31 กรกฎาคม 2554 23:51 น.

กระบวนการประชาธิปไตย์ไทย ๑

แทนคุณแทนไท

ในคำปราศรัยของนายกรัฐมนตรีปรีดี  พนมยงค์ (มีนาคม  สิงหาคม 2489) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ในวาระปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดสุดท้ายตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ดังมีเนื้อหาสำคัญบางตอนว่า
● นายกฯ ปรีดีเริ่มด้วยการน้อมสำนึกและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
● ท่านอธิบายย้อนหลังไปถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ว่าคณะราษฎรมารู้ภายหลัง       ยึดอำนาจแล้ว 6 วันว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่ แต่ทรงถูกที่ปรึกษา ข้าราชการชั้นสูง และ บุคคลคนหนึ่ง ทัดทานไว้คณะราษฎรมิได้รู้พระราชประสงค์   มาก่อน จึงทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปโดยบริสุทธิ์ใจ มิได้ช่วงชิงกระทำดังที่มีผู้ปลุกเสกข้อเท็จจริง      ให้เป็นอย่างนั้น
● ท่านขอซักซ้อมความเข้าใจถึงหลักประธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะราษฎรได้ขอพระราชทาน   มาจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ประชาธิปไตยต่างจากอนาธิปไตย , มีผู้เข้าใจระบอบประชาธิปไตยผิด เอาอนาธิปไตยเข้ามาแทนที่ นับเป็นภัยต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรง
● ประชาธิปไตยนั้นมีระเบียบ ยึดตามกฎหมาย ศีลธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต
● ส่วนอนาธิปไตยขาดระเบียบ ขาดศีลธรรม กฎหมายและความซื่อสัตย์สุจริต ใช้สิทธิเสรีภาพ         โดยไม่อยู่ภายใต้ขอบเขตกฎหมายหรือศีลธรรม โดยไม่สุจริต ก่อให้เกิดความปั่นป่วน ความไม่สงบเรียบร้อย ความเสื่อมศีลธรรม
● ที่สำคัญเมื่อประชาธิปไตยเสื่อมก็นำไปสู่                 อนาธิปไตย                 เผด็จการฟัสซิสต์ ในที่สุดเหมือนอิตาลีสมัยมุสโสลินี
● ฉะนั้นหากไม่เอาเผด็จการ ก็ต้องป้องกันขัดขวางอนาธิปไตย ต้องให้ประชาธิปไตยมีระเบียบเรียบร้อย
● ข้าพเจ้าไม่มีเหตุผลอันใดที่จะกลายมาเป็นศัตรูของระบอบประชาธิปไตย...ข้าพเจ้าไม่ประสงค์        ที่จะให้ผู้ใดเชื่อข้าพเจ้า โดยไม่มีค้าน ข้าพเจ้าต้องการให้มีค้าน แต่ค้านโดยสุจริตใจไม่ใช่ปั้นข้อเท็จจริงขึ้น
● เมื่อสุจริตใจถึงต่างแนวทางก็ร่วมมือกันได้ แม้แนวทางที่จะเดินไปสู่จุดหมายจะเป็นคนและแนว      แต่ในอวสานเราก็พบกันได้ ตัวนายกฯ ปรีดีเองกับเจ้านายหลายพระองค์ต่างแนวทาง แต่เพื่อส่วนรวม             ของประเทศชาติเหมือนกัน ก็ร่วมมือกันได้ ถึงบางท่านจะต่อต้านคณะราษฎร แต่ซื่อสัตย์ต่อเจ้าจริงก็ร่วมมือกันได้ เพราะนายกฯ ปรีดี เคารพในความซื่อสัตย์ หากตัวร้ายคือพวกที่อ้างชาติบังหน้า แต่ความจริงทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว อิจฉาริษยา
● โดยสรุป นายกฯ ปรีดีปฏิเสธอนาธิปไตยและเผด็จการ ท่านเรียกร้องให้สร้าง ระบอบประชาธิปไตย พรั่งพร้อมด้วยสามัคคีธรรมตามรัฐธรรมนูญ 

ทว่ากระบวนการสร้าง ระบอบประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมด้วยสามัคคีธรรมตามรัฐธรรมนูญ ที่นายกฯ ปรีดีคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (9 พฤษภาคม พ.ศ.2489) อันท่านถือว่าเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ เพราะพฤฒสมาชิกและสมาชิกสภาผู้แทนเป็นผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา อีกทั้งพฤฒสมาชิก สมาชิกสภาผู้แทน และรัฐมนตรีต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ (มาตรา 24 , 29 , 66) นั้น ต้องประสบโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่และสะดุดหยุดชะงักไปเนื่องด้วยกรณีสวรรคตด้วยพระแสงปืนของในหลวงรัชกาลที่ 8 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489
หลังจากนั้นบ้านเมืองก็ระส่ำระสาย มีผู้ฉวยโอกาสจากกรณีสวรรคตปั้นเรื่องมดเท็จกล่าวร้ายป้ายสีอาจารย์ปรีดีและพวก ก่อให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกขยายตัวรุนแรงกว้างขวางออกไป ท่ามกลางภาวะวิกฤติเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพงโจรผู้ร้ายชุกชุม นักการเมืองและข้าราชการทุจริตคอร์รัปชั่น และนายทหารถูกปลดประจำการถึงราว 1 ใน 5 ของทั้งหมดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ระบบการเมืองไทยก็ย่างเข้าสู่สภาพการณ์วิกฤติที่ :
1. ชนชั้นนำสูญเสียฉันทมติว่าอะไรคือเป้าหมายร่วมกันของบ้านเมือง (the loss of elite consensus) 
2. ระบอบการเมืองต่างๆ ที่ผ่านมาล้วนขาดพร่องความชอบธรรมในสายตากลุ่มพลังการเมืองสำคัญ    ไม่กลุ่มใดก็กลุ่มหนึ่ง (the lack of political legitimacy)
3. ความรุนแรงและฆาตกรรมทางการเมืองกลายเป็นวิธีการที่ทุกกลุ่มฝ่ายใช้กันอย่างแพร่หลาย          โดยไม่เคารพกฎกติกาทางการเมือง (political violence & murders)
19 พฤษภาคม พ.ศ.2490 พรรคประชาธิปัตย์เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายกฯ ถวัลย์ 7 วัน 7 คืน โดยถ่ายทอดเสียงการประชุมทั่วประเทศ แม้รัฐบาลถวัลย์จะชนะเสียงไว้วางใจในสภาฯ (86:55 งดออกเสียง 16 คน) และได้กลับมาบริหารประเทศต่อ แต่ความน่าเชื่อถือก็เสื่อมทรุดลงในสายตาสาธารณชนอย่างหนัก เมื่อประกอบกับการปลุกม็อบเคลื่อนไหวโค่นรัฐบาลนอกสภาฯ ของกลุ่มฝ่ายต่างๆ ก็ทำให้บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะอนาธิปไตยไปทุกที่
ในที่สุดคณะรัฐประหารอันประกอบด้วยอดีตนายทหารชั้นผู้ใหญ่นอกราชการ (เช่น พลโทผิน  ชุณหะวัณ , นาวาเอกกาจ  เก่งระดมยิง , พันเอกเผ่า  ศรียานนท์) กับนายทหารกุมกำลังระดับนายพันในราชการ (เช่น         พันเอกสฤษดิ์  ธนะรัชต์ , พันโทประภาส  จารุเสถียร) ก็ยึดอำนาจในนาม ทหารของชาติ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 โดยความร่วมมือเห็นพ้องและอธิบายแก้ต่างของนักการเมืองและแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ฝ่ายค้านสมัยนั้น เป็นอันปิดฉากความพยายามสร้างความปรองดองผ่าน ระบอบประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมด้วยความสามัคคีธรรมตามรัฐธรรมนูญ และเปิดทางแก่ ระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แทน


การปรองดองกับประชาธิปไตยรอบที่ 3 :
ระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
 ประชาธิปไตยไม่ได้หมายความว่าเป็นการปกครองที่ถือเอาข้างมากแต่เสียงเท่านั้น เพราะถ้าเอาโจร 500 คน มาประชุมกับพระ 5 องค์ และเสนอญัตติให้อภิปรายกันว่าจะไปปล้นเขาดีหรือไม่ดี เมื่อลงมติกันทีไร โจร 500 ต้องลงมติไปปล้นเขาเพราะเอาชนะพระได้ทุกที แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความเลยว่ามติของเสียงข้างมาก    ที่ให้ไปปล้นเขานั้นเป็นการถูกต้องด้วยทำนองคลองธรรม...
 การปกครองโดยเสียงข้างมากที่เรียกว่าประชาธิปไตย จะต้องไม่ถือเกณฑ์เอามากแต่เสียงเป็นใหญ่    ยังต้องมาด้วยวิชาความรู้ ความจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมือง และความสุจริตซื่อสัตย์ต่อประชาชนด้วยจึงจะเป็นการปกครองที่ดี เพื่อประโยชน์ความสุขสมบูรณ์ของประชาชนพลเมืองสมชื่อประชาธิปไตย...
บุคคลที่เป็นกลางและไม่เห็นด้วยกับการใช้อำลังเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ต้องยอมจำนวนต่อเหตุผลฝ่ายคณะปฏิวัติ 9 พฤศจิกายน (พ.ศ. 2490 - ผู้เขียน) ก็เพราะเหตุอันเดียวกันนี้ และต้องยอมรับว่าถ้ารัฐประหารแบบธรรมปฏิวัติวันที่ 9 พฤศจิกายน ไม่เกิดขึ้นเสียก่อน ด้วยผลที่ไม่มีการหยาดโลหิตของคนไทยแม้แต่หยดเดียวนั้นแล้ว การปฏิวัติแบบโลกาวิสาศนองเลือดที่ 30 พฤศจิกายน (หมายถึง แผนการมหาชนรัฐ โคมลอยที่คณะรัฐประหาร 9 พฤศจิกายน กล่าวอ้างเผยแพร่โดยปราศจากพยานหลักฐานแท้จริงที่เชื่อถือได้  ผู้เขียน) ก็จะบังเกิดขึ้น...
ผมไม่นิยมระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ในฐานะนักประชาธิปไตย ผมต้งการให้มีพระมหากษัตริย์         ผมถวายความจงรักภักดีแด่พระองค์อย่างสุดชีวิตจิตใจและหวังว่าสถาบันกษัตริย์จะสถิตสถาพรสืบไป              ชั่วกัลปาวสาน
ระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิผลที่สุดไว้ให้เราป้องกันเผด็จการ    ตราบใดที่อำนาจสูงสุดยังอยู่กับพระมหากษัตริย์และฉะนั้นจึงปลอดพ้นเงื้อมมือของพวกมักใหญ่ใฝ่สูง           ทางการเมืองแล้ว ตราบนั้นก็จะไม่มีความปรารถนาในหมู่นักการเมืองที่จะเป็นจอมเผด็จการ
ถ้อยแถลงข้างต้นซึ่งถูกแสดงไว้ต่างกรรมต่างวาระกันระหว่างปี พ.ศ. 2490  2491 โดย ม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมช  แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ทั้งในฐานะคอลัมนิสต์นามปากกา แมลงหวี่ และในฐานะประธานกรรมาธิการ    ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ พ.ศ. 2492 สะท้อนทรรศนะเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยแบบยึดเสียงข้างมากเป็นที่ตั้ง (majoritarian democracy) รัฐประหาร แบบธรรมปฏิวัติ 9 พฤศจิกายน 2490 และฐานะของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของไทยเป็นอย่างดี
หลายประเด็นในนั้นได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในคลังแสงวาทกรรมอมตะ เสรีราชานิยม (liberal royalism) ของพลังอนุรักษ์นิยม  นิยมเจ้า ในสังคมการเมืองไทยที่ฟังคุ้นหูจวบจนปัจจุบัน และด้วยฐานะบทบาทสำคัญของหม่อมเสนีย์ ทรรศนะดังกล่าวย่อมสะท้อนถ่ายออกมาผ่านทางตัวบทมาตราต่างๆ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งรัฐสภาที่พรรคประชาธิปัตย์ยังกุมเสียงข้างมากได้ลงมติตราไว้ ณ วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2492 แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะสูญเสียอำนาจบริหารไปตั้งแต่รัฐบาลนายกฯ ควง  อภัยวงศ์ถูกคณะทหารทำ รัฐประหารทางจดหมาย โดยจี้ให้ลาออกเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2491 แล้วก็ตาม ดังจะเห็นได้จากมาตรา 2 ในหมวด 1 บททั่วไปของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ตราว่า :
ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ข้อความข้างต้นอาจถือเป็นความพยายามแนวใหม่ของฝ่ายอนุรักษ์นิยม  นิยมเจ้า ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ในอันที่จะหาสูตรทางการเมืองเพื่อสัมฤทธิ์ผลแห่งการปรองดองระหว่างกลุ่มผู้ปกครองในระบอบเดิมกับประชาธิปไตย และมันได้กลายเป็นระเบียบการเมืองสถาปนาของประชาธิปไตยแบบไทยๆ ในกาลต่อมา อาทิ : 
มาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปฏิรูปการเมือง พุทธศักราช 2540        กับมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับลงประชามติ พุทธศักราช 2550         มีข้อความตรงกันทุกถ้อยกระทงความว่า  ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิไยว่าฉบับแรกจะถูกฉีก ส่วนฉบับหลังจะถูกสร้าง   โดยรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุล (คปค.) ก็ตาม
ข้อความดังกล่าวมิเคยปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับใดๆ ก่อนหน้าปี พ.ศ. 2492 เลย ไม่ว่าพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 , รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (10 ธันวาคม พ.ศ. 2475) , รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490)
การถือกำเนิดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2491 อันประกอบด้วยสมาชิก 40 คน จากการเลือกตั้งของรัฐสภา และยกร่างโดยกรรมาธิการซึ่งเลือกจากสมาชิกสภาร่างฯ ด้วยกันเอง 9 คน และ ม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมช แกนนำพรรคประชาธิปัตย์เป็นประธานนั้น เป็นผลลัพธ์สืบเนื่องโดยตรงจากรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่โค่นรัฐบาลของนายกฯ พล.ร.ต. ถวัลย์  ธำรงนาวาสวัสดิ์ และขับไล่รัฐบุรุษอาวุโส ฯพณฯ ปรีดี  พนมยงค์ ออกจากประเทศไทย
มาตราอื่นๆ ที่น่าสนใจในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ยังมีอาทิเช่น
มาตรา 6 ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้
มาตรา 11 พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหารทั้งปวง
มาตรา 13 พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่ง และองคมนตรีอีกไม่มากกว่าแปดคน ประกอบเป็นคณะองคมนตรี คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา 14 การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรีก็ดี การให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งก็ดี ให้เป็นตามพระราชอัธยาศัย...
มาตรา 59 กำลังทหารเป็นของชาติ อยู่ในบังคับบัญชาสูงสุดของพระมหากษัตริย์ ไม่ขึ้นต่อเอกชน คณะบุคคลหรือพรรคการเมืองใด
มาตรา 60 กำลังทหารพึงใช้เพื่อการรบหรือการสงคราม หรือเพื่อปราบปรามการจลาจล และจะใช้ได้ก็แต่โดยกระแสพระบรมราชโองการ เว้นแต่ในกรณีที่มีประกาศใช้กฎอัยการศึก การใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเหลือราชการอื่น ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
มาตรา 61 เอกชนก็ดี คณะบุคคลก็ดี พรรคการเมืองก็ดี จะใช้กำลังทหารไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมเป็นเครื่องมือในทางการเมืองมิได้ ทหารและบุคคลอื่นในสังกัดฝ่ายทหารในระหว่างรับราชการประจำจะเป็นสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง หรือแสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใดๆ มิได้
มาตรา 77 ร่างพระราชบัญญัติใดพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือมิได้พระราชทานคืนมาภายในเก้าสิบวัน รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภาลงมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานลงมาภายในสามสิบวัน ก็ให้นำพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว
มาตรา 82 วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกมีจำนวนหนึ่งร้อยคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเลือก และแต่งตั้งจากผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทน และมีอายุไมต่ำกว่าสี่สิบปีบริบูรณ์ซึ่งทรงพระราชดำริเห็นว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิโดยมีความรู้ความชำนาญในวิชาการหรือกิจการต่างๆ อันจะยังประโยชน์ให้เกิดแก่การปกครองแผ่นดิน ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา
มาตรา 174 ถ้าพระมหากษัตริย์ทรงพระราชดำริเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายตามมาตรา 173 กระทบถึงประโยชน์ได้เสียสำคัญของประเทศหรือประชาชน และทรงพระราชบดำริเห็นสมควรให้ประชาชนได้วินิจฉัย พระมหากษัตริย์ย่อมทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะให้ประชาชนทั่วประเทศออกเสียงเป็นประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยร่างรัฐธรรมนูญนั้น
ในการให้ประชาชนออกเสียงเป็นประชามติพระมหากษัตริย์จะได้ตรงตราพระราชกฤษฎีกาภายในกำหนดเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันที่นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายใน                พระราชกฤษฎีกานั้นต้องกำหนดวันให้ประชาชนออกเสียงภายในเก้าสิบวันซึ่งต้องเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรและให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ...

ต่อจาก 49


ปรากฏว่า ระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 อันเป็นสูตรการปรองดองระหว่างกลุ่มผู้ปกครองในระบอบเดิมกับประชาธิปไตยที่ออกแบบโดยพรรคประชาธิปปัตย์ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านอย่างกว้างขวางจากฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าคณะรัฐประหาร 9 พฤศจิกายน 2490 , รัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม , สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดสหพรรคฝ่ายรัฐบาล , สื่อสิ่งพิมพ์ , ขบวนการคอมมิวนิสต์ , และกลุ่มอาจารย์ปรีดีกับพวก ฯลฯ ว่า :
● ถอยหลังเข้าคลองสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
● ฟื้นอำนาจเก่าของคณะเจ้า
● ละเมิดหลักการแห่งระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยโดยเอาพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมืองการทหารมากเกินไป อาจส่งผลเสียต่อพระเกียรติยศและฐานะ
รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี  พนมยงค์ ได้กล่าวถึงรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492 ไว้ในข้อเขียนเรื่อง ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องต้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ (2517) ว่า :
 (5) รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 เป็นอำมาตยาธิปไตยครบถ้วนทั้งบทถาวรและบทเฉพาะกาล เพราะบทถาวรกำหนดไว้ว่า วุฒิสมาชิกเป็นผู้มีพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งโดยประธานองคมนตรีรับสนองพระบรมราชโองการ และบทเฉพาะกาลได้ยกยอดวุฒิสมาชิกซึ่งได้รับแต่งตั้งตามฉบับ 2490 (ใต้ตุ่ม) ให้เป็นวุฒิสมาชิกตามฉบับ 2492 ด้วย
ส่วนนายกฯ จอมพลป.  พิบูลสงครามสมัยนั้นแสดงความเห็นสั้นๆ ว่า :
ในฐานะที่เป็นผู้ก่อการ 75 นั้น ใจผมยังรักรัฐธรรมนูญ 2475 อยู่นั่นเอง
2 ปี 8 เดือนต่อมา ภายหลังกลุ่มพลังต่อต้านอำนาจคณะรัฐประหารในกองทัพถูกกวาดล้างหมดสิ้นเสี้ยนหนามเหลือเพียงนักการเมืองฝ่ายค้านในรัฐสภา คณะรัฐประหารที่ประสงค์จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 เพื่อขยายอำนาจฉุกเฉินของฝ่ายบริหารแต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้ดังใจ ก็ได้ทำ รัฐประหารทางวิทยุกระจายเสียง ด้วยการอ่านแถลงการณ์ยึดอำนาจผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 ล้มล้างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 แล้วนำรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ที่นายกฯ จอมพลป. มีใจรักกลับมาใช้ใหม่ ขณะเดียวกับที่เรือโดยสารที่ประทับของพระบาทสมเด็จพรเจ้าอยู่หัวซึ่งเสด็จนิวัตจากสวิตเซอร์แลนด์กำลังแล่นเข้าสู่น่านน้ำไทย ส่งผลให้ ระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข สะดุดชะงักไปร่วม 2 ทศวรรษระหว่างประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบเผด็จการอำนาจนิยมของจอมพลป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2494  2500) และระบอบเผด็จการทหารอาญาสิทธิ์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับจอมพลถนอม  กิตติขจร  ประภาส จารุเสถียรในเวลาต่อมา (พ.ศ. 2501  2506  2516)
การปรองดองกับประชาธิปไตยรอบที่ 4 : 
ระบอบประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาฯ
หนังสือ Chronicle of Thailand : Headline News since 1946 (2009) ของสำนักพิมพ์ Bangkok Post ได้บันทึกข่าวเด่นในประเทศข่าวหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2517 ไว้ที่หน้า 201 พร้อมภาพประกอบเป็นรูป ม.ร.ว. คึกฤทธิ์  ปราโมช ในฐานะประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงลงพระปรมาภิไฑย รายงานข่าวกล่าวว่า:
รัฐธรรมนูญถูกประกาศใช้ พร้อมสัญญาว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง
7 ตุลาคม  กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงจรดจารปากกาลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดของประเทศภายหลังการปกครองของทหารถูกโค่นลง 51 สัปดาห์ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ปูทางแก่การเลือกตั้งใหม่และการเปลี่ยนประเทศให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ก่อนจะทรงลงพระปรมาภิไธย พระองค์ทรงคัดค้านมาตราหนึ่งที่ให้อำนาจประธานองคมนตรีในการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา พระองค์ตรัสว่าสถาบันกษัตริย์ควรอยู่เหนือการเมือง อนึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญไปหลายมาตราแล้ว รวมทั้งลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงเหลือ 18 ปี เพื่อเอาใจนิสิตนักศึกษา
เค้าความเดิมเกี่ยวกับมาตราที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคัดค้านในบันทึกข่าวข้างต้นมีอยู่ว่า   หลังเหตุการณ์นักศึกษาประชาชนลุกฮือโค่นเผด็จการทหารเมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 คณะรัฐมนตรีชุดนายกรัฐมนตรีสัญญา  ธรรมศักดิ์ ได้ยกร่างรัฐธรรมนูญและเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อันประกอบด้วยสมาชิก 299 คน มีที่มาจากสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ 2,347 คน หรือที่เรียกกันว่า สภาสนามม้า เพราะสมาชิกมากมายจนต้องใช้สนามม้านางเลิ้งเป็นที่ประชุม  ที่ได้เลือกกันขึ้นเองหลังเหตการณ์ 14 ตุลาฯ ปรากฏว่า มาตรา 105 ในส่วนที่ 2 ว่าด้วยวุฒิสภาของร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวระบุว่า :
มาตรา 105 วุฒิสภาประกอบด้วย สมาชิกจำนวนหนึ่งร้อยคน ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลือกตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ความชำนาญในวิชาหรือกิจการต่างๆ อันจะยังประโยชน์ให้เกิดการปกครองแผ่นดิน และมีสัญชาติไทยโดยกำเนิด ทั้งไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามมาตรา 117 และมาตรา 120
คณะองคมนตรีเป็นผู้จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่งมีจำนวนสามร้อยคนเป็นบัญชีลับเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลือกตั้ง
การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนลับ หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา
เมื่อได้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาแล้วให้ผู้ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา
สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นปรับปรุงแก้ไขร่างดังกล่าว จนสภาฯ ลงมติเห็นชอบผ่านและนำขึ้นทุธลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2517 ดังบันทึกข่าวข้างต้น โดยมาตรา 105 ในร่างเดิมถูกแก้ไขปรับปรุงเป็นมาตรา 107 ซึ่งนอกจากข้อแตกต่างเรื่องเกณฑ์อายุ , คุณสมบัติ , ลักษณะต้องห้ามและการเรียงลำดับพลความปลีกย่อยแล้ว แทบจะเหมือนกันทุกถ้อยกระทงความกับมาตรา 82 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492 เมื่อ 25 ปีก่อน ดังตารางเปรียบเทียบด้านล่าง
มาตรา 82 แห่งรัฐธรรมนูญ 2492	มาตรา 107 แห่งรัฐธรรมนูญ 2517
     มาตรา 82 วุฒิสภา ประกอบด้วย สมาชิกมีจำนวนหนึ่งร้อยคน ซึงพระมหากษัตริย์ทรงเลือก และแต่งตั้งจากผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทน และมีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปีบริบูรณ์ ซึ่งทรงพระราชดำริเห็นว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีความรู้ความชำนาญ     ในวิชาการหรือกิจการต่างๆ อันจะยังประโยชน์ให้เกิดแก่การปกครองแผ่นดิน
     ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนอง        พระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา	     มาตรา 107 วุฒิสภา ประกอบด้วย สมาชิกจำนวนหนึ่งร้อยคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ความชำนาญในวิชาการหรือกิจการต่างๆ อันจะยังประโยชน์ให้เกิดแก่การปกครองแผ่นดิน มีคุณสมบัติตามมาตรา 117(1) และ   มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์ ทั้งไม่เป็นบุคคล   ผู้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 116 และมาตรา 118
     ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนอง      พระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา
ความเปลี่ยนแปลงจากมาตรา 82 แห่งรัฐธรรมนูญต้นแบบ ระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พ.ศ. 2492 มาสู่การที่พระบาทสมเด็จพรเจ้าอยู่หัวทรงคัดค้านมาตรา 107 แห่งรัฐธรรมนุญ พ.ศ. 2517 ทำให้ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2518 ได้มีการแก้ไขวรรคสองไปเป็น
ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสอนงพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา
นั้น สะท้อนแนวพระราชบดำริเกี่ยวกับบทบาทของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยที่ได้ทรงสรุปไว้หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ว่า :
จำไว้ว่า สถาบันจะลงไปเล่นการเมืองอย่างเต็มตัวได้เมื่อเกิดสุญญากาศทางการเมืองจริงๆ อย่าง 14 ตุลาฯ แต่เมื่อได้ก้าวลงไปจัดการทางช่องว่างดังกล่าวหมดไปแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องรีบกลับไปอยู่เหนือการเมืองอย่างเดิมโดยเร็วที่สุด เพื่อที่จะได้พร้อมจะได้ลงมาช่วยได้อีก ถ้าหากเกิดสุญญากาศขึ้นมาอีกทั้งนี้ หมายถึง ส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย
เมื่ออำนาจทหารที่เข้ามาขีดคั่น  เว้นวรรค  ตัดตอนระเบียบแห่งการปรองดองทางการเมืองในแบบ ระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นานถึง 2 ทศวรรษถูกผลักไสออกไปด้วยพลังนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ระเบียบดังกล่าวก็ถูกรื้อฟื้นสถาปนาขึ้นใหม่โดยมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 เป็นหลักหมาย
อย่างไรก็ตาม หากขยายขอบข่ายการวิเคราะห์จากตัวบทลายลักษณ์อักษรไปครอบคลุมเนื้อนัยทางการปฏิบัติที่เป็นจริง ก็จะพบว่าบุคลิกลักษณะของ ระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แบบหลัง 14 ตุลาฯ แปลกต่างอย่างน่าสังเกตตจากแบบหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2490 เท่าที่พอประมวลได้ในชั้นต้นจากงานวิชาการระยะหลังบางชิ้น มีข้อแปลกต่างเด่นๆ อยู่ 3 ประการด้วยกัน กล่าวคือ :
1) พระราชอำนาจมีลักษณะไม่เป็นทางการ มากกว่าจะเป็นตัวบทกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่เป็นทางการ
2) ฐานะตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของนายกรัฐมนตรีผู้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร
3) บทบาทหน้าที่สำคัญของนักนิติศาสตร์ในการอธิบายหลักนิติธรรมและความชอบธรรม
ลักษณะของประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาฯ :
1) พระราชอำนาจ
นิธิ  เอียวศรีวงศ์ ได้ชี้ให้เห็นในบทความ รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย (ตีพิมพ์ครั้งแรกในศิลปวัฒนธรรม พฤศจิกายน พ.ศ. 2534) ว่าในสังคมการเมืองไทย แม้รัฐธรรมนูญฉบับทางการที่ทำด้วยกระดาษสมุดไทยจะถูก ฉีกทิ้ง หรือยกเลิกครั้งแล้วครั้งเล่า แต่รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมที่ไม่เป็นทางการกลับยืนยงคงกระพัน ฉีกไม่ได้ทำลายไม่หมด เพราะฝังหยั่งรากลึกอยู่ในระเบียบวิธีคิดว่าด้วยความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ชอบที่ควรของผู้คนในสังคมไทย
สังคมการเมืองไทยกลับมารื้อฟื้นเขียนรัฐธรรมนูญฉบับกระดาษทางการขึ้นใหม่เมื่อไร มันก็มักเดินอยู่ในกรอบในร่องในรอยรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมที่ไม่เป็นทางการอยู่ดีนั่นเอง
ความเชื่อมโยงระหว่างรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมกับลักษณะที่ไม่เป็นทางการของพระราชอำนาจได้ถูกประมวลสรุปไว้อย่างชัดเจนโดย ธงทอง  จันทรางศุ ในวิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยของเขาเรื่อง พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ (เขียนเมื่อ พ.ศ. 2529 พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก พ.ศ. 2548) ว่าลักษณะสำคัญของการใช้ (สิ่งที่ธงทองเรียกว่า) พระราชอำนาจทั่วไป  ซึ่งแสดงออกเป็นรูปธรรมในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการทั่วประเทศปัจจุบันได้แก่ :
1) พระราชอำนาจทั่วไป ไม่ได้มีบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญฉบับใด (หรือนัยหนึ่ง unconstitutionalized  ผู้เขียน)
2) แต่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เข้าใจตรงกันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าเป็นพระราชอำนาจที่มีอยู่จริง (หรือนัยหนึ่งเป็นอำนาจที่รองรับโดย traditiln & universal consensus และมีลักษณะ actual  ผู้เขียน)
3) นับเป็นพระราชอำนาจส่วนสำคัญที่สุดในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญเท่าที่ปรากฏในปัจจุบัน
จากนี้จะเห็นได้ว่าตามการวิเคราะห์ข้างต้น พระราชอำนาจทั่วไป อันเป็นพระราชอำนาจส่วนสำคัญที่สุดในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น มีสถานะและการดำรงอยู่ที่เป็นอิสระต่างหากจากสถานะและการดำรงอยู่ของรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับกระดาษที่เป็นทางการ
ลักษณะอันเป็นปฏิทรรศน์ (paradox) ของพระราชอำนาจดังกล่าวจึงอยู่ตรงที่ว่าความคงกระพันชาตรี ฉีกไม่ได้ และยืดหยุ่นอ่อนตัวของพระราชอำนาจนี้เกิดจากลักษณะไม่เป็นทางการของพระราชอำนาจ หรือนัยหนึ่งเกิดจากความที่พระราชอำนาจไม่ได้มีที่มาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับกระดาษทางการใดนั่นเอง ดังที่ธงทองได้สรุปและเสนอแนะไว้ตอนท้ายวิทยานิพนธ์ว่า :
(2) หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มาแล้ว ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญบางฉบับ ได้มีสมาชิกรัฐสภาเสนอแนวคิดที่จะถวายพระราชอำนาจในส่วนที่เป็นบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญให้เพิ่มพูนหรือชัดเจนขึ้นกว่าแต่ก่อน เช่นกรณีการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2517 เป็นต้น ซึ่งเหตุการณ์ได้ปรากฏเป็นที่แจ้งชัดแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงมีพระราชประสงค์เช่นนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่าตัวบทรัฐธรรมนูญในส่วนที่ว่าด้วยพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เท่าที่มีอยู่ในเวลานี้ (หมายถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521  ผู้เขียน) ดูจะเป็นการเหมาะสมและพอเพียงแล้ว ไม่ควรที่จะแก้ไขเพิ่มเติมแต่ประการใดพระราชอำนาจตามกฎหมายรัฐธรรมนูญในส่วนที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรก็ควรคงไว้ในลักษณะที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรต่อไป ด้วยสามารถอ่อนตัว (flexible) เข้ากับเหตุการณ์บ้านเมืองที่ผันแปรไปแต่ละยุคสมัยได้ ดังที่ผู้เขียนได้สรุปไปแล้วในตอนต้นว่า พระราชอำนาจในส่วนนี้จะทรงใช้ได้ในขอบเขตเพียงไรนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ข้อ คือ ความจงรักภักดีของราษฎรพระบารมีของพระมหากษัตริย์  และลักษณะของรัฐบาลประกอบกัน หากนำพระราชอำนาจในส่วนนี้ไปบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรที่แจ้งชัดแล้ว ก็จะมีลักษณะที่กระด้าง (rigid) อาจไม่เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองได้ สมดังกระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันที่เคยพระราชทานสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
อนึ่ง ลักษณะไม่เป็นทางการของพระราชอำนาจในระบอบประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาฯ ยังอาจเห็นได้จากเครือข่ายในหลวงหรือเครือข่ายข้าราชบริพารผู้จงรักภักดีด้วย
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี (พ.ศ.2518  2519) เคยให้สัมภาษณ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีรายชื่อบุคคลที่เป็นข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน และประชาชนที่เป็นเครือข่ายของพระองค์ ขณะเสด็จต่างจังหวัด พระองค์..				
Calendar
Lovers  2 คน เลิฟแทนคุณแทนไท
Lovings  แทนคุณแทนไท เลิฟ 1 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟแทนคุณแทนไท
Lovings  แทนคุณแทนไท เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงแทนคุณแทนไท