21 เมษายน 2550 12:03 น.

มาฟังเพลงเหล่านี้กันดีไหมครับ? (ตอนที่ ๑)

ตราชู

ก่อนจะเขียนกระทู้ ผมคิดไว้ล่วงหน้าแล้วครับ ว่าการชวนเด็กสมัยใหม่ให้หวนกลับไปฟังเพลงเก่านั้น คงจะมีท่านที่ไม่ชอบใจอยู่บ้างเป็นแน่ ก็ แหม..... เพลงเก่าน่ะ ไม่ทันสมัยเอาเสียเลย เสียงดนตรีก็แล้มแหลม คนร้องก็เสียงชวนง่วงนอน (นี่ความคิดของเด็กรุ่นปัจจุบันนะครับ)  แต่..... โปรดเชื่อเถิดว่า เพลงเก่านั้น ช่วยเสริมประสิทธิภาพในการเขียนกลอนจริงๆ
	ตอนผมยังเด็กๆ ก็เกาะกระแสเหมือนกันครับ เพลงไหนฮิตก็คลั่งไคล้ไปตาม กระทั่ง เมื่อขึ้นไปอยู่กับคุณพ่อ คุณแม่ท่านที่จังหวัดอุดรธานี ได้ยินเพลงของวงดนตรี สุนทราภรณ์ ประจำ แรกๆก็ไม่ชอบฟังหรอก ทีนี้ได้ยินบ่อยเข้า หูมันก็เริ่มชิน พอชินก็ถึงขั้นสังเกตคำ สังเกตความซิ่ครับ แล้วก็ถึงกับอึ้งไปเลย ในช่วงเวลาดังกล่าว ผมเรียนอยู่ชั้น ม.๑ พอจะคุ้นเคยกับวรรณคดีบ้างแล้ว พอฟังเพลงเหล่านี้เข้าอย่างตั้งใจจับเนื้อร้อง ก็ต้องอุทานกับตัวเองว่า โอ้โห.... สำนวนเหมือนวรรณคดีเลย  นี่ ทำให้ติดเพลงเก่าครับ ติดจนลงมากรุงเทพฯ แล้วก็ยังฟัง
	เพลงชั้นครูเพลงหนึ่ง ผู้ประพันธ์คือ ขุนวิจิตรมาตรา ชื่อเพลงว่า บัวไกลตา ขับร้องโดย คุณเชาวลี ช่วงวิทย์ เป็นเพลงหนึ่งซึ่งผมนับถือยิ่ง เนื้อเพลงมีใจความดังนี้ครับ
	ตะวันจางดวงจันทร์นั้นก็แจ่ม
เพริศแอร่มแพรวอร่ามเรืองยามฉาย
พอดาวเคลื่อนเดือนก็คล้อยแสงพลอยคลาย
แสนเสียดายด้วยจะดับไปลับดวง
	เหมือนโกสุมกลีบสวยรวยเกสร
อรชรงามเฉิดเพริศพราวช่วง
มาอาภัพคนพบประสบพวง
วันยิ่งล่วงก็จะหล่นหมดคนแล

  	เพลงดังกล่าว มาเดี๋ยวนี้ไม่มีนักร้องใหม่นำมาร้องซ้ำกันเท่าไรเลย ทั้งๆที่ นี่คือกลอนกลบท แบบ ๓ ๕ ๘ หรือ ๓ ๖ ๙ (คำที่ ๓ ๕ ๘ ในวรรค ใช้เสียงพยัญชนะต้นเดียวกัน หรือใกล้กัน ในกรณีที่กลอนมี ๙ คำ ในหนึ่งวรรค เสียงพยัญชนะต้นจะซ้ำกันในคำที่ ๓ ๖ แหละ ๙)
	อีกเพลงที่ทำให้ผมต้องมนต์สะกด ทั้งๆที่เป็นคนกรุงเทพ เพลงนี้ชื่อ เพชรบุรีแดนใจ ถ้าจำไม่ผิด ครูแก้ว อัจฉริยกุล ท่านประพันธ์เนื้อร้อง   ส่วนผู้ขับร้องต้นฉบับ คือ คุณมันธนา โมรากุล ฟังแล้วอิจฉาคนจังหวัดเพชรบุรีจังครับ
	บุรีเอยบุรีรมย์เรือง
โฉมเอยโฉมเมืองงามประเทืองเรืองฝัน
พริ้งพราวราวพรหมภินันท์
เพชรบุรีหลั่นลอยฟ้ามาสู่ดิน
พร่างเพชรพร้อยแพร้ว
สมแล้วเมืองปราณวิมานฐานถิ่นถวิล
เลอบุรินทร์
เลื่องลือระบิลศิลป์ไทย
	(สร้อย เพชรเอ๋ยเพชรบุรีศรีไทย แผ่นดินแดนใจ ของของไทยทั่วกัน)
	บุรีเอยบุรีโอฬาร
พระเคยสำราญแก่งกระจานธารใส
วิมานสวรรค์ชั้นไพร
เพชรบุรีให้เราไว้ในอุรา
พร่างเพชรพร้อยแพร้ว
สมแล้วเมืองปราณน้ำตาลหวานซ่านดินฟ้า
ใครได้มา
จากไปโศกาซมซาน
	(ซ้ำท่อนสร้อย)
	บุรีเอยบุรีรมย์ราย
พระเคยเยื้องกรายเพลินหาดทรายสนาน
เขาหลวงเป็นสรวงสำราญ
เขาวังเป็นบ้านสถานสถิตองค์
พร่างเพชรพร้อมพริ้ม
แย้มยิ้มยวนใจทักทายขวัญให้โลมหลง
ลืมไม่ลง
ไม่ตายแล้วคงพบกัน
	(ซ้ำท่อนสร้อยอีกครั้ง)

	ตอนแรกขอจบเพียงนี้ดีกว่าครับ ตอนหน้า ว่าจะเขียนถึงเพลงของ คุณรวงทอง ทองลั่นทม คุณบุษยา รังสี อันมีวรรณศิลป์ซาบซึ้งตรึงใจหลายเพลง สำหรับท่านที่มีรสนิยมตรงกันกับผม แหละเห็นว่า เพลงเก่าเพลงใดประทับใจท่าน ซึ่งก็แน่หละ สำนวนสละสลวยมีประโยชน์ต่อการเขียนกลอนสำหรับน้องๆรุ่นเยาว์อย่างแน่นอน ผมก็ใคร่ขอเชิญชวนท่าน นำเพลงที่ท่านผูกพัน รักแสนรัก มาร่วมในกระทู้นี้ครับ
หมายเหตุ
๑.	ถ้าหากผมเขียนผิดเกี่ยวกับผู้ประพันธ์เพลง ผมใคร่ขอกราบแทบเท้า สมาโทษท่านมาในที่นี้ด้วยครับ
๒.	เนื้อเพลงที่พิมพ์ไว้ในกระทู้นี้ คัดจากความทรงจำของผม ฉะนั้น ข้อความอาจมีตกหล่นหรือคลาดเคลื่อนไปบ้าง ท่านผู้สันทัดกรณี กรุณาชี้แนะ ท้วงติงด้วยครับ จะเป็นพระคุณอย่างยิ่งครับผม				
19 เมษายน 2550 11:33 น.

ท่านที่เคยอ่านนวนิยายเรื่อง "ฟ้าใหม่" ของ "ท่านศุภร บุนนาค" กรุณาตราชูด้วยเถิดครับ

ตราชู

วันที่ ๒ เมษายนที่ผ่านมา ผมไปงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติมาครับ ได้หนังสือ ฟ้าใหม่ ของ ท่านศุภร บุนนาค มาด้วย เล่มหนามากๆครับ เมื่อครั้งที่เรื่องนี้ทำเป็นละครผมไม่ได้ดูสักตอน ทว่า ชื่อเสียงของ ท่านศุภร บุนนาค นั้น เคยได้ยินอยู่เสมอ ทำให้อยากอ่านผลงานนวนิยายของท่าน 
	ผมยังอ่านไม่จบครับ แต่ก็ต้องทึ่ง นวนิยายอิงประวัติศาสตร์นั้น องค์ประกอบสำคัญคือ ข้อมูลต้องแน่น ฉากต้องเก่าให้สมจริง คำพูดคำจาของตัวละครต้องโบราณสมยุค เรื่องนี้ท่านศุภรไม่ทำให้ผู้อ่านผิดหวังเลย ทว่าที่ยิ่งไปกว่านั้น คือ ฟ้าใหม่ กล้าเขียนพาดพิงถึง ราชสำนัก และก็กล่าวแบบใกล้ชิดเสียด้วย ข้อนี้แหละครับ ที่ผมอัศจรรย์ เพราะเท่าๆที่เคยอ่านนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ยุคใกล้เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ อย่าง สายโลหิต ของ ท่านโสภาค สุวรรณ ท่านก็เลี่ยงๆฝ่ายในเสีย ผมจึงอยากถามเพื่อนๆชาวไทยโพเอ็มว่า นอกจากเรื่องราชสำนักแล้ว ในส่วนของฉากรบทัพจับศึก ใน ฟ้าใหม่ ท่านผู้เขียนบรรยายไว้อย่างไรบ้างครับ ผมถือว่า องค์ประกอบของนวนิยายอิงประวัติศาสตร์อันจำเป็นอีกข้อหนึ่งก็คือ หากมีการรบ ผู้ประพันธ์ควรจำลองภาพสงครามให้เด่นชัดที่สุดเท่าที่จะทำได้ อ่านใน อตีตา ของ ท่านทมยันตี ฉากรบถูกกล่าวถึงอย่างรวบรัด ผิดกับ บางระจัน ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ซึ่งบรรยายการตะลุยตะลุมบอนอย่างดุเดือดชนิดทุกกระบวนท่า ท่านที่เคยอ่านฟ้าใหม่จบมาแล้ว โปรดช่วยให้ความรู้ตราชูเพื่อเป็นคู่มือนำทางในการอ่านด้วยเถิดครับผม				
6 เมษายน 2550 10:43 น.

ถึง ท่านผู้ดูแลระบบครับ

ตราชู

เรียน ท่านผู้ดูแลระบบครับ บทอาศิรวาทราชจักรีวงศ์ ของตราชูนั้น ปรากฏสองครั้งอีกแล้วครับ อาจเป็นเพราะปรับปรุงแก้ไขหลายคราวก่อนจะโพส และในระหว่างแก้ไขก็อาจกดอะไรพลาดไป จึงปรากฏผลดังกล่าวขึ้น ฉะนั้น โปรดถือเอาสำนวนล่าสุดเป็นอันถูกต้อง และกรุณาลบสำนวนที่เกินมาด้วยเถิดขอรับ จะเป็นพระคุณยิ่งครับ				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟตราชู
Lovings  ตราชู เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟตราชู
Lovings  ตราชู เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟตราชู
Lovings  ตราชู เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงตราชู