หวังเฉลย
บเอ่ยถลำ
จริงนะคำ
ยะย้ำใจปอง

  ๐ ยามปะหน้า
ฤ คราสนอง
คอยประคอง
ตระกองเคียงเชย


......

 การอ่านราชิกาฉันท์ สามารถอ่านในทำนอง
เสนาะได้ดังนี้

๐ โรย/ละออง 
มิหมอง/เสมือน
ราว/จะเตือน
ลุเดือน/ผ่านกาล

  ๐ ลอย/ละลิ่ว
ผิปลิว/ประสาน
พัด/มิพาน
สิผ่าน/ดวงใจ


หมายเหตุ:

ครุ คือพยางค์ที่มีเสียงหนัก 
ได้แก่ พยางค์ที่ประกอบด้วย สระเสียงยาว (ทีฆสระ) 
และสระเกินทั้ง ๔ คือ สระ อำ ใอ ไอ เอา 
และพยางค์ที่มีตัวสะกดทั้งสิ้น 

ลหุ คือพยางค์ที่มีเสียงเบา 
ได้แก่ พยางค์ที่ประกอบด้วย สระเสียงสั้น (รัสสระ) ที่
ไม่มีตัวสะกด 

............

แหล่งอ้างอิง 


http://guru.sanook.com/enc_photo.php?pic
http://www.kruwallapa.com/unit4/unit40104.html
www.prakan.ac.th/Link-Data/e-learning-51/orapin-3.ppt
http://www.st.ac.th/bhatips/chan_poem.html

...........

คนกุลา (เรียบเรียง)

ในเหมันต์				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟคนกุลา
Lovings  คนกุลา เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟคนกุลา
Lovings  คนกุลา เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟคนกุลา
Lovings  คนกุลา เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงคนกุลา