26 พฤศจิกายน 2553 13:06 น.

สะพานใจสู่สะพานบุญ

กระต่ายใต้เงาจันทร์

  ในการเดินทางตามช่วงจังหวะชีวิตของข้าพเจ้าเอง ต้องมักจะมีส่วนไปทางเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาอยู่ร่ำไป เคยถอดใจว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางนี้อีกเพราะเมื่อจุดล้มเหลวในชีวิตครั้งหนึ่งแบบสุดๆในชีวิตคิดว่า จะใช้พระพุทธศาสนาเป็นเครื่องน้อมนำจิตใจแต่กลับเจอเรื่องที่เลวร้ายกว่าเก่าทำให้เสื่อมศรัทธาและไม่อยากไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือเดินบนเส้นทางบุญนี้อีก
    แต่โลกกลับสอนให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ว่า ในเส้นทางบุญที่เราทำนั้นมีผลและเกิดขึ้นได้จริง จิตของเราไม่มีระเบียบ ไม่มีวินัย ที่หวั่นไหวไปกับการกระทำที่คาดหวังว่าเราทำทุกอย่างดีที่สุดแล้ว ผลตอบแทนต้องกลับมาดี แต่ว่าคาดหวังกับความสมหวังมันอยู่คนละส่วนกัน จิตของเราเริ่มเป็นอกุศลแล้วที่ตัดสินใจและคิดเมื่อสิ่งที่เราคิดไม่เป็นไปตามความต้องการ  
    ผลการกระทำดีนั้นช่างเกิดขึ้นช้าเสียจริง แต่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ไหลน้อมนำต่อเนื่องไม่หยุดกระแสธรรม กระแสบุญ ทำให้ชีวิตข้าพเจ้าเจอแต่คนดีเจอแต่เรื่องๆดีๆเหมือนว่า เกิดเรื่องเสียก่อน จึงจะรู้ว่า สิ่งไหนคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตความสุขในปัจจุบัน บุญทำง่ายคะถ้าเราตั้งใจทำและศรัทธาไม่หาเหตุผลมากลบล้างความตั้งใจนั้นเสียก่อน การเดินทางของชีวิตของคนเราอาจกำหนดรูปแบบได้แต่อาจบิดเบี้ยวเสียรูปทรงไปบ้างแต่เราเลือกกระทำได้ เมื่อก่อนข้าพเจ้าเคยมีเงิน มีอำนาจก็เลือกที่จะทำบุญด้วยเงินเพราะเรามีกำลังมากพอที่จะทำ แต่เมื่อเราเลือกชีวิตที่ถูกต้องและที่ใช่ ไม่สนใจเรื่องเงิน และอำนาจ สิ่งนั้นก็หายไปจากชีวิตเราได้ความสบายใจกลับมาแทน
     ชีวิตทุกวันนี้คือทำบุญตามกำลังที่เรามีและเลือกที่จะเป็นสะพานใจต่อสะพานบุญต่อสหายธรรมโดยขอเชิญชวนทุกท่านที่มีจิตศรัทธาเป็นเจ้าภาพการสร้างวิทยาลัยสงฆ์เชียงรายเพื่อให้พระสังฆาธิการพระภิกษุสามเณรและจังหวัดใกล้เคียงได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนและยังเป็นทางเลือกใหม่ของประชาชนทั่วไปได้ศึกษาหาความรู้และเป็นต้นทุนการศึกษา ต้นทุนทางการทำงาน และ เป็นต้นทุนที่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธธรรมสร้างปัญญา การศึกษาสร้างอนาคต พร้อมยังสืบทอดศาสนาให้ยั่งยืนเพราะการศึกษาสามารถสืบทอดไปได้ไม่มีวันสิ้นสุด

ในส่วนรายการประเมินสร้างอาคารเรียนมีดังต่อไปนี้


รายการประมาณราคาปรับปรุงอาคารศาลากลางจังหวัดเชียงรายเป็นอาคารเรียน
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา ห้องเรียนวัดพระแก้ว เชียงราย
ลำดับ รายการ        พื้นที่/ตร.ม.    หน่วย/บาท   รวม/บาทหมายเหตุ/เจ้าภาพ
1ปรับปรุงระบบไฟฟ้าภายในอาคาร                   460,000 
 2ขัดผิวสีทางเดินชั้นที่ 1 	300  200         60,000 	พระเทพสิทธินายก
3ขัดผิวสีทางเดินชั้นที่ 2 	 225 200 4     5,000 
4ปรับปรุงพื้นผิวและทาสีผนัง
4.1 ห้องเรียน 1 (ชั้น 1 ปีกตะวันตก)60 350   21,000 	พระปัญญากรกวี
4.2 ห้องเรียน 2 (ชั้น 1 ปีกตะวันตก)65 350   22,750 
4.3 ห้องเรียน 3 (ชั้น 1 ปีกตะวันออก)48 350  16,800 
4.4 ห้องเรียน 4 (ชั้น 1 ปีกตะวันออก)60	350  21,000 	พระครูขันติพลาธร
4.5 ห้องเรียน 5 (ชั้น 1 ปีกตะวันออก)60	350 21,000 	พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์
4.6 ห้องเรียน 6 (ชั้น 2 ปีกตะวันตก)60	350 21,000 	พระพุทธิญาณมุนี
4.7 ห้องเรียน 7 (ชั้น 2 ปีกตะวันตก)60	350 21,000 พระครูพิพัฒน์รัตนพงศ์
4.8 ห้องเรียน 8 (ชั้น 2 ปีกตะวันตก)65 350  22,750 พระครูสังฆรักษ์สมศาสตร 
4.9 ห้องเรียน 9 (ชั้น 1 ปีกตะวันตก)32	350 11,200 
4.10 ห้องเรียน 10 (เรียนรวมชั้น 2 ปีกตะวันออก)90	350 31,500 
4.11 ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ (ชั้น 2 ปีกตะวันตก)90	350  31,500 
4.12 ห้องธุรการ (ชั้น 1 ใกล้ห้องโถง)20	350	7,000 
4.13 ห้องอาจารย์พิเศษ (ชั้น 1 ติดห้องธุรการ)30 350 	10,500 
4.14 ห้องสำนักงานหลัก (ชั้น 1 90	350 	31,500 
4.14 ห้องวิจัยและพัฒนา (ชั้น 1) 30 350 		10,500 
4.15 ห้องบริหาร (ชั้น 1)	32	750  24,000 	พระครูสุธีสุตสุนทร
4.16 ห้องสืบค้นข้อมูลและบรรณารักษ์50	350 17,500 	พระครูสิริธรรมนิวิฐ
4.17 ห้องสมุด (ชั้น 1 ปีกตะวันออก)	180  350		63,000

 4.18 ห้องพยาบาล (ชั้น 2 ปีกตะวันออก)	30 580  7,400  พระครูโสภณศิลปาคม
4.19 ห้องสำนักงานทะเบียนและวัดผล	30 3  50	10,500   
4.20 ห้องกิจการนิสิต (ชั้น 2 ปีกตะวันออก	)83	50   2,800  
4.21 ห้องปฏิบัติงานคณะสงฆ์ (ชั้น 2 ปีกตะวันออก)112	750  84,000  
4.22 ห้องรับรอง (ชั้น 2)	40  750		30,000  
4.23 ห้องประชุมกลาง (ชั้น 2) 65  750 		48,750 
 4.24 ห้องพักคณาจารย์ (ชั้น 2 ปีกตะวันออก) 65   350	       22,750 	 
 4.25 ปรับปรุงและทาสีผนังห้องน้ำด้านซ้าย 10  2,000	       20,000 	 
 4.26 ปรับปรุงและทาสีผนังห้องน้ำด้านขวา 10  2,000	       20,000 	 
5ปรับปรุงอาคารชั้นสาม ห้องปฏิบัติธรรม150  200	    30,000 	 
6 ปรับปรุงพื้นผิวบันไดชั้นล่าง 60	200	       12,000 	 
  ปรับปรุงพื้นผิวบันไดชั้นบน 2 ด้าน 48	200	         9,600 	 
7 ทำห้องเก็บสัมภาระเครื่องใช้ 2 ห้อง	  20,000 	 
 รวมรายการปรับปรุงบูรณะทั้งสิ้น    1,298,300 	 
8วัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอน				
 8.1 กระดานไวน์บอร์ดแต่ละห้องเรียน 10 ห้อง20 แผ่น 45 0   9,000 	 
 8.2 ชุดโปรเจ็คเตอร์ พร้อมจอ 100 นิ้ว   5	     38,000	     190,000 	 
 8.3 ชุดสื่อการสอนคอมพิวเตอร์ประจำห้องสอน 10 12,000    120,000 	 
รวมรายการปรับปรุงวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอนทั้งสิ้น319,000	   	 
รวมค่าปรับปรุงบูรณะปฏิสังขรณ์ทั้งสิ้น1,617,300

ถ้าท่านใดมีจิตศรัทธาติดต่อขอบริจาคได้ที่ พระธรรมราชานุวัตร  เจ้าอาวาสวัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย เจ้าคณะภาค6 

สถานที่ตั้ง  วัดพระแก้ว   จังหวัดเชียงราย  ตำบลรอบเวียง  อำเภอเมือง  จังหวัด เชียงราย				
8 พฤศจิกายน 2553 23:52 น.

เพียงหนึ่งบุญที่ทำไม่ยาก

กระต่ายใต้เงาจันทร์

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาในช่วงบ่าย  ได้ให้นิสิตช่วยกันทุบห้องเพื่อกั้นห้องเรียนซึ่งเป็นนิสิตภาคปกติ   คณะพุทธศาสตร์และสังคมศาสตร์ชั้นปีที่ ๒ ที่ศาลากลางจังหวัดหลังเก่าเพื่อทำเป็นห้องเรียนและห้องทำงานเพราะทางมจร.ห้องเรียนวัดพระแก้วยังไม่ได้เป็นวิทยาลัยสงฆ์จึงไม่มีงบประมาณต้องช่วยกันทุกทางไม่ว่าด้วยกำลังเงินหรือกำลังคน   พระธรรมราชานุวัตร เจ้าอาวาสวัดพระแก้ว     ได้มีเมตตาช่วยเหลือสนับสนุนด้านการศึกษามาตลอดทั้งในเรื่องของทุนทรัพย์    กำลังคนและระดมสมองในการทำงานและแค่ค่าเดินระบบไฟใหม่ทั้งหมดเป็นยอดเงินสี่แสนกว่าบาทแล้ว
   เพิ่งมีคณะผ้าป่าหนังสือของคุณลุงไพโรจน์   คุณอาหน่อย    คุณองอาจ  กลับไป แต่ก็มีอีกหลายส่วนที่ต้องทำ  ไม่ว่าห้องคอมพิวเตอร์  เพราะคอมพิวเตอร์ที่ใช้อยู่เป็นสภาพที่ใช้แล้วได้รับมาทำให้เครื่องเสียเป็นประจำ และเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอกับจำนวนพระนิสิตและนิสิต ซึ่งตอนนี้มีจำนวนถึง ๔๐๘ รูป/คน ในห้องสมุดเองที่กระต่ายไปช่วยงานก็มีคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานได้เพียงเครื่องเดียวเพื่อลงทะเบียนหนังสือบางทีพระนิสิตก็ขอปริ๊นงาน ไม่มีเครื่องสืบค้นหาหนังสือ ใครเข้าห้องสมุดทีหาหนังสือไม่เจอก็ต้องลุกไปดูและช่วยหาเป็นประจำ
     ในส่วนของคณะสงฆ์เอง   พระธรรมราชานุวัตร  เจ้าอาวาสวัดพระแก้วเจ้าคณะภาค 6 จังหวัดเชียงรายได้ประชุมพระผู้ใหญ่ในจังหวัดเชียงราย และได้ช่วยเหลือบริจาคเป็นเงิน 25,000 บาทถึง60,000  บาทในการกั้นห้องเรียนและสถานที่ทำงานใหม่ทั้งหมด
      
     จึงอยากประชาสัมพันธ์บอกบุญผ่านกับผู้มีจิตศรัทธาถ้าอยากทอดผ้าป่าคอมพิวเตอร์   โดยจะรวมกันหลายๆคนหนึ่งเครื่องหรือแล้วแต่ตามสะดวกแบบไหนอย่างไรคะ โดยเขียนชื่อ   นามสกุลท่านไว้ที่เครื่องคอมพิวเตอร์  ถ้าท่านใดมีความประสงค์และสนใจ   ติดต่อที่    มจร.ห้องเรียนวัดพระแก้ว     ต,รอบเวียง.  อ.เมือง.   จ.เชียงรายหรือสอบถามมาได้ที่  กระต่ายใต้เงาจันทร์อีเมลล์   tamoko_29@hotmail.com
				
6 พฤศจิกายน 2553 22:43 น.

“...ทานวิปริต…”

กระต่ายใต้เงาจันทร์



...ทานวิปริต

	ขึ้นชื่อว่า  ทาน  ชาวพุทธโดยทั่วไปเข้าใจและรู้จักดี  เพราะ  ทาน  เป็นคำสอนซึ่งปรากฏอยู่โดยทั่วไปในพระพุทธศาสนา  การให้หรือการบริจาคซึ่งเรียกว่า  ทาน  นั้นเป็นของดี  เป็นบุญกุศลแก่ผู้ให้ เป็นความดีงามแก่ผู้ให้  ก่อให้เกิดความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือสงเคราะห์กันและกันในหมู่ชน  หรือในสังคม  และธรรมชาติของทานนั้น  ย่อมมีผลย้อนกลับไปสู่ผู้ให้  คือ  ทำให้ผู้ให้ย่อมได้รับการให้ตอบ  ทำให้ผู้ให้ได้บุญเป็นบุญบารมี  ผู้ให้ย่อมผูกมิตรภาพยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้อื่นได้  ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักนับถือของผู้รับ ผู้ให้ย่อมมีพรรคพวกบริวาร  และถ้าเขาเป็นนักให้ นักบริจาคทานอยู่เสมอ  ก็จะทำให้เกิดพลังอำนาจ (Power)  ขึ้นอย่างหนึ่งที่เรียกว่า  บารมีอำนาจ  หรือ  บริวารอำนาจ  หนุนให้นักให้ หรือนักบริจาคทานนั้นสูงส่งยิ่งขึ้น  หรือเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น   นี้เป็นธรรมชาติที่เป็นไปอย่างนั้นของธรรมะที่เรียกว่า ทาน
	...พระพุทธเจ้าท่านทรงทราบชัดถึงข้อนี้...  จึงทรงสอนให้รู้จักบริจาคทาน  และทรงสอนให้บริจาคทานด้วยเจตนาที่ดี เจตนาที่เป็นบุญกุศล  ตลอดถึงให้บริจาคทานแก่ผู้ตกทุกข์ได้ยาก และแม้กระทั่งสัตว์เดรัจฉาน  ชาวพุทธจึงนิยมทำบุญบริจาคทานเป็นนิสัยประจำชาติไปแล้ว  สังคมไทยจึงเป็นสังคมที่เอื้ออาทรต่อกัน  ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน  และมีน้ำใจต่อกันอย่างตรงไปตรงมาอย่างไม่ดัดจริตมีมายาสาไถย  ไม่บริจาคทานแบบอ่อยเหยื่อ หรือแบบเหยื่อเกี่ยวเบ็ดตกปลาเพื่อลงหม้อแกง
	แต่  ทาน  ยุคโลกาภิวัตน์  หรือ  อินเตอร์เนต  ธุรกิจการเมือง  หรือธุรกิจทุนนิยมปัจจุบันนี้  ทาน  คือการให้  กลายเป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่งของบุคคลบางกลุ่ม  บางประเภท  คือ ทำการบริจาคหรือให้  เพื่อเป็นบันไดขึ้นไปตักตวงผลประโยชน์อันมากกว่าที่ให้ไปนั้น  เป็นร้อยเป็นพันเท่า  เพราะคนประเภทนี้รู้ดีว่า  ทานคือการให้นั่นแหละ  มันจะมีผลย้อนกลับ  เป็นหนทางที่จะสร้างอำนาจขึ้นได้  จึงใช้ธรรมะคือทานนี้แหละไปแสวงหาผลประโยชน์ที่มากกว่า  อย่างนี้เรียกว่าการใช้ธรรมะในทางที่ผิด  ที่ท่านเรียกว่า สัทธรรมปฏิรูป  การประพฤติธรรมแบบนี้เป็นการประพฤติธรรมที่ไม่สุจริต  ทานของผู้ไม่สุจริตนี้ก็เป็นทานวิปริต  คือ  ทานที่คลาดเคลื่อนจากวัตถุประสงค์ที่แท้จริง
	คนประพฤติธรรมไม่สุจริตแบบนี้  มักจะมาในรูปของนักบุญ  ที่เรียกว่า  โจรในคราบบุญ  หรือถ้าพูดแบบสำนวนพระก็เรียกว่า  ซ่อนดาบไว้ในจีวร  คนประเภทนี้ดูยาก  เรียกว่า  รู้หน้าไม่รู้ใจ  เพราะเขาอยู่ในรูปแบบของการให้ความช่วยเหลือ  เหมือนคนเอาเหยื่อเกี่ยวเบ็ดให้ปลากิน  ปลามองไม่เห็นเบ็ด เห็นแต่เหยื่อ  ก็นึกว่ามนุษย์นี้ช่างมีเมตตากรุณาดีจริงหนอ  อุตส่าห์เอาอาหารมาให้  คิดแล้วก็ไปรับอาหารจากมนุษย์นั้น  เมื่องาบเหยื่อเข้าแล้วก็ติดเบ็ด  อนาคตก็คือ หม้อแกง
	คนประเภทชอบงาบเหยื่อนี้ก็มีอยู่มาก  เพราะไม่รู้ถึงความเป็นโจรของเขา  ซึ่งซ่อนอยู่ภายใน  จึงมองไม่เห็นทุกข์โทษภัยที่จะมาถึง  ยิ่งถ้าเป็นเจ้าบ้านผ่านเมือง  เป็นนักปกครอง  นักบริหารด้วยแล้ว  ถ้าหลงไปงาบเหยื่อของนักบุญผู้ให้การช่วยเหลือประเภทนี้เข้า  บ้านเมือง  ประชาชนก็จะเกิดความทุกข์ยากลำบากเดือดไปทุกหย่อมหญ้า  เหมือนละครเรื่องของแผ่นดิน  ที่เราเคยดูกันมาครั้งหนึ่งนั่นแหละ  ย่อมเป็นอุทาหรณ์ในเรื่องนี้เป็นอย่างดี.
โดย   ศรีพลอย   เปรียญ...
				
29 ตุลาคม 2553 21:41 น.

ทำบุญได้...ง่ายนิดเดียว...

กระต่ายใต้เงาจันทร์

เคล็ดไม่ลับ...คู่มือบุญ (บุญกิริยาวัตถุ ๑๐) ทุกคนทำได้ ง่ายนิดเดียว... ไม่ต้องใช้เงินใช้ทองมากมาย
: 
พระพุทธเจ้าทรงสอนวิธีทำบุญ คือ วิธีทำความดี ทำสิ่งที่ทำแล้วได้ชำระความเศร้าหมองเร่าร้อน 
ทำแล้วได้ผลเป็นความดี ทำแล้วเป็นบุญเป็นกุศลรวมทั้งเป็นการประพฤติดีประพฤติชอบ 
ทางกายวาจาไว้สิบวิธี ทำได้เสมอโดยไม่ต้องใช้วัตถุสิ่งของเงินทองเสมอไปก็ทำบุญได้ 
และเป็นบุญได้ เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ เป็นเคล็ดไม่ลับที่มีคุณค่าหาประมาณมิได้ 
ให้เราสามารถสะสมบุญได้มากมายมหาศาลในชีวิตประจำวันนี้เอง 
โดยไม่ต้องมีเงินทองมากหรือไม่มีเลยก็ยังได้ 

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ 

(๑) ทาน 
คือ ทำบุญด้วยการให้ จะใส่บาตร ให้สิ่งของ ให้ขนม ปันเงินทอง ก็เป็นทาน 
นอกจากนั้น ให้ใบหน้ายิ้มแย้ม ให้ความเข้าใจ ให้ความช่วยเหลือ 
ให้หูที่รับฟังความทุกข์เดือดร้อน ให้ที่นั่ง ให้ความรู้ ให้ธรรมะ ฯลฯ ก็เป็นทาน 
(จะเห็นว่าข้อ ทาน นี้ ยังมีคนจำนวนมากเข้าใจว่าต้องให้เงินให้ทองให้สิ่งของเท่านั้น 
จึงจะเป็นทานที่ทำแล้วได้บุญ แต่ที่จริงแล้ว การทำทานให้เกิดบุญนั้น 
ทำได้กว้างขวางกว่าการให้สิ่งของเงินทองมากมายนัก 
อะไรๆ ก็สามารถฉลาดหยิบยกมาทำให้เกิด ทาน ได้ไปแทบจะทั้งหมด) 

(๒) ศีล 
คือ ทำบุญด้วยการตั้งใจระงับ เว้นและงดสิ่งไม่ดีทั้งหลายทั้งทางกายและวาจา 
เช่น ไม่ทำร้ายใคร ไม่พูดปด ไม่พูดร้าย ไม่ส่อเสียด ไปทำงานตรงเวลาไม่อู้ 
ไม่ทำอะไรที่จะเดือดร้อนตนเดือดร้อนคนอื่น ล้วนเป็นศีลทั้งสิ้น 

(๓) ภาวนา 
คือ ทำบุญด้วยการพัฒนาฝึกอบรมทางด้านจิตใจ 
เช่น การศึกษาเล่าเรียนหรือใคร่ครวญข้อธรรมะ การสวดมนต์ไหว้พระ 
การทำสมาธิ การเจริญสติ การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน 

(๔) อปจายนะ 
คือ ทำบุญด้วยการมีใจเคารพอ่อนน้อม อ่อนน้อมถ่อมตนกับมารดาบิดา 
ผู้หลักผู้ใหญ่ ครูอาจารย์ กราบพระ ไหว้พระเจดีย์พระวิหารด้วยใจเคารพ เป็นต้น 

(๕) เวยยาวัจจะ 
คือ ทำบุญด้วยการเอาใจใส่ช่วยเหลือมารดาบิดาและผู้อื่นอย่างเต็มกำลัง 
ให้บุคคลเหล่านั้นทั้งหลายไม่ต้องกังวลทั้งเรื่องทางโลกที่ไม่มีโทษและเรื่องทางธรรม 
เช่น ช่วยดูแลเรื่องการงาน ดูแลผู้ป่วยไข้ ช่วยทำความสะอาดบ้านช่อง 
ช่วยงานปฏิสังขรณ์วัด ช่วยงานบุญงานกุศล งานปริยัติปฏิบัติต่างๆ 

(๖) ปัตติทาน 
คือ ทำบุญด้วยการแบ่งความดีที่ตนทำแล้วให้ผู้อื่นพลอยปลาบปลื้ม 
และได้รับความดีนั้นไปด้วย เช่น การแผ่และอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล 
หรือเมื่อทำบุญหรือความดีใดๆ ก็บอกให้ผู้อื่นได้พลอยปีติยินดี 
และอนุโมทนาบุญนั้นๆ ไปด้วยกัน 

(๗) ปัตตานุโมทนาทาน 
คือ ทำบุญด้วยการอนุโมทนาบุญ กุศลหรือความดีที่ผู้อื่นทำและบอกเล่า 
ให้ร่วมอนุโมทนาด้วยจิตใจที่พลอยแช่มชื่นเบิกบานและปีติยินดีไปด้วย 

(๘) ธัมมะสวนะ 
คือ ทำบุญด้วยการฟังธรรม อ่าน ศึกษาธรรมะ ด้วยจิตใจอ่อนโยนชุ่มชื่น 
เบิกบานแจ่มใส โดยมุ่งให้เข้าใจและรู้จักบาปบุญคุณโทษ 
ให้รู้ในสิ่งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ตั้งใจเพิ่มพูน 
และพัฒนาสติปัญญาของตน 

(๙) ธรรมเทศนา 
คือ ทำบุญด้วยการบอก แนะนำ ให้ธรรมะ อย่างบริสุทธิ์ใจ 
ไม่ได้หวังสิ่งใดตอบแทน แต่มุ่งให้ผู้ฟังได้สติ เกิดศรัทธาและปัญญา 
รวมไปถึงการแบ่งปันความรู้ทางโลกที่ไม่มีโทษให้กับผู้อื่น 
เช่น สอนความรู้ทางการแพทย์ การเกษตร 

(๑๐) ทิฏฐุชุกัมมะ 
คือ ทำบุญด้วยการตั้งใจทำความคิดเห็นของตนให้ตรงให้ถูกต้องตามธรรม 
ตั้งใจพัฒนาสติปัญญาให้ตนเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจตรงต่อ 
ความเป็นจริงของธรรมชาติ ตั้งใจไม่ให้ตนเป็นคนมีความคิดเห็นที่ผิด 
หรือเบี่ยงเบนออกไปจากความเป็นจริง 

ทว่า บุคคลจะสร้างบุญกุศลทั้งสิบข้อดังกล่าวให้เพิ่มพูนได้อย่างดีมีประสิทธิภาพเต็มที่นั้น 
พึงเริ่มต้นจากการชำระตนเองคือทำตนเว้นจากการทำความชั่วทั้งปวงก่อน 
กล่าวคือ บุคคลพึงเว้นจากการกระทำไม่ดีทั้งทางกาย วาจาและใจ ก่อน 
รวมทั้งเพียรพยายามเสาะแสวงหาวิธีทำตนให้เป็นคนที่มีความคิดเห็นถูกต้อง 
สั้นๆ คือ ทำตัวให้มีศีลและมีปัญญาก่อนเป็นลำดับแรกที่สำคัญ 
เมื่อมีตนเป็นผู้มีศีลแล้วและยังมีปัญญารู้เหตุรู้ผลควรไม่ควรต่างๆ ด้วย 
การจะเพิ่มพูนความดีในตนให้มากขึ้นด้วยบุญกิริยาวัตถุทั้ง ๑๐ วีธี 
ก็จะเป็นไปอย่างสะดวกง่ายดายขึ้น ทำให้ยิ่งสามารถทำความดีทั้งสิบ (บุญกิริยาวัตถุ ๑๐) 
ได้อย่างมั่นใจ เข้าใจ ทำได้ถูกและตามที่ควรจะทำได้ยิ่งๆ ขึ้นไป 
ทำให้ ฉลาดในบุญ ยิ่งๆ ขึ้นไป ได้บุญมากหนักแน่นและเต็มที่ยิ่งๆ ขึ้นไป 

การตั้งใจและเว้นจากการไม่ทำความชั่วทั้งปวงนี้เรียกว่า 
กุศลกรรมบถ พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ๑๐ ประการต่อไปนี้ 

กุศลกรรมบถ ๑๐ 

(๑) 
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางกาย 
ด้วยการไม่ฆ่าสัตว์ เบียดเบียนสัตว์อื่นให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อน 
(ปาณาติปาตา เวรมณี) 

(๒) 
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางกาย 
ด้วยการไม่ลักทรัพย์ ถือเอาของที่เขาไม่ให้ด้วยอาการขโมย 
(อทินนาทานา เวรมณี) 

(๓) 
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางกาย 
ด้วยการไม่ประพฤติผิดในกาม 
(กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี) 

(๔) 
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางวาจา 
ด้วยการไม่พูดเท็จ 
(มุสาวาทา เวรมณี) 

(๕) 
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางวาจา 
ด้วยการไม่พูดจายุยงส่อเสียด 
(ปิสุณาวาจา เวรมณี) 

(๖) 
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางวาจา 
ด้วยการไม่พูดจาร้าย หยาบคายด่าทอ 
(ผรุสวาจา เวรมณี) 

(๗) 
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางวาจา 
ด้วยการไม่พูดเพ้อเจ้อ กล่าววาจาไม่เป็นประโยชน์ 
หรือกล่าววาจาโปรยประโยชน์ 
(สัมผัปปลาปา เวรมณี) 

(๘) 
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางใจ 
ด้วยการไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่น 
(อนภิชฌา) 

(๙) 
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางใจ 
ด้วยการไม่คิดไม่ดี คิดไม่พอใจ โกรธ คิดร้าย 
คิดพยาบาทอาฆาตจองเวรผู้อื่น 
(อพยาบาท) 

(๑๐) 
ตั้งใจและเพียรพัฒนาใจของตนเอง 
ด้วยการพยายามศึกษาหาความรู้เพื่อให้ตนเป็นผู้มีปัญญา มีความเห็นชอบ 
คิดเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม 
(สัมมาทิฏฐิ) 

กุศลกรรมบถ ๑๐ จึงเป็นจุดเริ่มต้น และบุญจึงไม่ใช่เฉพาะต้องมีวัตถุเงินทองถึงจะทำได้ 
บุญอยู่ที่ความตั้งใจ อยู่ที่เจตนา การทำบุญด้วยวัตถุเงินทอง (ในข้อทานมัย) นั้น 
ก็เป็นเพียงส่วนเดียว แท้ที่จริงแล้วบุญนั้นสามารถเพิ่มพูนได้ตลอดในแทบทุกอย่าง 
ในชีวิตประจำวัน บุญอยู่ที่ความเข้าใจ รู้ว่าอะไรอย่างไรคือบุญ ทุกครั้งที่มีโอกาส 
โดยไม่ต้องใช้เงิน ไม่ต้องมีเงินทองวัตถุข้าวของมากมายเสมอไป 
ก็สามารถสะสมเพิ่มพูน บุญ ได้มากมายมหาศาลเท่าเทียมกันทุกคน 


+ + + + + + + + + + + + + + + + + 

รวบรวมและเรียบเรียงจาก 
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ 
โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) 
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม 
โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) 
ปรมัตถโชติกะ มหาอภิธัมมัตถสังคหฎีกา ปริจเฉทที่ ๕ เล่ม ๒ 
กัมมจตุกกะ  มรณุปัตติจตุกกะ 
รจนาโดย พระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ 
๖๐ คำถามที่ต้องการคำตอบ เล่มที่ ๒ 
โดย คนเดินทาง ชมรมอนุรักษ์ธรรม 
http://www.dhammajak.net/ 
http://www.raksa-dhamma.com 

โดยคุณ : deedi - อีเมล์ deedi.deedi@gmail.com - 07/05/2008 22:32				
24 ตุลาคม 2553 21:31 น.

สะพานบุญ(ผ้าป่าหนังสือ)

กระต่ายใต้เงาจันทร์



ทุกอย่างในความเป็นไปในโลกนี้   มีทั้งความเป็นไปได้และไม่ได้พอๆกัน   ในความคิดกระต่ายเองคิดว่า   ถ้าเรามีศรัทธามากพอมีความจริงใจและแสดงให้เห็นในความจริงใจนั้น   โอกาสและจังหวะช่วงเวลาดีๆของชีวิตมักเกิดขึ้นได้เสมอขอเพียงเรามุ่งมั่นและทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆก็ตาม
       เมื่อตัวเองได้เดินทางมาอยู่ที่เชียงรายพร้อมดร.ฤทธิชัย คู่ชีวิต    ท่านได้พากระต่ายไปกราบมนัสการ    เจ้าอาวาสวัดพระแก้ว  คือ  พระธรรมราชานุวัตร   ท่านได้พูดมาประโยคหนึ่งกับกระต่ายว่ามาเป็นคนเชียงรายน่ะ    
          ซึ่งประโยคนี้ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกถึงความเมตตาและคิดเสมอมาว่า   การมาเป็นคนเชียงรายนั้น   เราจะทำประโยชน์อะไรได้บ้าง    ทำตัวมีประโยชน์อย่างไร    ให้สมกับที่ท่านเมตตา และ พระอาจารย์อีกรูปที่จะต้องกล่าวถึงในความเมตตาและมีบุญคุณต่อตัวกระต่ายและคู่ชีวิต คือ   พระครูวิมลศิลปกิจ   ที่คอยช่วยเหลือดูแลไม่ว่าเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว
        ในสมัยเด็กๆจนกระทั่งเติบโตพ่อจะปลูกฝังและสั่งสอนในเรื่องศรัทธาในพระพุทธศาสนา  อยู่ไหนต้องทำตัวให้เป็นประโยชน์ จากไปต้องให้คนยกย่องกล่าวขวัญถึง  ต้องทำทุกอย่างออกมาจากหัวใจและคิดว่าดีที่สุดแล้ว  ผลออกมาอย่างไร   กระต่ายน้อยจงภูมิใจและยอมรับในสิ่งนั่น
          ในการให้มีผ้าป่าหนังสือในครั้งนี้  เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อและคิดว่าตัวเองไม่น่าจะทำได้  เพราะ   เป็นจุดกำเนิดจากการคุยเอ็มในอินเตอร์เน็ตกับคุณลุงไพโรจน์ซึ่งเรื่องที่คุยเป็นเรื่องการนั่งสมาธิ   จนกระต่ายเองได้บอกคุณลุงไปว่า  ที่ มจร.วัดพระแก้ว    มีการนั่งสมาธิและปฏิบัติธรรมทุกวันเสาร์โดยเป็นนโยบายเจ้าอาวาสวัดพระแก้ว   ให้มีขึ้นทุกวัดในจังหวัดเชียงรายมุ่งเน้นพัฒนาด้านจิตใจเพื่อส่งเสริมศีล  สติ   สมาธิ  ปัญญา โดยการนำของ พระสุธีสุตสุนทร(พระมหาดร.สมพงษ์ ) ซึ่งท่านเป็นผู้อำนวยการ มจร.ห้องเรียนวัดพระแก้ว    และในส่วนของตัวกระต่ายเองได้ไปช่วยงานห้องสมุดโดยเป็นอาสาสมัครและเต็มใจเพราะตัวเองรู้สึกว่า   ตัวหนังสือ   ตัวอักษรมีคุณค่าและมีชีวิตและได้ช่วยชีวิตตัวเองไว้เมื่อเมื่อครั้งอดีตที่เราคิด  คิดฆ่าตัวตาย   แต่เมื่อเรากลับมาในเรื่องของงานเขียนและมีเวลาอ่านหนังสืออีกครั้งตัวเองมีความสุขทำให้ได้ข้อคิดหลายอย่างสำหรับชีวิตนี่คือ   บุญคุณยิ่งใหญ่เราต้องตอบแทนดูแลและรักษาตัวอักษรที่อยู่ในหนังสือ
                จึงคุยกับคุณลุงไพโรจน์ทางเอ็มว่า   อยากได้หนังสือเข้าห้องสมุด  เพราะหลายเล่มที่พระนิสิตและนิสิตฆราวาสมาถามหาในห้องสมุดไม่มีคุณลุงได้ทำบุญโดยบริจาคหนังสือส่วนตัวมาหนึ่งลังมาที่ห้องสมุดและได้ให้ส่งรายชื่อหนังสือไปทางอีเมล์  ซึ่งกระต่ายเองก็ขอรายชื่อหนังสือที่ต้องการมาจากพระอาจารย์   อาจารย์   ผู้สอน    พระนิสิตและนิสิตฆราวาสเขียนและต้องการที่จะใช้ในการเรียนการสอนส่งให้ไปเป็นเวลาเกือบหกเดือนซึ่งมีรายชื่อหนังสือเป็นร้อยเล่มโดยให้หม่อมหลวงศรันสุข  สุขสวัสดิ์  ซึ่งกระต่ายเรียกสั้นๆว่า  คุณอาหน่อย ซึงเป็นกัปตันสายการบินที่เชียงรายมาเก็บข้อมูลและไปนำเสนอที่รุ่น
                คุณลุงไพโรจน์และคุณอาหน่อยได้กรุณา  นำเรื่องนี้   ไปปรึกษารุ่นของคุณลุงคือ  คณะวิศวกรรมศาสตร์รุ่นที่  5 มหาวิทยาลัยขอนแก่นและได้นำมาเป็นหนังสือที่ซื้อให้ตามรายชื่อจำนวน ๓๙๐ เล่ม  นอกจากนี้ยังมีหนังสือทางวิชาการมือสองแต่ยังมีสภาพใหม่อีกจำนวนหนึ่งและยังมี สมาชิกรุ่นคุณลุงบริจาคส่วนตัวมาอีกเป็นลังๆ  ไม่ว่า จะเป็น  ท่านองอาจ  พร้อมจรรยากุล    รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน  ประธานรุ่น  5 และท่านอื่นๆรวมหนังสือที่นำมาบริจาคให้ห้องเรียนวัดพระแก้วในครั้งนี้ จำนวน ๕๐๐ เล่มและยอดเงินบริจาคอีก  39019 บาทรวมทั้งสิ้นยอดเงินบริจาคทั้งหมด  99999  บาท
                นอกจากนี้ส่วนที่กระต่ายขอไปจาก  สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์  กรมศิลปากรซึ่งผู้อำนวยการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรม ศิลปากรได้เมตตาบริจาคมากว่าร้อยเล่มเข้าห้องสมุดครั้งหนึ่งแล้ว    และครั้งนี้ ก็ได้ร่วมบริจาคเพิ่มเติมมาอีกครั้งหนึ่ง   โดยคุณ ประสิทธิ์   แสงทับ  เป็นผู้ประสานให้   
                กระต่ายจึงอยากขอบคุณหลายท่านที่ตั้งใจมาในครั้งนี้ซึ่งมาจากกรุงเทพ  เป็นจำนวน   25คน  และท่านที่ไม่ได้มาในครั้งนี้ เหนืออื่นใด บุคคลที่กระต่ายต้องกราบขอบพระคุณคือ  คุณลุงไพโรจน์ที่ได้สืบสานโครงการครั้งนี้จนเป็นผลสำเร็จไปตระเวนหาซื้อหนังสือให้หลายรอบและกราบขอบพระคุณอาหน่อยที่คอยประสานงานและไปนำเสนอ เรื่องนี้จนประสบผลสำเร็จพร้อมทั้งที่ขอบคุณทุกท่านที่ร่วมมือร่วมใจต่อสะพานบุญจนทำให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีคะ
                                                                        ขอบคุณจากหัวใจ
                                                                            กระต่ายใต้เงาจันทร์
				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟกระต่ายใต้เงาจันทร์
Lovings  กระต่ายใต้เงาจันทร์ เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟกระต่ายใต้เงาจันทร์
Lovings  กระต่ายใต้เงาจันทร์ เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟกระต่ายใต้เงาจันทร์
Lovings  กระต่ายใต้เงาจันทร์ เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงกระต่ายใต้เงาจันทร์