25 พฤษภาคม 2561 23:31 น.

โลหิตสูตร

คีตากะ

sddefault.jpg
โลหิตสูตร
BLOOD STREAM SERMON
(ปรมาจารย์ตั๊กม้อ)
เรียบเรียงโดย พุทธยานันทภิกขุ
ทุกสิ่งที่ปรากฎในภพทั้งสามล้วนเกิดจากจิต ดังนั้น พระพุทธเจ้า ทั้งในอดีต
และอนาคต ย่อมสอนด้วยวิธีจิตสู่จิต โดยไม่ยึดรูปแบบตายตัวใดๆ
"แต่ถ้าไม่ใช่รูปแบบตายตัว พระพุทธเจ้าเหล่านั้นจะใช้จิตโดยวิธีใด?"
"สิ่งที่ท่านถามนั่นแหละคือจิตของท่าน"
"สิ่งที่ฉันตอบนั่นแหละคือจิตของฉัน"
"ถ้าฉันไม่คิดฉันจะตอบได้อย่างไร"
"ถ้าท่านไม่คิดท่านจะถามได้อย่างไร"
"สิ่งที่ท่านถามก็คือความคิด (จิต) ของท่าน"
       ตลอดกัปกัลป์ อันหาเบื้องต้นและที่สุดไม่ได้ ท่านทำสิ่งใดก็ตามอยู่ที่ไหนก็ตาม
 สิ่งนั้นคือจิตที่แท้จริงของท่าน สภาวะนั้นคือพระพุทธเจ้าที่แท้จริงของท่าน จิตนี้คือพุทธะ
ท่านกล่าวว่าเป็นสิ่งเดียวกัน นอกเหนือจากจิตนี้แล้วท่านจะพบพระพุทธเจ้าที่อื่นไม่ได้เลย
     การแสวงหาโพธิ (การบรรลุธรรม) หรือนิพพาน นอกจากจิตนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้
ความเป็นจริงของธรรมชาติของท่านเอง ที่เป็นสภาพที่เหตุปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ก็เกิดมาจากจิตด้วย
เพราะภาวะแห่งนิพพานมีอยู่แล้วในจิตของท่าน ท่านอาจคิดเอาเองก็ได้ว่า ท่านสามารถค้นพบ
พระพุทธเจ้าหรือโพธิอยู่นอกจากจิตนี้ แต่สถานที่เช่นนั้นจะไม่มีอยู่จริงได้เลย
     ความพยายามค้นหาพระพุทธเจ้า หรือค้นหาการบรรลุธรรม ก็เหมือนการจับฉวยเอาอากาศ
ซึ่งมีแต่ชื่อแต่ไร้ตัวตน มันไม่ใช่สิ่งที่ท่านจะสามารถหยิบขึ้นหรือวางลงได้
และท่านไม่สามารถจะจับฉวยมันได้ พระพุทธเจ้าเกิดจากจิตของท่าน แล้วจะค้นหาพระพุทธเจ้า
นอกจากจิตนี้ไปทำไม?
     พระพุทธเจ้าทั้งในอดีตและอนาคตล้วนแต่กล่าวถึงจิตนี้เท่านั้น ดังนั้น จิตนี้จึงคือพุทธะ
และพุทธะก็คือจิตนั่นเอง 
นอกเหนือจากจิตไม่มีพุทธะ และนอกเหนือพุทธะก็ไม่มีจิต ถ้าท่านคิดว่ามีพุทธะ
ที่เหนือจิตนี้แล้ว พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหนกันล่ะ
ดังนั้นจึงไม่มีพระพุทธเจ้านอกเหนือจากจิต ทำไมเราไม่เผชิญหน้ากับพระองค์
ตราบใดที่คุณหลอกตัวเองอยู่ คุณก็ไม่สามารถรู้จักจิตที่แท้จริงของตนเอง
ตราบใดที่คุณยังหลงติดอยู่ในรูปที่ไร้ชีวิต (หมายถึงรูปกับนามไม่ได้อยู่ด้วยกัน
กายอยู่ที่หนึ่งแต่จิตคิดไปอีกที่หนึ่ง) คุณก็ยังไม่มีอิสระ ถ้าไม่เชื่อคำเหล่านี้ คุณก็หลอก
ตัวเองอย่างช่วยไม่ได้ มันไม่ใช่ความผิดของพระพุทธเจ้า
แม้ประชาชนเองก็ถูกหลอก พวกเขาไม่เคยรู้จักว่า จิตของตนนั่นแหละคือพระพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้นไม่ต้องแสวงหาพระพุทธเจ้านอกจิตของตนเอง
พระพุทธเจ้าย่อมไม่ดูแลรักษาพระพุทธเจ้าด้วยกันเอง หมายความว่าถ้าท่านใช้จิตของท่านหาพุทธะ
ท่านก็จะไม่เห็นพุทธะ (การใช้ความคิดดูจิต ย่อมไม่เห็นจิต ใช้สติดูจิตจึงจะเห็นจิต) ตราบใดที่ท่านหาพระพุทธเจ้า
ภายนอกตนเอง ท่านก็ยังไม่เห็นพระพุทธเจ้าอยู่ภายในจิตของท่านเอง
อย่าใช้พระพุทธเจ้าบูชาพระพุทธเจ้า (ผู้ที่รู้จักตนเองย่อมไม่หลงบูชาสิ่งอื่น) อย่าใช้จิตปลุกพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าย่อมไม่สวดมนต์ พระพุทธเจ้าไม่ต้องรักษาศีล พระพุทธเจ้าไม่ต้องรักษาวินัย และไม่ต้องละเมิดวินัยใดๆ
พระพุทธเจ้าไม่ต้องทำดีหรือชั่ว (จิตเข้าถึงพุทธะย่อมอยู่เหนือสมมติ และโลกธรรมทั้งปวง)
การค้นหาพุทธะท่านต้องค้นหาตนเองให้พบก่อน ใครก็ตามที่เห็นตนเอง ชื่อว่าเห็นพุทธะ ถ้ายังไม่เห็นตนเอง ,
การทำพุทธาภิเษก, การท่องบ่นพระสูตร, การบำเพ็ญทาน และการรักษาศีล ทั้งหมดทั้งปวงนั้นเป็นเรื่องไร้สาระ การปลุกเสก การสวดอ้อนวอนพระพุทธเจ้า อาจส่งเสริมให้สร้างกุศลกรรม การท่องจำพระสูตรอาจเป็นผลให้มีความทรงจำดี, การสมาทาน รักษาศีลอาจเป็นผลให้ได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดี และการบำเพ็ญทานเป็นผลให้ได้รับความสุข แต่ไม่ส่งผลให้เป็นพุทธะได้
ถ้าท่านไม่เข้าใจคำสอนด้วยตัวของท่านเองท่านก็ต้องไปพบกับครูผู้มีความเข้าใจลุ่มลึกและลึกซึ้งเกี่ยวกับชีวิต
และความตาย ผู้ไม่เห็นธรรมชาติของตนเองนั้นยังเป็นครูไม่ได้
ถึงแม้เขาจะสามารถ ท่องพระไตรปิฎกได้จบถึงสิบสองรอบก็ตาม เขาก็ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยง การเวียนว่าย
ตายเกิดในวัฏสงสารได้ เขาย่อมเป็นทุกข์อยู่ในภพทั้งสาม (กามภพ , รูปภพ , อรูปภพ) โดยไม่มีหวังที่จะปลดเปลื้องทุกข์ได้เลย
นานมาแล้ว มีพระรูปหนึ่งเป็นที่รู้จักกันดีโดยทั่วไป เป็นผู้สามารถท่องพระไตรปิฏกได้ทั้งหมด แต่ท่านก็ไปไม่พ้น
จากวัฏสงสาร เพราะท่านไม่เห็นธรรมชาติของตนเอง
เพราะเข้าใจกันว่าการท่องพระสูตรเป็นเหตุให้มีชื่อเสียง ดังนั้นศาสนิกทุกวันนี้จึงชอบท่องพระสูตรไว้มากบ้างน้อยบ้างและคิดว่าการได้ท่องพระสูตรได้เป็นการรู้ธรรมะ
ความเข้าใจเช่นนั้นเป็นเรื่องที่โง่เขลา เว้นไว้แต่คนที่รู้จักจิตของตนเองการสาธยายพระสูตรหรือท่องคาถาภาษิตได้นั้น นับได้ว่าเป็นเรื่องไร้สาระสำหรับการปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์
การจะค้นพบพระพุทธเจ้า สิ่งที่ท่านต้องทำก่อนคือการค้นตนเองให้พบเพราะธรรมชาติของตนเองนั่นแหละคือพุทธะ
พบพุทธะภาวะซึ่งเป็นภาวะที่อิสระ คืออิสระจากพิธีกรรม อิสระจากอุบายต่างๆ และอิสระจากการปรุงแต่งวิตกกังวล
ถ้าท่านยังไม่เห็นตนเอง ย่อมวนเวียนแส่ส่ายหาแต่สิ่งภายนอกตัวเรื่อยไปเพราะสัจธรรมมีอยู่แล้วในคนทุกคน
ไม่มีความจำเป็นต้องค้นหาอีก แต่การเข้าถึงปัญญาเช่นนั้นได้ ท่านจำเป็นต้องใช้ความเพียรพยายาม เพื่อทำให้ตนเองเข้าใจตนเอง (ทำความเข้าใจในตนเองได้)
ชีวิตและความตายเป็นสิ่งสำคัญ อย่าทำให้ตนเองเป็นทุกข์กับสิ่งที่ไร้สาระ การหลอกลวงตนเองไม่ได้ทำให้ท่านก้าวหน้า ในการปฏิบัติธรรมได้เลย แม้ท่านจะมีเพชรเม็ดโตเท่าภูเขา และมีบริวารมากเท่ากับเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาก็ตาม
เมื่อท่านเห็นความจริงเหล่านี้ ดวงตาของท่านก็สว่างไสว แต่ดวงตาของท่านปิดเพราะอะไร และปิดตั้งแต่เมื่อไหร่
ท่านต้องรู้และเข้าใจให้แจ่มแจ้งเพราะทุกสิ่งที่ท่านเห็นมันเป็นเสมือนความฝัน หรือภาพลวงตา
ถ้าท่านไม่รีบพบครูโดยเร็ว ท่านก็จะมีชีวิตอยู่อย่างไร้สาระประโยชน์ ความจริงก็คือว่า ท่านมีพุทธะภาวะอยู่แล้ว
แต่เพราะไม่ได้รับการช่วยเหลือจากครู (กัลยาณมิตร) ท่านจึงไม่รู้จักพุทธภาวะนั้น แต่ก็มีเพียงหนึ่งในล้านคนที่จะบรรลุธรรมได้โดยไม่ต้องอาศัยครู
ถ้าเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าหมายถึงอะไร เข้าใจความปรุงแต่งของสังขารทั้งหลาย (ขันธ์ห้า) บุคคลนั้นไม่จำเป็นต้องมีครู เพราะคนเช่นนั้นมีสติสัมปชัญญะสูงมาแต่กำเนิด ใครจะสอนสิ่งใดเขาก็เข้าใจได้ทันที สำหรับท่านที่สร้างสมบารมีมามาก ศึกษาปฏิบัติมาด้วยความยากลำบาก ท่านเหล่านี้เพียงอาศัยการสอนเท่านั้นก็เข้าใจได้
คนที่ไม่เข้าใจธรรมะถ่องแท้ และคิดว่าตนเองเข้าใจ โดยปราศจากการศึกษาและปฏิบัติ (อย่างถูกต้อง) คนเช่นนั้น
ก็ไม่แตกต่างไปจากคนหลงทาง หลงตนเองไม่สามารถจะแยกขาวต่างจากดำได้ ย่อมประกาศพุทธธรรมอย่างผิดๆ เช่นนั้นย่อมชื่อว่ากล่าวตู่หรือดูหมิ่นพระพุทธเจ้า และชื่อว่าเป็นเป็นลบล้างพระธรรม
เขาแสดงธรรมเสมือนว่าเขากำลังทำฝนให้ตก แต่ที่จริงคนเช่นนั้นกำลังแสดงธรรมของมาร ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า ครูของพวกเขาก็คือพญามาร และสาวกของเขาก็คือบริวารของพญามาร คนที่หลงงมงายทำตามคำสอนเช่นนั้น ย่อมจมลงในทะเลแห่งการเวียนว่ายตายเกิดลึกลงไปเรื่อยๆ
ศาสนิกจะสามารถเรียกตนเองว่าเป็นพุทธศาสนิกได้อย่างไร หากพวกเขาเป็นคนโกหกหรือมุสา ซึ่งหลอกลวงผู้อื่นให้ก้าวไปสู่ภพภูมิแห่งมาร นอกจากคนที่เห็นตนเองแล้ว การแสดงธรรมของคนผู้ที่เรียนแต่พระไตรปิฎกได้ถึง 12 หมวด ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรนอกจากเป็นการแสดงธรรมของมาร
ความเลื่อมใสก็เป็นความเลื่อมใสต่อมาร ไม่ใช่เลื่อมใสต่อพระพุทธเจ้าไม่อาจแยกขาวออกจากดำได้ เขาจะหลีกเลี่ยงการเวียนว่ายตายเกิดได้อย่างไร ผู้ใดเห็นธรรมในตนผู้นั้นชื่อว่าเป็นพุทธะ (เห็นพุทธะ) ผู้ใดยังไม่เห็นธรรมในตน ผู้นั้นชื่อว่ายังเป็นปุถุชน
ถ้าท่านค้นพบพุทธภาวะของตนเอง อันต่างไปจากความเป็นปุถุชน สภาพเช่นนั้นจะเกิดขึ้นได้ตรงไหน ปุถุชนภาวะของเราก็คือพุทธภาวะของเราเช่นกัน ปราศจากปุถุชนภาวะก็ไม่มีพุทธภาวะเช่นกัน พุทธภาวะก็คือธรรมชาติของเรา ไม่มีพุทธะนอกเหนือไปจากธรรมชาติ และไม่มีธรรมชาตินอกเหนือไปจากพุทธภาวะ
"สมมติว่าฉันยังไม่เห็นธรรมชาติของฉัน ฉันไม่สามารถบรรลุธรรมได้ด้วยการปลุกพุทธะ , สาธยายพระสูตร , ให้ทาน
, รักษาศีล , อุทิศส่วนบุญหรือทำกรรมดีใดๆ ได้เลยหรือ?"
"ไม่ ท่านยังบรรลุธรรมไม่ได้"
"ทำไมจึงไม่ได้"
"ถ้าท่านเข้าถึงได้ในสิ่งหนึ่ง มันก็เป็นเพียงสังขาร (เป็นการคิดเอา) ซึ่งทำให้ต้องทำกรรมต่อไป ทำกรรมนั้นก็ให้ผลสนองตอบต่อไป
ผลกรรมนั้นก็ทำให้ต้องเวียนว่ายในวัฏสงสารอยู่เรื่อยไป ตราบใดที่ท่านยังต้องทำกรรมที่ต้องเวียนเกิดเวียนตาย ท่านก็ยังจะบรรลุธรรมไม่ได้ เพราะการบรรลุธรรมได้ ท่านต้องเห็นธรรมชาติของตนเองก่อน เมื่อเห็นธรรมชาติในตนเองแล้ว การพูดถึงเหตุปัจจัยทุกอย่างเป็นเรื่องไร้ประโยชน์ พระพุทธเจ้าจะไม่ทำในสิ่งเหลวไหลไร้สาระ เพราะพระองค์เป็นอิสรภาพจากกรรม  และเป็นอิสรภาพจากเหตุปัจจัย"
การกล่าวว่า ตนได้บรรลุธรรมขั้นใดขั้นหนึ่ง (ถ้าไม่เป็นจริง) ถือว่าเป็นการกล่าวตู่ดูหมิ่นพระพุทธเจ้า คนเช่นนั้นจะบรรลุธรรมอะไรได้? แม้แต่การสำรวมจิต การมีพลังสำนึก ความเข้าใจและความเห็นที่ถูกต้องต่อพระพุทธองค์ยังไม่มีเลย
พระพุทธเจ้าไม่มีเพียงด้านใดด้านหนึ่ง ธรรมชาติแห่งจิตของพระองค์ มีความว่างเป็นพื้นฐาน ไม่ใช่ความสะอาดหรือสกปรกพระองค์เป็นอิสระจากการปฏิบัติและการรู้แจ้ง เป็นอิสระจากเหตุปัจจัย
พระพุทธเจ้าไม่ได้สมาทานศีล ไม่ได้ทำความชั่วอีก ไม่ได้เป็นคนขยันหรือขี้เกียจ พระองค์ไม่ได้ทำอะไรต่อไปอีก
ไม่ได้ระวังจิตเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า และพระองค์ก็ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า ถ้าท่านไม่เห็นสิ่งที่ท่านกำลังพูด ท่านก็ยังไม่รู้จักใจของตนเอง
คนที่ยังไม่เห็นตนเอง แต่คิดเอาว่าเห็นตนเองและปฏิบัติด้วยจิตว่างตลอดเวลานั้นเป็นเรื่องโกหกและโง่เขลาด้วย
เขาย่อมตกไปสู่ห้วงเหวอเวจีได้ เหมือนคนเมาไม่อาจแยกดีออกจากชั่วได้ ถ้าท่านใส่ใจที่จะฝึกฝนอบรมการปฏิบัติให้เข้าใจตนเอง
ท่านต้องเห็นตนเองเสียก่อน แล้วท่านจึงจะทำลายความคิดปรุงแต่งให้สิ้นสุดได้ การบรรลุธรรมโดยไม่เห็นธรรมชาติของตนเอง
ก่อนย่อมเป็นไปไม่ได้ ถ้ายังประกอบกรรมทำชั่วชนิดต่างๆ อยู่ แล้วอ้างว่ากรรมที่ทำไม่มีผล เมื่อทุกสิ่งเป็นความว่าง ทำกรรมชั่วแล้วคิดว่าไม่ผิด ความเข้าใจเช่นนั้นยังมีอันตรายอยู่มาก คนเช่นนั้นย่อมตกนรกในอเวจี โดยไม่มีหวังจะปลดเปลื้องได้เลย แต่ท่านผู้ฉลาดย่อมไม่เข้าใจเช่นนั้น
"แต่ถ้าทุกสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นมาจากจิตทั้งหมด ทำไมเมื่อกายและจิตนี้แตกดับเราจึงไม่รู้?"
"จิตนี้เป็นปัจจุบันตลอดเวลา ท่านไม่ดูจิตต่างหากเล่า!"
"แต่ถ้าจิตเป็นปัจจุบันเสมอ ทำไมฉันจึงไม่เห็นจิต?"
"ท่านเคยฝันบ้างไหม?"
"เคยแน่นอน"
"เมื่อท่านฝัน ความฝันนั้นเป็นท่านใช่ไหม?"
"ใช่ เป็นข้าพเจ้า"
"และในฝันนั้น ท่านกำลังทำ กำลังพูดอะไร มันต่างไปจากตัวท่านหรือไม่?"
"ไม่ ไม่แตกต่างอะไรเลย"
"แต่ ถ้าไม่แตกต่าง กายนี้เป็นธรรมกายของท่าน และกายของท่านก็เป็นใจของท่านด้วย"
     จิตนี้ได้ผ่านกาลเวลามาหลายกัปหลายกัลป์ ไม่มีที่สิ้นสุดโดยไม่มีการเริ่มต้น และไม่เคยแปรเปลี่ยน
มันไม่เคยอยู่และไม่เคยตาย ไม่ปรากฏขึ้นและไม่หายไป ไม่ได้สะอาดหรือสกปรก ไม่ดีหรือไม่ชั่ว
ไม่ได้เป็นอดีตหรืออนาคต ไม่ถูกหรือผิด จริงหรือเท็จ ไม่ใช่ผู้หญิงหรือผู้ชาย ไม่ใช่เป็นพระหรือฆราวาส
ไม่ใช่สามเณรหรือพระเถระ ไม่ใช่นักปราชญ์หรือคนพาล ไม่ใช่พระพุทธเจ้าหรือปุถุชน เป็นความเพียร
ที่ไม่ต้องการรู้แจ้ง เป็นทุกข์โดยไม่ต้องการสร้างกรรม ไม่มีภาวะแข็งหรืออ่อน
มันเป็นเสมือนอากาศ ท่านไม่สามารถจะเป็นเจ้าของหรือทำลายมันได้ ไม่อาจหยุดการเคลื่อนไหว
ของสภาวะนี้ด้วยแรงแห่งภูเขา แม่น้ำ หรือกำแพงหิน พลังอำนาจของสิ่งนี้ (พุทธภาวะ) มีอำนาจเจาะทะลุภูเขา
แห่งขันธ์ห้า อย่างไม่อาจหยุดยั้งได้ และสามารถข้ามโอฆะสงสารได้ ไม่มีกรรมใดๆ สามารถควบคุมธรรมกาย
(กายแท้หรือนามรูปล้วนๆ) นี้ได้ แต่จิตเป็นภาวะละเอียดอ่อนยากที่จะมองเห็น มันไม่เหมือนจิตที่รู้สึกนึกคิดได้
(จิตตสังขาร) ทุกคนต้องการเห็นจิตนี้
คนที่เคลื่อนไหวมือและเท้า โดยอาศัยความชัดเจนของความรู้สึกชนิดนี้ให้ได้มากเท่ากับเม็ดทรายใน
แม่น้ำคงคา แต่เมื่อถามถึงลักษณะของความสว่างไสวของจิตชนิดนี้ก็ไม่สามารถอธิบายได้ มันเป็นเหมือนหุ่นกระบอก
คนที่ใช้เท่านั้นย่อมรู้ ทำไมคนดูจึงไม่เห็นล่ะ?
พระพุทธเจ้าตรัสว่า สรรพสัตว์ถูกอวิชชาครอบงำ นี่คือเหตุผลว่า เมื่อใดทำกรรมเมื่อนั้นย่อมเข้าไปสู่กระแสแห่งการเวียนว่ายตายเกิดและเมื่อใดเขาพยายามออกจากกระแส ก็ดูเหมือนจมดิ่งลึกลงไปอีก เพราะคนเหล่านั้นไม่เห็นตนเอง
ถ้าสรรพสัตวืไม่ถูกครอบงำ ทำไมเขาถามเรื่องธรรมะ ทั้งที่ธรรมะก็ปรากฎตรงหน้าเขาเอง
ไม่มีใครเข้าใจความเคลื่อนไหวของมือ และเท้าของตนเองเลย พระพุทธเจ้าไม่ได้ผิด แต่เพราะมนุษย์ถูกความหลงครอบงำ จึงทำให้ไม่รู้ว่าตนเองเป็นใคร เป็นสิ่งที่ยากแก่การหยั่งรู้ แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงรู้ในสิ่งที่คนอื่นรู้ได้ยาก นอกจากผู้มีปัญญาเท่านั้นที่จะรู้จักจิตนี้ จิตนี้จึงถูกเรียกว่าธรรมชาติบ้าง อิสรภาพบ้าง ไม่ว่าชีวิตหรือความตายก็ไม่อาจควบคุมหรือหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของจิตนี้ได้
ไม่มีอะไรหยุดยั้งจิตได้เลยจริงๆ แม้แต่พระตถาคต ก็ไม่อาจหยุดยั้งได้เช่นกัน คือเป็นภาวะที่เข้าใจยาก เป็นอัตตาที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่รู้จักตาย (ตายไม่เป็น) เป็นผู้รู้ที่ยิ่งใหญ่ จิตนี้จึงมีชื่อที่แตกต่างกันไป ไม่มีสาระที่แน่นอน พุทธภาวะก็เปลี่ยนแปลงเช่นกัน แต่ไม่ทอดทิ้งจิตของตนเอง
ศักยภาพของจิตนี้ไร้ขอบเขต การปรากฎตัวของจิต เป็นภาวะที่ไม่รู้จักจบสิ้น เมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายสัมผัส บทบาททุกอย่างล้วนมาจากจิตของตนทั้งสิ้น ในทุกๆขณะจิตของเราสามารถไปได้ทุกหนทุกแห่ง ที่มีสื่อภาษาให้ไปถึงได้ (สมมุติ) และไปเหนือภาวะที่ไร้ภาษา (ปรมัตถ์)
ในพระสูตรกล่าวว่า รูปกายของตถาคตไม่มีที่สิ้นสุด และรูปกายเหล่านั้นคือ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมของพระองค์
ความเปลี่ยนแปลงของรูปที่ไร้ขอบเขตเป็นผลเนื่องมาจากความคิด จิตสามารถที่จะแยกแยะทุกสิ่งได้ การเคลื่อนไหวหรืออิริยาบถใดๆก็ตาม เกิดมาจากความรู้ทางจิตทั้งสิ้นแต่จิตไม่มีรูป ความรู้สึกของจิตก็ไม่ใช่ขอบเขตดังนั้นท่านจึงกล่าวว่า รูปกายของตถาคตไม่มีขอบเขต รูปนั้นคือความรู้สึกตัวทั่วพร้อมของพระองค์นั่นเอง (ธรรมกาย)
รูปกายอันประกอบด้วยธาตุ 4 เป็นทุกข์และเป็นที่ตั้งของความเกิดและความตาย แต่ธรรมกาย (รูปแท้จริงหรือกายดั้งเดิม) ดำรงอยู่ไม่แสดงตัวเพราะธรรมกายของตถาคตไม่เคยเปลี่ยนแปลง (ความรู้สึกตัว)
พระสูตรกล่าวว่า "บุคคลควรรู้จักธรรมชาติของพุทธภาวะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนมีอยู่แล้ว" พระคุณเจ้ามหากัสปะ เป็นบุคคลแรกนอกจากพระพุทธเจ้า ที่รู้แจ้งธรรมชาติของตน
ธรรมชาติของเราก็คือจิต จิตก็คือธรรมชาติของเรา ธรรมชาติก็เหมือนกันกับจิตของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระพุทธเจ้าทั้งอดีตและอนาคต อุบัติมาเพื่อถ่ายทอดจิตชนิดนี้ นอกจากจิตชนิดนี้แล้ว ก็ไม่มีพระพุทธเจ้าที่ไหนเลย
แต่ปุถุชนที่ถูกห่อหุ้มด้วยอวิชชา ย่อมไม่รู้จักจิตของตัวเองว่าเป็นพระพุทธเจ้าได้ เพราะเขามัวแต่แสวงหาพระพุทธเจ้าภายนอก และถามอยู่เสมอว่า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหนหนอ?
 อย่าหลงเพลินไปในจินตนาการอันหลอกหลอนนั้นอีกเลย ให้มารู้จักจิตของตัวเองเท่านั้น นอกเหนือจากจิตนี้แล้วไม่มีพุทธในที่อื่นเลย
พระสูตรกล่าวว่า "ทุกสิ่งที่มีรูปนั้นเป็นมายาหลอกลวง" ท่านกล่าวไว้อีกว่า "ท่านอยู่ที่ใดพุทธะก็อยู่ที่นั่น" เพราะจิตของท่านคือพุทธะ อย่าใช้พุทธะบูชาพุทธะ
หากแม้พระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์ บังเอิญปรากฎขึ้นต่อหน้าท่านก็ไม่จำเป็นต้องทำความเคารพ เพราะจิตของเรานี้เป็นความว่าง และไม่บันทึกรูปใดๆเอาไว้
บรรดาบุคคลที่ยึดถือเอาตามปรากฎการณ์คือปีศาจ พวกเขาย่อมหลุดไปจากอริยมรรค จะหลงบูชามายาที่เกิดจากจิตอยู่ทำไม คนบูชาย่อมไม่รู้ คนที่รู้ย่อมไม่บูชา เพราะการบูชานั้นท่านต้องตกอยู่ใต้การสะกดของมาร
ฉันชี้ให้เห็นจุดนี้ เพราะเกรงว่าท่านจะไม่รู้ตัว 
เพราะธรรมชาติอันเป็นพื้นฐานของพุทธะ ไม่มีรูปใดๆอยู่เลย
จงรักษาความรู้สึกนี้ไว้กับจิตเสมอ แม้ว่าบางสิ่งบางอย่างจะดูไม่เหมาะสมก็ตาม ก็จงอย่ายึดติดอย่าเกิดความขี้ขลาดหวาดกลัว อย่าสงสัยเลยว่าจิตของท่านมีความบริสุทธิ์อยู่แล้ว จะมีห้อง (หัวใจ) ห้องไหนว่างสำหรับรูปเช่นนั้นอีก 
ขณะเดียวกันเมื่อภูติผีปีศาจหรือเทวดา ปรากฎขึ้นอย่าคิดเคารพหรือหวาดกลัว  เพราะจิตของท่านเป็นจิตว่างมาแต่เดิม ปรากฎการณ์ทั้งปวงล้วนเป็นมายาภาพ อย่ายึดมั่นถือมั่นเอาตามปรากฎการณ์
เมื่อท่านได้พบพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หรือพระโพธิสัตว์ และคิดเคารพท่านเหล่านั้น ท่านก็ผลักไสตัวเองไปสู่ภูมิปุถุชน
ถ้าท่านแสวงหาความไม่ยึดมั่นถือมั่นเอาปรากฎการณ์ใดๆที่เกิดขึ้นก็ตาม ท่านจะประสบความสำเร็จ
ฉันไม่มีคำแนะนำอื่น พระสูตรกล่าวว่า "ปรากฎการณ์ทั้งปวงเป็นมายาภาพ มายาภาพเหล่านี้ไม่มีภพที่แน่นอน ไม่มีรูปที่ถาวร เป็นสภาพไม่เที่ยงแท้ (อนิจจัง) อย่ายึดมั่นกับปรากฎการณ์ทั้งหลาย แล้วท่านจะเป็นหนึ่งเดียวกับพุทธะ"
พระสูตรกล่าวว่า "สิ่งซึ่งเป็นอิสรภาพจากรูปทั้งปวง คือพุทธภาวะ"
แต่ทำไมเราจึงบูชาพระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์กันอีกเล่า ?
ภูติผีปีศาจเป็นอำนาจของปรากฎการณ์ อำนาจเหล่านี้ช่วยสร้างมโนภาพพระโพธิสัตว์ให้ปรากฎขึ้นด้วยรูปจำแลงต่างๆ แต่ก็เป็นพระโพธิสัตว์ปลอม ไม่มีใครเป็นพุทธะจริงด้วยมโนภาพ เพราะพระพุทธเจ้าที่แท้จริงคือจิตของเราเอง อย่านำการบูชาของท่านไปใช้ในทางที่ผิด
พุทธะ เป็นศัพท์สันสกฤตที่แปลว่า "สติสัมปฤดี" คือ ตื่นตัวอย่างปาฏิหาริย์ คือ อาการยินยอมน้อมรับด้วยความรู้สึกตัวในอิริยาบถต่างๆ เช่น การพับตา เลิกคิ้ว เคลื่อนไหวมือและเท้า ทั้งหมดล้วนเป็นธรรมชาติแห่งการตื่นอย่างปาฏิหาริย์ของท่าน และธรรมชาตินี้ก็คือจิต จิตนี้ก็คือพุทธะ พุทธะก็คือมรรค มรรคก็คือเซน
แต่คำว่าเซนเพียงคำเดียว ที่ยังความสงสัยให้แก่ปุถุชนและนักปราชญ์ เมื่อเฝ้าดูธรรมชาติของตนก็คือเซน เมื่อท่านได้เห็นธรรมชาติของตัวเองแล้วมันก็ไมใช่เซน
แม้ท่านจะอธิบายพระสูตรได้หลายพันพระสูตรก็ตาม เมื่อท่านเห็นธรรมชาติของท่าน ที่ยังเป็นธรรมชาติของอัตตาอยู่ การเห็นตัวเองที่ยังเป็นอัตตาอยู่เช่นนั้นยังเป็นคำสอนของปุถุชน ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า
มรรคที่แท้จริงคืออริยมรรค อริยมรรคไม่สามารถสื่อกันได้ด้วยภาษา แล้วตำราหรือคัมภีร์จะมีประโยชน์อะไร 
คนที่พบตัวเองแล้ว ย่อมพบทางแห่งอริยมรรค แม้เขาจะอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ก็ตาม คนที่เห็นธรรมในตัวเองก็คือพุทธะ และธรรมกายของพุทธะเป็นกายที่บริสุทธิ์ ไม่มีมลทินโดยแท้จริง ทุกสิ่งที่ท่านตรัสเป็นสิ่งที่แสดงออกมาจากใจที่บริสุทธิ์ของท่าน
เมื่อพุทธะเป็นความว่างมาแต่เดิมแล้ว พุทธะก็ไม่อาจพบได้ในคำพูดหรือคำสอนหรือคัมภีร์ใดๆ อันมีถึงสิบสองหมวดก็ตาม (พระไตรปิฏกมหายาน)
อริยมรรคเป็นมรรคที่สมบูรณ์มาแต่เดิม ไม่ต้องการความสมบูรณ์ใดๆ อีก อริยมรรคไม่มีรูปหรือเสียง เป็นสภาพที่ละเอียดประณีต และยากแก่การเข้าใจเหมือนกับท่านดื่มน้ำ ท่านย่อมรู้เองว่าความร้อนความเย็นเป็นอย่างไร แต่ท่านไม่อาจจะบอกผู้อื่นได้
ในบรรดาสภาพธรรมเหล่านั้น พระตถาคตเจ้าเท่านั้นทรงรู้ มนุษย์และเทวดายังเข้าใจไม่ได้ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมของปุถุชนยังไม่สมบูรณ์ ตราบใดที่เขายังยึดมั่นถือมั่นอยู่กับปรากฏการณ์ เขาก็ยังไม่รู้ว่าจิตของเขาเป็นความว่างและเพราะการยึดติดตามปรากฏการณ์ของทุกสิ่งอย่างผิดๆ พวกเขาจึงหลงทาง
ถ้าท่านทราบว่าทุกสิ่งล้วนออกมาจากจิต ก็อย่ายึดมั่นถือมั่น เมื่อใดท่านหลงยึดถือก็ย่อมหลงลืมตัวเองเมื่อนั้น เมื่อใดท่านเห็นธรรมชาติของตนเอง เมื่อนั้นคัมภีร์ธรรมะทั้งหมดก็กลายเป็นคำพูดธรรมดาๆ 
พระสูตรและคาถาเป็นจำนวนหลายๆ พันสูตร เป็นประโยชน์เพียงเพื่อเป็นเครื่องมือชำระจิต ความเข้าใจเกิดจากคำพูดเป็นสื่อกลาง แล้วคำพูดคำสอนที่เป็นสื่อกลางแบบไหนล่ะ? ที่เป็นคำสอนที่ดี
ปรมัตถสัจจะย่อมอยู่เหนือคำพูด คำสอนเป็นเพียงคำพูด คำสอนจึงไม่ใช่อริยมรรค มรรคไม่ใช่คำพูด คำพูดเป็นมายาภาพ ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากสิ่งที่ปรากฎ
ในความฝันของท่านในเวลากลางคืน ซึ่งท่านอาจฝันเห็นปราสาท ราชวัง ราชรถหรือวนอุทยาน หรือทะเลสาบหรือพระราชฐานอันโอ่อ่า อย่าหลงติดใจกับสิ่งที่เป็นความฝันเพราะทั้งหมดเป็นเหตุให้สร้างภพใหม่ จงตั้งใจให้ดีเท่านั้น ขณะที่ท่านใกล้ตาย
จงทำตามธรรม แต่อย่าทำตามความคิด
อย่าหลงติดใจในปรากฎการณ์ แล้วท่านจะผ่านอุปสรรคชีวิตทั้งปวงได้ ความไม่แน่ใจแต่ละขณะ จะทำให้ท่านตกอยู่ภายใต้การสะกดของมาร ธรรมกายของท่าน (กายจริง)
เป็นภาวะบริสุทธิ์หนักแน่น แต่เพราะโมหะธรรมจึงทำให้ท่านหลงลืมกายนั้น (สติ-สัมปชัญญะ) เพราะเหตุนี้ท่านจึงทุกข์ เพราะความหลงทำให้ท่านทำในสิ่งที่ไร้สาระ
    เมื่อใดท่านหลงเกิดความยินดีพอใจ ท่านก็ถูกผูกมัด (ด้วยอุปทาน) แต่เมื่อใดท่านตื่นรู้ต่อกายใจดั้งเดิมของท่าน (รูป-นาม) ท่านก็ไม่ถูกผูกมัดด้วยอุปทานต่อไป
ใครก็ตาม ยังไม่ละเลิกความยึดติดในกามคุณ ซึ่งปรากฎในหลากหลายรูปแบบ (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) เขาก็ยังเป็นปุถุชนอยู่
พระพุทธเจ้าคือบุคคลที่ค้นพบอิสรภาพ คือเป็นอิสระจากโลกธรรมและความชั่วทั้งหลาย การค้นพบเช่นนั้นเป็นอำนาจของพระองค์ ที่ทำให้กรรมไม่อาจติดตามทันได้ไม่ว่ากรรมชนิดใดก็ให้ผลต่อพระองค์ไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าทรงเปลี่ยนแปลงกรรมได้ สวรรค์และนรก ก็ไม่มีผลอะไรต่อพระองค์ แต่ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมของปุถุชน เป็นภาวะ
ที่คลุมเครือ เศร้าหมอง เมื่อเปรียบเทียบกับของพระพุทธเจ้า ผู้ซึ่งรู้แจ้งทุกสิ่งทุกอย่างทั้งภายในและภายนอก
ถ้าท่านไม่แน่ใจอย่าพึ่งทำอะไร เมื่อท่านทำลงไปก็ต้องเวียนว่าย ตายเกิด และเป็นทุกข์เพราะไม่มีที่พึ่ง ความทุกข์ยากลำบากเกิดขึ้น เพราะความคิดผิด (มิจฉาทิฏฐิ)
การเข้าใจสภาวะจิตเช่นนี้ ท่านต้องกระทำแบบไม่กระทำ ด้วยวิธีนี้เท่านั้นจะทำให้ท่านเห็นทุกสิ่งจากญาณทัศนะของพระตถาคต
แต่เมื่อท่านเข้าปฏิบัติตามมรรคครั้งแรก ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมของท่านยังไม่มีจุดรวม ท่านก็เห็นทุกสิ่งเป็นเรื่องแปลก เหมือนภาพในฝัน แต่ท่านอย่าสงสัยว่าความฝันทุกอย่างล้วนเกิดจากจิตของท่านเอง ไม่ได้เกิดจากที่อื่น
ถ้าท่านฝันว่าท่านเห็นแสงสว่างเจิดจ้ายิ่งกว่าแสงอาทิตย์ (นั้นเป็นนิมิตหมายว่า) อุปาทานของท่านที่ยังเหลืออยู่ก็จะหมดไปโดยเร็ว และธรรมชาติของสัจธรรมก็
ปรากฎตัวขึ้น ปรากฎการณ์เช่นนั้นจะเป็นเครื่องช่วยเป็นพื้นฐานแห่งการบรรลุธรรม แต่เรื่องนี้เป็นสิ่งรู้ได้เฉพาะตนเท่านั้น ไม่อาจอธิบายให้ผู้อื่นทราบได้
หรือหากท่านกำลังยืน เดิน นั่งหรือนอนในป่าอันสงัดวิเวก ท่านอาจเห็นแสงสว่าง (อันเกิดจากนิมิต) ไม่ว่าเป็นนิมิตอันแจ่มใส หรือคลุมเครืออย่าบอกเรื่องนั้นแก่ผู้อื่น
และอย่ากำหนดจดจำนิมิตเช่นนั้นไว้ เพราะมันเป็นภาวะที่สะท้อนออกมาจากธรรมชาติภายในของท่านเอง
ถ้าท่านกำลัง ยืน เดิน นั่งหรือนอน ในที่สงบเงียบ และมืดในยามกลางคืน (นิมิตปรากฎให้ท่านเห็น) ทุกสิ่งปรากฎเสมือนกลางวัน ก็อย่าตกใจ เพราะปรากฎการณ์นั้นเกิดจากจิต
ของท่านเอง ที่ต้องการเปิดเผยตัวมันเอง
การตัดเวรตัดกรรม คือการตัดความคิดปรุงแต่ง
ถ้าท่านฝันในเวลากลางคืน ทำให้ท่านเห็นพระจันทร์และดวงดาวสว่างทั่วท้องฟ้านั้นเป็นนิมิตหมายว่า การบำเพ็ญเพียรทางใจของท่านใกล้ถึงที่สุด แต่อย่าบอกนิมิตนั้นแก่คนอื่น
       ถ้าความฝันของท่านไม่ชัดเจนเหมือนท่านกำลังเดินในที่มืด นั่นเป็นเพราะจิตของท่านถูกครอบคลุมไปด้วยความวิตกกังวล ปรากฎการณ์นี้เป็นสิ่งที่ท่านต้องกำหนดรู้เท่านั้น
ถ้าท่านเห็นธรรมชาติของตน (เห็นตัวเอง) ก็ไม่จำเป็นต้องอ่านพระสูตรหรืออ้อนวอนพระพุทธเจ้า ความเป็นผู้คงแก่เรียนหรือมีความรู้ไม่เพียงเป็นสิ่งไร้สาระเท่านั้น ยังเป็นสิ่งที่บดบังความรู้สึกตัวของท่านเองด้วย ธรรมะหรือคำสอนเป็นสิ่งชี้นำให้รู้จักจิตเท่านั้น เมื่อท่านเห็นจิตของตนเองอยู่เสมอแล้ว ทำไมต้องไปสนใจคำสอนอีกเล่า?
การก้าวจากความเป็นปุถุชน ไปสู่ความเป็นพุทธะ ทำให้ท่านสิ้นกรรม จงดูแลรักษาความรู้สึกตัวทั่วพร้อมของท่านให้ดี และยอมรับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิต(ตามความเป็นจริง)
ถ้าท่านเป็นคนมักโกรธ ความโกรธนั้นจะเป็นอุปสรรคขัดขวางตัวท่านไม่ให้บรรลุมรรคผล การหลอกลวงตัวเองไม่ทำให้ท่านก้าวหน้าได้เลย
     พระพุทธเจ้าผ่านพ้นความเกิดและความตายอย่างอิสระ จะอุบัติหรือจุติได้ตามความตั้งใจ กรรมไม่อาจหยุดยั้งท่านได้ แม้ภูตผีปีศาจและมารก็ไม่อาจเอาชนะท่านได้
เมื่อใดปุถุชนเห็นธรรมชาติของตนเอง (เห็นตนเอง) อุปาทานทั้งหมดก็หมดไป ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมไม่ใช่สิ่งลึกลับ แต่ท่านสามารถพบมันได้ในปัจจุบันขณะ(ตลอดกาล) มันเป็นปัจจุบันธรรม
การศึกษาข้างนอกมากเกินไป ทำให้ลืมการศึกษาภายใน
     ถ้าท่านต้องการพบมรรคจริงๆ อย่ายึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆ เมื่อใดท่านถึงที่สุดแห่งกรรม (สิ้นกรรม) จงดำรงรักษาความรู้สึกตัวทั่วพร้อมของท่านไว้ อาสวะใดๆ ที่ยังเหลืออยู่ก็ค่อยๆ หมดไป
ความเข้าใจธรรมะจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ท่านไม่ต้องสร้างความพยายามใดๆ แต่ความหลงใหลคลั่งไคล้ ไม่ได้ทำให้เข้าใจ ในสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน
ถ้าพยายามที่จะรู้ธรรมะ ก็เป็นสิ่งที่ยากที่จะรู้ขึ้นไปอีกต่อไป พวกเขาก็จะได้แต่จดจำเอาความรู้ของพวกนักปราชญ์เท่านั้น (จำธรรมะไม่ใช่รู้ธรรมะ)
ตลอดเวลายาวนานที่พวกเขาอ้างพระพุทธเจ้า และสาธยายพระสูตร (ติดคัมภีร์) เขาก็ยังใบ้บอดต่อธรรมชาติอันเป็นทิพย์ของตนเอง และไม่อาจพ้นไปจากวัฏสงสารได้เลย
พระพุทธเจ้าคล้ายเป็นคนขี้เกียจ เพราะพระองค์ไม่ได้วิ่งตามลาภสักการะและโลกธรรมทั้งหลาย ที่สุดแล้วโลกธรรมมันมีอะไรดีเล่า?
บุคคลที่ยังไม่เห็นตนเอง ได้แต่คิดและอ่านแต่พระสูตร อ้อนวอนแต่พระพุทธเจ้า จะศึกษายาวนานเพียงใด ปฏิบัติจริงจังทั้งเช้าจรดเย็น จนไม่หลับไม่นอนหรือได้ความรู้ทางธรรมมามากมายก็ตาม ก็ยังได้ชื่อว่าลบหลู่ดูหมิ่นพระธรรมอยู่
พระพุทธเจ้าทั้งในอดีตและอนาคต ทรงกล่าวถึงการเห็นธรรมชาติของท่านเท่านั้น (การเห็นตนเอง) การปฏิบัติทุกอย่างยังไม่แน่นอน เว้นแต่ว่าเขาได้เห็นตนเอง คนที่อ้างว่าได้บรรลุธรรมอันเลิศ สำเร็จหมดแล้วเป็นคนมุสา
ในบรรดาพระสาวกองค์สำคัญที่สุด 10 องค์ของพระศากยมุนี พระอานนท์เป็นสาวกผู้เลิศในการเรียนรู้ แต่ท่านก็ไม่รู้จักพระพุทธเจ้า (ตามความเป็นจริง)ท่านเป็นผู้ศึกษาและจดจำทุกอย่างได้เท่านั้น
พระอรหันต์ทั้งหลาย ก็ไม่รู้จักพระพุทธเจ้าทั้งหมด ที่ท่านรู้จักคือการปฏิบัติเพื่อการรู้แจ้งให้มากเท่านั้น และท่านก็ถูกดักไว้ด้วยเหตุผล สภาพเช่นนั้นเป็นกรรมของปุถุชน ไม่อาจหลีกเลี่ยงการเกิดและการตายได้ คนที่ทำตรงกันข้ามกับสิ่งที่เขาตั้งใจ คนเช่นนั้นชื่อว่ากล่าวตู่พระพุทธเจ้า การฆ่ามิจฉาทิฏฐิไม่มีความผิด
คนตาบอดย่อมไม่รู้จักคนตาบอด
พระสูตรกล่าวว่า "พวกที่เป็นอิจฉันติกะ" (มิจฉาทิฏฐิ) ไม่สามารถทำให้เกิดความเชื่อเลื่อมใสได้ ดังนั้นการฆ่ามิจฉาทิฏฐิจึงไม่ผิด ยกเว้นคนมีศรัทธาถูกต้องย่อมเข้าถึงพุทธภาวะได้
เมื่อท่านเห็นธรรมชาติของตนเองแล้ว ก็ไม่ควรเที่ยววิพากษ์วิจารณ์ความดีของผู้อื่น การหลอกลวงตัวเองไม่ได้ทำให้ท่านก้าวหน้าเลย ความดีและความชั่วเป็นสภาพที่แตกต่างกัน เหตุและผลเป็นสภาวะที่ชัดเจนแจ่มแจ้ง สวรรค์และนรกเป็นสิ่งที่ปรากฎเฉพาะหน้าของท่านเอง
แต่คนโง่เขลาเบาปัญญา ไม่มีศรัทธาย่อมตกไปสู่นรกอเวจีอันมืดมิด ไม่อาจรู้พุทธภาวะนี้ได้ สิ่งที่เข้ามาบดบังความเชื่อเลื่อมใสของเขาก็คือ กรรมอันหนักหน่วงของเขานั่นเอง พวกเขาเหมือนคนตาบอดที่ไม่เชื่อว่าจะมีแสงสว่างเช่นนั้น หากท่านอธิบายเรื่องแสงสว่างให้เขาฟัง เขาก็ยังไม่เชื่อ เพราะพวกเขาเป็นคนตาบอดพวกเขาจะสามารถแยกแสงสว่างได้อย่างไร
สำหรับคนโง่ที่ยึดถือความจริงในทางผิด ย่อมตกอยู่ในภพภูมิชั้นต่ำ อันได้แก่พวกที่มีชีวิตยากจนและเป็นทุกข์ พวกเขาไม่อาจมีชีวิตหรือไม่อาจตายได้และในสถานที่อันเป็นทุกข์ทรมานเช่นนั้น ถ้าท่านถามเขา เขาก็จะบอกว่าเขามีความสุขเหมือนเทวดา ปุถุชนทุกคนเขาคิดว่าเขาเกิดมาดีแล้ว เพราะความไม่รู้จักชีวิต เขาจึงมีกรรมอันหนักหน่วง คนโง่เช่นนั้นไม่อาจสร้างความเชื่อในพุทธภาวะได้และไม่สามารถพบอิสรภาพอันแท้จริงได้เลย
บุคคลที่เห็นจิตของตนเองเป็นพุทธะแล้ว ไม่จำเป็นต้องโกนผมห่มผ้าเหลืองก็ได้ อุบาสกก็เป็นพุทธะได้เช่นกัน เว้นแต่คนที่ไม่เห็นตนเอง (ตามความเป็นจริง) แล้วไปโกนผมห่มผ้าเหลือง นับเป็นความหลงใหลคลั่งไคล้ธรรมดาๆ นั่นเอง แต่อุบาสกที่แต่งงานแล้วยังไม่เลิกจากกาม พวกเขาจะเป็นพุทธะอย่างไร?
ฉันพูดถึงการเห็นตนเองเท่านั้น ไม่ได้พูดถึงเรื่องกาม ก็เป็นธรรมดาเพราะท่านยังไม่เห็นตนเอง เมื่อใดท่านเห็นตนเอง ก็เห็นว่ากามเป็นเพียงนามรูปขั้นต่ำแล้วท่านก็จะเบื่อหน่ายไปเอง
เพราะตัณหาเกิด ทุกข์ก็เกิด เมื่อตัณหาดับ ทุกข์ก็ดับ
กามจะสิ้นสุดตามความพอใจของท่าน (เมื่อท่านพอใจจะเลิก) แม้ว่าราคานุสัยบางอย่างยังเหลืออยู่ มันก็ไม่เป็นอันตรายแก่ท่าน เพราะธรรมชาติจิตของท่านมีความบริสุทธิ์เป็นพื้นฐาน แม้จะยังอาศัยรูปธาตุ 4 อยู่ก็ตาม
ธรรมชาติของท่านก็ยังมีความบริสุทธิ์อยู่ ธรรมกาย (กายจริง) เป็นภาวะบริสุทธิ์โดยพื้นฐาน มันไม่ถูกทำให้เศร้าหมองได้ง่าย กายดั้งเดิมของท่านสะอาดบริสุทธิ์มาแต่เดิม
       ธรรมกายของท่าน ไม่มีความรู้สึกทะยานอยาก ไม่มีความหิวกระหาย ไม่อุ่นหรือเย็น ไม่เจ็บไม่ป่วย ไม่รักไม่ชัง ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ดีไม่ชั่ว ไม่สั้นไม่ยาว ไม่อ่อนไม่แข็ง จริงๆ แล้ว ไม่มีอะไรเลย เพราะเรายึดติดรูปกายนี้เท่านั้น จึงทำให้ทุกสิ่งมี คือ มีหิว กระหาย มีอุ่นมีเย็น มีเจ็บมีป่วยปรากฎขึ้น
เมื่อใดท่านไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยให้ทุกสิ่งเป็นไปตามหน้าที่ของมัน ท่านก็จะพ้นจากความเกิด และความตาย ท่านจะเปลี่ยนแปลงไปทุกอย่าง (จิตเปลี่ยน) ท่านจะเป็นนายของจิต คือมีกำลังใจ ซึ่งไม่มีอะไรจะมาขัดขวางได้ ท่านจะพบกับความสงบสุขทุกหนทุกแห่ง 
ถ้าท่านยังสงสัยเรื่องนี้อยู่ ท่านก็ยังไม่เห็นตนเองอย่างแท้จริง ท่านไม่ต้องทำอะไรเลยจะดีกว่า เพราะถ้าท่านทำลงไป ท่านก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการเวียนว่ายตายเกิดได้
เมื่อใดท่านเห็นธรรมในตนเอง ท่านก็เป็นพุทธะได้คนหนึ่ง แม้ท่านจะเป็นพ่อค้าเนื้อก็ตาม แต่คนค้าเนื้อสร้างกรรมโดยการฆ่าสัตว์เขาจะเป็นพุทธะได้อย่างไร?
ฉันพูดถึงการเห็นธรรมชาติในตนเอง ไม่ได้พูดถึงการสร้างกรรม ถ้าไม่ยึดติดกับสิ่งที่เราทำ กรรมก็ไม่ติดตามเรา แม้ตลอดกัปอันหาเบื้องต้นและที่สุดไม่ได้ 
มันเป็นเพราะเราไม่เห็นตนเองเท่านั้น จึงทำให้เราไปสิ้นสุดกันที่ขุมนรก
การถ่ายทอดธรรม คือการถ่ายทอดจิตสู่จิต
ตราบใดที่คนยังสร้างกรรมอยู่ เขาก็ต้องวกวนไปสู่การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไป เมื่อใดคนได้รู้ประจักษ์แจ้งในธรรมชาติของตนเอง เขาก็หยุดสร้างกรรม ถ้าเขาไม่เห็นธรรมชาติของตนเองก็อ้อนวอนพระพุทธเจ้าเรื่อยไป
ซึ่งไม่อาจปลดเปลื้องตนเองออกจากกรรมได้เลย แม้ว่าเขาจะเป็นคนขายเนื้อก็ตาม แต่เมื่อใดเขาประจักษ์แจ้งในตนเอง ความสงสัยทั้งปวงก็หมดไป แม้กรรมของการค้าเนื้อก็ไม่มีผลแก่คนขายเนื้อนั้น
ในอินเดียมีสังฆปรินายกถึง 27 องค์ ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดรอยประทับจิตหรือพุทธจิต ฉันมาสู่ประเทศจีน ด้วยเหตุผลเพียงประการเดียว คือการถ่ายทอดการรู้ธรรมแบบฉับพลัน (อึดใจเดียว)ของมหายาน (คำกล่าวของท่านโพธิธรรม)
จิตนี้คือพุทธะ ฉันไม่ได้พูดถึงการถือศีล การให้ทาน หรือการเคร่งครัดแบบฤษี เช่น การลุยน้ำลุยไฟ เหยียบมีดเหยียบหนาม ทานวันละมื้อ หรือไม่นอนเลย การบำเพ็ญเหล่านี้เป็นการคลั่งไคล้ เป็นคำสอนที่สร้างภาพพจน์ชั่วคราวไม่ยั่งยืน เมื่อใดท่านรู้จักและเข้าใจการเคลื่อนไหวของตนเอง รู้จักธรรมชาติแห่งการตื่นตัวอย่างปาฏิหาริย์ จิตของท่านก็จะเป็นเช่นเดียวกับจิตของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์
พระพุทธเจ้าทั้งในอดีตและอนาคต ล้วนแต่กล่าวถึง การถ่ายทอดเรื่องจิต พระองค์ไม่ได้สอนเรื่องอื่นเลย ถ้าผู้ใดเข้าใจคำสอนนี้ได้ แม้เขาจะไม่รู้หนังสือเลย เขาก็เป็นพุทธะได้คนหนึ่ง
       แต่ถ้าท่านไม่เห็นตนเองไม่เห็นธรรมชาติแห่งการตื่นตัวอย่างปาฏิหาริย์ของตนเอง ท่านก็จะไม่พบพระพุทธเจ้า แม้ท่านจะปฏิบัติกรรมฐานไปจนทำลายตัวเองให้เป็นผุยผงก็ตาม
พระพุทธเจ้าคือธรรมกายของท่าน คือใจดั้งเดิมของท่าน จิตนี้ไม่มีรูปลักษณ์ ไม่มีเหตุหรือผล ไม่มีเอ็นหรือกระดูก มันเป็นเสมือนอวกาศ ไม่อาจจับต้องได้ มันไม่ใช่จิตของพวกวัตถุนิยม หรือวิญญาณนิยม นอกจากพระตถาคตแล้ว ปุถุชนหรือคนหลงไม่มีใครจะสามารถหยั่งรู้ความจริงอันนี้ได้
แต่จิตนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่อยู่นอกกายภายนอก ในธาตุ 4 ถ้าปราศจากจิตนี้ เราก็ไม่อาจเคลื่อนไหวได้ กายที่ไม่มีความรู้สึกตัว ก็เหมือนกับต้นไม้หรือก้อนหิน กายที่ไม่มีจิตจะเคลื่อนไหวได้อย่างไร จิตนี้ชื่อว่าทำให้กายนี้เคลื่อนไหวได้
ภาษาและพฤติกรรม สัญญาและเจตนาล้วนเป็นหน้าที่ของจิต การเคลื่อนไหวทั้งปวง ล้วนเป็นการเคลื่อนไหวของจิต การเคลื่อนไหวจึงเป็นหน้าที่ของจิต ปราศจากการเคลื่อนไหวก็ไม่มีจิต ปราศจากจิตก็ไม่มีการเคลื่อนไหว แต่การเคลื่อนไหวไม่ใช่จิต และจิตก็ไม่ใช่การเคลื่อนไหว เพราะฉะนั้นจิตจึงไม่ใช่ทั้งการเคลื่อนไหวหรือการทำหน้าที่ เพราะสาระสำคัญในหน้าที่ของจิตคือความว่าง และความว่างโดยเนื้อแท้ก็ไม่มีความเคลื่อนไหว ความเคลื่อนไหวก็เป็นอันเดียวกับจิต และจิตโดยเนื้อแท้แล้วก็ไม่มีการเคลื่่อนไหว
.................................................................
Animated-Bamboo_Forest-Wallpaper.jpg
10 พฤษภาคม 2561 22:58 น.

โพธิธรรมคำสอน

คีตากะ

zen25.jpg?w=240
โพธิธรรมคำสอน
(ปรมาจารย์ตั๊กม้อ)
เรียบเรียงโดย พุทธยานันทภิกขุ
หลักการปฏิบัติธรรม
OUTLINE OF PRACTICE
        ถนนหลายสายย่อมนำไปสู่มรรค แต่โดยพื้นฐานแล้ว ย่อมมีเพียง 2 ทางเท่านั้น คือภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ การเข้าถึงทฤษฎี หมายถึงการเข้าใจอย่างชัดเจนถึงเนื้อหาสาระในการสอน และความเชื่อที่ว่าสรรพชีวิตย่อมรวมอยู่ในธรรมชาติเดียวกัน แต่ความเข้าใจตามหลักทฤษฎีนี้ ไม่เป็นที่แจ่มแจ้งชัดเจน เพราะเราถูกห่อหุ้มด้วยอำนาจแห่งเวทนาและความหลง
       สำหรับบุคคลที่ขจัดความหลงออกได้ ย่อมพบความจริง คือบุคคลที่เพ่งพินิจต่อกำแพงธรรม (สุญญตาธรรม) อยู่เสมอ ไม่มีความสำคัญมั่นหมายในตนเองและผู้อื่น ย่อมรวมความเป็นปุถุชนและพุทธะเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเป็นผู้ดำรงจิตไว้อย่างมั่นคงไม่คลอนแคลนหวั่นไหวไปกับอำนาจคัมภีร์ตำรา
       บุคคลเช่นนั้น ย่อมประสบกับความสำเร็จ และไม่ขัดแย้งกับทฤษฎีด้วย การไม่คลอนแคลนหวั่นไหวไปกับหลักทฤษฎี เรากล่าวว่าบุคคลนั้นเข้าสู่กระแสธรรม
      การเข้าสู่กระแสธรรมโดยการปฏิบัติ หมายถึง การปฏิบัติที่ประกอบไปด้วยหลัก 4 ประการ (อริยสัจแบบมหายาน) เหล่านี้คือ
1. การกำหนดรู้ทุกข์
2. การปรับปรุงแก้ไขทุกข์อยู่เสมอ
3. การไม่มีความทะเยอทะยาน
4. การเจริญภาวนาธรรม (อริยมรรค)
ประการที่ 1 การกำหนดรู้ทุกข์ เมื่อแสวงหาอริยมรรค ย่อมเผชิญกับความยากลำบาก ผู้แสวงหาย่อมคิดถึงตัวเอง (ด้วยความท้อถอยว่า) "ในกัปกัลป์ที่ผ่านไปอันกำหนดนับไม่ได้นี้ ฉันได้ใช้ชีวิตสิ้นเปลืองไปกับสิ่งไร้สาระ และเวียนว่ายไปในภพภูมิต่างๆ มากมาย บ่อยครั้งที่เราโกรธอย่างไร้เหตุผล และระเมิดฝ่าฝืนทำสิ่งผิดนับครั้งไม่ถ้วน มาบัดนี้ แม้จะไม่ได้ทำผิดอะไรเลย แต่เราก็ต้องถูกลงโทษด้วยอดีตกรรม เมื่อกรรมชั่วให้ผลตอบสนอง ทั้งเทวดาและมนุษย์ก็ไม่อาจมองเห็น ฉันจะก้มหน้ารับผลกรรมอันนี้ด้วยจิตใจที่เปิดเผย และจะไม่คร่ำครวญพร่ำบ่นถึงความไม่เป็นธรรม"
      พระสูตรกล่าวว่า "เมื่อท่านพบกับความทุกข์ยากลำบาก อย่าเสียใจ เพราะมันจะทำให้เกิดอุปทาน" เมื่อเข้าใจเช่นนี้ ชื่อว่าท่านทำถูกต้องกับทฤษฎี และการกำหนดรู้ทุกข์ย่อมทำให้ท่านเข้าสู่กระแสแห่งอริยมรรค
ประการที่ 2 การปรับปรุงแก้ไขทุกข์อยู่เสมอ ในฐานะเราเป็นสัตว์ที่ต้องตาย เราถูกสังขารธรรมทั้งหลายครอบงำ ไม่ใช่ตัวเราเอง ความทุกข์ความสุขที่เราได้รับล้วนเกิดจากสังขาร (การปรุงแต่งกาย-ใจ) เราจะไม่มีความรู้สึกเป็นสุข
      ถ้าเราประสบโชคอันยิ่งใหญ่ เช่น ชื่อเสียง โภคทรัพย์ เป็นต้น อันเป็นผลของบุญกุศลอันเราได้บำเพ็ญไว้ในอดีตกาล เมื่อเหตุปัจจัยเปลี่ยนแปลงโชคลาภก็หมดไป
     ทำไมเราต้องยินดีพอใจในชีวิตเช่นนั้นด้วยเล่า? เมื่อความสำเร็จและความล้มเหลวต่างก็เป็นสังขารธรรมทั้งนั้น จึงไม่ควรปล่อยจิตใจให้ฟู-แฟบไปกับสังขารเหล่านั้น ผู้ดำรงจิตไว้อย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหวไปกับกระแสแห่งความสุข , ความทุกข์ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติตามอริยมรรคอย่างเงียบๆ
ประการที่ 3   การไม่มีความทะเยอทะยาน คนในโลกนี้ถูกความหลงครอบงำ พวกเขาจึงมักหมกมุ่นมัวเมาอยู่กับโลกธรรม ด้วยความหลงละเมอทะเยอทะยาน แต่ผู้รู้ (วิญญูชน) ย่อมตื่นตัว ท่านเหล่านั้นย่อมเลือกทำตามเหตุผลมากกว่าความเคยชิน และมีโยนิโสมนสิการ คือทำทุกสิ่งไว้ด้วยใจอันแยบคาย และปล่อยร่างกายให้เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล
      ปรากฏการณ์ (รูป-นาม) ทุกอย่างเป็นของว่างเปล่า ไม่มีคุณค่าควรแก่การทะยานอยาก ความเสื่อมกับความเจริญ เกิดขึ้นและดับไปสลับกันอยู่ตลอดเวลา ความยินดีพอใจอยู่ในภพทั้งสาม เป็นเสมือนการอาศัยอยู่ในเรือนที่ไฟกำลังไหม้อยู่ การมีกายนี้จึงเป็นทุกข์
      มีใครบ้างที่อาศัยกายนี้แล้ว พบกับความสงบสุข บรรดาผู้ที่เข้าใจสัจธรรมข้อนี้ ย่อมถ่ายถอนตนเองออกจากภพทั้งปวง และหยุดการปรุงแต่ง หรือทะยานอยากในสิ่งใดๆ 
      พระสูตรกล่าวว่า "การแสวงหาด้วยความทะยานอยากย่อมเป็นทุกข์ , การไม่แสวงหาด้วยความอยากย่อมเป็นสุข" เมื่อไม่ทะยานอยาก ท่านดำรงอยู่ในกระแสแห่งอริยมรรค
ประการที่ 4 การเจริญภาวนาธรรม คำว่า ธรรม หมายถึงปรมัตถสัจจะซึ่งถือว่าธรรมชาติทั้งปวงเป็นสิ่งบริสุทธิ์ด้วยธรรมสัจจะนี้ ปรากฏการณ์ทั้งปวงจึงเป็นความว่าง กิเลส , ตัณหาและอุปาทาน ทั้งที่เป็นอัตตวิสัยและภาวะวิสัยเป็นภาวะที่ไม่มีอยู่จริง
     พระสูตรกล่าวว่า "ธรรม" เป็นนิชชีวะ คือมิใช่สัตว์บุคคลเพราะว่างเปล่าจากความมั่นหมายจากสัตว์บุคคล และธรรมะเป็นอนัตตาเพราะว่างเปล่าจากความมั่นหมายแห่งความเป็นตัวตน (ที่จะปฏิบัติตาม)
      บุคคลผู้นั้นย่อมอุทิศทั้งกายชีวิต ตลอดถึงทรัพย์สมบัติให้เป็นทานโดยไม่เสียดายและไม่หวังผลตอบแทนใดๆ จากการให้ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุข้าวของเงินทองและไม่มีความลำเอียงยึดติดในการให้ทาน และช่วยสั่งสอนให้ผู้อื่นได้ขัดเกลากิเลส โดยไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในรูปแบบ
      ดังนั้น เมื่อตนเองปฏิบัติได้สำเร็จแล้ว ก็สามารถช่วยเหลือผู้อื่น และทำให้เขาได้เข้าถึงธรรมได้อย่างสมบูรณ์เช่นกัน เพราะการเอื้ออาทรต่อผู้อื่นก็เป็นการบำเพ็ญบารมีธรรมไปด้วย และเมื่อบำเพ็ญบารมีธรรมทั้ง 6 ประการ นั้นก็ช่วยกำจัดความหลงของตนเองไปด้วย ซึ่งไม่ต้องไปบำเพ็ญคุณธรรมอย่างอื่นๆ อีก (นอกจากบารมีธรรม 6 ประการ)
     เมื่อตั้งอยู่ในคุณธรรมเหล่านี้ ก็ไม่ต้องปฏิบัติธรรมอันอื่นอีกก็ได้ นี้คือความหมายของคำว่า
"การปฏิบัติธรรม"
.........................................................................................................
1234544_687819334580252_666954702_n.jpg
Lovers  0 คน เลิฟคีตากะ
Lovings  คีตากะ เลิฟ 0 คน
Lovers  4 คน เลิฟคีตากะ
Lovings  คีตากะ เลิฟ 1 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟคีตากะ
Lovings  คีตากะ เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงคีตากะ