26 เมษายน 2548 06:35 น.

จุดอิทธิฤทธิ์

เสือยิ้มมุมปาก

...สงสัยมั้ยจ๊ะ...
           ทำไมเราต้องนั่งมองท้องฟ้า..เฟ้นหาดาว..นานและนาน
  เพื่อ..เพื่อ..เพื่อคำสวยๆที่สื่อความหมายได้ทั้งอารมณ์ความรู้สึก .. แค่นี้

   ...การเขียน...
            ไม่จำเป็นเลยว่า ต้องดัง ต้องมีคนรู้จัก ชื่นชอบชื่นชม .. ในสายตาคนอื่น
  บางคราก็อาจไม่มีความสำคัญเลย มันอยู่ที่เรา ... อยูที่ใจเรา ถ้าเราพร้อม..
  คนอื่นก็พร้อมเหมือนกับเรา..น่ะแหละ

   ..นักอยากเขียน..
              สิ่งนี้มักมาหลัง "นักอ่าน" .. ไม่เป็นไร .. ทางเดียวกัน คือถ้าเรารักที่
   จะอ่าน เป็นไปได้หรือที่เราจะไม่..ริกริกๆ ที่จะเขียนบ้าง 

  .. เฮ้อ!! ไม่รู้ว่าต้องนั่งมองท้องฟ้าอีกนานแค่ไหน .. กว่าชั้นจะเขียนเรื่องสั้น
                                                                      ได้สักเรื่อง..อ้าว เฮๆๆๆๆๆ!!!				
22 เมษายน 2548 06:27 น.

" ทะเล ป่าภู และเพิงพัก"

เสือยิ้มมุมปาก

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีรัตนโกสินทร์เคยกล่าวว่า "ความสำคัญในกาพย์กลอนของ พนม นันทพฤกษ์ นั้นยิ่งใหญ่ในด้านความเป็นผู้นำที่ยังคงอิทธิพลให้กับคนเขียนกวีรุ่นใหม่ในปัจจุบัน เขาเป็นกวีแห่งยุคผู้เป็น ต้นแบบ ที่น่าศึกษา และน่าภาคภูมิคนหนึ่งของแผ่นดิน" (ปกหลังรวมบทกวี "ทะเล ป่าภู และเพิงพัก" ของ พนม นันทพฤกษ์ สำนักพิมพ์มิ่งมิตร พ.ศ.๒๕๔๑)

          "ประกาย ปรัชญา" กวีรุ่นใหม่ซึ่งเป็น "ต้นแบบ" อีกชั้นหนึ่งให้แก่กวีรุ่นหลังอีกหลายคนได้เขียนไว้ในรวมบทกวี "สองทศวรรษ" ของเขาว่า "อุทิศแด่ คมทวน คันธนู และ พนม นันทพฤกษ์ สองกวีแห่งยุคสมัย : สอง ต้นธาร ร้อยกรองของข้าพเจ้า"

          พนม นันทพฤกษ์ จึงเป็นทั้ง "ต้นแบบ" ทั้ง "ต้นธาร" อยู่ในตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายเลยที่กวีคนหนึ่งจะได้รับการยกย่องอย่างสูงส่งเช่นนี้

          กวีนามอุโฆษผู้นี้สร้างผลงานอย่างโดดเด่น สู่สาธารณชนครั้งแรกในนามจริงคือ "สถาพร ศรีสัจจัง" ขณะเรียนคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในช่วงก่อนเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ หลังเหตุการณ์นี้ผลงานของเขาก็เคียงคู่อยู่กับกวีเด่นๆ ในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็น "รวี โดมพระจันทร์" หรือ "วิสา คัญทัพ" ก็ตาม

          หลังเผด็จการทหารกลับมามีอำนาจอีกครั้งในเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ชื่อของ "สถาพร ศรีสัจจัง" ก็เงียบหายไปเหมือนฝนลาฟ้าเช่นเดียวกับกวีอื่นๆ ก่อนที่จะผุดวาบออกมาเป็นปรากฏการณ์ดั่งเรียวรุ้งในนาม "พนม นันทพฤกษ์" ในช่วง พ.ศ.๒๕๒๒ บทกวีอย่าง "เดือนสามลมรักล่องแผดโผยโปรยผ่านมา" หรือ "ฝั่งทะเลตะวันตก" หลายคนบอกว่างามจับใจ โดยเฉพาะ "เกจิวรรณกรรม" อย่าง "หินผา บ้านไพร" หรือ เสถียร จันทิมาธร ถึงกลับกล่าวว่า บทกวีของ พนม นันทพฤกษ์ สามารถสืบทอดวรรณคดีโบราณได้อย่างเข้าใจ และเข้าถึงชีวิตอย่างลึกซึ้งกว้างขวาง (โลกหนังสือ มิถุนายน ๒๕๒๓)

          บทกวีในช่วงต่อมาของ พนม นันทพฤกษ์ ไม่ว่าจะเป็น "ตำนานแห่งพิมพะยอม" หรือ "ตำนานดาว" ล้วนมีเอกลักษณ์ของตัวเองอย่างโดดเด่น จึงไม่น่าแปลกใจเลยหากมีกวีรุ่นใหม่หลายคน ทดลองเดินตามเส้นทางของเขามาตั้งแต่ต้น จนกระทั่งกวีเจ้าคารมผู้นี้กลายเป็น "ต้นแบบ" ไปในที่สุด

          น่าสงสัยว่าเขาสร้าง "ต้นแบบ" ของตัวเองขึ้นมาได้อย่างไร

          "ความจริงแล้วผมไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นต้นแบบอะไรหรอก"

          เขากล่าวขึ้นด้วยน้ำเสียงทุ้ม นุ่มกังวานตามบุคลิกประจำตัวให้คนสองคนฟัง ในห้องพักของแฟลตข้าราชการสถาบันทักษิณคดีศึกษา บนเกาะยอ จ.สงขลา ซึ่งมีบรรยากาศสวยงามราวกับสถานที่พักตากอากาศ มองออกไปด้านหลัง เห็นทะเลสาบสงขลา สะท้อนแสงแดดพรายพริบอยู่เบื้องล่าง สะพานติณสูลานนท์ฝั่งหัวเขาแดงทอดตัวสงบนิ่งเหนือผืนน้ำ บนท้องฟ้าในระดับสายตา นกขาวหลายตัวเริงรำไม่เหน็ดเหนื่อยราวแสดงนาฏกรรมไม่รู้จบ

          หนุ่มใหญ่ที่ดูอ่อนเยาว์กว่าอายุจริงหลายปียกมือขึ้นลูกหน้าขึ้นลงถี่ๆ ดังที่เคยทำอยู่บ่อยครั้ง เขาวางกองถ้อยคำไว้เบื้องหน้าให้เราเพ่งพินิจ

          "หลักเหตุการณ์ ๖ ตุลา ผมคิดว่าจะไม่เขียนบทกวีแบบเก่าๆ และไม่ใช้ชื่อ สถาพร ศรีสัจจัง อีกแล้ว เพราะฉะนั้น มันควรจะมีการเกิดใหม่ของอะไรบางอย่าง ผมก็พบว่าเรื่องเสียง เรื่องจังหวะ เป็นเรื่องสำคัญของบทกวี โดยเฉพาะจังหวะของกลอนแปดไม่จำเป็นต้องเหมือนที่สุนทรภู่วางไว้คือ ๓-๒-๓ หรือ ๓-๓-๓ มันน่าจะเป็น ๑-๔-๒ หรือ ๒-๒-๓ ก็ได้

          "อีกอย่างผมคิดว่าไม่จำเป็นที่จะต้องใช้คำบาลีสันสกฤตให้มากนัก ใช้คำไทยง่ายๆ ดีกว่า แต่ตัวชี้ขาดน่าจะเป็นเรื่อง "วิธีคิด" มากกว่า วิธีคิดที่จะนำเรื่องอะไรมาเล่าในกวีนิพนธ์ ซึ่งน่าจะมีลักษณะจำเพาะของมันที่ควรเล่าด้วยวิธีนี้ ไม่ควรเล่าด้วยวิธีเรื่องสั้นหรืออย่างอื่น ผมพบว่าเรื่องที่ควรเล่าเป็นกวีนิพนธ์คือเรื่องของความรู้สึก เพราะกวีนิพนธ์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสื่อตรงไปยังความรู้สึกของผู้รับ"

          กวีใหญ่กล่าวว่า รูปแบบหนึ่งของกวีนิพนธ์ ที่เขาเคยทำมาแล้วและน่าจะประสบความสำเร็จ คือการเล่าความรู้สึกโดยมีโครงเรื่องเข้าไปรองรับ ในลักษณะของเรื่องสั้น มีตัวละคร ฉากและภาวะปรากฏการณ์ต่างๆ โดยนำรูปแบบมาจากวรรณคดี แต่ทำให้กระชับขึ้น ซึ่งผู้อ่านก็รู้สึกพอใจว่ามีเนื้อหาจริงจัง ไม่ใช่พร่ำรำพันอารมณ์อย่างเดียว

          แต่เขาจะไม่ทำงานในลักษณะนี้อีกแล้ว เพราะรู้สึกอิ่มตัว

          ในฐานะกวีรุ่นเก่าที่มีอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่ ผู้ฟังของเขาจึงอดไม่ได้ที่จะถามความเห็นเกี่ยวกับกวีนิพนธ์ร่วมสมัย

          กวีต้นแบบบอกว่าในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมาเขาอ่านกวีนิพนธ์น้อยกว่าเดิม และเท่าที่อ่านก็ยังไม่พบบทกวีที่กระทบความรู้สึกรุนแรง หรือเห็นพัฒนาการใหม่ที่งดงาม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการ "ผลิตซ้ำ" เสียมากกว่า สาเหตุหนึ่งเพราะบทกวีไม่ใช่ "สินค้าหลัก" ของสังคม จึงขาดพัฒนาการ มีเพียงการเปลี่ยนแปลงด้านรูปแบบจากฉันทลักษณ์ไปเป็นกลอนเปล่าเท่านั้น นอกจากนั้นก็เป็นการพยายามจัดจังหวะของเสียง เช่น เปลี่ยนกลอนแปดจาก ๓ จังหวะ เป็น ๔ จังหวะ แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่

          ทางด้านเนื้อหาของบทกวีรุ่นใหม่ กวีหน้าเข้มคิ้วดกสายพันธุ์ปักษ์ใต้กล่าวว่ายังขาดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่เช่นกัน ไม่เพียงด้านนิตยสารเท่านั้น ถ้าเข้าไปดูในอินเทอร์เน็ต จะพบสิ่งที่เรียกว่า "กลอน" มากมาย ไม่ว่าจะเขียนเรื่องการเมืองหรือสังคมก็สำแดงออกในเชิง "อัตวิสัย" ล้วนๆ คือพอใจกับไม่พอใจ นอกจากนี้ ที่มีมากที่สุดคือเรื่องความรัก ซึ่งเขียนโดยใช้มุมมองที่เก่ามาก เช่น ฉันรักเธอ เธอรักฉัน เป็นต้น

          "เรื่องความรักไม่ใช่ไม่ดี เขียนเมื่อไหร่ก็ดีเมื่อนั้น แต่คุณต้องทำได้ถึงขั้นทั้งโดยรูปแบบและมุมมอง ผมเห็นว่าการทำเรื่องเล่าไม่ว่าร้อยกรองหรือร้อยแก้ว ตัวชี้ขาดหนึ่งที่สำคัญมากคือมุมที่ใช้มอง แล้วเล่าเรื่องออกมาด้วยมุมนั้น แต่ในร้อยกรองต้องอาศัยทักษะในการเล่นกับเสียง เล่นกับคำ เล่นกับจังหวะ เพื่อให้กระทบใจคน"

          ผู้ฟังของเขาตั้งคำถามไปถึงข้อด้อยของกวีรุ่นใหม่ เจ้าของบทกวี "ตำนานดาว" ยกมือขึ้นลูกหน้าอีกครั้ง เขาอธิบายชนิดไม่ต้องหยุดคิด

          ข้อด้อยของกวีรุ่นใหม่ก็เหมือนข้อด้อยของคนรุ่นใหม่นั่นแหละ นี่คือความเห็นของ พนม นันทพฤกษ์ เขาบอกว่าคนรุ่นใหม่น่าสงสาร เพราะถูก "โปรแกรม" ข้อมูลเข้าสู่สมองจากสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลมากกว่า เริ่มจากค่านิยมทุนบวกกับแนวคิดแบบศักดินาเก่าของครอบครัว โปรแกรมให้เป็นคนที่ต้องชนะหรือเป็นเจ้าเป็นนาย สถานศึกษาโปรแกรมด้วยระบบอำนาจหลายรูปแบบ เพลงหรือระบบโฆษณาโปรแกรมการใช้ชีวิตและค่านิยมต่างๆ

          คนรุ่นใหม่จึงมีความรู้จำกัด มีรสนิยมจำกัด กวีที่เลิกสูบบุหรี่แล้วเพราะโรคหลอดเลือดหัวใจเข้าคุกคามกล่าวเพิ่มเติม และบอกต่อไปว่า คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยมีความรู้สึกต่อสิ่งที่เข้ามากระทบ ยกเว้นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น และคนหนุ่มสาวยุคใหม่ ที่สร้างงานศิลปะ ก็ค่อนข้างขาดสำนึกที่จะเรียนรู้ธรรมชาติแท้ๆ พวกเขาไปอยู่กับความฝันที่ล่องลอยอยู่ไกลมาก ไม่อยู่กับความเป็นจริงใกล้ตัว ทำให้ขาดภาวะของผู้นำทางจิตวิญญาณซึ่งศิลปินหรือกวีควรจะมีเป็นอย่างยิ่ง

          "คนหนุ่มสาวและกวีส่วนหนึ่งขาดการเรียนรู้ข้อเท็จจริงของชีวิต ทำให้เป็นคนไม่ลุ่มลึก คิดอะไรก็ตื้นเขิน สิ่งที่เรียกว่าการแสวงหาก็มักจะแสวงหาที่กระพี้มากกว่าที่แก่น แสวงหารูปแบบมากกว่าเนื้อหา แสวงหาปรากฏการณ์มากกว่าธาตุแท้ เช่น พอเริ่มจะเป็นศิลปินก็ไปเน้นที่ทรงผม หรือการแต่งตัวต่างๆ นานา แล้วติดอยู่แถวนั้น ไม่ทำงานหนัก

          "ผมคิดว่าการแสวงหาของศิลปินเหมือนกับการปฏิบัติธรรม นั่นคือคุณต้องเข้มแข็งมาก ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถผ่านพรมแดนเข้าไปสู่ภาวะของศิลปินจริงๆ ได้ คุณต้องมีภาวะเหมือนกับคนที่บรรลุธรรม ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถรวบรวมพลังส่งผ่านไปยังงานของคุณได้ เหมือนกับที่นักพรตส่งพลังหรือสัจจะของเขาผ่านไปยังคำเทศน์คำสอน"

          กวีที่หัวใจยังอบอุ่นอยู่ด้วยความรักเสมอกล่าวว่า เขาชอบวรรณคดีรุ่นเก่า เช่น "ลิลิตพระลอ" ซึ่งมีความงดงามด้านกวีนิพนธ์เป็นอย่างมาก ชอบ "โองการแช่งน้ำ" เพราะอ่านออกเสียงแล้วมีพลัง นอกจากนี้ก็ชอบ "สมุทรโฆษคำฉันท์" และเรื่องอื่นๆ

          "อ่านมาเรื่อยจนถึงผลงานของคนรุ่นหลังที่ว่ากันว่าเป็นมหากวีอย่าง "นายผี" ผมอ่านเรื่อง "ความเปลี่ยนแปลง" เห็นถึงความเข้าใจทางด้านกวีนิพนธ์ของเขา เขากุมสภาพได้ในเรื่องของจังหวะและน้ำหนักเสียงในการดึงคำมาใช้เพื่อเล่าเรื่อง เป็นต้นแบบของกาพย์ยานีที่ผมอยากให้กวีรุ่นใหม่อ่าน"

          กวีรุ่นต่อมาคือ "จิตร ภูมิศักดิ์" พนม นันทพฤกษ์ "วิพากษ์" ในแง่มุมกวีให้ฟังว่าจิตรเข้าใจกวีนิพนธ์แบบกลไก เพราะมีสติปัญญาดี และศึกษากวีนิพนธ์จนทะลุปรุโปร่ง แต่มีอารมณ์เดียวคือความโกรธแค้นต่อสิ่งชั่วร้าย เมื่อเขียนบทกวีโจมตีเผด็จการจึงมีพลังอันงดงาม แต่ถ้าเขียนในอารมณ์อื่นจะไม่มีพัฒนาการพ้นยุคสมัยของตัวเองเลย โดยเฉพาะการเขียนกลอนแปด

          กวีที่ชอบเลือกซื้อเสื้อผ้ามือสองจากตลาดสะเดา สงขลา ถูกตั้งคำถามให้ช่วย "พาดพิง" ไปถึงกวีร่วมสมัยคนอื่นๆ ที่มีผลงานน่าชื่นชม เขาไม่ต้องใช้เวลาคิดอีกเช่นเคย

          "ผมมีความรู้สึกต่องานที่มีฝีมือ "ขึ้นถึง" อย่าง "คมทวน คันธนู" ในชุดแรกๆ ภายใต้สเปช และไทม์นั้น อ่านแล้วรู้สึกว่า "ได้" รู้สึกกระทบ งานของ "เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์" ในห้วงเวลานั้นๆ ชิ้นสั้นๆ ที่เขาพูดถึงธรรมชาติ งานของ "วินัย อุกฤษณ์" เป็นบางชิ้น"

          "และที่สำคัญคืองาน "อีสาน" ของนายผี ผมถือว่าเป็นงานที่ขึ้นถึงโดยอารมณ์โดยอะไรหลายๆ อย่าง ยิ่งถ้าคุณเปล่งเสียงออกมา มันได้เลย"

          พนม นันทพฤกษ์ เป็นคนไทยเชื้อสายจีน เกิดที่บ้านน้ำเลือด จ.พัทลุง เมื่อวันแห่งความรัก ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๓ ในวัยเด็กอยู่กับย่าที่ไม่รู้หนังสือ แต่สามารถร้องเพลงกล่อมเด็กและขับกลอนในวรรณคดีต่างๆ ได้เป็นอย่างดี "เด็กชายบองหลา" จึงซึมซับความงามของศิลปวรรณกรรมเหล่านี้เอาไว้ ก่อนจะเรียนรู้เพิ่มเติมจากหนังตะลุง มโนราห์ และเพลงบอกที่แผ่วแว่วอยู่ใกล้ตัว

          ช่วงเรียนชั้นประถมปลายไปอยู่กับพ่อที่รับราชการเป็นป่าไม้จังหวัดใน อ.กันตัง จ.ตรัง เริ่มอ่านนิตยสาร "บางกอก" และอื่นๆ และหัดเขียนกลอน โดยมีแรงบันดาลใจจาก "ประพนธ์ เรืองณรงค์" นักกลอนชื่อดังที่มาอาศัยอยู่ที่บ้าน รวมทั้ง "จำลอง ศรีสัจจัง" พี่ชายที่เขียนกลอนอยู่ก่อนแล้ว ในขณะที่ด้านหนึ่งเขาเป็นนักปิงปองของโรงเรียน ระดับชนะเลิศชั้น ป.๖ ของอำเภอ

          ไปเรียนระดับมัธยมต้นที่โรงเรียนวิเชียรมาตุ เมืองตรัง พร้อมกับเป็นเด็กวัด มีเพื่อนสนิทในโรงเรียนซึ่งสนใจกาพย์กลอนเช่นกันชื่อ "สุประวัติ ใจสมุทร" ช่วงนี้ "สถาพร ศรีสัจจัง" เริ่มเขียนกลอนเขียนฉันท์ประกวด ได้รับรางวัลหลายครั้งจนมีชื่อเสียง แต่อีกมุมหนึ่งของชีวิตเริ่มจะสูบบุหรี่ หนีโรงเรียน หัดชกมวยและขึ้นต่อยมวยหลายครั้ง

          จบ ม.ศ.๓ ไปเรียนที่โรงเรียนสภาราชินี พร้อมกับสุประวัติ ที่นี่เขามีรุ่นน้องคือ "จิระนันท์ พิตรปรีชา" กวีซีไรท์ในเวลาต่อมา และเพื่อนร่วมห้องชั้น ม.ศ.๕ คือ "เทือก บรรทัด" กวีเมืองตรัง ซึ่งเป็นตัวแทนเซปักตะกร้อของโรงเรียนในทีมเดียวกัน

          หลังจบมัธยมปลาย เดินทางไกลไปอบร่ำหมอกเหมย ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขารวมกลุ่มกับเพื่อนนักศึกษาที่เป็นนักเขียนในเวลาต่อมา เช่น "ตะวัน สันติภาพ" "สุเมธ แสงนิ่มนวล" ออกหนังสือมาหลายเล่ม และก่อตั้งกลุ่ม "วลัญชทัศน์" ร่วมกับ "นิสิต จิระโสภณ" และคนอื่นๆ เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง นอกจากนี้ก็จัดงานวัฒนธรรมที่แปลกใหม่ในเมืองไทย คือ "อ่านบทกวี" กลางเมืองเชียงใหม่

          สถาพรยังชอบปีนดอยไปคลุกคลีอยู่กับชาวเขา และสร้าง "วีรกรรม" ด้วยการนำพรรคพวกเข้าทุบศาลพระภูมิในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยข้อหาว่าไม่สร้างภูมิปัญญาให้แก่ปัญญาชน

          เรียนจบแล้วเข้าทำงานในมูลนิธิโกมลคีมทอง ต่อมาก็เป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ปุถุชน หลังจากนั้นหลักเหตุการณ์ ๖ ตุลา ไปเก็บตัวที่ด่านเกวียน โคราช แล้วล่องใต้ไปเป็นผู้จัดการโรงงานปลาป่นที่กันตัง ก่อนกลับเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้งใน พ.ศ. ๒๕๒๒ เพื่อทำงานสำนักพิมพ์และนิตยสารหลายแห่ง

          ๓ ปีต่อมากลับไปรับราชการที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา มศว.สงขลา (ม.ทักษิณในปัจจุบัน) เรียนจบปริญญาโทด้านไทยคดีศึกษาจาก มศว.สงขลา และเป็นรองผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษาในขณะนี้

          พนม นันทพฤกษ์ มีงานเขียนหลายเล่มทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น และกวีนิพนธ์ ผลงานที่สำคัญๆ เช่น "เด็กชายชาวเล" (นวนิยาย หนังสืออ่านนอกเวลา สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น กระทรวงศึกษาธิการ) "ดาวที่ขีดเส้นฟ้า" (รวมเรื่องนั้น) "ทะเล ป่าภู และเพิงพัก" (รวมกวีนิพนธ์) เป็นอาทิ เคยได้รับรางวัลมากมาย เช่น รางวัลเรื่องนั้นและสารคดีจากนิตยสาร "แมน" รางวัลเรื่องสั้นดีเด่นจากสมาคมภาษาและหนังสือฯ รางวัลจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ทั้งด้านกวีนิพนธ์และนวนิยายสำหรับเยาวชนหลายครั้ง

          นอกจากมีบ้านพักในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กับห้องพักบนเกาะยอแล้ว กวีใหญ่ภาคใต้ยังสร้างกระท่อมไว้ในชนบทห่างไกลใน จ.สตูล เพื่อพักผ่อนในธรรมชาติ และออกแรงทำงานให้เหงื่อไหลกลางแสงแดด ในอนาคตเขาบอกว่าอยากไปอยู่ที่นั่น เพื่ออ่านหนังสือ เขียนหนังสือ และมีเวลาเดินทางเยี่ยมเยือนมิตรสหาย

          "การอยู่กับธรรมชาติเป็นสิ่งที่ผมคุ้นเคย หลับตาลงก็เห็นภาพชีวิตของตัวเองและธรรมชาติอย่างชัดเจน ผมจึงอยากเดินไปหาสิ่งนั้น การได้อยู่กับธรรมชาติมนุษย์น่าจะเป็นอิสระขึ้น และได้พักผ่อนจิตใจมากขึ้น ผมว่าจริงๆ แล้วมนุษย์เราที่เกิดมาไม่ได้แสวงหาอะไรนักหนา น่าจะแสวงหาว่าที่พำนักที่แท้จริงของตัวเองคืออะไร แล้วอยู่กับสิ่งนั้น"

          "ซึ่งท้ายที่สุดก็คือการอยู่กับจิตใจของตัวเองนั่นเอง"				
20 เมษายน 2548 09:46 น.

สุขสันต์วันเกิด..ใครสักคนหรือหลายๆคน

เสือยิ้มมุมปาก

ในบางมุม..ณ โลกใบเล็กของฉัน

                   ..ช่วงหนึ่งของการเดินทาง..ที่มีเพียงฉันและเงา

                     หรือบางเวลา..ในชั่วโมงที่ฉันยังคงโหยหา

                           ..บางสิ่ง ทำให้ฉันรู้สึกถึง..บางอย่าง..

                          ไม่อาจเข้าใจได้..ไม่อาจกระจ่างชัด

                             มีเพียงถ้อยคำสั้นๆ เพียงนั้น

                       " สุ ข สั น ต์ วั น เ กิ ด น ะ ค ะ "				
15 เมษายน 2548 17:40 น.

มะพร้าวแก่ - สองชรา

เสือยิ้มมุมปาก

มะพร้าวแก่ยืนหยัดทรนง  โดดเดี่ยว
ท่ามกลางผืนต้นกล้าแห่งชีวิต  หลากหลาย
นานาพันธุ์  เอนอ่อนลู่เอน  ระเริงพลิ้ว
               - - ต้นไม้มีชีวิต - -
สองชรายืนหยัดทรนง  อ้างว้าง
ท่ามกลางผู้คน  คนของคนอื่น
สายน้ำตา .. รินไหล .. ซาบซึ้งซึ่งตื้นตัน
             - - ไม้ (ใกล้) มีชีวิต - -
..หยิบถุงนอน หมอนพับ บัตรเครดิต..
เหลือเพียงสมุดบันทึก  โลกที่กระจัดกระจาย  กล้องถ่ายรูป
เพื่อสุนทรียภาพแห่งชีวิต เปลี่ยนจากรถตู้ เป็น รสบัสธรรมดา
..กระโจนตนสู่..สองแถวบุโรทั่ง..สบายอุรา
นี่คือ..การเดินทางเพื่อชีวิตโดยชีวิต เพียงเพื่อรื้อฟื้นนาฎลีลาจากชราเฒ่า
เสียงปี่พาทย์จับใจ..โหยหาสู่ห้วงสำนึก..ปลุกเร้าเลือดใต้ให้พุ่งกระฉุดขึ้นอีกครา

กระดานชนวน..
ทำให้ฉันรู้สึกถึง อุดมคติ สร้างสิ่งที่มีและเป็นไป หนึ่งที่ไม่รู้หนังสือ
 สอง สาม สี่ ต้องรู้หนังสือ  พ่อพูด  ซึ้งใจ

เตาถ่าน..
ไม่ใช่เตาหุงต้ม..แต่ .. เตารีด ..
ตื่นตา  ตื่นใจ ภาคภูมิ..แลรับรู้ เกียรติประวัติภูมิปัญญาไทย

เส้นสีแห่งองค์ร่มกาวสาวพัตร..
ประสูติ - ตรัสรู้  ปรินิพพาน
..หลากตำนานเหล่านี้ ล้วนกำเนิดก่อนบุพกาล .. ควรค่าแก่การจดจำ
..แสนตราตรึง
..ใช่ๆ .. เก่า .. ผุพัง ..คล้ายจะขาดเป็นส่วนๆ 
แต่ความรู้สึกยังคงเปี่ยมล้นด้วยศรัทธา

ก้นครัว..
กะทะใบเขื่อง แม้เบื้องล่าง..ดำปิ๊ดปี๋ .. รู้สึกดี ..
ได้สัมผัส อีกท้งอาหารกล่อมรสสนธยา
ผัดมาม่าจรรโลงพุง ...

หม้อดิน ..
 .. หม้อน้ำใจ   ผ่านไป  ผ่านมา แจกแจงสาธารณคุณ
ทั้งละแวกนี้ และละแวกหน้า     น้ำเย็นชื่นใจ..น้ำใจชื่นเย็น 

กระเบื้องดิน..
จินตนาการตามมโนสำนึกเบื้องลึก..ปรารถนาแรงกล้า
..วิมานบนดิน..

หมาน้ำ..
หาใช่หมาอยู่ในน้ำ..แต่..น้ำอยู่ในหมา
- กระบะตักน้ำ  สาว..สาว..สาว
..สาวขึ้น..ลงถัง ละเลงเท้า ..เย็น

ลงเอย..
เก้าอี้ผ้าใบ..ชายทุ่ง
เข้ากันจริงๆ ..
ลมเย็นๆ พัดเอื่อย ๆ
แสงสาดๆ แดดอ่อนๆ
.. บรรยากาศชวนสรรสร้างร่างบทกลอน
   แต่ทว่า..กลับง่วงเหงาชวนนอนได้เช่นกัน

..ฟ้าสาง .. รุ่งวันใหม่
    อาจเป็นเพราะปิติสุขเปี่ยมล้น..สองตายาย น้ำตาซึม  ริมไหล
เป็นภาพลักษณ์ชายทุ่ง..มุ่งวิถีธรรม ...
หรือ  ระยะทางห่างกว้าง .. ทางไกล
และ  น้ำใจสองข้างทางกลับใหญ่ยิ่ง
ด้วย  รอยยิ้มเย้ยแย้มหรรษา
แต่  เจือด้วยรสแท้เหยียดหยาม				
11 เมษายน 2548 08:01 น.

"เสี้ยวของเงาใจ"

เสือยิ้มมุมปาก

* เพื่อนมีค่าเกินที่ฉันจะรู้สึกเช่นนั้นได้ *

                                                           แต่ทว่า...

                                   .. บางครั้ง .. สิ่งที่เคยมี เคยรัก เคยสัมผัส เคยทะนุถนอม

แปรเปลี่ยน .. กลับกลาย .. เสื่อมสลาย

    ก่อนออกจากบ้าน..เราบอกว่า..แล้วเราจะกลับมานะ 

    ออกจากบ้าน..เราบอกว่า..ไม่อยากกลับเข้าไปเลย   

กลับถึงบ้าน..เราบอกว่า..จำใจจริงๆ

*.. ตามตรงนะ .. ไม่อยากให้ใครสักคนในสามเก้าสี่หก "เปลี่ยนไป" ..*

เพราะหลงระเริงในทีใหม่..หรือมองผิดเห็นเราไร้ค่า..เอาล่ะ! ไม่ว่ากัน				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟเสือยิ้มมุมปาก
Lovings  เสือยิ้มมุมปาก เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟเสือยิ้มมุมปาก
Lovings  เสือยิ้มมุมปาก เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟเสือยิ้มมุมปาก
Lovings  เสือยิ้มมุมปาก เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงเสือยิ้มมุมปาก