22 มิถุนายน 2549 16:04 น.

หนังสือกวีนิพนธ์เล่มใด ที่คนไทย (โพเอ็ม) ควรอ่าน

ตราชู

กระทู้นี้เปิดให้แสดงความเห็นเต็มที่ครับ โดยผมจะไม่เสนออะไรก่อนทั้งสิ้น แต่จะคอยเป็นทัพเสริมเพื่อนๆเรื่อยๆครับ
	เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ท่านอาจารย์วิทยากร เชียงกูร ท่านทำโครงการวิจัย หนังสือดีหนึ่งร้อยเล่มที่คนไทยควรอ่าน ผมก็เลยขออนุญาตยืมชื่อโครงการของท่าน มาตั้งกระทู้เล่นๆว่า 
	หนังสือกวีนิพนธ์เล่มใด ที่คนไทย (โพเอ็ม) ควรอ่าน ทั้งนี้ โดยมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์แก่สมาชิกใหม่ซึ่งเข้ามาศึกษาหาความรู้ที่นี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้องๆรุ่นเยาว์ผู้ฝึกหัดเขียนร้อยกรองทั้งหลาย  จะได้รับข้อแนะนำสำหรับสร้างแนวทาง สร้างบันไดก้าวเดินต่อไปในอนาคตครับ
	ไม่ต้องอ้างอิงหลักวิชาหรอกครับ เอาความชอบส่วนตัวนี่แหละ อยากให้สมาชิกใหม่ๆของเรารู้จักเล่มใด เต็มที่เลยครับ				
21 มิถุนายน 2549 16:07 น.

อ่านหนังสือเล่มไหนแล้วร้องไห้ครับ

ตราชู

หลังจากกระทู้ที่ผ่านมา ผมเครียดเขม็งแล้ว กระทู้นี้คุยกันเรื่องเบาๆบ้างครับ (แต่ บางท่านอาจว่าเครียดก็ได้)
	ปกติ ตราชูจะไม่ร้องไห้เพราะความรัก ไม่ว่าจะรักเขาข้างเดียว อกหักมาถึงห้าหนก็ตาม หาก น่าแปลก หนังสือนี่แหละครับ ทำให้ผมน้ำตาซึม
	ถ้าเป็นนวนิยาย ผมร้องไห้ให้กับ บางระจัน ของ ท่านไม้ เมืองเดิม เพราะเหตุว่าภาษาของท่านทุกอักษรมีวิญญาณสิง บางคำพูดง่ายๆ สั้นๆ หากก็กินใจ (ผมไม่อาจนำหนังสือมาพิมพ์ลงที่นี้ได้ครับ จึงขอความกรุณาท่านผู้มีหนังสือเล่มดังกล่าว เมตตานำข้อความมาลงเป็นตัวอย่างสั้นๆ ช่วยตราชูด้วยครับ) อย่างตอนค่ายระจันใกล้จะแตก ท่านพรรณนาได้โศกสุดๆ ตอนนายทองแสงใหญ่ กล่าวปลุกใจชาวค่ายครั้งสุดท้าย ผมน้ำตาซึมเลยครับ
	ต่อมา คำพิภากษา ของ ท่านชาติ กอบจิตติ สงสารไอ้ฟักจริงๆ โดยเฉพาะตอนพร่ำรำพันกับลุงไข่ แล้วเดินตะเบ็งเสียงสวดมนต์พร้อมทั้งร้องไห้โฮๆกลับกระต๊อบ อีกแห่งหนึ่งก็ตอนครูใหญ่ใช้ซากศพเป็นเครื่องทดลองเตาเผาศพใหม่ หดหู่ใจเหลือเกิน ชาวบ้านไม่มีใครสนใจร่างไร้วิญญาณของฟักสักคน
	เรื่องสั้นบ้างครับ นี่เลย เรือรบจำลอง ของ อาจารย์ ส. เดชาติวงศ์ (พิมพ์อยู่ใน รวมเรื่องสั้นชุด ฉันอยู่นี่ ศัตรูที่รัก) เรื่องความผูกพันของเด็กตัวเล็กๆที่ยิ่งใหญ่เกินขุนเขา ความรักระหว่างชาลี กับอันดร ถึงขนาดสละชีวิตช่วยกันได้ ประเสริฐนักหนาครับ
	อีกสองเรื่องนี่ ไม่ถึงกับเสียน้ำตา แต่อึ้ง (กิมกี่) ไปเหมือนกัน อยู่ในชุด ฟ้าบ่กั้น รวมเรื่องสั้นของ ท่านลาว คำหอม เรื่อง ไพร่ฟ้า สงสารอินถา ชายชาวขมุผู้ถูกหม่อมราชวงศ์ป่ายปีน ราชพฤกษ์ข่มเหง ข่มขืนคนรักของเขา เหยียดหยามเขาว่าไม่ใช่มนุษย์ จนเขาต้องตัดสินใจ แย่งคนรักคืน โดยนำช้างลากซุงชื่อพลายทอง อันเป็นช้างที่เขาเป็นควาญบังคับประจำ เข้าพังกระท่อมของหม่อมราชวงศ์เสียราบ ผลคือ ทั้งตัวอินถา หม่อมราชวงศ์ป่ายปีน และบัวคำ เสียชีวิตหมดครับ เรื่องสองก็ เขียดขาคำ ผมอึ้งตรงที่ นาค นางาม ต้องเสียลูกชายไปคนหนึ่ง แลกกับเงิน ๕๐๐ บาท ขมขื่นเป็นที่สุด
	กวีนิพนธ์  ผมน้ำตาชื้นให้กับ เจ้าขุนทอง ของ ท่านอาจารย์ สุจิตต์ วงศ์เทศเชื่อว่าเพื่อนๆคงได้อ่าน และได้รสเช่นกันกับผมแล้วครับ
	เท่าที่นึกออกก็มีแค่นี้ อยากฟังความเห็นเพื่อนๆบ้างครับ ผมจะได้หาหนังสือเหล่านั้นมาอ่านครับ				
19 มิถุนายน 2549 09:37 น.

เพื่อนๆคิดว่า เป็นเพราะอะไรครับ?

ตราชู

เพื่อนๆครับ บทความชิ้นนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อร่วมกันแก้ปัญหา ซึ่งผม และพวกเราอีกหลายๆคนที่นี่ มองว่าใหญ่หลวง ขณะที่คนในสังคมยุคปัจจุบันอีกหลายคน เห็นเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องดังกล่าวก็คือ การเสื่อมความนิยมในการอ่านกวีนิพนธ์ของเยาวชนไทยสมัยโลกาภิวัตน์ครับ
	หากตั้งคำถามว่า เหตุใด หนังสือกวีนิพนธ์ขายไม่ค่อยได้ ก็ต้องตอบกันตรงๆว่า คนไม่สนใจอ่าน แหละหากถามต่อไปว่า เหตุใดเล่า คนจึงไม่สนใจ คำตอบคงหลายหลาก ความเห็นคงหลากหลาย สำหรับตัวผู้เขียนแล้ว ขอโอกาส และขออนุญาตแสดงทัศนะบางประการ เท่าที่สติปัญญาอันน้อยนิดของตนจะพอค้นได้ดังนี้
	หลายๆคน มักลงโทษวัฒนธรรมตะวันตกว่าเป็นจำเลยตัวสำคัญ ในการบ่อนทำลายจิตใจของเยาวชนรุ่นใหม่ให้สึกกร่อน ทว่า สำหรับผม มองว่า วัฒนธรรมตะวันตกเปรียบเสมือนข้าศึก หากเรามีเมืองหน้าด่านอันมั่นคงแข็งแกร่งแล้วไซร้ ก็ยากนักที่ศัตรูจะจู่โจมเข้าถึงใจกลางเมือง พร้อมทั้งกระจายกำลังกันรวดเร็วอย่างนี้ เมืองหน้าด่านซึ่งผมอุปมาถึง คือ ความเข้มแข็งทางจิตใจของเด็กไทยเรานั่นแหละครับ เข้มแข็งและเข้มข้นในความเป็นไทย ซึ่งนั่น จะต้องเกิดจากการปลูกฝังของผู้ใหญ่ทุกฝ่าย แต่ อนิจจา.......
	ถ้าเรามองเริ่มแรก จากสังคมหน่วยย่อยที่สุด (แต่สำคัญที่สุด) ของมนุษย์ คือ ครอบครัว น่าตกใจและใจหายเป็นอย่างยิ่ง เมื่อปรากฏว่า สภาพครอบครัวเดี่ยว (ครอบครัวขนาดเล็ก) เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากมาย เราไม่ค่อยได้เห็นครอบครัวขยาย อย่างที่พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ลูก หลาน อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่นแล้วในเมืองหลวง ฉะนั้น ความผูกพันใกล้ชิดสนิทสนมจึงลดน้อย การถ่ายทอดวัฒนธรรมจากคนรุ่นก่อนสู่คนรุ่นใหม่แทบไม่มีจังหวะเวลา ลูกหลาน หากจะได้ขึ้นไปเยี่ยมบ้านที่ต่างจังหวัด ไปกราบผู้อาวุโส ก็แต่เฉพาะในเทศกาลสำคัญๆ ซึ่งทำให้ได้อยู่ร่วมกันน้อย โอกาสจะปลูกฝังสั่งสอนจนก่อให้เกิดจิตสำนึกถึงความเป็นชาติ ความเป็นไทย จึงแทบไม่มี หรือไม่มีเอาเสียเลยก็ว่าได้ เท่านั้นยังไม่พอ ข้างฝ่ายพ่อแม่ของเด็กเองก็ต่างคนต่างหางาน หาเงินกันวุ่น ตื่นเช้า กลับดึก เมื่อไม่อาจอยู่เป็นเพื่อนลูกได้ ก็อาศัยเทคโนโลยีเป็นเพื่อนแทน โดยไม่มีเวลาอบรมบ่มเพาะ หรือชี้แนะกำกับ เมื่อเป็นเช่นนี้ วิสัยเด็ก ซึ่งรักความเพลิดเพลินเป็นสามัญทางอารมณ์อยู่แล้ว จึงถูกชักนำจากสื่อล่อมากมายอย่างง่ายดาย ขอยืนยันอีกครั้ง ณ ที่นี้ว่า ไม่มีเด็กคนไหนทำอะไรเป็นโดยปราศจากการป้อนของผู้ใหญ่หรอกครับ เมื่อผู้ใหญ่มอบหน้าที่ให้สื่อ (ซึ่งผู้ผลิตรายการก็เป็นผู้ใหญ่) อยู่กับเด็ก แน่นอน เขาย่อมรับทุกอย่างที่สื่อป้อน ในลักษณะของม้าขาดบังเหียน พอคึกเข้าก็ควบตะลุยอย่างเดียว ก็คนกุมบังเหียนไม่อยู่เสียนี่ จะให้ทำอย่างไรได้เล่า
	ทีนี้มาถึงประเด็นเรื่องการศึกษาบ้างครับ ขอสรุปเพียงสั้นๆ (ถ้าจะว่ากันจริงๆ ยาววววววววววววววว ครับ) ตั้งแต่เราปฏิรูปการศึกษามา ดูเหมือนอะไรๆมันพิลึกพิกลเหลือเกิน เฉพาะอย่างยิ่ง วิชาภาษาไทย อันเกี่ยวข้องกับฉันทลักษณ์โดยตรง แม้ว่าจะมีแบบเรียนให้ได้หาความรู้กันก็จริง ทว่าเนื้อหาถูกปรับให้อ่อนลงอย่างมาก สมัยสามสิบปีก่อน คุณน้าท่านเล่าให้ผมฟังเสมอครับ ว่า การเรียนวรรณคดีนั้น อ่านกันเป็นเล่มๆ ถึงจะเป็นฉบับตัดตอน ก็ยังได้อ่านมากกว่าสมัยนี้อยู่ดี มีการท่องบทอาขยานด้วย ท่องเพื่อนำมาสอบ นำมาเขียน จึงไม่แปลกที่เด็กนักเรียนรุ่นก่อน ได้สัมผัสกับงานฉันทลักษณ์จนเจนตา ถึงไม่อยากจำจด ก็ต้องจดจำโดยปริยาย ผู้ใหญ่ที่ท่านเติบโตจากเบ้าหลอมอันงดงาม แม้ท่านจะมิใช่กวีกันทุกคน ทว่าก็สามารถอ่านโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย ได้คล่อง หันมามองหลักสูตรวิชาภาษาไทยยุคนี้บ้าง บทอาขยานขาดหาย ข้อสอบแบบปรนัยระบาด (เด็กๆเองก็ชอบเสียด้วย) ทุกอย่างถูกจัดเตรียมในแบบ กึ่งสำเร็จรูป) เด็กๆก็เลยไม่ต้องเสาะหาอะไรๆเอง หรือปฏิบัติตามทฤษฎีด้วยตนเอง ซ้ำการเรียนก็เร่งรีบเพื่อให้ทันสอบ จะหาความลึกซึ้งได้ที่ไหน ยังดีอยู่หรอก ที่กระทรวงศึกษาธิการ คัดเลือกหนังสือกวีนิพนธ์หลายเล่ม ให้เด็กได้อ่านเป็น หนังสือนอกเวลา แต่ก็อีกนั่นแหละ หนังสือนอกเวลานั้น บ่งความหมายโดยอ้อมอยู่ว่าครูมีสิทธิ์กำหนดให้นักเรียนอ่าน หรือไม่อ่านเล่มใดเล่มหนึ่งก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจ ผมไม่ทราบเหมือนกันว่า เด็กจะได้อ่านกวีนิพนธ์กันมากน้อยเท่าไร สันนิษฐานว่าคงได้อ่านกันไม่มาก ยกเว้นแต่ผู้สนใจจริงๆ ซึ่งหาอ่านเพิ่มเติมเอาเองภายหลังสายธารฉันทลักษณ์จึงชะงักงัน เพราะผู้จะสืบทอดไม่เต็มใจจะทอดจะสืบช่วง 
	อีกประเด็นหนึ่งก็คือประดาสื่อสารมวลชนทั้งหลาย ที่ตะกุยตะกายตะกระตะกรามสวาปามเงินเป็นหลัก ชูชักวัฒนธรรมไทยเพื่อนำมาขาย แต่มิได้ลงถึงรากเหง้าอันแท้จริง พอมีของใหม่ขายได้ดีกว่า ก็พร้อมโยนของดีๆของเราทิ้งทันที ตัวอย่างเช่น รายการ เรียงร้อยถ้อยไทย ซึ่งเดิม ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๓ ก่อนข่าว ๒๐ นาฬิกา อันเป็นช่วงที่เด็กๆและพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถรับชมด้วยกันได้อย่างสะดวกก็ถูกยกเลิกเมื่อมีรายการสอนภาษาอังกฤษเข้ามาแทน เห็นภาษาต่างด้าวต่างแดนสำคัญนักหรืออย่างไร ไอ้พวกไร้สำนึก ไอ้พวกนายทุนเขมือบ (เงิน) ส่วนรายการงามๆอย่าง คุณพระช่วย ก็ถูกย้ายไปในช่วงเวลาที่เด็กๆ (หมายถึงเด็กอันถือเป็นไม้อ่อนทั้งหลายนะครับ) มักจะหลับกันแล้ว อดดูความอลังการของไทยไปเสียนี่ ไม่รู้แบ่งสรรเวลากันอย่างไร วิทยุก็อีก พ่นเพลงที่ไร้ความงามทางการร้อยกรองมากรอกหูผู้ฟังอย่างไม่ขาดสาย แล้วก็อ้างเอาว่า เป็นความต้องการของคนฟัง ปลุกเร้าเข้าไป ทุ่มโฆษณาเข้าไป จนเพลงเหล่านี้แพร่คลุมทั่วสารทิศ เยาวชนติดกันทั้งบ้านทั้งเมือง เพลงดีๆซึ่งมีความงามงดชดช้อยในการเรียงร้อยลีลา อย่าหวังเลยว่าจะได้เด่นผงาด ถ้าไร้เงินฟาดกบานไอ้พวกงก โลภ จะเห็นได้ว่า คนไทยเองนั่นแหละ ระดมตีเมืองหน้าด่านของเราให้อ่อนกำลังลง พอศัตรูรุก เราก็ด่าศัตรู หรือไม่ก็ลงโทษเด็ก ก็ผู้ใหญ่บางกลุ่มยังดูถูกวัฒนธรรมประจำชาติตน ทุกอย่างมันก็เลยแย่ 	
	ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาโดยสังเขปนี้ มีผลทำให้รากฐานทางวัฒนธรรมของสังคมเราทั้งระบบโยกคลอน กล่าวเฉพาะร้อยกรอง ในเมื่อเราห่างเหินกับวัฒนธรรมดั้งเดิม ร้อยกรองอันถือเป็นของโบราณ ในสายตาคนรุ่นใหม่ จึงตกอยู่ในสภาพเช่นเดียวกับ สมบัติในพิพิธพัณฑ์นานๆ จึงจะออกมาสำแดงความล้ำค่าสักที จะให้ทำอย่างไรได้เล่า โลกยุคใหม่ การสื่อสารเอาความง่ายเข้าว่า หนังสือที่ดี จึงเป็นหนังสือ กึ่งสำเร็จรูป อ่านปุ๊บ เข้าใจปั๊บ รสชาติทางศิลปะมีหรือไม่ ไม่สนใจแล้ว รากแก้วของเราเริ่มเฉา เพราะพวกผู้ใหญ่บางกลุ่ม สุมๆมายามาย้อมมอมเด็ก เสมือนเป็นใจ เปิดประตูเมืองหน้าด่าน รับข้าศึกให้เข้ามาโจมตีเราทุกวี่ทุกวัน จนเดี๋ยวนี้ ป้องกันลำบากยากเข็ญเหลือเกิน
	นี่เป็นความเห็นของผมเท่านั้นนะครับ อยากขอความกรุณาเพื่อนๆทุกท่าน ช่วยผม แสดงทัศนะเข้ามากันสักหน่อยครับ ผมจะได้มีวิสัยทรรศกว้างไกลกว่านี้ และบางที เราอาจพบลู่ทางในการแก้ปัญหาซึ่งกำลังเกิดขึ้นกับหนังสือกวีนิพนธ์ไทย รวมถึงอีกหลายๆเรื่องก็ได้นะครับ
ด้วยความเคารพทุกท่านอย่างยิ่งครับ
ตราชู
-----------------------------------------------				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟตราชู
Lovings  ตราชู เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟตราชู
Lovings  ตราชู เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟตราชู
Lovings  ตราชู เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงตราชู