อยากแต่งกลอนเก่งๆ มีภาษาสวย ๆ มีเคล็ดลับอะไรดี ๆ ช่วยแนะให้หน่อยได้ไหมคะ

ศรรกรา

ศรรกรา  ภาษากลอน  บ่ ถึงขั้น
อยากหาคน  ชั้นครูบา  มาสั่งสอน
แนะกลเม็ด  เคล็ดลับ  การแต่งกลอน
ศรรกรา  ไม่นิ่งนอน  หมั่นฝึกปรือ
มีครูบา  อาจารย์   ใดชี้แนะ
ขอช่วยแวะ  กระทู้  ดูลายสือ
ศรรกรา  จะน้อมรับ  คำหารือ
ที่ท่านสื่อ  สอนศรรก  ฝันเป็นจริง				
comments powered by Disqus
  • 8 ธันวาคม 2549 10:44 น. - comment id 16077

    น้องศรรกราต้องเรียนรู้ก่อนว่า คำกลอนนั้นแตกต่างจากคำทั่วๆไป 
    คำกลอนนั้นเขานับที่พยางค์ แต่คำโดยทั่วไปไม่ได้คำนึงถึงว่าจะมีกี่พยางค์ เช่น
    
    คำว่า ภาษา เป็นหนึ่งคำโดยทั่วไป  แต่คำเดียวกันนั้นถ้าแบ่งแยกตามพยางค์จะได้ว่า ภา - ษา ดังนี้นในภาษากลอนจึงถือว่าเป็น สองคำ
    
    อีกคำหนึ่งนะครับขอยกตัวอย่างเช่นคำว่า
    ดวงฤดี แยกได้ดังนี้  ดวง - รึ - ดี ฉะนั้นคำนี้จึงเป็นสามคำกลอนครับ
    
    หวังว่าคงจะเข้าใจนะครับ เดี๋ยวพี่จะโพสท์เข้ามาอีกลองอ่านก่อน ถ้าไม่เข้าใจถามได้เลยครับ
  • 8 ธันวาคม 2549 11:13 น. - comment id 16078

    เมื่อเข้าใจขั้นตอนที่หนึ่งแล้ว มาทำความเข้าใจต่อไปนะครับที่น้องทราบๆดีอยู่แล้วว่ากลอนหนึ่งบทนี้จะมี สี่ วรรคคือวรรคสดับ รับ รอง ส่ง ในแต่ละวรรคตามหลักฉันทลักษณ์จากหลายๆอาจารย์เขียนไว้ว่า กลอนแปดนั้นในแต่ละวรรคควรมีคำกลอนได้ แปด ถึง เก้าคำกลอน แต่มีบางกรณีที่ยกเว้นได้เหมือนกัน ซึ่งอันนี้พี่จะยังไม่ขอพูดนะ เพราะจะทำให้สมองสับสนเปล่า
    ส่วนเรื่องสัมผัสนั้นจะขอทวนความจำอีกนิดนึง ดังนี้ตามหลักนิยมก่อนนะ
    
    คำสุดท้ายของวรรคที่หนึ่งจะต้องไปสัมผัสกับคำที่สามของวรรคที่สอง
    
    คำสุดท้ายของวรรคที่สองจะต้องไปสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่สาม และคำที่สามของวรรคที่สี่
    
    บางครั้งอาจจะใช้คำสุดท้ายของวรรคที่หนึ่งไปสัมผัสกับคำที่ห้า(กรณีวรรคหนึ่งมี แปด คำกลอน) หรือคำที่หก(กรณีวรรคหนึ่งมี เก้า คำกลอน)
    และคำสุดท้ายของวรรคที่สองไปสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่สาม และคำที่ห้า(กรณีมีแปดำกลอน)หรือคำที่หก(กรณีมีเก้าคำกลอน)ของวรรคที่สี่
    เดี๋ยวตอนต่อไปจะพูดเรื่องเสียงของแต่ละวรรค
  • 8 ธันวาคม 2549 11:24 น. - comment id 16079

    ตอนนี้จะกล่าวเรื่องเสียงของแต่ละวรรค
    
    คำสุดท้ายของวรรคที่หนึ่งควรเป็นเสียงต่ำ กลางหรือ สูง
    
    คำสุดท้ายของวรรคที่สองควรเป็นเสียงสูงเท่านั้น
    
    คำสุดท้ายของวรรคที่สามควรเป็นเสียงกลาง หรือต่ำ
    
    คำสุดท้ายของวรรคที่สี่ควรเป็นเสียงกลาง หรือต่ำเช่นกัน
    
    การจะหาเสียงใดว่าเป็นสูง กลาง หรือต่ำ ทำได้โดยเที่ยบเสียงจากแม่เสียง
    
    กา   ก่า   ก้า   ก๊า    ก๋า
    
    เสียงสูงจะลงที่ ก๋า เสมอ เช่นต้องการทราบคำว่า สอน เป็นเสียงใด เที่ยบใส่เข้า
     
    สอน   ส่อน   ส้อน   ส๊อน   ส๋อน
    
    จะเห็นได้ว่า คำว่า สอน รูปเป็นสามัญแต่เสียงเป็นจัตวา ดังนี้นคำว่า สอน จึงเป็นเสียงสูง
    
    ส่วนวรรคใดที่กำหนดเป็นเสียง กลางหรือต่ำ ไม่ต้องไปเที่ยบเสียงให้เสียเวลาแต่ให้เทียบว่าไม่เป็นเสียงสูงที่ขัดกับหลักฉันทลักษณ์ก็โอเคแล้ว
  • 8 ธันวาคม 2549 11:36 น. - comment id 16080

    ส่วนเรื่องสัมผัสระหว่างบทต้องไม่ลืมด้วย
    
    
    คราวนี้มาดูเรื่องสัมผัสใน ตาม chart  ดังนี้นะ
    
    กรณีมีแปดคำกลอน
    
    1   2   3   4   5   6   7   8   
    
    คำที่สามสัมผัสกับคำที่สี่ คำที่ห้าสัมผัสกับคำที่เจ็ด
    
    กรณีมีเก้าคำกลอน
    
    1   2   3   4   5   6   7   8   9
    
    คำที่สามสัมผัสกับคำที่สี่ คำที่หกสัมผัสกับคำที่แปด
    
    แต่สัมผัสในนี้เขาไม่ได้บังคับว่าต้องมี แต่ถ้ามีก็จะทำให้กลอนเกิดความไพเราะเพราะพริ้งขึ้นอีกเยอะ
    
    มีเคล็ดลับอีกอย่างหนึ่งคือ ในกลอนหนึ่งบทไม่ควรใช้คำซ้ำกันมากไป ซึ่งจะทำให้กลอนเฝือไม่ไพเราะควรใช้คำอื่นทดแทนกัน เช่นคำว่า....ไม่.... มีคำทนและมีความหมายเดียวกัน เช่น คำว่า  ...มิ... ใช่....บ่... เป็นต้นส่วนสรรพนามแทนตัวเราเขาควรใช้คำนั้นตลอดทั้งบทไม่ควรเป็นสรรพนามตามใช้ชอบ เช่น ใช้ว่าฉัน...เธอ... แล้วเปลี่ยนมาใช้ว่า....ฉัน....น้อง  อะไรทำนองนี้นะ
    
    เดี๋ยวจะพูดเรื่องสำคัญอีกตอนนี้ขอไปหม่ำก่อนนะ เดี๋ยวบ่ายพบกันนะน้องสาว
  • เบรฟฮาร์ท

    8 ธันวาคม 2549 15:24 น. - comment id 16084

    ตอนนี้จะพูดถึงข้อไม่ควรทำซึ่งผิดหลักกลอนทำให้เสียงกลอนเสียไปคือ ชิงสัมผัส สัมผัสเลือน สัมผัสซ้ำคำ สัมผัสเสียงสั้นยาว ซึ่งจะเห็นผิดกันอยู่บ่อยๆครับ ซึ่งเป็นตัวทำสัมผัสในผิดรูปไปจากที่กล่าวในครั้งที่แล้ว
    
    ........ชิงสัมผัส เป็นคำที่มีเสียงเดียวกับคำที่ส่งสัมผัสที่มาอยู่ก่อนคำส่งหรือรับสัมผัสนั้นๆเช่น
    
    แกล้งสำแดง   ดักดาน  เต่าล้านปี
    
    จะเห็นคำว่าแกล้ง...เนี่ยมาชิงตัดหน้าก่อนคำส่งสัมผัสในคำว่า .....แดง... คำว่าแกล้งจึงเป็นชิงสัมผัส อันนี้ไม่ควรจะมีทำให้เสียงกลอนเสียไป    มีอีกตัวอย่างนะครับ
    
    ชอบแย้งคำ  สำนวน  ชวนตะแบง
    
    คำว่าแย้งมาชิงส่งสัมผัสนอกของคำว่า แบง ไปก่อน
    
    ........สัมผัสเลือนหรือสัมผัสไม่ชัด
    สัมผัสเลือนนั้นคือคำสัมผัสที่อยู่ไม่ตรงจุดที่ควรจะอยู่ เช่น
    
    พวกเศรษฐี สุขดี เพราะมีเงิน
    
    คำว่าดีเป็นสัมผัสเลือนครับ อันที่จริงถ้าดูในหลักการสัมผัสในก็จะเห็นชัดเจนว่า คำที่มีเสียงสระอี เหมือนคำว่าเศรษฐี ควรจะอยู่ตำแหน่งคำที่สี่แต่กลับมาอยู่คำที่ห้า ทำให้เสียงที่จะลงหนักที่ ฐี มาลงที่คำว่า ดี ไงครับ
    
    .......สัมผัสซ้ำคำ คือคำท้ายของวรรคที่สี่ของบทก่อนก็ตามหรือคำส่งรับสัมผัสนอกระหว่างบทเดียวกันก็ตาม นำมาใช้เป็นคำส่งหรือรับสัมผัสกัน ตัวอย่างเช่น
    
    ปฐพี  ที่อยู่  เร่งรู้ไว้
    ชื่อว่าไทย  ทุกผู้  รู้หวง(แหน)
    มีชาติศาสน์  กษัตริย์  รัฐเป็นแกน
    เราหวง(แหน)  ห้าวหาญ  ผลาญไพรี
    
    ดูคำที่ในวงเล็บทั้งสองจุดอันนี้ไม่ควรทำเพราะผิดฉันทลักษณ์
    
    .........สัมผัสสระเสียงสั้นยาว คือใช้คำผิดเสียงขอให้ดูตัวอย่างนะครับ
    
    ป่าถูกป่น  จนป่า  เป็นอาพาธ
    ไม้ไม่อาจ อวดต้น ให้คน(เห็น)
    อิทธิพล ป่นป่า กว่าเศษ(เดน)
    จับได้(เข่น)  ฆ่ามัน  ในทันที
    
    จะเห็นว่า เสียงมันเป็นคนละเสียง คำว่า เห็น ควรเข้ากับคำว่า  เด็น(อาจจะเป็นคำว่าประเด็นหรือคำอื่นที่เหมาะสมนะครับ)  และคำว่า  เข่น ก็เหมือนกัน น่าจะเป็น เข็น
    กล่าวง่ายๆคือสระผิดแม่นั่นเอง.....เห็น...คือสระเอ็น....นั่นเอง
    
    ถึงตอนนี้อาจจะงงนิดหน่อยควรอ่านทบทวนหลายๆรอบจะทำให้เข้าใจครับ
  • 8 ธันวาคม 2549 15:30 น. - comment id 16085

    คราวนี้น้องลองแต่งกลอนดูเมื่อเข้าใจแล้ว พี่ไม่แน่ใจว่าบอกเคล็ดไปหมดแล้วรึยัง มึนๆอยู่เดี๋ยวถ้านึกอะไรออกจะบอกให้รู้อีกครั้ง หรือสงสัยสอบถามเข้ามาได้นะ
  • ภาวิดา

    8 ธันวาคม 2549 15:35 น. - comment id 16087

    เป็นพื้นฐานที่ตัวเราเองก็ได้เรียนเช่นกันค่ะ
    เป็นแบบนี้เลย อ่านแล้วยิ่งเข้าใจเลย
    ว่าที่เราเห็นว่าทุกอย่างทำได้โดยง่าย
    จนดูเหมือนใครก็เป็นกลอนนั้น
    ก็เกิดมาจากการที่ครูสอนพื้นฐานเรามาแล้วนั่นเอง
    
    ดังนั้นพื้นฐานที่คุณ บ. และคุณเบรฟฮาร์ทกล่าวนั้น
    ใช่เลยค่ะ พื้นฐานแน่นแล้วทุกอย่างจะสวยงามและมั่นคง
  • เบรฟฮาร์ท

    8 ธันวาคม 2549 16:27 น. - comment id 16088

    ใช่แล้วครับ ที่สำคัญต้องใช้เวลาและใจเย็นด้วยครับค่อยๆแต่งขัดเกลาไปเดี๋ยวดีเอง แต่ละคนจะมีแนวการแต่งที่แตกต่างกัน บางคนขอบแนวรัก บางคนชอบแนวตลกฯลฯ
  • โคลอน

    8 ธันวาคม 2549 16:51 น. - comment id 16090

    11.gif ขอบคุณ ทั้ง***คนถามและคน ตอบ***กระทู้นี้นะที่ทำให้คนอ่านได้ประโยชน์ ครบถ้วนกระบวนความสำหรับพื้นฐานหลักที่จำเป็นต้องรู้  6.gif36.gif36.gif
  • ศรรกรา

    8 ธันวาคม 2549 17:01 น. - comment id 16091

    ขอขอบคุณบรรดาคุณพี่ที่เป็นเหมือนอาจารย์ชี้แนะสิ่งดีดีให้แบบไม่หวงวิชา  ศรรกราส่วนใหญ่มักจะเจอปัญหาตรงที่ว่า  ไม่รู้จะหาคำไหนมาสัมผัส  จนคำ จนปัญญา  นึกหาคำไม่ออกก็เลยแก้วิธีโดยการมั่ว  (ซึ่งก็รู้ว่ามันไม่ดี)  ซึ่งปัญหาอย่างว่านี้เป็นปัญหาหลักของศรรกเลยก็ว่าได้ จนบางทีท้อจนต้องเลิกเขียนกลอนนั้นไปก่อนทั้งที่เขียนไปตั้งเยอะแล้ว  ทำยังดีคะ  สำหรับปัญหาของศรรก  ช่วยชี้แนะให้ศรรกหน่อยค่ะ  ถือว่าเป็นวิทยาทานแก่คนอ่อนหัด
  • เบรฟ

    9 ธันวาคม 2549 02:34 น. - comment id 16094

    การแต่งกลอนควรหาคำง่ายๆ ก่อนที่เข้าใจได้ดีกลอนนั้นไม่ได้ไพเราะเพราะคำเลอเลิศอะไรเลย อยู่ที่ว่าคำนั้นคล้องจองหรือไม่ เสียงกลอนที่อ่านออกมาแล้วเป็นอย่างไร คำที่ง่ายๆที่แต่งไปแล้วบางทีคนอ่านๆแล้วกินใจ ซาบซึ้งและเข้าใจได้ดี เห็นภาพพจน์ได้ทันทีเมื่อยามอ่าน คนอ่านจะชอบมากกว่ากลอนที่ใช้คำอย่างเลอเลิศ แต่ไม่เกิดความกินใจนะครับ สิ่งใดที่ทำยากแต่งไม่ได้ ให้จดทิ้งค้างไว้ก่อน แล้วค่อยๆคิดไปเรื่อยๆอย่างใจเย็น เดี๋ยวก็คิดออกและแต่งต่อได้เอง ถ้ายังต่อไม่ได้ให้ละวางเสีย ต่อเมื่อใดอารมณ์ดีแล้วยกขึ้นมาดูใหม่ การแต่งกลอนไม่ได้สำคัญอยู่ที่มากบทหรือน้อยบทหรอกครับ ศรรกราไม่ควรแต่งกลอนมากจนเกินไป ควรแต่งกลอนให้มีคุณภาพนะสำคัญกว่า แต่งหลายเรื่องแต่ไม่มีคุณภาพก็เท่านั้นเอง การแต่งกลอนของคุณอยู่นั้นแนวที่เหมาะคือ กลอนตลกหรือกลอนสนุกชวนขัน นั่นเป็นแนวกลอนเด่นของคุณครับ
        อ้อ...อีกนิดนึงขอให้คุณอ่านคำแนะนำทั้งหมดแล้วนำไปใช้ จะทำให้กลอนคุณไพเราะทันที แม้จะเป็นคำธรรมดาก็ตาม เรื่องการหาคำนั้นพยายามอ่านกลอนของคนที่เขาแต่งดีดี ที่ใช้คำศัพท์แปลกๆที่เราไม่เคยได้พบมา และพยายามจดจำเอาไว้ครับ การแต่งกลอนต้องพยายามดูกลอนตัวเองเสมอดีขึ้นหรือไม่ และต้องปรับตัวเองเสมอ กาลเวลาเท่านั้นที่จะทำให้ดีขึ้น ข้อห้ามคือห้ามแต่งกลอนมั่ว มันจะทำให้เคยชิน และไม่ทำสิ่งที่ผิดฉันทลักษณ์ด้วยครับ
    ถ้ามีอะไรสงสัยถามมาได้อีกนะครับ.......46.gif

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน