27 กรกฎาคม 2548 20:17 น.

ยืมหน่อยนะคะ

เสือยิ้มมุมปาก

ภาษาและวรรณกรรม 

ภาษาและวรรณกรรมเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดำรงวัฒนธรรมของชาติ ภาษาเป็นสื่อในการสื่อสารของบุคคลชี้ให้เห็นถึงวิวัฒนาการอันยิ่งใหญ่ของแต่ละชาติ ประเทศไทยมีภาษาไทยเป็นของตนเองนับว่าเป็นสิ่งควรภาคภูมิใจและส่งเสริม พัฒนาให้มีการใช้ภาษาในการสื่อสารทั้งด้านการพูด การอ่าน รวมทั้งการเขียนอย่างถูกต้องและดีงาม ส่วนวรรณกรรมนั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นพัฒนาการขั้นสูงของการใช้ภาษาให้เกิดข้อความและเรื่องราวที่แสดงเอกลักษณ์ของคนแต่ละชาติ ประเทศไทยเราเป็นประเทศหนึ่งที่มีวรรณกรรมในด้านต่าง ๆ มากมาย ทั้งนี้เนื่องมาจาก ภูมิปัญญาของบรรพชนไทย จึงสมควรเป็นอย่างยิ่งที่เราชาวไทยจะช่วยกันศึกษาและอนุรักษ์วรรณกรรมไทยของเราให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทยต่อไป

สำหรับอำเภอบึงนารางถึงแม้จะเป็นอำเภอใหม่ แต่มีชุมชนตั้งรกรากถิ่นฐานในเขตอำเภอ บึงนารางอยู่มาหลายชั่วคนแล้ว จึงมีพัฒนาการทางด้านภาษาและวรรณกรรมที่น่าสนใจซึ่งจะได้กล่าวตามลำดับต่อไปนี้

ภาษา

โดยทั่วไปประชาชนในเขตอำเภอบึงนารางใช้ภาษาไทยในการสื่อสารทั้งด้านภาษาพูด ภาษาเขียน และตัวเลข แต่สำหรับกลุ่มประชาชนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานภายหลังซึ่งส่วนใหญ่อพยพมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นยังคงใช้ภาษาไทยอีสาน ในการพูดสื่อสารกัน กลุ่มชน ดังกล่าวจะตั้งถิ่นฐานอยู่ที่หมู่บ้านโพธิ์ไทรงาม ตำบลโพธิ์ไทรงาม หมู่บ้านห้วยแก้ว ตำบลห้วยแก้ว และหมู่บ้านบ้านใหม่สามัคคี บ้านใหม่สุขเกษม บ้านทุ่งฟัก และบางส่วนในหมู่บ้านแหลมรัง ตำบลแหลมรังเป็นต้น

สำเนียงท้องถิ่น

เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ประชาชนในเขตอำเภอบึงนารางส่วนใหญ่จะใช้ภาษาไทยในการพูด และเขียน แต่ในการพูดนั้นมีคำและเสียงบางเสียงที่ต่างไปจากภาษาไทยโดยทั่วไปยกตัวอย่าง เช่น คำว่า โหม่ ใช้แทนคำว่า โผล่ คำว่า แจ้ง ใช้แทนคำว่า สว่าง, รุ่งเช้า คำว่า เอี่ยม ใช้แทนคำว่า สะอาด คำว่า แหงะ หมายถึง ให้หันมาดู นอกจากนี้การออกเสียงคำปกติของชาวบึงนารางดั้งเดิมมักออกเสียงเพี้ยนไปจากคำปกติ เช่น ขั่น หมายถึง ขัน ส่อง เท่ากับ สอง เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น ให้ประชาชนเอาไม้มา 1 แผ่นใส่กบมาด้วย ผู้ที่ไม่คุ้นกับสำเนียงการพูดของชาวบึงนารางอาจไม่เข้าใจ ความจริงประโยคนี้หมายถึง ให้ประชาชนเอาไม้มา 1 แผ่นไสกบมาด้วย

จารึก ยังไม่ปรากฏว่ามีจารึกใดในเขตอำเภอบึงนาราง

ตำนาน ตำนานต่าง ๆ ที่คนเก่าคนแก่มักเล่าสู่ลูกหลานของชาวบึงนาราง พอจะสรุปเรื่องสำคัญ ๆ คือ

ตำนานของหลวงพ่อเงินกับวัดทุ่งศาลาหลวงพ่อเงิน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตตำบลบางลาย ชาวบ้านในเขตตำบลบึงนารางและตำบลบางลาย ในอำเภอบึงนารางได้เล่าต่อ ๆ กันมาว่าหลวงพ่อเงินซึ่งเดิมท่านอยู่ที่วัดท้ายน้ำ และท่านได้เดินทางผ่านจากท้ายน้ำมาที่บางลายและบึงนารางบ่อย ๆ ตามกิจนิมนต์ ท่านจึงได้สร้างศาลาขึ้น 1 หลัง พร้อมทั้งขุดสระน้ำเล็ก ๆ ไว้ข้างศาลาเพื่อใช้พักผ่อนระหว่างการเดินทาง ในภายหลังประชาชนจึงร่วมใจกันตั้งวัดขึ้นตรงบริเวณที่เคยเป็นศาลาเก่าของหลวงพ่อเงิน ปัจจุบัน คือ วัดทุ่งศาลา ตั้งอยู่ในเขตตำบลบางลาย ติดถนนสายบางลาย - บึงนาราง

2. ตำนานเรื่องหลวงแสนเชือกคชสิทธิ์ หลวงแสนเชือกคชสิทธิ์เดิมเป็นชาวอยุธยา รับราชการอยู่ในกรมช้างสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 ท่านยกครอบครัวมาตั้งหลักแหล่งที่บ้านบึงนารางเพื่อจับช้างส่งไปยังเมืองหลวง หลวงแสนเชือกคชสิทธิ์นั้น ผู้คนเล่าลือกันว่าเป็นผู้มีคาถาอาคมขลัง มีความสามารถในการจับช้าง ยิ่งในโอกาสที่พระเจ้าชาร์ แห่งรัสเซีย ได้เข้ามาชมพิธีคล้องช้างที่เพนียดในสมัย รัชการที่ 5 หลวงแสนเชือกคชสิทธิ์ได้ร่วมการคล้องช้างถวายต่อหน้าพระที่นั่งด้วย เล่าสืบกันต่อมาว่า ท่านเป็นผู้โยนบ่วงคล้องช้างเป็นคนสุดท้ายแต่ปรากฏว่าเชือกของท่านไปอยู่ชั้นในสุด ท่านจึงได้รับพระราชทินนามว่า หลวงแสนเชือกคชสิทธิ์ตั้งแต่นั้นมา

ตำนานการก่อตั้งบ้านบึงนาราง มีการสันนิษฐานว่า ประชาชนได้อพยพมาจากจังหวัดอุทัยธานี มาเห็นแหล่งน้ำที่บึงนารางว่า เหมาะแก่การประกอบอาชีพเกษตร จึงได้ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนขึ้น มีการปกครองตนเอง จนยกฐานะหัวหน้าบ้านเป็น ขุนศรี นายหล่อ สิงหะคเชนทร์ (อายุ 84 ปี / 2541) ซึ่งเป็นลูกหลานของหลวงแสนเชือกคชสิทธิ์ ได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อหลวงแสนเชือกนำครอบครัวอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านบึงนาราง ปรากฏว่ามีกลุ่มชนตั้งบ้านเรือนอยู่ก่อนแล้วจึงนับว่าบ้านบึงนารางมีมานานมากแล้ว และจากการบอกเล่าของนายหล่อ สิงหะคเชนทร์ ทำให้ทราบว่าเดิมพื้นที่เขตบ้านบึงนารางอุดมไปด้วยไม้มีค่า และสัตว์ป่ามากมายเช่น ช้าง เสือ กวางและสุนัขป่า เป็นต้น ต่อมาในภายหลังก็มีผู้คนอพยพจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตบึงนารางอีกมากมายจนถึงปัจจุบัน

ตำราต่าง ๆ ในเขตอำเภอบึงนาราง ตำราที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อชนรุ่นหลัง คือ

1. ตำราสมุนไพรไทยของนายหล่อ สิงหะคเชนทร์ ซึ่งได้รับสืบทอดจากบรรพบุรุษ คือ นายแห้ว สิงหะคเชนทร์ และคัดลอกขึ้นใหม่ ประกอบด้วย ตำรายารักษาโรคที่มีคุณภาพดีหลายขนานเป็นต้นว่า ยารักษาโรคริดสีดวงทวาร ยาเลือด ยาลม ยารักษาไข้ไทฟอยด์และบิด ยารักษาโรคปะดง และยากวาดคอ เป็นต้น ปัจจุบัน นายหล่อ สิงหะคเชนทร์ (อายุ 84 ปี ,2541) ได้เป็นผู้เก็บรักษาไว้

2. ตำรายาสมุนไพรไทยของนายเจิม ทับทอง (อายุ 82 ปี) เป็นตำรายาโบราณ ปัจจุบัน นายเจิม ทับทอง ซึ่งมีบ้านอยู่ที่หมู่ 3 ตำบลบางลาย เป็นผู้เก็บรักษาไว้

3. ตำรายาสมุนไพรไทย ของนายฟ้อน พรหมอยู่ (อายุ 70 ปี) เป็นตำรายาโบราณ ปัจจุบัน นายฟ้อน พรหมอยู่ ซึ่งอยู่ที่หมู่ 3 ตำบลบางลาย เป็นผู้เก็บรักษาไว้

4. ตำราประวัติหลวงพ่อสุโข ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิสมัยสุโขทัย มีพุทธลักษณะที่งดงามมาก ในปัจจุบันเป็นพระประธานประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ์ของวัดบึงนาราง เคยถูกโจรกรรมไปครั้งหนึ่ง แต่สามารถติดตามเอากลับมาได้ ประวัติของหลวงพ่อสุโขนั้น ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดบึงนาราง 


วรรณกรรมพื้นบ้าน 

วรรณกรรมพื้นบ้านของอำเภอบึงนารางได้จากการฟัง การเล่าต่อ ๆ กันมาไม่ปรากฏมีผู้ใดบันทึกไว้ มีเรื่องราวต่าง ๆ ดังนี้

ชื่อบ้านนามเมือง ในการจัดตั้งหมู่บ้านต่าง ๆ ล้วนมีที่มาของชื่อเล่านั้นจึงควรบันทึกไว้เพื่อให้ลูกหลานรุ่นหลังได้รับทราบดังนี้


หมู่บ้านในเขตตำบลบึงนาราง

บ้านบึงนาราง ได้ชื่อว่าบ้านบึงนาราง เพราะมีลำคลองจากโปร่งวัวแดง มาลงที่บึงนาราง

บ้านห้วงปลาไหล เป็นหมู่บ้านที่มีปลาชุกชุมมากเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก จะมีปลาจำนวน มากมายในคลอง จึงเรียกบ้านห้วงปลาไหล

บ้านหนองแขม ได้ชื่อว่าบ้านหนองแขมเนื่องจากในบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านมีหนองน้ำและมีต้นแขมขึ้นอยู่รอบ ๆ หนองน้ำเป็นจำนวนมาก เมื่อตั้งหมู่บ้านจึงเรียก หมู่บ้านหนองแขม

บ้านหนองบัว ได้ชื่อว่าบ้านหนองบัว เนื่องจากบริเวณหมู่บ้านมีหนองเล็ก ซึ่งมีบัวขึ้นอยู่มากมาย เมื่อตั้งเป็นหมู่บ้านจึงตั้งชื่อว่า บ้านหนองบัว

บ้านหนองบอน ได้ชื่อว่าบ้านหนองบอน เพราะในบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านมีหนองน้ำซึ่งเต็มไปด้วยต้นบอน เมื่อเรียกชื่อหมู่บ้านจึงเรียกชื่อว่า บ้านหนองบอน

บ้านหนองครก ได้ชื่อว่าบ้านหนองครก เพราะมีหนองน้ำขนาดเล็กในหมู่บ้าน มีลักษณะเป็นหลุมลึกคล้ายครกตำข้าวของชาวบ้าน จึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า บ้านหนองครก

บ้านทุ่งศาลา ได้ชื่อว่าบ้านทุ่งศาลา เพราะในพื้นที่ตั้งหมู่บ้านนั้นมีศาลาที่หลวงพ่อเงินเป็นผู้สร้างสำหรับพักร้อน ระหว่าเดินทางไปรับกิจนิมนต์ในท้องที่บึงนาราง จึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า บ้านทุ่งศาลา

บ้านไร่ (บ้านสระมะพลับ) ได้ชื่อว่าบ้านไร่ เนื่องจากประชาชนจากจังหวัดกำแพงเพชร ที่อพยพมาอยู่ได้บุกรุกถางพงเพื่อทำไร่ จึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า บ้านไร่

บ้านบึงเต่า ได้ชื่อว่าบ้านบึงเต่าเพราะบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านมีบึงน้ำขนาดใหญ่ มีเต่าชุกชุม เมื่อตั้งชื่อหมู่บ้านจึงได้ชื่อว่า บ้านบึงเต่า


ตำบลห้วยแก้ว

บ้านห้วยแก้ว เดิมเรียกบริเวณนี้ว่า ทุ่งสามบาท บ้าง หนองวัวกระทิง บ้าง ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นชื่อ ห้วยแก้ว ตามชื่อพันธุ์ไม้คือ ต้นแก้ว ซึ่งขึ้นอยู่บริเวณชายคลองนี้เป็นจำนวนมาก 

บ้านบึงปลิง ในท้องที่หมู่บ้านนี้แต่เดิมมีโขลงช้างอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และช้างเหล่านั้นได้ลงไปเล่นในบึงน้ำ เมื่อช้างเดินกลับขึ้นมาพบว่ามีปลิงเกาะตามตัวช้างขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บึงปลิง

บ้านทุ่งทอง แต่เดิมบ้านทุ่งทองเป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่า เช่น เสือและช้างป่า อาศัยอยู่มากมาย ผู้คนกลุ่มแรกที่อพยพมา คือ นายคำ นายทอง ตุมา และนายทอง คงสิบ ได้หักร้างถางป่าให้เป็นที่สำหรับทำนา เดิมทีหมู่บ้านนี้เรียกว่าหมู่บ้านทุ่งพอง เมื่อมีผู้คนเข้ามาอาศัยได้ทำนากันมากขึ้น เมื่อข้าวแก่จัดก็มองเห็นเป็นทุ่งนาสีเหลืองอร่ามเหมือนสีทอง สำหรับผู้คนที่เข้ามาอาศัยในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นคนอารมณ์ร้าย ใจร้อน มีการทำร้ายกันเสียชีวิตเนือง ๆ ชาวบ้านจึงคิดว่าน่าจะมีอาถรรพ์จากคำว่าทุ่งพอง ผู้ใหญ่บ้านจึงคิดว่าน่าจะเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจากทุ่งพอง เป็นทุ่งทองเพื่อความเป็นศิริมงคล นับแต่นั้นเป็นต้นมา ก็มีการทำบุญกลางบ้านทุกปี โดยจะนำสายสิญจน์มาขึงรอบหมู่บ้าน และห้ามนำสายสิญจน์ออกจนกว่าจะมีการทำบุญในปีถัดไป

ตำบลแหลมรัง

บ้านแหลมรัง ในอดีตได้มีการทำการบุกเบิกถางป่า เพื่อสร้างที่อยู่อาศัย ในเวลากลางคืน ชาวบ้านจะขุดบ่อน้ำ ส่วนกลางวันจะถางและเผาป่าไผ่ซึ่งมีขึ้นอยู่มากมาย จะเหลือไม้เนื้อแข็งยืนต้นอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ ต้นรัง ต่อมามีชาวบ้านอพยพเข้ามาอยู่กันมากขึ้น ได้มีการนำ ต้นรัง มาสร้างอาคารไม้ชั่วคราวของโรงเรียน และในบริเวณหมู่บ้านนี้นับว่ามีต้นรังขึ้นอยู่มากมาย นายกอง กรพรหม (ปัจจุบันเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดห้วงศรัทธาราม) จึงได้ตั้งชื่อว่าหมู่บ้านแหลมรัง

บ้านโป่งวัวแดง ในเขตหมู่บ้านนี้เดิมมีดินโป่งซึ่งมีฝูงวัวแดงมากินดินโป่งกันเป็นจำนวนมาก เมื่อมีการตั้งเป็นหมู่บ้านจึงเรียกว่า บ้านโป่งวัวแดง

บ้านเนินบ้าน (ทุ่งกุด, เนินสมบูรณ์, ทุ่งโคราช) หมู่บ้านนี้แต่ก่อนไม่มีคนมาอยู่เพราะเป็นป่า มีสัตว์ป่ามากมาย จึงไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ ต่อมาพรานบุญได้อพยพครอบครัวมาอยู่สัตว์ป่าจึงหมดไป ปัจจุบันพรานบุญเสียชีวิตไปแล้ว ยังคงอยู่แต่ภรรยาและลูกในบริเวณหมู่บ้านนี้ เป็นป่า ทุ่งและเนิน ชาวบ้านเรียกกันว่าทุ่งกุด ต่อมาผู้คนอพยพเข้ามามากขึ้น มีการทำมาหากิน ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ หลวงปู่พิมพาซึ่งอยู่ ณ วัดหนองตางู (เขตติดต่ออำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) ได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน เป็น บ้านเนินสมบูรณ์ ต่อมามีผู้คนผ่านมาเห็นว่าท้องถิ่นนี้เป็นเนินและมีบ้านเต็มไปหมด เลยเรียกกันว่า เป็นเนินบ้าน แต่ชาวบ้านบางส่วนเรียกบ้าน ทุ่งโคราช

บ้านใหม่สุขเกษม บ้านใหม่สุขเกษมเดิมรวมอยู่กับบ้านใหม่สามัคคี ต่อมาแยกมาอยู่ในบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านปัจจุบัน ในปี 2526 ชาวบ้านเห็นว่าการอยู่ร่วมกันอย่างสุขสงบและมีความสามัคคีกันดีจึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านใหม่สุขเกษม ประชาชนในหมู่บ้านนี้ส่วนใหญ่อพยพจากอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น โดยการนำของ นายเอก สีกวดแก้ว พร้อมกับเพื่อนบ้าน จำนวน 12 ครัวเรือน

บ้านหนองหมี ในสมัยก่อนนั้นบ้านหนองหมีเป็นป่าดงดิบมีคนย้ายมาตั้งถิ่นฐานกันอยู่เพียงกลุ่มเล็ก ๆ และยังไม่มีวัด ชาวบ้านจึงช่วยกันสร้างวัดขึ้นมาโดยได้นำหลวงพ่อรอดมาประดิษฐานไว้ที่วัด ต่อมาชาวบ้านได้พบรอยเท้าหมีมากินน้ำในหนองน้ำ จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านหนองหมี

บ้านเนินสำราญ เดิมชื่อว่าบ้านหนองปรือ เพราะเคยมีต้นปรืออยู่มากมาย ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อบ้านเนินสำราญ เพราะมีชาวบ้านเลิกจาการทำงานในนา ในไร่ แล้วจะมารวมกันเล่นกีฬาอย่างสนุกสนาน ผู้ที่มาร่วมกันคิดเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านก็คือ นายเหลือ ดีสารขันธ์ นายไสว แถววิจิตร นายถนัด อินมะหะ นายชื้น เกตุเป้า และนายปั่น กาสี

บ้านแหลมทอง ประวัติความเป็นมาของบ้านแหลมทองหมู่ที่ 12 ตำบลแหลมรัง เดิมที ชื่อบ้านแหลมรังหมู่ที่ 1 หลังจากมีการแยกหมู่บ้านใหม่ ชาวบ้านให้ตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า บ้านแหลมทอง เพราะเมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว บ้านแหลมทองเป็นหมู่บ้านกันดาร เป็นบ้านป่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตรมาโดยตลอดต่อมามีหน่วยราชการ คือ สำนักงานปฏิรูปที่ดิน (สปก.) เข้ามาจัดสรรที่ทำกินและที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนทำให้ดีขึ้นมีสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย และมีสถานีอนามัยคอยให้การรักษาแก่ประชาชนบุตรหลานมีการศึกษาดีขึ้น ชาวบ้านจึงถือว่าเป็นเมืองทองของหมู่บ้านในระดับตำยล ด้วยเหตุนี้เองชาวบ้านจึงให้มู่บ้านนี้ชื่อว่า บ้านแหลมทอง

บ้านบึงทับจั่น ในท้องที่ของหมู่บ้านนี้จะมีบึงใหญ่อยู่และบริเวณรอบ ๆ บึงเต็มไปด้วยป่าไม้เบญจพรรณ มากมาย ซึ่งมีจักจั่นอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อตั้งเป็นหมู่บ้านจึงเรียกชื่อว่า บ้านบึงทับจั่น

บ้านหนองจิกสี เดิมเรียกว่าหนองจักสี เนื่องจากชาวบึงนารางได้มาตัดไม้ไผ่ซึ่งมีอยู่มากมายในแถบนี้ เมื่อจักตอกแล้วนำไปสานเป็นสีที่ใช้สีข้าว จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า หนองจักสี ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็นบ้านหนองจิกสีในปัจจุบัน


ตำบลบางลาย

บ้านบางลาย ตั้งชื่อตามลักษณะของแม่น้ำ เดิมเรียกว่า วังร้าย เนื่องจากมีวังน้ำวนขนาดใหญ่ ที่มีจรเข้ชุกชุม มักเกิดอุบัติเหตุเรือล่มบ่อย ๆ ต่อมาได้เปลี่ยนจากวังร้าย มาเป็นบางลาย

บ้านหนองในดง ตั้งชื่อตามลักษณะที่มีหนองน้ำใหญ่อยู่ 2 แห่ง ในบริเวณที่มีป่าล้อมอยู่หนาทึบ

บ้านทุ่งพรหมทอง เดิมชื่อมาบประกำทองเนื่องจากมีต้นทองกวาวขึ้นอยู่มากมายและมีเส้นทางเดินของน้ำในฤดูน้ำหลาก เป็นลำน้ำผ่านซึ่งชาวบ้านเรียกว่า มาบ และเนื่องจากการเดินทางไปมาเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูน้ำหลาก ชาวบ้านต่างพูดกันว่า เดินทางกันอย่างระกำลำบาก จึงเรียกบริเวณนี้ว่า มาประกำทอง คำว่า ประกำ เพี้ยนมาจากคำว่า ระกำ ต่อมา นายแสวง พรหมอยู่ ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่คนแรกของโรงเรียนบ้านทุ่งพรหมทอง ได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น ทุ่งพรหมทอง โดยใช้นามสกุลของท่านเป็นส่วนหนึ่งของชื่อหมู่บ้าน

บ้านคลองข่อย ในหมู่บ้านนี้มีคลองที่มีต้นข่อยขึ้นอยู่มาก จึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า บ้านคลองข่อย

บ้านยางแขวนฆ้อง ในท้องที่ของหมู่บ้านนี้มีต้นยางขนาดใหญ่ ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านเล่ากันต่อ ๆ มาว่า ในเวลากลางคืนจะได้ยินเสียงฆ้องดังขึ้นจากต้นยางต้นสูง ๆ จึงเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่าบ้านยางแขวนฆ้อง 

บ้านประดาทอง ในเขตหมู่บ้านนี้มีต้นทองกวาวขึ้นอยู่มากมายและมีแหล่งน้ำเป็นจำนวนมากทั้งแม่น้ำยมและหนองน้ำต่าง ๆ มีผึ้งที่ชาวบ้านเรียกว่า ผึ้งประดา เกาะทำรังอยู่ตามต้นทองกวาว จึงเรียกบริเวณนี้ว่า ประดาทอง


นิทานพื้นบ้าน

เรื่องว่าตลกขบขันสู่กันฟังในหมู่ชาวบ้านซึ่งเล่าต่อ ๆ กันมา ดังนี้

เรื่องตีนเบอ ๆ คะเย่อกอไผ่

เรื่องเล่ากันว่า เมื่อก่อนชาวบ้านเที่ยวเดินทางไปตามป่าได้คิดปริศนาคำทายกันขึ้น คนหนึ่งถามว่า อะไรเอ่ยตีนเบอ ๆ คะเย่อกอไผ่ เมื่อถามแล้วไม่มีใครตอบได้ก็เดินกันไปเรื่อย ๆ พักใหญ่ ๆ ต่างคนต่างเงียบ ๆ อยู่ ๆ ก็มีคนหนึ่งตะโกนขึ้นว่า ช้าง คนที่ตะโกนว่า ช้าง ทำให้ทุกคนตกใจกันคิดว่าช้างป่ามา พากันวิ่งเตลิดเปิดเปิง พอวิ่งมาได้พักหนึ่งไม่เห็นมีช้างตามมาจึงถามกันว่า ไหนละช้าง คนที่ตะโกนว่า ช้าง ก็ตอบทั้งที่หอบอยู่ว่า ไม่ใช่ช้าง ฉันตอบคำทายตีนเบอ ๆ คะเย่อกอไผ่เท่านั้นเอง

เรื่องน้ำหน้าบ่มี

เมื่อมีกลุ่มชนภาคตะวันออกเฉียงเหนืออพยพเข้ามาตั้งหลักฐานในเขตหมู่บ้านบึงนาราง วันหนึ่งกลุ่มชาวอีสานและคนพื้นบ้านได้เดินป่าด้วยกันต่างตัดกระบอกใส่น้ำเพื่อนำน้ำไปดื่มกลางทางเมื่อเดินมาด้วยกัน ชาวอีสานได้พูดลอย ๆ ขึ้นว่า "หน้าบ่มี" คนไทยที่เดินมาด้วยกันต่างพากันเทน้ำทิ้งหมดเพราะน้ำที่ขนมาทำให้หนักและเดินช้า และคิดว่ามีบ่อน้ำข้างหน้าจึงไม่ต้องเอาน้ำติดตัวไปด้วย เมื่อเดินไปถึงที่หมาย ปรากฏว่าไม่มีบ่อน้ำ ทำให้อดน้ำกัน จึงต่อว่าคนอีสานว่า ไม่เห็นมีบ่อน้ำเลย คนอีสานก็พูดว่า ก็ฉันบอกแล้วว่า หน้าบ่มี น้ำหน้าบ่มี

เรื่องตัดสินกรรมสิทธิ์ช้าง

มีเรื่องเล่ากันว่า ชาวบ้านบึงนารางได้ไปต้อนเอาช้างของชาวเวียงจันทร์มาไว้ที่บ้านบึงนาราง ชาวเวียงจันทร์จำนวน 2 คน ได้เดินทางติดตามมาเพื่อทวงช้างคืน พวกชาวลาวได้มาขอให้นายเม่น (หลวงแสนเชือกคชสิทธิ์) ตัดสินความให้ว่าช้างควรเป็นของใคร นายเม่นจึงเสนอความคิดว่า ให้พนันเขกศีรษะกันถ้าใครหัวแตกเป็นฝ่ายแพ้ ชาวลาวก็ตกลง นายผู้มีคาถาอาคมดีได้ให้ชาวลาวเขกศีรษะก่อนปรากฏว่าไม่เป็นไร เมื่อนายเม่นเขกศีรษะชาวลาว เขกอย่างแรงมากปรากฏว่าศีรษะชาวลาวแตกจึงถูกยึดช้างไว้ และชาวลาวที่มาตามช้างก็ไม่ได้กลับไปเวียงจันทร์อีกเลยเพราะมีครอบครัวอยู่ที่บ้านบึงนารางนั้งเอง

เรื่องอธิษฐานของคู่รักจากหลวงพ่อทอง

ในประเพณีสงกรานต์ของชาวบ้านบึงนาราง เมื่อราว 60 กว่าปีมาแล้วหนุ่มสาวจะได้พบปะกันก็เพียงในงานเทศกาลเท่านั้น ชาวบ้านหนุ่มสาวมีประเพณีที่นิยมปฏิบัติกัน คือ การอธิษฐานขอคู่รักจากหลวงพ่อทอง ซึ่งคือหลวงพ่อสุโขในปัจจุบันนั้นเอง วิธีการ คือ เก็บดอกไม้ไปบูชาหลวงพ่อพร้อมกับนึกในใจตามบทร้อยกรอง ดังนี้ ใจตรงตรงจิต ยอดพิดสะถานเอย มือหนึ่งถือพาน พานดอกไม้ใช้สื่อดอกไม้ ที่คล้องจองกับคนที่ชอบเช่นดอกรัก เกิดมาชาติหน้าฉันใดขอให้ได้ แม่ฟัก เป็นต้น ปัจจุบันไม่มีผู้ใดปฏิบัติกันแล้ว

การละเล่นของเด็ก

การเล่นของเด็ก ๆ ในเขตอำเภอบึงนารางโดยทั่ว ๆ ไป ในทั่วทุกถิ่นของไทยจะไม่แตกต่างจากท้องถิ่นอื่น ๆ มากนักซึ่งจะได้ยกตัวอย่างไว้พอสังเขปดังนี้

มอญซ่อนผ้า เป็นการเล่นพื้นบ้านของไทยที่เล่นกันทั่วไปในทั่วทุกถิ่นของไทย จำนวนผู้เล่นไม่จำกัด โดยส่วนใหญ่มักนิยมเล่นเป็นวงใหญ่ ๆ เพราะทำให้เกิดความสนุกสนานมากกว่าเล่นเป็นวงเล็ก ๆ ใช้คนเล่นจำนวนน้อย อุปกรณ์ในการเล่น นิยมใช้ผ้าเป็นอุปกรณ์ใช้ซ่อน วิธีเล่น คือ สมาชิกผู้เล่นนั่งล้อมวงหันหน้าเข้าในวง ให้มีระยะห่างระหว่างกันพอสมควร โดยมีสมาชิกผู้หนึ่งเดินรอบ ๆ วงเพื่อนำผ้าไปซ่อนไว้ด้านหลัง สมาชิกที่นั่งอยู่คนใดคนหนึ่ง เมื่อซ่อนได้แล้วสมาชิกผู้เป็นมอญซ่อนผ้าต้องรีบวิ่งอย่างรวดเร็วรอบวง 1 รอบ เพื่อกลับมายังจุดที่ซ่อนผ้าไว้ เมื่อมาถึงแล้วสมาชิกที่ถูกซ่อนผ้ายังไม่รู้ตัว จะถูกผู้เป็นมอญซ่อนผ้าใช้ผ้าตีก้นไปรอบวง แล้วกลับมานั่งที่เก่า ผู้เป็นมอญซ่อนผ้าก็จะเล่นซ่อนผ้าต่อไป แต่หากผู้นั่งอยู่รู้ตัวว่าถูกซ่อนผ้าไว้ให้รีบจับผ้าก่อนแล้ววิ่งขับตีก้นผู้เป็นมอญซ่อนผ้า จนเข้านั่งแทนตน หลังจากนั้นก็ได้ทำหน้าที่มอญซ่อนผ้าต่อไป และประโยชน์จากการเล่นมอญซ่อนผ้า ประการสำคัญคือ ความสนุกสนานและยังฝึกให้มีความซื่อสัตย์ เพราะทุกคนที่เล่นจะต้องปฏิบัติตามกฎ คือ จะต้องไปชำเลืองดูว่าผู้ที่ถือผ้าจะมาซ่อนไว้ที่ข้างหลังของใคร เป็นต้น

ในการเล่นมอญซ่อนผ้าเด็ก ๆ จะร้องเพลงไปด้วย เนื้อร้องมีดังนี้

มอญซ่อนผ้า ตุ๊กตามาข้างหลัง ไปโน่นไปนี่ ฉันจะตีก้นเธอ เด็ก ๆ จะร้องเพลงและปรบมือเป็นจังหวะไปด้วยในขณะเล่น

ตี่จับ เป็นการเล่นพื้นบ้านที่เด็ก ๆ นิยมเล่นกันมากเช่นกันและเล่นกันมานานแล้วตกทอดจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง จำนวนสมาชิกในการเล่นจะประกอบด้วย 2 ทีม ๆ ละประมาณ 8  10 คน ไม่ใช้อุปกรณ์ประกอบการเล่นแต่อย่างใด วิธีเล่นเด็ก ๆ จะขีดเส้นแบ่งฝ่ายไว้ตรงกลาง 1 เส้น และแต่ละฝ่ายจะเขียนวงกลมขนาดพอประมาณไว้ห่างเส้นในระยะเท่า ๆ กัน หลังจากนั้นจะเลือกว่าทีมใดจะได้เล่นก่อน การเล่นคือทีมที่ได้เล่น จะส่งตัวแทน 1 คน เข้ามาในแดนของฝ่ายตรงข้ามและเมื่อข้ามเส้นเข้ามาแล้วต้องทำเสียง ตี่ ๆ ๆ ติดต่อกันไป แล้วหยุด แล้วพยายามใช้มือแตะให้ถูกสมาชิกคนใดคนหนึ่งของฝ่ายตรงข้ามให้ได้ก่อนหมดเสียง ตี่ๆ ๆ ส่วนฝ่ายรับก็ให้ช่วยกันรุมจับฝ่ายรุกให้รออยู่ในเขตของตนจนหมดเสียงหากฝ่ายรุกหมดเสียงในแดนของฝ่ายรับ ถือว่า ตาย จะถูกจับไปอยู่ในวงที่ขีดเส้นเอาไว้เป็นเชลยฝ่ายใดถูกจับหมดก่อนหรือถูกจับมากกว่าจะเป็นผู้แพ้

เดินกะลา เป็นการเล่นของเด็ก ๆ ที่เล่นต่อ ๆ กันมานานแล้ว เล่นเดี่ยวของใครของมัน อุปกรณ์คือ กะลา 1 คู่ เจาะเป็นรูแล้วเอาเชือกร้อยให้ยาวพอควร วิธีเล่น ผู้เล่นยืนบนกะลา โดยใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้คีบเชือกไว้ให้แน่น สำหรับมือจะจับเชือกที่ร้อยกะลาไว้ให้ตึงก้าวเดินไปเรื่อย ๆ เสียงดังกุบกับ ๆ บางครั้งเด็ก ๆ ก็วิ่งกะลาแข่งกันก็มี ล้มลุกคลุกคลานกันสนุกสนาน ประโยชน์ที่ได้จากการเล่น เดินกะลา ก็คือ ไดฝึกการควบคุมการทรงตัวนั้นเอง

เสือกับวัว เป็นการละเล่นที่นิยมกันมากอีกอย่างหนึ่ง จำนวนผู้เล่นไม่จำกัด แต่นิยมเล่นกันเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ อุปกรณ์คือ ผ้าปิดตา 2 ผืน สมาชิกทั้งหมดจับมือกันเป็นวงกลมใหญ่ ให้สมาชิก 2 คนปิดตา คนหนึ่งร้อง มอ เป็นวัว อีกคนหนึ่งร้อง โฮก เป็นเสือ แล้วให้เสือไล่จับวัวให้ได้ จับได้เมื่อใดเป็นอันจบ 1 เกม แล้วเปลี่ยนสมาชิกคู่อื่นออกมาเล่นบ้าง ขณะที่เล่นเสือและวัวต้องส่งเสียงร้องเป็นระยะ ๆ ประโยชน์จากการเล่นเสือกับวัวก็คือเด็ก ๆ ได้ฝึกประสาทหูและการคำนวณระยะทาง

หมากเก็บ เป็นการเล่นพื้นบ้านของเด็ก ๆ ที่นิยมเล่นอีกอย่างหนึ่งจำนวนผู้เล่นส่วนใหญ่นิยมเป็นคู่แข่งขันกัน อุปกรณ์ที่ใช้คือ ก้อนหินขนาดพอเหมาะ จำนวน 8 ก้อน

วิธีเล่น ผู้เล่นก่อนโยนก้อนหินก้อนหนึ่งไปข้างหน้า คือผู้เล่นก่อนโยนก้อนหินก้อนหนึ่งขึ้นไปแล้วใช้มือข้างที่โยนก้อนหินจับก้อนหิน 1 ก้อนที่พื้นขึ้นมาแล้วรับก้อนหินที่โยนขึ้นไปก่อนหน้านั้นให้ได้ เล่นจับก้อนหินขึ้นมาครั้งละก้อนไปจนหมด แล้วเปลี่ยนวิธีเล่นไปอีก คือโยนก้อนหิน จับก้อนหินและใช้หลังมือรับก้อนหิน เป็นต้น คนที่ทำได้ทั้งหมดทุกครั้งเป็นผู้ชนะ การเล่นหมากเก็บช่วยฝึกการคาดคะเนให้กับเด็ก ๆ 

กระโดดยาง เป็นการเล่นของเด็ก ๆ ในยุคประมาณ 2510 ขึ้นมานี่เอง จำนวนผู้เล่นเป็นกลุ่มประมาณ 8  10 คน ใช้หนังยาง (เด็ก ๆ มักเรียกว่ายางวง) ร้อยกันเป็นเชือกยาว ๆ หนา ๆ ให้สมาชิก 2 คน จับคนละข้างให้ตึงผู้จับจะวางเชือกยางไว้ในที่ระดับต่าง ๆ เช่น หัวเข่า เอว อก คอ ศีรษะ และชูมือสุดแขน เป็นต้น สำหรับผู้เล่นจะกระโดดข้ามเชือกยางด้วยท่าทางต่าง ๆ เช่น เดินข้าม กระโดดข้าม และตีลังกาข้าม เป็นต้น ถ้าใครทำไม่ผ่านถือว่าตายต้องไปถือเชือกแทนเพื่อน ในระยะเข่าให้เดินหรือกระโดดข้ามโดยห้ามถูกเชือก สำหรับจุดที่สูงกว่านั้นกระโดดเอาส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแตะเชือกยางหรือตีลังกาให้ถูกเชือกยางก็ได้สำหรับการเล่นกระโดดยางนั้นจะเป็นพื้นฐานของการยืดหยุ่นร่างกายและยิมนาสติก ทำให้เคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว มีร่างกายแข็งแรง เด็กผู้หญิงนิยมเล่นกันมาก

เตย ในการเล่นเตยผู้เล่นในแต่ละทีมจะมีประมาณ 4  5 คน หรือมากกว่านั้นก็ได้แต่ถ้ามีมากกว่านี้ก็ต้องทำช่องหรือเกมให้พอดีกับจำนวนผู้เล่น ในการเล่นเตยผู้เล่นจะต้องมาทางผ่านหรือใช้วิธีไหนก็ได้ห้ามให้คนที่ในเกมหรือฝ่าย ตรงข้ามแตะถูกตัวเรา เมื่อเราผ่านไปได้ครั้งหนึ่งหรือเราออกจากจุดเริ่มต้นเสร็จเราก็ต้องหาทางกลับมาที่จุด เริ่มต้นใหม่โดยไม่ให้ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามแตะถูกตัวเราหรือจับตัวเราไว้ได้ถ้าหากเราสามารถผ่านได้โดยไม่ได้ถูกผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามแตะถูกตัวเราแล้วเมื่อกลับมาถึงจุดเริ่มต้นเราก็ต้องพูดว่าเตย


ประเพณีการเล่นนางด้ง นางด้งเป็นการละเล่นที่เล่นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ คนสูงอายุจะพาเด็ก ๆ หนุ่ม ๆ สาว ๆ เล่นในเวลาหัวค่ำ ประมาณ 2 ทุ่ม เป็นการเล่นที่จัดขึ้นเพื่อความสนุกสนาน ผู้ที่เป็นนางด้งต้องเป็นหญิง อายุประมาณ 20  80 ปี อุปกรณ์ที่ใช้ สากตำข้าว (ไม้เนื้อแข็งยาวประมาณ 1.5 เมตร จำนวน 1 คู่ กระด้ง 1 อัน ซึ่งทั้ง 2 รายการข้างต้นต้องได้มาโดยวิธีการขโมย ห้ามขอยืม เครื่องเซ่น สังเวย ประกอบด้วยเหล้าขาว ไก่ เนื้อหมู ดอกไม้ 3 ดอก และธูป 3 ดอก

วิธีเล่น นำสากมาวางคู่กัน จากนั้น นำกระด้งวางบนสากทั้งคู่แล้วผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีหน้าที่เชิญผีนางด้ง จะพนมมือบูชาด้วยดอกไม้และธูปที่เตรียมไว้ร้องเพลงเชิญผีเข้ากระด้ง โดยเอามือจับกระด้งกระทบกับสาก ถ้าเจอผีเข้าแล้วกระด้งจะขยับขึ้นลงได้เอง โดยที่คนยังต้องจับกระด้งไว้ด้วย จากนั้นผู้เชิญจะถามว่า มาจากไหน ชื่ออะไร อายุเท่าไร โดยให้สังเกตที่กระด้ง ถ้ากระด้งขยับขึ้น  ลง เป็นการตอบรับ (ใช่) ถ้ากระด้งส่ายไปมาเป็นการปฏิเสธ (ไม่ใช่) แต่ถ้าถามเกี่ยวกับตัวเลขตัวเลขกระด้งจะโขลกบนสาก แต่ถ้าถามเป็นตัวอักษร นางด้งจะเลื่อนจากสากมาเขียนบนดินตามที่นางด้งบอกและถ้านางด้งชอบใคร จะบอกให้เข้ามาใกล้ ๆ และถ้าไม่ชอบใครก็ให้นั่งไกล ๆ และถ้าผู้เล่นอยากทราบอะไรก็ให้สอบถามได้ บางแห่งเล่าว่า ให้เอากระด้งวางบนศีรษะผู้เข้าทรงผีกระด้ง ทั้งนี้ต้องมีเครื่องเซ่นสังเวยตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น จากนั้นท่อคาถาเรียกวิญญาณนางด้งเข้าทรง เมื่อผีนางด้งเข้าแล้ว ผู้คนจะเอาข้าวเปลือกมาให้ นางด้งฝัดเอาข้าวลีบออก ช่วงที่นางด้งกำลังฝัดข้าว ผู้คนก็ถามสิ่งต่าง ๆ นา ๆ และนางด้งก็ตอบปัญหาทุกอย่างและคนที่อยู่รอบข้างนางด้ง จะบอกให้นางด้งทำอะไร นางด้งก็จะทำตาม เมื่อเล่นกันพอสมควรแล้ว ก็เชิญนางด้งออกจากร่างทรง สำหรับคาถาเรียกนางด้ง จะต้องเรียนรู้ โดยตรงจะไม่บอกผ่าน เพราะจะทำให้คนบอกถูกผีนางด้งเข้าสิง เพราะการเรียกคาถานางด้ง จะต้องทำพิธี และการเล่นนางด้งห้ามเล่นนาน ๆ เพราะจะทำให้ผีนางด้งเฮี้ยน แล้วไม่ยอมออกจากร่างทรง


การเล่นงูสะบัดหาง เล่นได้เฉพาะเด็ก ๆ จำนวนผู้เล่น ประมาณ 10 คน วิธีเล่น ผู้เล่นจะเลือกคนที่เป็นแม่งูมา 1 คน คนที่เหลือจะยืนเรียงแถวต่อ ๆ กันเป็นแถวหน้ากระดานเรียงหนึ่งและแต่ละคนจับมือกันไว้ให้แน่น คนที่เล่นเป็นแม่งู จะยืนหันหน้าเข้าหาผู้เล่นที่เหลือ แม่งูจับมือของผู้เล่นให้แน่น แล้วใช้แรงเหวี่ยงแถวนั้นไปมา ด้วยแรงเหวี่ยงจะทำให้ทั้งแถวสะบัดไป  มา เหมือนหางงู และถ้าใครออกจากแถวก็ให้ออกจากการละเล่นแล้วให้เริ่มเล่นใหม่ ประโยชน์ที่ได้รับ ผู้เล่นได้ออกกำลังกายและยังได้ความสนุกสนานอีกด้วย การเล่นประเภทนี้ ผู้ที่จะเล่น ต้องมีร่างกายแข็งแรง เนื่องจากการใช้แรงเหวี่ยงเมื่อถูกแรงเหวี่ยงเมื่อผู้เล่นปล่อยมือหลุดอาจจะไปกระทบกระแทกสิ่งต่าง ๆ ก่อให้เกิดอันตรายได้ รวมถึงอาจจะมีอันตรายที่เกิดกับแขนของผู้เล่นได้ 

ลิงชิงหลัก จำนวนผู้เล่น 9 คน อุปกรณ์ เสาหลัก 8 หลักวิธีเล่น ให้ผู้เล่นไปเล่นที่จุดเริ่มต้น โดยห่างจากหลักประมาณ 3 วา (มากกว่านี้หรือน้อยกว่านี้ก็ได้) ให้มีผู้นับแล้ววิ่งไปแย่งหลักกัน จะมีคนเหลืออยู่ 1 คน คนที่เหลือเป็นลิง ลิงจะต้องคอยแย่งหลักเวลาคนเล่นเปลี่ยนหลักกัน คนที่มีหลักต้องเปลี่ยนหลักด้วย ห้ามอยู่กับที่ ถ้าอยู่กับที่ต้องมาเป็นลิงแทน และถ้าลิงแย่งหลักได้ก็เปลี่ยนคนที่เป็นลิงใหม่ ประโยชน์ เพื่อให้เด็กได้ออกกำลังกายและก่อให้เกิดความสนุกสนาน 

ม้าหลังแดง (เล่นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่) จำนวนผู้เล่น เล่นได้ 4 คนขึ้นไป อุปกรณ์ ผ้าที่พันเป็นก้อนกลม ๆ การเล่นประเภทนี้ สามารถเล่นได้ทุกรุ่น ทุกวัย เล่นได้ทั้งหญิง  ชาย จะนิยมเล่นกันในเทศกางสงกรานต์ วิธีเล่น ผู้เล่นจับคู่กัน ขึ้นขี่หลัง แล้วให้คนที่ขี่หลังโยนผ้าแทนลูกฟุตบอลโดยโยนให้คนที่อยู่บนหลังม้าตัวอื่น ๆ รับ ถ้าใครรับไม่ได้และทำผ้าหล่นก็เปลี่ยนให้คนที่เป็นม้าขี่หลังแทน

วิ่งถอยหลัง จำนวนผู้เล่น 8 คน อุปกรณ์ เส้นชัย วิธีเล่น กำหนดเส้นต้นทางและปลายทางและให้จัดคนเล่นคราวละไม่เกิน 8คน ให้อยู่ห่าง ๆ กัน จะได้ไม่วิ่งชนกัน ผู้เข้าแข่งขันยืนหันหลังให้หลักชัย แล้วจะมีคนให้สัญญาณ พอสิ้นเสียงสัญญาณก็ออกวิ่งถอยหลังจากเส้นต้นทางไปยังเส้นชัย ใครถึงก่อนเป็นผู้ชนะ 

ประโยชน์ที่ได้จากการเล่นประเภทนี้ ได้ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และได้รับความสนุกสนาน

ในปัจจุบัน อิทธิพลของ ของเล่นสำเร็จรูปต่าง ๆ เช่น เกมสะกด หรืออาวุธต่าง ๆ รวมทั้งกีฬาต่าง ๆ ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการเล่นของเด็ก ๆ นั่งกดเกกมะเหรกจำนวนไม่น้อยและอีกบางส่วนก็จะนิยมเล่นอาวุธต่าง ๆ เช่น ปืน และมีด รวมทั้งนิยมเล่นกีฬามากขึ้นด้วย การเล่นพื้นบ้านไทย จึงได้รับความนิยมจากเด็กน้อยลง จึงสมควรที่จะมีการบันทึกการเล่นพื้นบ้านต่าง ๆ ของไทยไว้ รวมทั้งส่งเสริมให้เด็กไทยหันมาเล่นแบบไทย ๆ ที่ประหยัดกันอีกครั้งเพื่อคงเอกลักษณ์การเล่นของเด็กไทยเอาไว้สืบทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป

การละเล่นของผู้ใหญ่

การละเล่นตามแบบไทย ๆ ของผู้ใหญ่ในเขตอำเภอบึงนารางที่นิยมเล่นกันทั่วไป มีดังนี้

เพลงพื้นบ้าน ในเขตตำบลบึงนาราง ในยุคก่อน มีการเล่นเพลงไทยพื้นเมืองเช่นเดียวกับชุมชนภาคกลางทั่ว ๆ ไป คือ เพลงฉ่อย ลำตัด ลำตัด และเพลงเกี่ยวข้าวนิยมร้องเล่นกันในประเพณีสงกรานต์ ส่วนเพลงพื้นบ้านของชาวบึงนารางมีดังนี้

พลงพื้นบ้าน พิษฐาน จำนวนผู้เล่น ชายและหญิงฝ่ายละกี่คนก็ได้ โอกาสและฤดูกาล กำหนด เวลา ที่จะเล่น เล่นในช่วงเทศกาลตรุษสงกรานต์ หลังจากทำบุญเสร็จเรียบร้อยหนุ่มสาวจะกลับไปแต่งตัวกันใหม่ และกลับไปที่โบสถ์ เข้าไป พิษฐาน กัน

วิธีเล่น ผู้เล่น ชายและหญิงจะเข้าไปในโบสถ์จะไปพิษฐานต่อหน้าพระประธานเหมือนการอธิษฐานหรือการเกี้ยวอะไรอีกอย่าง ผลัดกันร้องโต้ตอบกันไปมา

บทร้องเพลงประกอบ (ชื่อเพลงพิษฐาน)

(ร้องพร้อมกัน)

ใจปลงจงจิต ยอดเจ้าพิษฐานเอย มือลูกหนึ่งถือพาน พานละดอกกลดเกิดมาชาติใด แสนแสนใด ขอให้ได้อย่างพิษฐานเป็นไหว้ ขอให้ได้อย่างพิษฐานสมคะเนรมิตร เจ้ายอดพิษฐานเอย

(หญิง) ใจปลงจงจิต ยอดเจ้าพิษฐานเอย มือลูกหนึ่งถือพาน พานละดอกกลดเกิดมาชาติใด แสนใด ขอให้ได้เป็นลูกเราหมด ขอให้ได้อย่างพิษฐานเอย สมคะเนรมิตร เจ้ายอดพิษฐานเอย

(ชาย) ใจปลงจงจิต ยอดเจ้าพิษฐานเอย มือลูกหนึ่งถือพาน พานละดอกกลดเกิดมาชาติใด แสนใด ขอให้ได้เป็นเมียเราหมด ขอให้ได้อย่างพิษฐานเอย สมคะเนรมิตร เจ้ายอดพิษฐานเอย

การเล่นเข้านางช้าง (นิยมเล่นในเทศกาลสงกรานต์ ในช่วงเวลากลางคืน)จำนวนผู้ล่น นางช้าง (ผู้ชาย) 1 คน ส่วนผูร่วมเล่นไม่จำกัดจำนวนอุปกรณ์ 1. ผ้าขาวม้า 1 ผืน 2. ท่อนไม้ 2ท่อน 3. ไม้ไผ่ (สำหรับผู้ร่วมเล่นคนละ 2 ท่อน ขนาดพอเหมาะมือ)

วิธีเล่น


 1.  ผู้เล่นจะมารวมกันที่กลางลานบ้าน โดยมี นางช้าง 1 คน และผู้ร่วมเล่นไม่จำกัดจำนวน 

2. ใช้ผ้าขาวม้าพันเป็นรูปงวงช้าง แล้วพันรอบศีรษะ(ภาษาพื้นบ้านเรียกว่า เคียน ศีรษะ)ให้งวงช้างอยู่ด้านหน้า ให้นางช้างนอนหมอบอยู่กลางลานบ้าน โดยให้ท่อนแขนวางอยู่บนท่อนไม้ทั้ง 2 ข้าง

3. ผู้ร่วมเล่น จะนั่งแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ให้นั่งใกล้นางช้างมากที่สุดนางช้างจะหมอบอยู่กลางระหว่างผู้ร่วมเล่น ต่อจากนั้นผู้ร่วมเล่นจะใช้ไม้ไผ่เคาะเป็นจังหวะพร้อม ๆ กับร้องเพลง นางช้าง ประกอบ (ถ้าผู้ร่วมเล่นนั่งใกล้ ๆ นางช้างมากเท่าไร นางช้างจะยิ่งเข้าเร็วขึ้น)

4. ประมาณ 1 ชั่วโมง นางช้างจะเข้า พอนางช้างเข้า คนที่เล่นเป็นนางช้างจะมีอาการต่าง ๆ เกิดขึ้นคล้ายช้าง เช่น ตัวเริ่มโคลงไป  มา ร้องเสียงเหมือนช้าง

5. พอนางช้างเข้า ผู้ร่วมเล่นคนอื่น ๆ จะนำช้างเดินไปเล่นที่บ้านอื่นไปทำการร้องรำทำเพลงกัน ในระหว่างนั้น นางช้างก็จะเดินไป  มา อยู่บริเวณนั้น

6. พอเวลานางช้างจะออกจากผู้เล่นนางช้างจะล้มตัวลงนอน ถ้ามีเพลงประกอบนางช้างเอย ตัดเต่าร้าง ช้างกินใบไผ่ วัวกินหญ้า ม้ากินสลัดใดไอ้เข้สังข์ต้มไข่ นกขมิ้นเหลืองอ่อน ที่นอนช้างเอย (ซ้ำทั้งหมด 5 เที่ยว) 

ประโยชน์ที่ได้รับ ได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน ตื่นตาตื่นใจ และยังได้อนุรักษ์การละเล่นในสมัยโบราณไว้ให้ลูกหลานอีกด้วย

ผู้ให้ข้อมูลคือ นายสวิง ครุฑอินทร์ อายุ 72 ปี บ้านเลขที่ 382 หมู่ 12 ตำบลแหลมรัง)

วงแคน วงแคนจะพบมากในหมู่ชุมชนที่อพยพมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นิยมบรรเลงในงานพิธีทั่วไป หรือในเทศกาลต่าง ๆ

วงกลองยาว ยังนิยมเล่นกลองยาวกันอยู่ทั่วไป แต่ผู้บรรเลงมักเป็นคนมีอายุ วงกลองยาวมักใช้แสดงในงาน แห่นาค ในงานสงกรานต์ รวมทั้งงานมงคลสมรส เป็นต้น

วงดนตรีสมัยใหม่เป็นวงดนตรีที่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีสมัยใหม่ เช่น อิเลคโทน และกีตาร์ เป็นต้น ส่วนใหญ่ใช้ในการบรรเลงในงานต่าง ๆ เพื่อความสนุกสนาน นักดนตรีเป็นประชาชนในเขตกิ่งอำเภอบงนาราง บางวงมีนักร้องนักเต้น

นาฏศิลป์ การแสดงเชิงนาฏศิลป์ในเขตอำเภอบึงนารางตามที่พบเห็นกันทั่วไป คือ

รำวง เป็นการรำวงแบบชาวบ้านทั่วไปไม่มีแบบแผนตายตัว ก้าวเท้าไปตามจังหวะ มือฟ้อนสลับไป  มา ชาวบ้านนิยมรำวงตามงานมงคลต่าง ๆ เช่น งานบวชนาค โดยเฉพาะการได้รำหน้านาคถือเป็นการได้บุญอีกด้วย งานแต่งงานและงานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น

การเซิ้งบั้งไฟ เนื่องจากในเขตอำเภอบึงนารางมีชุมชนของชาวภาคตะวันออกเฉียเหนือหรือไทนอีสานอยู่เป็นชุมชนใหญ่ คือที่หมู่บ้านห้วยแก้ว ตำบลห้วยแก้ว ซึ่งจะจัดให้มีประเพณีบุญบั้งไฟขึ้นทุก ๆ ปี และในประเพณีนี้ก็จะมีการเซิ้งตามแบบฉบับของชาวภาคอีสาน ประกอบด้วยการเซิ้งจึงถูกถ่ายทอดกันมาเรื่อย ๆ ในหมู่บ้านห้วยแก้ว				
23 กรกฎาคม 2548 11:49 น.

ผีเสื้อปีกบาง..??

เสือยิ้มมุมปาก

ผีเสื้อปีกบาง..ในเว็บพี่หมี่กับที่นี่เนี่ยคนเดียวกันป่ะ

มาคุยกันดีกว่า..เหอๆๆ 

MSN: prang44@hotmail.com แอดมานะ

ว่างๆจะชวนไปกินหมี่ร้านศิริวัฒน์ด้วยกัน (ถ้าบ้านอยูแถวหาดใหญ่นะ)				
3 กรกฎาคม 2548 10:03 น.

วันนี้!! ไปงานหนังสือที่มอ.หาดใหญ่กัน

เสือยิ้มมุมปาก

southern book faire วันนี้วันแรกหรือวันที่สองก็จำไม่ได้

แต่อยากให้ไปกันนะ รู้สึกจะจัดถึงวันที่แปดหรือเก้าอีกน่ะแหละ จำไม่ได้เหมือนกัน .. ไปกันให้ได้นะ ชาวหาดใหญ่ทุกคน

...อยากไปจริงๆๆ... เดี๋ยวบ่ายๆนี้ค่อยออกไป
 ( เหงาน่ะ ไปคนเดียว )

อิอิ				
3 กรกฎาคม 2548 09:38 น.

ไม่มีชื่อ..ไม่มีเรื่อง..ไม่มีความคิด..มีแต่ความผิดหวัง

เสือยิ้มมุมปาก

ด้วยความว่างเปล่าของวันวาน

ตะเกียกตะกายด้วยความหวัง

..........................................

เพียงเท่านี้

ชะเง้อคอ..รอบางสิ่งบางอย่าง

ซึ่งควรค่าแก่การรอคอย

......................................				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟเสือยิ้มมุมปาก
Lovings  เสือยิ้มมุมปาก เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟเสือยิ้มมุมปาก
Lovings  เสือยิ้มมุมปาก เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟเสือยิ้มมุมปาก
Lovings  เสือยิ้มมุมปาก เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงเสือยิ้มมุมปาก