18 กรกฎาคม 2553 18:00 น.
คีตากะ
โรงเรือนมุงหลังคาด้วยกระเบื้องทรงสูงเปิดรับลมทั้ง 4 ด้าน เสาทำจากไม้ทั้งต้นที่เริ่มผุจากการกัดแทะของปลวกตามกาลเวลา ภายในเป็นที่อาศัยของแม่โคแบบผูกยืนโรงกว่า30 ตัว ตรงกลางเป็นทางเดินเพื่อใช้ให้อาหาร ซึ่งจะวางลงในรางยาวก่อด้วยอิฐโบกปูนเรียบทั้งภายในและภายนอก รางยาว 2 ฝั่งข้างทางเดินทำให้แม่โคทั้ง 2 ฝั่งของโรงเรือนหันหน้าเข้าหากัน ทางเดินนี้ไม่เพียงมีประโยชน์ในการให้อาหารทั้งอาหารหยาบจำพวกหญ้าหรือต้นข้าวโพด อาหารข้นจำพวกรำข้าวหรืออาหารเสริม และน้ำดื่มแล้ว มันยังเป็นที่ให้ลูกโคอยู่อาศัยอีกด้วย พื้นที่ที่มีอย่างจำกัด ก่อให้เกิดความแออัดยัดเยียดและไม่ค่อยเจริญหูเจริญตาสักเท่าใด ทุกเช้าเจ้าของจะต้องตื่นขึ้นแต่เช้าตรู่เพื่อทำความสะอาดคอกสัตว์นี้ ด้วยการฉีดน้ำที่ปั๊มจากบ่อบาดาลและใช้ไม้กวาดทางมะพร้าวหรือพลั่วตักสิ่งปฏิกูลต่างๆออกไปจนหมดเกลี้ยง เมื่อคอกสะอาดแล้วจะใส่สายน้ำเอาไว้ในรางจนปริมาณน้ำสูงถึงครึ่งหนึ่งของความสูงของรางพร้อมทั้งใส่อาหารทั้งหยาบ และละเอียด เช่น ฟางข้าว หญ้า ข้าวโพด และรำข้าว ปริมาณที่เพียงพอให้แม่โคเหล่านี้ดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้เพื่อผลิตน้ำนมส่งเข้าโรงงานที่อยู่ใกล้บ้านทุกวันทั้งเช้าและเย็น...
แม่โคที่ถึงวัยเจริญพันธุ์จะได้รับการผสมเทียมและให้กำเนิดลูก เพื่อมีน้ำนมนำไปขาย มันจะทำหน้าที่เป็นเครื่องจักรกลผลิตน้ำนมจนกว่าจะกลายเป็นโคแก่ที่หมดน้ำนมไปเอง ซึ่งแต่ละตัวก็จะมีอายุไม่เท่ากันตามความสมบูรณ์ของร่างกายและพันธุ์ของมันด้วย นอกจากนั้นอาหารยังเป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญในการผลิตน้ำนมทั้งปริมาณและคุณภาพ ลูกโครุ่นแล้วรุ่นเล่าก็จะถูกเลี้ยงหรือขุนขึ้นมาแทนที่แม่โคเป็นวัฏจักรแบบนี้เรื่อยไป ดูเหมือนว่าลูกโคจะได้รับเอกสิทธิ์มากเป็นพิเศษในเรื่องการมีอิสรภาพมากกว่าแม่โค พวกมันจะถูกเลี้ยงแบบปล่อยอิสระมากกว่า ให้วิ่งเล่น กินหญ้า เดินดูโน่นดูนี่ทุกวันอย่างเสรี แต่เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ พวกมันก็จะมีชะตากรรมเหมือนกับแม่โคตัวอื่นๆที่ต้องถูกผูกด้วยเชือกในโรงเรือนคับแคบและสกปรกขาดอิสรภาพตลอดไป และทำหน้าที่เสมือนเครื่องจักรกลเครื่องหนึ่งเท่านั้น โคที่เลี้ยงแบบผูกยืนโรงจะมีสุขภาพจิตย่ำแย่กว่า การเลี้ยงแบบปล่อยเหมือนกับฟาร์มใหญ่ๆ ที่มีที่ดินเพียงพอ การที่พวกมันเครียดจะทำให้พวกมันกินและนอนเท่านั้น ขาดความกระตือรือล้น เซื่องซึม สุขภาพจึงอ่อนแอและเป็นโรคติดต่อได้ง่าย
กลิ่นยังเป็นปัญหาหลักของการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะฟาร์มเลี้ยงสุกร ฟาร์มเลี้ยงวัวก็ไม่แตกต่างกันมากนัก สัตว์เคี้ยวเอื้องมีหลายกระเพาะอย่างวัว กระเพาะของมันจึงทำหน้าที่เป็นถังหมักแก็สอย่างดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแก็สมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ กลิ่นจากมูลวัวมีส่วนผสมของแก็สจากการหมักในกระเพาะและลำไส้สร้างความวิงเวียนศรีษะต่อมนุษย์ไม่น้อย การสูดดมเข้าไปปริมาณมากนอกจากจะทำให้เหม็นแล้ว ภาวะขาดออกซิเจนของสมองยังทำให้เกิดความง่วงซึมได้ง่ายอีกด้วย ฟาร์มเลี้ยงวัวที่ไม่สะอาดจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคอย่างดี การสร้างที่พักอาศัยของมนุษย์ตามมาตรฐานควรอยู่ห่างจากโรงเรือนเลี้ยงอย่างน้อย 100 เมตร แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวส่วนใหญ่ยากจนและมีที่ดินจำกัด ส่วนมากที่อยู่อาศัยกับโรงเลี้ยงจะอยู่ใกล้กันมาก บางบ้านใช้ใต้ถุนบ้านเป็นคอกเลี้ยงก็มีให้เห็นอยู่มาก ซึ่งเสี่ยงต่อการติดต่อเชื้อโรคจากสัตว์ไปสู่คน เกษตรกรส่วนใหญ่แถวนี้มีอาชีพเลี้ยงวัวแบบครัวเรือน พื้นที่มีจำกัด จำนวนโคที่จะเลี้ยงจึงจำกัดไปด้วย ส่งผลให้รายได้มีจำกัด การเลี้ยงในจำนวนที่น้อยเกินไปผลผลิตต่ำจะทำให้ต้นทุนสูงไปด้วย ต่างกับฟาร์มขนาดใหญ่ที่มีจำนวนแม่โคที่ให้น้ำนมได้จำนวนมากต้นทุนรวมจึงยิ่งต่ำลงมากด้วย โรงงานแปรรูปนมส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงวัวหรือไม่ไกลมากนัก เพื่อประหยัดค่าขนส่ง สำหรับเกษตรกรที่อยู่ไกลออกไปอาจไม่คุ้มกับต้นทุนค่าน้ำมันในการขนส่ง แต่ก็มีบริการรับจ้าง รับ-ส่งให้เลือกในราคาที่ประหยัดเพราะใช้วิธีแบบเหมารวม ผู้รับส่งน้ำนมดิบจึงประหยัดต้นทุนได้มากกว่าและสามารถมีรายได้หักต้นทุนแล้วคุ้มค่าน้ำมัน นั่นต้องขึ้นกับระยะทางการเดินทางอีกด้วย
น้ำนมสดที่ถูกนำส่งเข้าโรงงานจะถูกนำไปแปรรูปเป็นนมสำเร็จรูปพร้อมดื่ม บ้างก็ส่งขายให้โรงงานที่ผลิตอาหารหรือเครื่องใช้อุปโภคบริโภคที่ต้องใช้ส่วนผสมของนมอีกต่อหนึ่ง เช่น โรงงานผลิตนมผง โรงงานผลิตขนมหวาน โรงงานผลิตไอศกรีม ในปัจจุบันต้นทุนแฝงจากการเลี้ยงโคนมมีค่อนข้างสูง ฟาร์มไม่ได้มาตรฐาน ต้นทุนอาหารข้นสูง ขาดแคลนอาหารหยาบ คุณภาพน้ำนมต่ำ ยังเป็นปัญหาของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรายย่อยทั่วไปอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่ถูกมองข้ามมานานจากการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ก็คือ “สิ่งแวดล้อม” แหล่งน้ำอยู่ใกล้กับฟาร์มไม่ได้รับการจัดการอย่างเป็นระบบ ส่วนใหญ่ขาดระบบบำบัดน้ำเสียที่ดี ทำให้เกิดการเน่าเสีย ดินบริเวณโดยรอบเสื่อมสภาพลงกลายเป็นดินเค็มมีภาวะเป็นกรดเพาะปลูกไม่ได้ หลายๆฟาร์มที่ไม่สะอาดกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคที่สามารถส่งถ่ายมาถึงมนุษย์ได้อย่างรวดเร็ว หลายโรคเกิดซ้ำซาก บางโรคเป็นโรคอุบัติใหม่ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์เป็นแหล่งผลิตก๊าซมีเทน คาร์บอนไดออกไซด์และไนตรัสออกไซด์ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตใหญ่ที่สุดในภาคการเกษตรที่ผลิตก๊าซเรือนกระจกเติมเข้าสู่ชั้นบรรยากาศอันส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน นอกจากนั้นตามมาตรฐานที่กำหนดจำเป็นต้องใช้ที่ดินจำนวนมากในการทำฟาร์ม ทำให้ป่าไม้ถูกถางทำลายและเกิดการรุกล้ำเขตป่าสงวนอยู่บ่อยๆ นอกจากนั้นโคนมมีกระเพาะที่ใหญ่จึงกินอาหารจุมาก จำเป็นต้องใช้พื้นที่จำนวนมากในการเพาะปลูกพืชเพื่อเลี้ยงมัน เช่น ข้าวโพด ฟางข้าว ข้างฟ่าง หญ้า เกษตรกรรายใดที่มีที่ดินไม่เพียงพอ จึงต้องมีต้นทุนสูงขึ้นจากการเช่าที่หรือไม่ก็ซื้อจากแหล่งอื่น ยิ่งการเลี้ยงโคนมหรือการเลี้ยงสัตว์อื่นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ที่ดินที่ต้องใช้สำหรับปลูกพืชอาหารก็ต้องเพิ่มมากขึ้นไปด้วย เป็นการใช้ที่ดินอย่างสิ้นเปลืองและไม่เกิดประโยชน์สูงสุด หากเพียงแต่นำที่ดินเหล่านั้นมาเพาะปลูกพืชเพื่อใช้เป็นอาหารเลี้ยงมนุษย์ก็จะเพียงพอเลี้ยงประชากรทั้งโลกในปัจจุบันได้อย่างแน่นอน การปศุสัตว์ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก แต่ยังใช้พื้นดินเป็นบริเวณกว้างทั่วโลก การทำฟาร์มเลี้ยงใช้พื้นที่กสิกรรม 70% หรือ 30%ของผิวดินของโลก ยิ่งไปกว่านั้น ผลิตผลโดยส่วนใหญ่ถูกปลูกเพื่อเป็นอาหารสัตว์ โดยที่ 40% ของธัญพืชของโลก ถูกนำไปเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม ไม่ใช่คน แค่เพียงธัญพืชเหล่านี้ครึ่งหนึ่ง ก็เพียงพอสำหรับการกำจัดความหิวโหยให้แก่ประชากรทั่วทั้งโลกได้แล้ว การปศุสัตว์เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการทำลายป่า 70% ของป่าอะเมซอนเดิม ได้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ การปศุสัตว์ยังเป็นสาเหตุของดินเสื่อม ทุ่งเลี้ยงสัตว์ประมาณ 20% ถูกทำให้เสื่อมสภาพด้วยการกินหญ้า การอยู่อย่างแออัด และการกัดเซาะที่มากเกินไป มันยังเป็นสาเหตุของการบริโภคน้ำจำนวนมากและมลภาวะ แค่ที่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น น้ำชลประทาน 30,000 ล้านแกลลอน ถูกนำไปใช้ในการปลูกพืชเพื่อเลี้ยงสัตว์ต่อปี นี่คือน้ำประมาณ 85% ของแหล่งน้ำสะอาดในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้สัตว์ยังผลิตของเสียชีวภาพในปริมาณที่มากเกินกว่าที่ระบบนิเวศจะรองรับได้ มีตัวอย่างของข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกา การใช้น้ำในการผลิตอาหาร 1 กิโลกรัมในการกสิกรรมของสหรัฐ เนื้อวัวใช้น้ำ 1,000,000 ลิตร เนื้อไก่ 3,500 ลิตร ถั่วเหลือง 2,000 ลิตร ข้าว 1,912 ลิตร ข้าวสาลี 900 ลิตร และมะเขือเทศ 500 ลิตร ด้านการใช้พลังงานในการผลิตอาหารให้ได้โปรตีน 1 แคลลอรี่ ถั่วเหลืองใช้พลังงานเชื้อเพลิงถ่านหิน 2 แคลอรี่ ข้าวโพด 3 แคลอรี่ ข้าวสาลี 3 แคลอรี่ แต่เนื้อวัวใช้พลังงานปิโตรเลียมถึง 54 แคลอรี่ นั่นหมายความว่าในการผลิตแฮมเบอร์เกอร์จากเนื้อวัวต้องใช้พลังงานเชื้อเพลิงถ่านหินถึง 27 เท่าของพลังงานที่ใช้ในการผลิตเบอร์เกอร์ถั่วเหลือง ในเรื่องของการใช้พลังงาน การใช้น้ำ ที่ดิน มลภาวะ การทำลายระบบนิเวศ มันไม่น่าประหลาดใจเลยที่ได้เรียนรู้ว่าพลังงานที่ใช้ในการผลิตเนื้อสัตว์หนึ่งมื้อ สามารถจะนำไปผลิตอาหารจากพืชผักได้ถึง 15 มื้อหรือมากกว่า เมื่อไม่นานมานี้ กิดอน เอเชลและพาเมล่า มาร์ติน สองนักวิจัยจากคณะธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยชิคาโก ได้เปิดเผยความสัมพันธ์ระหว่างการผลิตอาหารและปัญหาสิ่งแวดล้อม พวกเขาได้แสดงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เป็นผลมาจากเนื้อแดง ปลา ไก่ นม และไข่ โดยเปรียบเทียบตัวเลขกับอาหารมังสวิรัติ พวกเขาพบว่าการเปลี่ยนจากการทานอาหารอเมริกันทั่วไปมาเป็นการทานอาหารจากพืช สามารถป้องกันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 1.5 ตัน ต่อคนต่อปี ในทางตรงกันข้าม การเปลี่ยนจากรถซีดานปกติ(ใช้น้ำมัน) เช่น โตโยต้า แคมรี่ ไปเป็นรถยนต์ไฮบริด(ใช้ไฟฟ้า) โตโยต้า พริอุส จะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 1 ตัน ต่อคนต่อปี
ทางเลือกนั้นอยู่ในครัวของคุณแล้ว แม้ว่าบางคนจะเลือกที่จะไม่มองความโหดร้ายที่อยู่ในการปศุสัตว์ แต่ความเร่งด่วนในการหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และวิธีที่จะดำเนินการนั้นชัดเจน ไม่ใช่แค่นักมังสวิรัติหรือนักสิ่งแวดล้อมที่กล่าวไว้เท่านั้น เวลานี้ ประธานคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ( Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ดร.ปาจาอุร ได้ประกาศต่อโลกว่า ผลกระทบของการทานเนื้อสัตว์นั้นสร้างความเสียหายให้กับโลกของเรา เราควรที่จะหยุดทานเนื้อสัตว์ เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ แต่กระนั้นที่สุดแล้วมันขึ้นอยู่กับการเลือกของผู้คน เราทุกคนมีส่วนร่วมที่จะทำให้โลกเย็นลงและสะอาดมากขึ้น ฉะนั้น แค่เริ่มต้นที่ครัวของท่าน เลือกที่จะทานมังสวิรัติ และช่วยกันเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
8 กรกฎาคม 2553 14:40 น.
คีตากะ
หัวจดเท้ารักษาเองได้ก่อนไปหาหมอ
๑. ไขมันในเลือดสูง แทนที่จะหายามากินให้ปวดหัว ตับพังก็หากระเทียมสดมากินสักวันละ ๑๐ กลีบกับกินหอมหัวใหญ่สดวันละครึ่งหัว
๒. ปวดหัว ให้หาผักคะน้าหรือปวยเล้ง (แมกนีเซียม) กินวันละ ๕ ขีด หรือจะชงโกโก้กินหน่อยก็ช่วยได้ค่ะ
๓. เป็นหวัด ไอ จามบ่อย ให้หมั่นแปรงลิ้นและกินกระเทียม, หอม, พริกให้มากเข้าไว้
๔. ภูมิแพ้ แค่กินฝรั่งวันละ ๕ ชิ้นกับเมล็ดฟักทองวันละ ๑ กำมือ (สังกะสี)
๕. แพ้ฝุ่นละออง ไรฝุ่น หาโยเกิร์ตแบบรสธรรมชาติและนมเปรี้ยวไม่หวานจัดมากิน
๖. โรคหืดหอบ ไอเรื้อรัง กินหัวหอมใหญ่, หอมแดง, ต้นหอมและเอาหอมซุกไว้ใต้หมอน
๗. นอนไม่หลับ กินน้ำตาลทราย ๒ ช้อนโต๊ะ ถ้าอยากให้หลับสบายเพิ่มเติมขี้เหล็กและมะรุมเข้าไปหน่อย
๘. กระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อย ให้กินน้ำกระเจี๊ยบไม่หวานจัดวันละ ๓ มื้อ หรือน้ำแครนเบอรี่ของฝรั่งในปริมาณเท่ากัน ( เปรี้ยวจัดมาก)
๑๐.ท้องอืด แก๊สมาก ให้กินกล้วยหักมุกปิ้งหรือขิงบ่อย ๆ
๑๑.ท้องผูก ชงน้ำผึ้งดื่มวันละ ๓ ช้อนโต๊ะและให้กินน้ำมะขามต้มติดเนื้อมาก เช้า เย็น
๑๒.โรคกระเพาะอาหาร หากล้วยหักมุกปิ้งกิน, กินกล้วยหรือกินผักกระ หล่ำปลีให้มาก
๑๓.เวียนหัว คลื่นไส้ง่าย ให้หาอาหารทำจากขิงรับประทาน เช่น น้ำขิง, ชาขิงหรือเต้าฮวย
๑๔.วัยทอง วูบวาบ อารมณ์ปรวน กินเต้าหู้เหลืองวันละ ๑ แผ่น ถ้ากินเต้าหู้แล้วเบื่อให้สลับกับถั่วลิสงวันละ ๑ กำมือก็ได้
๑๕.หงุดหงิดง่าย ให้กินอาหารร่าเริง คือ ข้าวเหนียวดำ ข้าวโพด กลอย กล้วยหอม
๑๖.กระดูกพรุน ให้กินงาดำวันละ ๔ ช้อนโต๊ะ (ได้แคลเซียมเท่ากับเม็ดใหญ่) มะม่วงและสับปะรดซึ่งมีธาตุสมานกระดูดอยู่มาก ( แมงกานีส)
๑๗.ความจำไม่ดี สิ่งที่มีธาตุสังกะสีช่วยสมองได้
๑๘.มะเร็งเต้านม ให้กินบร็อคโคลีหรือคะน้าวันละ ๕ ขีด
๑๙.มะเร็งปอดทางเดินหายใจ ให้กินเสาวรส ฝรั่ง ส้ม มะนาว มะขามป้อม มะละกอ มะม่วง ให้มาก เพราะวิตามินซีช่วยสมานหลอดเลือดในปอดได้ดี แต่ต้องระวังวิตามินเอโดยเฉพาะผู่ที่ยังสูบบุหรี่อยู่
๒๐.ท้องเสีย ลำไส้แปรปรวน กินแอปเปิ้ลเขียววันละ ๑-๒ ผล หรือน้ำแอปเปิ้ลเขียวปั่นทั้งกาก จะเป็นการล้างพิษในตัวด้วย
๒๑.เจ็บอก โรคหัวใจ หลอดเลือดตีบ กิน น้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิน ผลอโวคาโดเพราะเหล่านี้มีไขมันดีไปช่วยขับตะกรันน้ำมันเก่าออก ถ้าชอบดื่มชาให้หาชาเขียวสดมาชงดื่มเองวันละถ้วย
๒๒.ความดันสูง ต้องตัดบุหรี่และอาหารเค็ม ลองหาข้าวโอ๊ตไม่ขัดสีมากินและผักขึ้นฉ่ายสดหรือปั่นก็ได้ จะช่วยคุมความดันให้ดีขึ้น
๒๓.เบาหวนถามหา ให้เลี่ยงแป้งกับน้ำตาลและกินผักเขียวจัดอย่างคะน้า บร็อคโคลี ผักโขมให้มาก ถ้าอยากหวานให้กินส้มโอและฝรั่งเพราะมีน้ำตาลอยู่น้อยมาก
28 มิถุนายน 2553 09:44 น.
คีตากะ
มังสวิรัติเป็นวิถีแห่งชีวิต..ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา
หนังสือ วิถีสุขภาพแห่งชีวิต จัดทำโดย สหพันธ์มังสวิรัติแห่งประเทศไทย
ประวัติของวิทยากร
ศาสตราจารย์ ดร. อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา SK2493
จบการศึกษาปริญญาเอกจากอังกฤษ เป็นนักวิทยาศาสตร์สาขาฟิสิกส์
เคยเป็นผู้ออกแบบประดิษฐ์ชิ้นส่วนขาและระบบลงจอดของยานอวกาศ Viking ที่สหรัฐฯ ส่งไปลงบนดาวอังคารได้เป็นผลสำเร็จ ...ใน 63 ล้านคน...ยังมีคนไทยที่มีความรู้ความสามารถระดับสากล สิ่งนี้...บอกเราว่า...ยังมีคนไทย...ที่มีผลงานระดับนานาชาติ...มันสมองคนไทยไม่ด้อยกว่าชาติภาษาใด...ถ้าได้รับการฝึกฝน-พัฒนา-ปลดปล่อยศักยภาพให้ถูกทาง
เคยรับบทเป็นพระยาอธิการบดี ในภาพยนตร์เรื่องข้างหลังภาพ กำกับโดยคุณเชิด ทรงศรี
เป็นผู้สนใจด้านพลังจิต-สมาธิ และการประยุกต์พลังจิตใช้ในชีวิตประจำวัน และพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์
เคยสอนแผนกวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 ท่านอาจารย์อาจองเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งการนั่งวิปัสนาและชมรมพุทธศาสนาของจุฬาฯ ห้องนั้นน่าจะอยู่ที่ตึกเก่าของคณะอักษรศาสตร์ทางด้านห้องสมุด แต่มาในราวปี พ.ศ. 2512 ใด้เกิดอุบัติเหตุมีนิสิตบัญชีที่ฝึกนั่งกรรมฐานแบบท่านอาจารย์อาจองเสียชีวิตในตุ่มน้ำในขณะที่นั่งกรรมฐาน หนังสือพิมพ์ทั้งหลายเลยโจมตีท่านอาจารย์อาจอง กล่าวหาว่าเป็นคนนอกคอก บังอาจริตั้งลัทธิใหม่ที่ไม่ใช่ศาสนาพุทธ เป็นคนตั้งศาสนาการบิน ต่างๆนาๆ จนกระทั่งท่านอาจาย์อาจอง ต้องลี้ภัยไปสอนที่มหาวิทยาลัยที่ประเทศออสเตรเลีย
เป็นนักมังสิวิรัติ กรรมการ และอดีตนายกสโมสรมังสวิรัติกรุงเทพฯ
เป็นประธานมูลนิธิสัตยาไสแห่งประเทศไทยและได้ก่อตั้งโรงเรียนสัตยาไส ที่ อ.ลำนารายณ์ จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนกินนอนระดับประถม-มัธยม ทั้งครูและนักเรียนใช้วิถีชีวิตแบบมังสวิรัติโดยตลอด
การศึกษา...วิถีไทย
การศึกษา...วิถีธรรม
การศึกษา...วิถีทาส...ทาสทางวัฒนธรรม...ทาสทางความคิด
มังสวิรัติเป็นวิถีแห่งชีวิต
โชคดีที่ตอนผมยังเด็ก ผมนับถือศาสนาพุทธ แต่พอไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ ได้เริ่มเรียนไบเบิล เมื่อโตขึ้นผมได้เริ่มเรียนไบเบิลและศึกษาด้วยตนเองมากขึ้น ผมพบว่ามีการทำสมาธิในไบเบิลด้วย จากนั้นก็เริ่มฝึกสมาธิด้วยตนเอง ตั้งแต่นั้นมาจนถึงวันนี้ 40 ปีแล้ว หลังการทำสมาธิทำให้บางครั้งพบความสงบและประโยชน์อย่างอื่นอีก เช่น ช่วยกำจัดภาวะไมเกรน หอบหืด แต่ปัญหาเกี่ยวกับระบบท้องยังคงมีอยู่ ระหว่างทำสมาธิจะมีรังสีความคิดออกไปสู่สิ่งมีชีวิต รวมทั้งสัตว์ทั้งหลาย
18 ปีที่ผ่านมาเมื่อส่งผ่านความคิดความหวังดีถึงสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ผมพบว่า ผมไม่สามารถทานเนื้อได้ และกินแต่อาหารมังสวิรัติตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงบัดนี้ มันเป็นวิถีทางของผม เมื่อเป็นนักมังสวิรัติ ผมสามารถทำสมาธิได้ง่ายขึ้น พบความสงบ และไม่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบท้องอีกต่อไป นอกจากสภาวะที่เป็นหวัดหรือไข้หวัดใหญ่เนื่องจากการนอนไม่พอ
วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังว่า ทำไมมังสวิรัติจึงเป็นวิถีทางของชีวิตที่เหมาะสมสำหรับทุกคน?
เมื่อมองไปที่ศาสนาต่าง ๆ ในโลก คัมภีร์ฉบับเดิมของไบเบิลจะคล้ายคลึงกับศาสนาอิสลาม พระเจ้าพูดว่าจะให้เมล็ดที่มีต้นพืชเล็ก ๆ บนโลกเพื่อเป็นอาหารแทนสัตว์ และในศาสนาคริสต์ พระเจ้าพูดว่า ทุกอย่างที่พระองค์ให้คือเนื้อ ฉะนั้นเราไม่ควรทานเนื้อ ขณะที่ฮินดูถือหลักการอยู่ที่ความไม่รุนแรงหรืออหิงสา ทุกสิ่งอยู่อาศัยร่วมกัน เมื่อไปอินเดีย ผมพบว่าผู้คนส่วนใหญ่เป็นนักมังสวิรัติ ลิง ม้า วัว เดินไปมาบนถนน คือภาพปกติที่เห็นมันอยู่ร่วมกันคน
ในพระพุทธศาสนา การแผ่เมตตาภาวนาคือ สิ่งที่ชาวพุทธพึงปฏิบัติเสมอต่อสัตว์และสิ่งมีชีวิตสำหรับผม พุทธคือธรรมชาติของการเป็นชาวมังสวิรัติ เพราะเราไม่ได้รับอนุญาตให้ฆ่าสัตว์ ในอดีตมีนักปรัชญา นักวิทยาศาสตร์ และศิลปินได้พูดถึงมังสวิรัติไว้มากมาย เช่น เพลโต, ไอนสไตน์, โสเครตีส, ชาลส์ ดาร์วิน, ไอแซค นิวตัน, วอลแตร์, ตอลสตอย, ลีโอนาโด ดาร์วินซี, เบนจามิน แฟรงคลิน, รพินทรนารถ ฐากูร, อัลเบอร์ต สไวเซอร์, จอร์จ เบอร์นาค ซอร์, และมหาตมะคานธี
ไอนสไตน์เคยพูดว่า วิถีชีวิตแบบมังสวิรัติจะส่งผลต่อต้านอารมณ์ของมนุษย์ (vegetarian moral of living) และส่งผลดีอย่างมากต่อมวลมนุษย์ ผลของการศึกษาสัตว์ที่กินเนื้อเมื่อเทียบกับสัตว์กิบพืชโครงสร้างด้านกายภาพของสัตว์เหล่านี้ เช่น เสือ หมา แมว ซึ่งเป็นสัตว์กินเนื้อ จะมีกรงเล็บที่แหลมคมมาก กรามบดเคี้ยวที่แข็งแรง มีฟันที่แหลมคม ยาว เพื่อจะฉีกเหยื่อของมันสด ๆ พวกมันไม่มีฟันที่สั้นทื่อซึ่งเหมาะสำหรับการเคี้ยว และไม่ต้องมีการย่อยก่อน (pre-digested) การย่อยจึงอยู่ที่กระเพาะอาหารและลำไส้มากกว่า เมื่อดูสุนัขกินอาหาร มันจะไม่เคี้ยว แต่จะกลืนทันที ในทางตรงกันข้าม สัตว์ที่กินพืชไม่มีกรงเล็บที่แหลม แต่มีฟันที่เหมาะสำหรับเคี้ยวใบพืชผักเมล็ดและผลไม้ และมีเอนไซม์ไทอะลินที่อยู่ในน้ำลาย ซึ่งเป็นจุดที่เริ่มต้นย่อยอาหาร โดยเคี้ยวอย่างช้า ๆ ด้วยฟันทั้งสองข้าง ในขณะที่สัตว์กินเนื้อจะใช้ฟันเคี้ยวแบบ ขึ้น-ลง
ลักษณะของมนุษย์ไม่เหมือนกับสัตว์กินเนื้อ ฟันจะคล้ายสัตว์กินพืชและสามารถผลิตเอนไซม์ในน้ำลายได้ สัตว์กินเนื้อจะมีระบบการย่อยที่สั้น คือเพียง 3 เท่าของความยาวของร่างกาย และทำให้อาหารสดถูกย่อยสลายได้ไว ในขณะที่สัตว์กินพืชมีลำไล้ยาวมากประมาณ 12 เท่าของความยาวร่างกายทำให้อาหารมีเวลาอยู่ในร่างกายนาน มนุษย์ก็เช่นกันมีลำไส้ยาวมาก ทุกส่วนของร่ายกายที่ได้พัฒนามาเป็นพัน ๆ ปี บอกว่า มนุษย์มีชีวิตจากการกินผลไม้ ถั่ว เมล็ด และผัก
เมื่อพิจารณาความยืนยาวของชีวิต ชาวเอสกิโมซึ่งกินเนื้อและไขมันเป็นจำนวนมาก มีอายุเฉลี่ยประมาณ 27.5 ปี ในขณะที่ชาว Hunsa ซึ่งเป็นชนเผ่าที่อาศัยอยู่ที่ตอนเหนือของอินเดียและปากีสถานและชนพื้นเมืองเผ่าหนี่งของเม็กซิโก ซึ่งกินเมล็ดธัญพืช อาหารสด ผลไม้และผัก มีอายุยืนยาวถึง 110 ปี หรือมากกว่านั้น Robert Magalism หมอที่ศึกษาเกี่ยวกับเผ่า Hunsa พูดว่า ฉันไม่เคยเห็น โรคไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) และมะเร็งในชนเผ่านี้เลย มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งไปที่หมู่บ้านที่มีประชากรประมาณ 4,000 คน ในเอลควาดอร์ ชาวบ้านเป็นมังสวิรัติส่วนใหญ่จะมีอายุประมาณ 100 ปี
สถาบันส่งเสริมสุขภาพในอเมริกา ได้ศึกษานักมังสวิรัติ 50,000 คนพบว่า นักมังสวิรัติเหล่านี้มีอายุยืนยาวขึ้น มีการพบโรคหัวใจ (Heart diseases) ในคนกลุ่มนี้ต่ำมาก และอัตราการเกิดมะเร็งต่ำกว่าเมื่อเทียบกับคนอเมริกันที่กินเนื้อ นอกจากนี้การศึกษายังพบว่า มีการลดลงของโรคหวัดและภูมิแพ้ สัตว์ที่กิน พืช เช่น ม้า วัว ควาย และช้าง ซึ่งมีอายุยืนยาวสามารถทำงานหนักแทนมนุษย์ด้วยพละกำลัง อดทนและแข็งแรงได้
สามสี่ปีที่ผ่านมา มีนักมังสวิรัติกลุ่มหนึ่งได้ทำกิจกรรมที่เรียกว่า เดินทนมหัศจรรย์ คือ ขณะที่อดอาหาร (fasting) ได้เดินมาราธอนจากลพบุรี ถึงกรุงเทพฯ ประมาณระยะทางมากกว่า 320 กม. โดยไม่กินอาหารเลย
โรงเรียนสัตยาไส (Satayasai school) คือโรงเรียนที่เด็กนักเรียนเป็นนักมังสวิรัติ ตอนเริ่มแรกพ่อแม่กังวลว่า เด็กจะตัวเล็กเมื่อกินอาหารมังสวิรัติ แม้แต่หนังสือพิมพ์ก็กล่าวว่า การกินอาหารมังสวิรัติจะทำให้คนไทยตัวเล็ก เด็ก ๆ ชอบออกกำลังกายมาก เช่น ว่ายน้ำในแม่น้ำ ยิ้มและมีความสุข รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเคยมาเยี่ยมโรงเรียนนี้บอกว่าบุคลิกอย่างหนึ่งของเด็กที่นี่ คือ มีความสุขมาก พวกเขาเติบโตโดยทานผักที่ไม่ใส่ปุ๋ยหรือสารเคมีและฝึกการทำสมาธิ เด็ก 13 ปี อยู่ ม.1 สูงกว่าครูมาก และพ่อแม่ก็ไม่กังวลอีกต่อไปในเรื่องที่ว่าเด็กจะตัวเล็ก
เมื่อมนุษย์มีความโกรธหรือมีอารมณ์เครียดจะผลิตฮอร์โมนอะดรีนาลิน (Adrenalin) ซึ่งจะทำลายระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย และทำให้ร่างกายเผชิญต่อโอกาสที่จะเป็นโรคต่าง ๆ รวมทั้งมะเร็ง แต่ในขณะที่ร่างกายอยู่ในภาวะสงบ สันติ ร่างกายจะผลิตเอนดอร์ฟิน (Endorphin) ซึ่งจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน สามารถป้องกันโรคต่างๆ และทำให้สุขภาพแข็งแรง ดังนั้นคนเราควรมีภาวะสงบ สันติตลอดเวลา
เมื่อสัตว์หลงทาง มีความกลัว ร่างกายก็จะสร้างอะดรีนาลิน ทำให้ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีสารพิษจากอาหารที่เป็นเนื้อจะทำให้ร่างกายเพิ่มความเป็นพิษ (toxin) และอะดรีนาลินมากขึ้น และมีโอกาสเกิดโรค ดังนั้นถ้าร่างกายมีภาวะที่สงบและแข็งแรงควรหลีกเลี่ยงการกินเนื้อ
ในศตวรรษที่ 21 ประมาณกันว่า ประชากรโลกจะมีสูงที่สุดที่ 12 พันล้านคน ในตอนนี้ประชากรบนโลกเป็นโรคขาดอาหารและยากจน ในประเทศกำลังพัฒนามากมายบนโลกนี้ เราจะทำอย่างไรที่จะมีอาหารเพียงพอในศตวรรษหน้า จนถึงตอนนี้มีการตัดต้นไม้เพิ่มขึ้นเพื่อจะเพิ่มปริมาณอาหาร พื้นที่ป่าลดลงเพราะเอาไปเลี้ยงสัตว์และทำการเกษตร
ในช่วงชีวิตของผม ประเทศไทยเมื่อ 50 ปีมาแล้ว 60% เป็นพื้นที่ปา ปัจจุบันเหลือ 20% ของพื้นที่ทั้งหมด ต้นไม้ช่วยดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ และให้ก๊าซออกซิเจน เมื่อมีการทำลายป่าอย่างมากมายทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์สะมเพิ่มขึ้น และเป็นสาเหตุ ของปรากฏการณ์เรือนกระจก (green-house effect) ก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันส่งผลต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบันจากที่เคยค่อย ๆ ขึ้นในอดีต
โลกที่ร้อนขึ้นทำให้ปรากฏการณ์ธรรมชาติเปลี่ยนไป เช่น ปัจจุบันเรามีปัญหาอย่างมากกับพายุเฮอริเคน ไต้ฝุ่น และอีกหลายปรากฏการณ์ทุกชนิดที่เปลี่ยนแปลงในโลก
ในศตวรรษหน้า คาดว่าระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้น กรุงเทพฯ อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลแค่ 1 เมตร เท่านั้น ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 1 หรือ 2 เมตร ไม่มีใครบอกได้อย่างชัดเจน มีการคาดว่าบางประเทศ เช่น เกาะมัลดิฟจะจมหายไป หรือพื้นที่ส่วนใหญ่ของบังคลาเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากประเทศหนึ่งจะจมหายไป และอาจจะรวมถึงกรุงเทพฯ ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียงแค่ 1 เมตร ก็จะจมหายไปด้วยเช่นกัน
เราจะเลี้ยงประชากรโลกในศตวรรษที่ 21 อย่างไรในเมื่อไม่สามารถจะตัดต้นไม้เพื่อที่จะเลี้ยงสัตว์หรือเป็นพื้นที่ทางการเกษตรอีกต่อไป แล้วเราจะทำอย่างไรกับคนหิวโหยเหล่านี้
มองไปที่ผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น นมถั่วเหลืองผง 100 กรัม มีโปรตีน 41.8 กรัม ถั่วเหลืองแห้ง 100 กรัม มีโปรตีน 34.4 กรัม
ชนิดของอาหาร (100 กรัม)
ปริมาณโปรตีน (กรัม)
นมผงถั่วเหลือง
41.8
ถั่วเหลืองแห้ง
34.4
ถั่วลิสง
26
ถั่วต่าง ๆ
24.7
เนื้อ
20.2
ไก่
18.6
แกะ
16.8
ดังนั้นถั่วเหลือง, ถั่วลิสง, ถั่วต่าง ๆ หรือพืชอื่น ๆ มีประโยชน์มากกว่าในแง่ของแหล่งโปรตีน นี่คือการแก้ปัญหาที่ดีสำหรับการเลี้ยงประชากรในศตวรรษที่ 21
เมื่อเปรียบเทียบกับการเลี้ยงสัตว์ และการปลูกพืช เราต้องเพิ่มพื้นที่เป็น 17 เท่าเพื่อที่จะได้โปรตีนในปริมาณเท่ากันจากสัตว์ เมื่อเทียบกับที่ได้จากถั่วเหลืองรวมทั้งน้ำที่ต้องใช้มากกว่าในการเลี้ยงสัตว์การเลี้ยงสัตว์ด้วยเมล็ดพืช แล้วย้อนกลับมาเป็นโปรตีนในสัตว์ที่มนุษย์จะได้กลับคืนมา จะมีโปรตีนต่ำมากแค่ 10% ของโปรตีนและพลังงานของอาหารทั้งหมดที่เอาไปเลี้ยงสัตว์ และเปลี่ยนสภาพมาเป็นเนื้อสัตว์ ในอเมริกา 80-90% ของเมล็ดธัญพืชจะถูกนำไปเลี้ยงสัตว์ จึงเป็นการสูญเสียอย่างหนึ่ง เพราะเราได้คืนแค่ 10% โดยเฉลี่ยคนอเมริกันกินเนื้อ 129 ปอนด์ต่อ 1 ปี ในเวลานี้ สมมติว่า ถ้าพวกเขาแต่ละคนลดการกินเนื้อลงครึ่งหนึ่ง อาหารจะมีเพียงพอต่อประชากรในประเทศกำลังพัฒนา ถ้าลดการกินแค่ 10% จะทำให้เมล็ดพืชเพียงพอต่อประชากร 60 ล้านคน นี่คือการแก้ปัญหาในศตวรรษที่ 21 โดยมีการเปลี่ยนแปลงให้มีการเลี้ยงสัตว์ในปริมาณที่เหมาะสมและเพิ่มการปลูกพืช, ธัญพืช, เมล็ดพืชอื่น ๆ ซึ่งควรนำไปเลี้ยงประชากรโดยตรง และเพื่อหยุดการทำลายป่าไม้ และลดการเพิ่มปัญหาสิ่งแวดล้อม จะมีอาหารเพียงพอกับทุกคนในศตวรรษหน้า ถ้ามังสวิรัติคือวิถีของชีวิต
ผมอยากสรุปตามคำของมหาตมะคานธีว่า The earth has enough for everyones need but not enough for everyones greed. คือ โลกนี้เพียงพอสำหรับความต้องการของทุกคน แต่ไม่เคยเพียงพอสำหรับความโลภของผู้คน และมังสวิรัติจะเป็นวิถีแห่งชีวิตสำหรับศตวรรษที่ 21
(ถอดเทป แปล และเรียบเรียงมาจากปาฐกถาพิเศษ เรื่อง Vegetarianism is the Way ในวันพิธีเปิดการประชุมมังสวิรัติโลก ครั้งที่ 33 วันที่ 4 มกราคม 2542)
16 มิถุนายน 2553 10:02 น.
คีตากะ
การสูญพันธุ์ยุคเพอร์เมียน 251 ล้านปีก่อน
มาร์ก ไลนัส เขียน
สำหรับคนงานเหมืองชาวจีนซึ่งขุดหินอยู่ในเหมืองเหมยชานที่มณฑลซีเกียงทางตอนใต้ของจีน เส้นแบ่งระหว่างหินปูนสีเทากับหินดินดานที่คล้ำกว่านั้นแยกกันไม่ออกเลย พวกเขาอาจจะสังเกตว่าหินใต้เส้นแบ่งเปราะกว่าปกติไม่ค่อยเหมาะนำไปใช้ในการก่อสร้าง พวกเขาอาจสังเกตเห็นสีที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนจากสีเทาอ่อนๆ ไปเป็นสีเกือบดำในชั้นหิน แต่การระเบิดและลำเลียงเศษหินเหล่านี้ออกไปคงเป็นงานของอีกวันหนึ่ง ไม่มีใครสังเกตว่าด้วยสว่าน จอบ พลั่ว ของพวกเขานี่เองคือกระบวนการที่กำลังเปิดเผยให้เห็นถึงหนึ่งในชั้นทางธรณีวิทยาซึ่งสำคัญที่สุด พวกเขาขุดเหมืองไปเจอรอยต่อของยุคเพอร์เมียนกับยุคไทรอัสสิก ซึ่งเป็นช่วงของการสูญพันธุ์อย่างขนานใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยปรากฏมา
ชั้นเหมยชานกลายเป็นมาตรฐานทองคำทางธรณีวิทยาสำหรับการสิ้นสุดยุคเพอร์เมียนเพราะรอยต่อของชั้นหินชัดเจนมาก มันทอดตัวอยู่บนพื้นทะเลตื้นๆ และชั้นหินปูนที่อยู่ใต้รอยต่อ เพอร์เมียน-ไทรอัสสิก(Permain-Triassic) อัดแน่นไปด้วยซากฟอสซิลที่มีอยู่มากมายเป็นพิเศษนั่นก็คือสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวขนาดเล็กที่เรียกว่า ฟอรามินิเฟอแรน(foraminiferran แพลงก์ตอนพืชชนิดหนึ่ง) และโคโนดอนต์(conodont ซากสัตว์มีแกนสันหลังเล็กมากขนาด 0.1-1.0 ม.ม.) แต่ก็ยังพบหอยเม่น ปลาดาว และหอยมีเปลือก ตลอดจนปะการัง ปลา และปลาฉลามด้วยเช่นกัน เห็นได้ชัดว่าทะเลก่อนการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่อุดมสมบูรณ์มากและเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตสัตว์และพืชแต่ละชนิดปรับตัวเข้ากับสถานที่ซึ่งวิวัฒนาการไปในระบบนิเวศอันซับซ้อนได้เป็นอย่างดี
แล้วหายนะก็มาเยือน ซากฟอสซิลหายไป ส่วนหินปูนถูกแทนที่ด้วยชั้นโคลน มีหินควอร์ต และขี้เถ้าภูเขาไฟปะปนอยู่กระจัดกระจายด้านบนของหินดินดานสีคล้ำดังกล่าวนี้ สารอินทรีย์อุดมสมบูรณ์ เป็นร่องรอยที่สำคัญของสภาพออกซิเจนต่ำก้นทะเล นอกจากนั้นยังมีเหล็กไพไรต์(pyrite หรือทองของคนโง่) ที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงสภาวะออกซิเจนต่ำและเต็มไปด้วยกำมะถัน ซากฟอสซิลอันอุดมสมบูรณ์หายไปหมด ที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ นับร้อยๆ อาศัยอยู่ในระบบนิเวศน์อันซับซ้อน บัดนี้มีเพียงหอยสองสามชนิดเหลือรอดอยู่ในชั้นโคลน สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ในทะเลสูญพันธุ์ไป จากข้อมูลของนักธรณีวิทยาที่ศึกษาชั้นเหมยชานหายนะภัยทั้งหมดนั้นอยู่ในช่วงชั้นที่หนาเพียง 12 มิลลิเมตร
ยังมีความลับที่ซ่อนอยู่อีกในชั้นหินเหมยชาน แถบขี้เถ้าภูเขาไฟช่วยให้สามารถกำหนดอายุที่แน่นอนได้จากการสลายตัวของไอโซโทปของยูเรเนียนไปเป็นตะกั่ว บ่งชี้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 251 ล้านปีมาแล้ว ไอโซโทปของคาร์บอนก็เปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าชั้นไบโอสเฟียร์และวัฏจักรคาร์บอนเกิดความผิดเพี้ยนรุนแรงบางอย่างขึ้น เบาะแสว่าเหตุใดมันจึงเกิดขึ้นนั้นได้จากไอโซโทปของออกซิเจน ซึ่งแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วระหว่างออกซิเจน-16 และออกซิเจน-18 บ่งชี้ถึงความผันผวนอย่างรุนแรงของอุณหภูมิ บางทีนี่อาจจะเป็นปรากฏการณ์ที่เผยตัวออกมาครั้งรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยปรากฏ อุณหภูมิสูงขึ้นแต่ไม่ใช่คราวละ 1 หรือ 2 หรือแม้กระทั่ง 4 องศา มันพุ่งปรู๊ดขึ้นไปไม่น้อยกว่า 6 องศา ดูเหมือนว่าการสูญพันธุ์เมื่อสิ้นยุคเพอร์เมียน เกิดขึ้นจากความร้อนภายใต้สภาวะเรือนกระจกที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
นอกเหนือจากประเทศจีน หินรอยต่อยุคเพอร์เมียน-ไทรอัสสิก บอกเรื่องราวโลกาวินาศและวันสิ้นโลกคล้ายๆ กัน ทางตอนเหนือของอิตาลี ชั้นตะกอนใต้ทะเลบริเวณใกล้ชายฝั่งในช่วงสิ้นยุคเพอร์เมียนประกอยด้วยดินที่ชะล้างมาจากแผ่นดินอันเกิดจากการพังทลายของดินอย่างรุนแรงมาก ภายใต้สถานการณ์ปรกติ พืชจะช่วยยึดดินไว้ คอยปกป้องมันจากการถูกฝนกัดเซาะ แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวการปกป้องรักษาดินนี้ไม่เกิดขึ้น ข้อสรุปที่เป็นอื่นไปไม่ได้ก็คือ พืชที่ปกคลุมดินเกือบทั้งหมดถูกกำจัดไป มีอะไรบางอย่างกวาดป่า หนองน้ำ และทุ่งหญ้าสะวันนาหายไป และเมื่อฝนแห่งฤดูมรสุมมาเยือน ก็ไม่เหลืออะไรเหนี่ยวรั้งดินอันมีค่าไว้ได้ ดินถูกชะล้างด้วยความเชี่ยวกรากรุนแรงลงสู่มหาสมุทรในยุคโบราณ
พืชตายแล้วที่หลงเหลืออยู่บนพื้นดินก็เน่าเปื่อยผุพังไปตามปรกติมีรายงานว่าพบฟังกัล สไปค์(fungal spike) อยู่ตามหินในทะเลทรายเนเจฟ (Negev) ที่อิสราเอล และที่อื่นๆ ทั่วโลก มันคือสปอร์ที่ยังคงอยู่จากการทวีจำนวนของเห็ดมีพิษซึ่งจะงอกงามอย่างรวดเร็วบนต้นไม้และไม้พุ่มที่ตายแล้ว สำหรับสิ่งมีชีวิตที่ดำรงอยู่ด้วยการกินสิ่งที่ตายแล้วนี่คือช่วงเวลาอันอุดมสมบูรณ์จนเหลือเฟือ
ที่แอ่งคารู ในแอฟริกาใต้สมัยใหม่ นักวิจัยซึ่งกำลังตามล่าหาซากฟอสซิลที่เคยมีชีวิตในช่วงรอยต่อยุคเพอร์เมียน-ไทรอัสสิก พบกับชั้นทางธรณีวิทยาที่ผิดปกติในช่วงการสูญพันธุ์ ชั้นของเหตุการณ์ ดังกล่าวซึ่งบ่งบอกถึงการพังทลายอย่างรุนแรง เป็นชั้นที่ปราศจากสิ่งมีชีวิต นอกจากนั้นยังชี้ให้เห็นว่าภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง จากเปียกชื้นไปเป็นแห้ง ในช่วงเวลาซึ่งรูปแบบชีวิตหายวับไป ที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นหุบเขาแห่งแม่น้ำลึก สองฝั่งอุดมณ์ด้วยสิ่งมีชีวิต กลับกลายเป็นร่องคดเคี้ยวในภูมิทัศน์แห้งผาก เมื่อไม่มีพืชเกาะยึดตลิ่ง จึงกลายเป็นแม่น้ำแห้งวกเวียนไปมาท่ามกลางทะเลทรายเกิดใหม่ ที่ซึ่งครั้งหนึ่งคือสวนสวรรค์แห่งอีเดน กลับกลายเป็นหุบเขาแห่งความตาย
เครื่องบ่งชี้ถึงสุดยอดสภาวะเรือนกระจกมหาวินาศอีกประการเกิดขึ้นในบริเวณที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นก็คือ แอนตาร์กติกา สูงขึ้นไปเกือบ 3,000 เมตรบนยอดกราไฟต์ ในเขตภูเขาทรานส์แอนตาร์กติก ดินที่คงสภาพเดิมอยู่แสดงให้เห็นระดับสารเคมีปนเปื้อนในอากาศซึ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นไปได้ว่าส่วนใหญ่เกิดจากระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจึงทำให้เกิดฝนกรดมากขึ้น ที่สำคัญก็คือตะกอนหินช่วงนี้ยังเผยให้เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านจากภูมิอากาศปรกติไปสู่สภาวะเรือนกระจกนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษอย่างน้อยก็ตามมาตรฐานทางธรณีวิทยา กล่าวคือในระยะเวลาราว 10,000 ปี หรือต่ำกว่า
เดวิด คิดเดอร์ และโธมัส วอร์สลีย์ สองนักธรณีวิทยาเสนอแบบจำลองที่น่าประทับใจสำหรับกระบวนการทำงานของสภาวะเรือนกระจกของโลก และการเกิดของมัน พวกเขาเสนอว่าเมล็ดพันธุ์ถูกหว่านไว้นับสิบๆ ล้านปีก่อนจะเกิดเหตุการณ์สูญพันธุ์ เมื่อการเกิดภูเขาจากเปลือกโลกเคลื่อนที่เข้าชนกันยุติลง และเมื่ออากาศหยุดปนเปื้อนสารเคมี เปิดทางให้คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศก่อตัวขึ้นช้าๆ จนถึงระดับอันตราย เมื่อยุคเพอร์เมียนใกล้ถึงจุดจบ ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าทุกวันนี้ถึง 4 เท่า เป็นตัวจุดให้อุณหภูมิสูงขึ้นครั้งใหญ่
ทำนองเดียวกับเกมโดมิโนแห่งความตาย การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศสร้างแรงกระเพื่อมซ้ำเติมวิกฤต ทะเลทรายขยายตัว ขณะที่ป่ากระถดตัวเข้าใกล้ขั้วโลกที่อากาศเย็นกว่า ยิ่งไปลดการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านการสังเคราะห์แสงลง ทะเลทรายขยายขึ้นไปถึง 45 องศาเหนือ(บริเวณพื้นทวีปของยุโรปตอนกลางและสหรัฐอเมริกาตอนเหนือในปัจจุบัน) และบางทีอาจจะรุกล้ำขึ้นไปถึง 60 องศาเหนือ ใกล้กับอาร์กติกเซอร์เคิล ทะเลทรายเหล่านี้คงร้อนจนสุดจะจินตนาการ การระเหยของน้ำจากมหาสมุทรนอกชายฝั่งเป็นไปในระดับสูงมากจนทะเลหนาแน่นและเต็มไปด้วยเกลือ น้ำอุ่นถูกดึงลึกลงไปใต้มหาสมุทร กระบวนการดังกล่าวกลับกันกับในโลกทุกวันนี้ ซึ่งน้ำเย็นที่ขั้วโลกจมลงในเหวลึกของมหาสมุทร แต่ด้วยขั้วโลกที่ร้อนกว่าในสภาวะเรือนกระจกยุคเพอร์เมียนการจมลงของน้ำอุ่นในมหาสมุทรขั้วโลกดำเนินไปอย่างช้าๆ และหยุดลงในที่สุด
น้ำอุ่นอาจจะน่าลงไปแหวกว่าย แต่ก็อย่างที่เราเห็นก่อนหน้านี้เมื่อแพร่กระจายไปทั่วทั้งมหาสมุทร มันกลับกลายเป็นนักฆ่า ออกซิเจนน้อยลงในน้ำทะเลที่ร้อนขึ้น ดังนั้น น้ำทั้งหมดจึงค่อยๆ หยุดหมุนเวียนและขาดออกซิเจน สิ่งมีชีวิตในน้ำที่ต้องอาศัยออกซิเจน กล่าวคือ รูปแบบชีวิตขั้นสูงกว่าทั้งหมดตั้งแต่แพลงก์ตอนไปจนถึงปลาฉลาม ต้องเผชิญกับสภาวะปราศจากอากาศหายใจ ในห้วงวิกฤตของยุคเพอร์เมียนน้ำอุ่นยังขยายตัวและระดับน้ำทะเลสูงขึ้นราว 20 เมตร เข้าท่วมชั้นทวีป ก่อให้เกิดทะเลร้อนและตื้นขณะที่น้ำขาดออกซิเจนรุกล้ำเข้าไปบนพื้นผิวแผ่นดิน
มหาสมุทรที่ร้อนขึ้นเหล่านี้เป็นเชื้อให้กับเฮอร์ริเคนอันเกรี้ยวกราดดุดันเกินกว่าที่เราเคยประสบกันมาในยุคปัจจุบัน พายุสมัยใหม่ถูกจำกัดด้วยน้ำเย็นในทะเลลึกและในเขตละติจูดสูงๆ ทว่ามหาสมุทรร้อนในสภาวะเรือนกระจกตอนสิ้นยุคเพอร์เมียนนั้นขยายไปทั่วโลกตั้งแต่ขั้วโลกเนือจนจรดขั้วโลกใต้ มหาเฮอร์ริเคน(super-hurricanes บางครั้งเรียก hypercanes) มีพลังพอจะพาตัวมันเองไปถึงขั้วโลกเหนือแล้วย้อนกลับมา บางครั้งยังถึงขนาดตีวนกลับรอบโลกซ้ำอีกด้วย มีแต่แผ่นดินแห้งผากเท่านั้นจึงจะหยุดมันได้ แต่มหาเฮอร์ริเคนก็อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันอย่างรุนแรงจนกระทั่งสิ่งมีชีวิตไม่อาจรอดได้ พายุขนาดมโหฬารเหล่านี้นำพาความร้อนสูงไปยังละติจูดสูงๆ เพิ่มผลกระทบจากสภาวะเรือนกระจกให้มากยิ่งขึ้นผ่านปฏิกิริยาสะท้อนกลับจากไอน้ำและเมฆ
นี่เพียงเริ่มต้นเท่านั้น หากระบบโลกสมดุลก็อาจจะทานทนกับการจู่โจมอย่างฉับพลันเช่นนั้นได้ ทว่าโชคร้าย ชะตากรรมกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เมื่อสภาวะเรือนกระจกทวีความเข้มข้น แมกม่าร้อนหลอมละลายจากใจกลางโลกพุ่งขึ้นมาตามรอยแยกของโลกเหมือนมีดพุ่งแทงทะลุหัวใจของไซบีเรีย เมื่อมาถึงผิวโลก หินหลอมเหลวพุ่งขึ้นไปด้วยความรุนแรงเต็มพิกัด พ่นขี้เถ้าและเศษซากภูเขาไฟไปไกลเป็นร้อยๆ ไมล์ บดบังดวงอาทิตย์ด้วยฝุ่นและซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ยิ่งแมกม่าพุ่งทะลักในชั่วระยะเวลาหนึ่งพันปีดังกล่าว ก็ยิ่งสะสมเป็นชั้นหนานับหลายร้อยเมตรกินอาณาบริเวณกว้างใหญ่กว่ายุโรปตะวันตก ด้วยระเบิดของแมกม่าแต่ละครั้งอย่างต่อเนื่อง หินบะซอลท์ก็ยิ่งบ่าท่วมพื้นแผ่นดิน ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หลายพันล้านตันจากรอยปริของพื้นผิวโลกที่กำลังแยกออกจากกันอย่างรวดเร็ว
สิ่งมีชีวิตอาจจะอยู่รอดจากเหตุการณ์หินบะซอลท์ท่วมไซบีเรียได้ดีกว่านี้ หากมันไม่ได้มาอยู่ในช่วงที่ความร้อนของโลกขึ้นสูงถึงจุดที่ชั้นบรรยากาศ พื้นผิวโลกมุ่งไปสู่ชายขอบของความสามารถในการอยู่รอดอย่างที่มันเกิดขึ้น การระเบิดของแมกม่ายิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ปลดปล่อยก๊าซพิษและคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในปริมาณพอๆ กัน บันดาลให้เกิดพายุฝนกรดเกรี้ยวกราดรุนแรง พร้อมๆ กับยิ่งทำให้สภาวะเรือนกระจกเข้าใกล้สภาวะสุดขั้วยิ่งขึ้น เหมือนที่หนังสือเว็น ไลฟ์ เนียร์ลี่ดาย(When Life Nearly Died) ของไมเคิล เบนตันวาดเค้าโครงไว้ พายุมรสุมของกรดซัลเฟอริกเหล่านี้จะทำลายอาณาจักรของพืชบนบก กวาดล้างท่อนซุงผุพังและใบไม้เน่าเปื่อยลงสู่มหาสมุทรที่แน่นิ่งไปแล้ว ถึงตอนนี้สิ่งมีชีวิตหากไม่ตายแล้วก็กำลังจะตาย สัตว์โลกที่อยู่ในรูลึกอาจมีชีวิตรอดจากวิกฤตที่เลวร้ายที่สุดในตอนเริ่มต้น ทว่าอะไรก็ตามที่โผล่ขึ้นมาบนพื้นดินไม่ช้าก็ต้องตายเพราะความร้อน หรืออดตายไปในที่สุด พืชส่วนใหญ่ซึ่งเป็นฐานของห่วงโซ่อาหารทั้งบนบกและในทะเลถูกกวาดหายไปจนหมดสิ้น มีเพียงน้อยนิดที่อาจอยู่รอดไปได้เป็นเวลานาน ระดับออกซิเจนในชั้นบรรยากาศลดลงเหลือ 15 เปอร์เซ็นต์ (ระดับในปัจจุบันคือ 21 เปอร์เซ็นต์) ต่ำมากพอจะปล่อยให้สัตว์ใดๆ ที่เคลื่อนไหวได้รวดเร็วต้องหอบหายใจแม้กระทั่งที่ระดับน้ำทะเล
สิ่งที่แย่กว่านั้นยังมาไม่ถึง เมื่อน้ำอุ่นลงไปถึงใต้มหาสมุทรอย่างรวดเร็ว เจ้าปีศาจร้ายที่เดี๋ยวนี้รู้จักกันดีก็เริ่มก่อกวนชั้นทวีป ซึ่งก็คือน้ำแข็งแห้งมีเทน สภาวะโลกร้อนที่ควบคุมไม่ได้เริ่มขึ้นแล้ว
มีเทนส่วนใหญ่ที่ปลดปล่อยออกมาในตอนแรกแทรกตัวอยู่ในน้ำค่อยๆ สะสมไปตามกาลเวลา อย่างไรก็ตาม เมื่อพรายฟองเพิ่มมากขึ้นๆ แต่ละชั้นของน้ำที่ต่อเนื่องกันจะค่อยๆ ถึงจุดอิ่มตัว เมื่อระเบิดเตรียมพร้อมแล้ว สิ่งเดียวที่ต้องการก็คือเชื้อปะทุ
เหตุการณ์คลี่คลายไปในทำนองนี้ ก่อนอื่น การก่อกวนเบาๆ ที่ก้นทะเลทำให้กลุ่มของน้ำที่อิ่มตัวด้วยก๊าซมีเทนลอยตัวขึ้นข้างบน ขณะที่มันลอยตัวขึ้น ฟองเริ่มผุด ก๊าซที่ปนอยู่เดือดปุดเป็นฟองด้วยการลดแรงดันสถิตของน้ำลง เหมือนกับขวดน้ำเลโมเนดที่เป็นฟองฟู่ล้นทะลักออกมาหากเปิดฝาออกเร็วเกินไป ฟองก๊าซเหล่านี้ทำให้กลุ่มของน้ำชุดดังกล่าวยังคงลอยขึ้นด้วยความเร่งผ่านมวลน้ำตามแนวโด่ง ขณะที่น้ำพุ่งขึ้นข้างบนจนถึงจุดระเบิดมันจะฉุดเอาน้ำรอบๆ ขึ้นไปด้วย ทำให้กระบวนการดังกล่าวขยายตัว จากผิวทะเลน้ำพุ่งขึ้นไปในอากาศหลายร้อยเมตร ขณะที่ก๊าซซึ่งปลดปล่อยออกมาระเบิดเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ เกิดคลื่นกระแทก(shockwave) กระจายไปทุกทิศทาง กระตุ้นให้เกิดการระเบิดตามมาในบริเวณใกล้ๆ
ที่บรรยายมานี้ไม่มีตรงไหนเป็นการคาดเดาทางทฤษฎี กระบวนการคล้ายกันในระดับย่อส่วนเกิดขึ้นเมื่อไม่นานเท่าไรนัก ปี ค.ศ.1986 ในทะเลสาบนีโยส ประเทศแคเมอรูน ภูเขาไฟที่อยู่ใต้ทะเลสาบปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาอย่างต่อเนื่อง ตอนเย็นของวันที่ 12 สิงหาคม 1986 ก๊าซก็ระเบิดขึ้น ทำให้เกิดน้ำพุของก๊าซปนกับน้ำพุ่งสูงขึ้นไปในอากาศ 120 เมตร ปลดปล่อยกลุ่มหมอกควันคาร์บอนไดออกไซด์มรณะคร่าชีวิตคนกว่า 1,700 คนในบริเวณโดยรอบเพราะขาดอากาศหายใจ หมอกควันคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งหนักกว่าอากาศจะลอยเรี่ยอยู่ระดับพื้นดินทำให้เหยื่อจำนวนมากหายใจไม่ออกตายอยู่บนเตียง
หมอกควันมีเทนก็อาจจะทำตัวแบบเดียวกัน มันแทรกตัวอยู่ในหยดน้ำ กระจายตัวคลุมหน้าดินเหมือนกับผ้าห่มมีพิษ นอกจากนั้นมีเทนยังไม่เหมือนคาร์บอนไดออกไซด์ตรงที่มันติดไฟได้ ความเข้มข้นของมีเทนในอากาศแม้ต่ำเพียงแค่ 5 เปอร์เซนต์ ก็เป็นส่วนผสมเพียงพอจุดให้ลุกได้ด้วยสายฟ้าผ่าหรืออะไรอื่นที่ทำให้เกิดประกายไฟ เกิดเป็นลูกไฟน่ากลัวพุ่งพาดผ่านท้องฟ้า อาจจะเทียบได้กับระเบิดเชื้อเพลิงสมัยใหม่ที่กองทัพสหรัฐและรัสเซียใช้ ส่วนอำนาจทำลายล้างของมันเทียบได้กับอาวุธนิวเคลียร์อันน่าสะพรึงกลัว สิ่งที่เรียกกันว่า ระเบิดสุญญากาศ นี้ พ่นกลุ่มฝอยของหยดเชื้อเพลิงขึ้นไปอยู่เหนือเป้าหมาย(เป็นพื้นที่อากาศถูกโอบล้อมเหมือนในถ้ำ) จากนั้นก็จะจุดระเบิด มันจะดูดอากาศออกและส่งคลื่นกระแทกรุนแรงพอที่จะฆ่าและทำให้บาดเจ็บได้ในบริเวณกว้าง
อย่างไรก็ตาม หมอกควันก๊าซมีเทนที่เกิดจากการระเบิดในมหาสมุทรจะทำให้อาวุธสงครามสมัยใหม่ชนิดรุนแรงที่สุดกลายเป็นของกระจอกไปเลย และการระเบิดของกลุ่มหมอกควันมีเทนที่ใหญ่ที่สุดจะทำให้เกิดคลื่นทำลายล้างซึ่งสามารถเดินทางไปได้เร็วกว่าเสียง ด้วยการระเบิดซูเปอร์โซนิก แรงดันจากคลื่นกระแทกเองจะเป็นตัวจุดระเบิดส่วนผสมของอากาศ ผลักให้การระเบิดพุ่งไปข้างหน้าด้วยความเร็ว 2 กิโลเมตรต่อวินาที ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่มันพุ่งผ่านระเหยกลายเป็นไอ
ผลที่เกิดขึ้นกับสัตว์และพืชที่มีชีวิตอยู่ในโลกยุคเพอร์เมียนนั้นยากจะจินตนาการออก ดังนั้น การระเบิดที่ค่อนข้างเล็กโดยเปรียบเทียบของก๊าซมีเทนในมหาสมุทรจะกลายเป็นตัวการที่มีประสิทธิผลมากของการสูญพันธุ์ขนานใหญ่ ดังที่ เกรกอรี ไรสกิน วิศวกรเคมีเขียนไว้ในรายงานชิ้นหนึ่งว่าด้วยเรื่อง กลไกการทำลายล้าง ตอนสิ้นยุคเพอร์เมียนโดยเฉพาะว่า ก๊าซมีเทนดังกล่าว สามารถทำลายล้างสิ่งมีชีวิตบนโลกได้จนเกือบหมดสิ้น เขาประเมินว่าการระเบิดของก๊าซมีเทนครั้งใหญ่ จะปลดปล่อยพลังงานเท่ากับระเบิด TNT 108 เมกะตัน มากกว่าอาวุธนิวเคลียร์สะสมของโลกประมาณ 10,000 เท่า ไฟล้างโลกนี้อาจจะยิ่งทำให้อุณหภูมิเย็นลงในระยะสั้นเหมือนฤดูหนาวนิวเคลียร์ ก่อนที่จะกลับไปเร่งให้โลกร้อนต่อไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้มีเทน (ส่วนมีเทนที่ไม่ได้เผาไหม้ก็จะยิ่งสร้างผลกระทบจากภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น)
ก๊าซมีเทนอาจจะไม่ได้ทำหน้าที่สังหารโดยลำพัง ขณะที่พืชและสัตว์เน่าเปื่อยอยู่ในมหาสมุทรตายนั้น ไฮโดรเจนซัลไฟด์ ปริมาณมหาศาลกำลังก่อตัวขึ้นในระดับลึกของมหาสมุทร หลักฐานบ่งชี้ถึงมหาสมุทรกำมะถันนี้ยังคงปรากฏอยู่ในหินยุคเพอร์เมียนทางตะวันออกของเกาะกรีนแลนด์ ซึ่งก็คือเหล็กไพไรต์ที่พบได้ทั่วไปท่ามกลางหินดินดานในยุคที่เกิดภัยพิบัติ สารพิษเข้มข้นในชั่วเวลาสั้นๆ (กลิ่นเหมือนไข่เน่า) หรือไฮโดรเจนซัลไฟด์ใดๆ ที่ปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศจะทำลายสัตว์ไม่ให้เหลือชีวิตรอดได้ไม่ว่าในสถานที่ใดๆ แม้ว่ามันอาจจะรอดมาจากการระเบิดของก๊าซมีเทนก็ตาม
ที่สำคัญพอๆ กันก็คือ กำมะถันที่หมักอยู่ในมหาสมุทรเป็นตัวการให้เกิดการสูญพันธุ์ที่มีประสิทธิผลมากกับสิ่งมีชีวิตในน้ำ มันสังหารรูปแบบชีวิตที่ต้องอาศัยออกซิเจนในการหายใจจนหมดสิ้น ราวกับว่าเท่านี้ยังไม่พอ หมอกควันไฮโดรเจนซัลไฟด์อาจบุกจู่โจมและทำลายชั้นโอโซนเปิดช่องให้รังสีอัลตราไวโอเล็ตอันตรายจากดวงอาทิตย์แผ่ลงมา เมื่อเร็วๆ นี้มีการค้นพบสปอร์รูปร่างผิดเพี้ยนในหินยุคเพอร์เมียนจากเกาะกรีนแลนด์ทางตะวันออกเช่นเดียวกัน เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า พืชบกที่หลงรอดมาได้อาจจะประสบกับการผ่าเหล่าทางดีเอ็นเออันเนื่องมาจากการรับรังสีอัลตราไวโอเล็ตเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน
ก๊าซมีเทนเข้มข้นสูงมากยังทำลายชั้นโอโซนด้วย การศึกษาโดยใช้แบบจำลองชิ้นหนึ่งมุ่งสืบค้นเงื่อนไขต่างๆ ในตอนสิ้นยุคเพอร์เมียนโดยเฉพาะพบว่า หากความเข้มข้นของก๊าซมีเทนบนผิวโลกสูงขึ้นไปถึง 5,000 เท่าของระดับทั่วไป ซึ่งเป็นกรณีที่อาจเกิดขึ้นจากการระเบิดของน้ำแข็งแห้งมีเทนในวงกว้าง ครึ่งหนึ่งของมวลโอโซนจะถูกทำลาย ทำให้รังสีอัลตราไวโอเล็ตแผ่ลงมายังพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้นอีก 7 เท่า ผู้เขียนเสนอว่านี่อาจจะเป็นสาเหตุของการสูญพันธุ์ก็เป็นได้ นอกจากนั้นเมื่อตัวกระทำการสองตัวร่วมกันคือ ไฮโดรเจนซัลไฟด์ และก๊าซมีเทน สามารถจะส่งผลให้เกิดการทำลายล้างชั้นโอโซนอย่างขนานใหญ่ขึ้นได้
ด้วยภัยพิบัติอย่างต่อเนื่องเหล่านี้ทั้งหมดที่กระหน่ำใส่โลก แทบไม่น่าประหลาดใจเลยว่าการสูญพันธุ์เมื่อสิ้นยุคเพอร์เมียนนั้นนำโด่งทิ้งห่างจากครั้งอื่นๆ ทั้งหมด จากการคำนวณ 95 เปอร์เซนต์ของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ ทั้งบนบกและในน้ำสูญพันธุ์ไป ในทะเลมีหอยสองสามชนิดรอดมาได้โดยฝังตัวลึกอยู่ในโคลน บนบกสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ชนิดเดียวที่รอดผ่านคอขวดของการสูญพันธุ์มาได้คือ ลิสโทรซอรัส(Lystrosaurus) รูปร่างคล้ายหมู ซึ่งครอบครองโลกส่วนใหญ่อยู่เป็นเวลาอีกหลายล้านปีหลังจากนั้น มี แหล่งถ่านหิน ที่แตกต่างออกไปอยู่ในช่วงต้นถึงกลางยุคไทรอัสสิก ซึ่งเป็นยุคทางธรณีวิทยาต่อจากเพอร์เมียน แสดงให้เห็นว่ามีพืชปกคลุมดินเท่านั้นที่มีชีวิตรอด ไม่มีป่าเขียวขจีขึ้นตามแนวตะเข็บชั้นถ่านหินหนาเช่นตอนต้นยุคเพอร์เมียนและยุคคาร์โบนิเฟอรัส(Carboniferous) ต้องใช้เวลาอีก 50 ล้านปีในยุคจูราสสิก ก่อนที่ความหลากหลายทางชีวภาพในระดับเดียวกับก่อนการสูญพันธุ์จะกลับคืนมา.....
Be Veg Go Green Save The Planet